ไอทีวี : จุดเริ่มต้น-เปลี่ยนแปลง ที่มักมาหลังวิกฤต

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เจตนารมณ์ในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีที่มาจากวิกฤติการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ในปี 2535 ซึ่งผู้คนในสังคมถูกปิดหูปิดตาจากสื่อของรัฐ ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ทำให้ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ที่แท้จริงบนถนนราชดำเนินที่รุนแรงถึงขั้นมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

บทบาทสื่อของรัฐดังกล่าว ก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวีแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 สถานี และต้องเป็นสถานีที่ดำรงบทบาทในการรายงานข่าวสารความเคลื่อนไหวในบ้านเมืองแบบเสรี ไม่มีองค์กรใดทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าไปมีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้

ทีโออาร์ในการยื่นขอสัมปทานในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ จึงถูกกำหนดไว้ในลักษณะที่รัดกุม อาทิ ต้องไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สามารถควบคุมอำนาจการบริหารได้อย่างเบ็ดเสร็จ โครงสร้างการถือหุ้นจึงถูกกำหนดให้เป็นนิติบุคคลไม่ต่ำกว่า 10 ราย แต่ละรายถือหุ้นได้ไม่เกิน 10% และที่สำคัญคือเนื้อหารายการต้องนำเสนอข่าวสารและสาระ 70% มีรายการบันเทิงได้เพียง 30%

ผู้ชนะการประมูลคือกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริษัทในเครือคือธนาคารไทยพาณิชย์ โดยมีการเซ็นสัญญาสัมปทานในวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 และเริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม 2539

"ชายวัยกลางคนร่างสันทัด มาดเท่ อารมณ์ดี ชอบสูบไปป์เป็นนิจศีล เป็นบุคลิกของจุลจิตต์ บุณยเกตุ หรือที่ใครต่อใครมักเรียกขานสั้นๆ ว่า เจ. เจ. ที่มักพบเห็นอยู่เป็นประจำ

ด้วยคุณสมบัติของการเป็นมือประสานสิบทิศ ผสมกับประชาสัมพันธ์ชั้นเยี่ยมทำให้ชื่อเสียงของจุลจิตต์ติดอยู่บนทำเนียบของนักบริหารในองค์กรใหญ่ๆ มาตลอด นับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไทยออยล์ รวมทั้งนั่งเป็นกรรมการขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ในยุคสมัยหนึ่ง จนมาถึงการนั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของสยามอินโฟเทนเม้นท์ เพื่อประกอบธุรกิจทีวีระบบยูเอชเอฟในนามไอทีวี

จุลจิตต์ได้ชื่อว่าเป็นกลไกสำคัญในการคว้าสัมปทานทีวีเสรีมาให้กับกลุ่มสยามทีวี ทั้งในแง่ของสายสัมพันธ์ และการที่เขาคือหนึ่งในผู้ร่างทีโออาร์ประมูล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในเวลาต่อมาจะปรากฏชื่อของจุลจิตต์ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารของสยามทีวี แถมพ่วงด้วยประธานกรรมการบริหารของสหศีนิมา

ช่วงชีวิตในระยะปีถึงสองปีที่ผ่านมาของจุลจิตต์จึงค่อนข้างผูกติดอยู่กับธุรกิจทางด้านมีเดีย และอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว แม้ว่าปัจจุบันเขาจะนั่งเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการของไทยออยล์

จุลจิตต์มีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ

จุลจิตต์นับเป็น 1 ใน 2 ขุนพล ตัวแทนของสำนักงานทรัพย์สิน ที่มีสหศีนิมาเป็นหัวหอกเคียงคู่กับบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ที่ส่งตรงมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ ในการนำพาสยามทีวีก้าวกระโดดเข้าสู่ธุรกิจมีเดียและอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ"

(จากเรื่อง "จุลจิตต์ บุณยเกตุ ถึงเวลาต้องทิ้งสยามทีวี" นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2539)

จุดเด่นที่ติดตัวไอทีวีนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มออกอากาศ คือเรื่องข่าว

"ความน่าสนใจของไอทีวีไม่ได้อยู่แค่การเป็นสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่ แต่ไอทีวีเป็นสัมปทานโทรทัศน์รายที่ 6 ของเมืองไทยเพียงช่องเดียวในรอบหลายสิบปีมานี้ จากกลไกกึ่งระบบผูกขาดของธุรกิจโทรทัศน์ของเมืองไทย ทำให้โทรทัศน์ของเมืองไทยล้วนแต่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ การบริหารงานโดยเอกชนมีเพียงช่อง 3 และช่อง 7 เท่านั้น

ไอทีวียังเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ความไม่พร้อมของระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของไอทีวี

ในขณะที่ไอทีวีต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์สัมปทานผูกรัดด้วยเงื่อนไขที่ว่าไอทีวีจะต้องนำเสนอเนื้อหาข่าวและสาระ 70% บันเทิง 30% ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ตรงกันข้ามกับสภาพความเป็นจริง

แต่แล้วไอทีวีก็ใช้เวลา 3 ปีเต็มกับการสร้างสถานีโทรทัศน์ขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักด้วยสไตล์ข่าวที่แตกต่างไป ฉีกโมเดลธุรกิจโทรทัศน์ของเมืองไทย ที่ต้องว่ากันด้วยรายการบันเทิงเป็นหลัก ถึงแม้จะยังไม่สามารถครอบคลุมไปถึงรายจ่ายที่เป็นค่าสัมปทาน และดอกเบี้ยก็ตาม"

(จากเรื่อง "สายพันธุ์ใหม่ทีวีไทย ไม่มี...พระเอกขี่ม้าขาว" นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2542)

"เดิมทีไอทีวีมีผู้ถือหุ้นที่มีประสบการณ์ในด้านข่าวอยู่หลายรายทั้งไอเอ็นเอ็น หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ย และตงฮั้ว ซึ่งไตรภพ ลิมปพัทธ์ก็ถูกกำหนดให้เป็นหัวหอกในการผลิตรายการ แต่แล้วทั้ง 3 รายก็ขอถอนหุ้นออกไปในช่วงที่สถานีไอทีวีเพิ่งเปิดดำเนินการไม่นาน ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการน้ำหมึกมาสามสิบกว่าปี และลีลาการวิเคราะห์ข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิม สุทธิชัย หยุ่น ถูกดึงมาร่วมถือหุ้น 10% กำลังสำคัญในการผลิตข่าวและสาระ 70% ให้แก่ไอทีวี

การสร้างทีมข่าวไอทีวีในช่วงแรกของไอทีวี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากแกนนำของกลุ่มเนชั่น ที่มาพร้อมกับฐานข้อมูลและแนวคิด สุทธิชัย หยุ่น รับสมัครทีมข่าวภายในของกลุ่มเนชั่น เพื่อมาทำงานที่ไอทีวี ปรากฏมีผู้ยื่นใบสมัครและผ่านคัดเลือกประมาณ 10 คน และในจำนวนนั้นคือ เทพชัย หย่อง น้องชายของสุทธิชัย ที่เวลานั้นเป็นบรรณาธิการข่าวของเนชั่น สุภาพ คลี่ขจาย ที่ช่วงหลังเริ่มจัดรายการเนชั่นนิวส์ทอล์กคู่กับสุทธิชัย และเป็นกรรมการผู้จัดการดูแลวิทยุเนชั่น ประจักษ์ มะวงศา ก่อเขตต์ จันทเลิศรัตน์ อดีตโปรดิวเซอร์รายการเนชั่นนิวส์ทอล์ก พวกเขาเหล่านั้นยื่นใบลาออกและมาเป็นพนักงานของไอทีวี ทันทีที่ไอทีวีเริ่มแพร่ภาพออกไป

"ผมตัดจากความเป็นพนักงานตั้งแต่วันแรกที่ก้าวออกมาแล้ว และเนชั่นเองก็มีคนอยู่แค่ 10 คนเท่านั้น ทำงานหนังสือพิมพ์มาเกือบ 20 ปี มาทำทีวีผมก็ว่าท้าทายดี และบังเอิญว่าเนชั่นมีแผนกทีวีเล็กๆ อยู่แผนกหนึ่ง หลายคนเห็นว่าแคบไปก็ย้ายตามมาไอทีวี" เทพชัยเล่า

แม้ว่าหลายปีมานี้สุทธิชัย หยุ่น จะมีประสบการณ์ในการทำข่าว แต่ประสบการณ์การเป็นผู้ผลิตข่าวโทรทัศน์ ไม่เหมือนกับทำข่าวหนังสือพิมพ์ หรือรายการทอล์กโชว์ ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบและขั้นตอนการทำงานและการผลิตที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่สุทธิชัย หยุ่น และคนของเนชั่นเองยังไม่เคยมีมาก่อน

อัชฌา สุวรรณปากแพรก อดีตหัวหน้าข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ที่คร่ำหวอดในการผลิตข่าวโทรทัศน์มาหลายสิบปี ถูกชักชวนมาร่วมในทีมข่าวไอทีวีตั้งแต่เริ่มต้นใหม่ๆ ประสบการณ์และความเก๋าในการทำข่าวโทรทัศน์ของอัชฌา ช่วยไอทีวีได้มากในเรื่องของทั้งมุมมองข่าวและเทคนิคต่างๆ ที่จำเป็นกับการผลิตข่าวโทรทัศน์ รวมถึงการติดต่อกับสติงเกอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

ภาพข่าวเครื่องบินตกที่สุราษฎร์ธานี ที่ทำให้ไอทีวีเป็นซีเอ็นเอ็นย่อยจากการได้ออกข่าวเป็นสถานีแรก ขอภาพข่าวสั้นๆ (Footage) จากช่อง 11 ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้แพร่ภาพนำมาออกในไอทีวีได้ก่อน ก็เป็นผลงานของอัชฌา ที่เป็นผู้หยิบยืมมาจากช่อง 11

นอกจากอัชฌาแล้ว ทีมข่าวของไอทีวียังจัดได้ว่าเป็นศูนย์กลางของ "สื่อ" จากเกือบทุกประเภท หนังสือพิมพ์เกือบทุกค่ายของเมืองไทย เอ่ยชื่อไปมีหมด ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐ มติชน ฐานเศรษฐกิจ ผู้จัดการ รวมถึงผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9 สำนักข่าวแปซิฟิก และสถานีวิทยุไอเอ็นเอ็น หรือแม้แต่โปรดักชั่นเฮาส์

ทั้งหมดนี้คือส่วนผสมที่ถูกนำมาเขย่ารวมกันเป็นทีมข่าวไอทีวี "ตอนแรกคนก็สงสัยเหมือนกันว่าข่าวไอทีวีจะทำได้ดีกว่าช่องอื่นได้อย่างไร นักข่าวส่วนใหญ่ก็มาจากหนังสือพิมพ์ แต่ผมแน่ใจว่าเราต้องทำได้ดีกว่าช่องอื่น เพราะผมดูข่าวทุกคืนรู้ว่า จุดอ่อนของเขาอยู่ตรงไหน สไตล์ของเราคือการทำให้คนดูข่าวไอทีวีมีสีสัน น่าติดตาม มีการเจาะลึกมากกว่าช่องอื่นๆ บวกกับความพยายามในการเจาะลึกเรื่องต่างๆ เนื่องจากการที่เรามีเสรีภาพมากกว่าคนอื่น" ความเห็นของเทพชัย หย่อง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายข่าวของไอทีวี ที่สะท้อนความสำเร็จของข่าวไอทีวี"

(อีกตอนหนึ่งของเรื่องเดียวกัน)

เคยมีการคาดหมายว่าแนวทางการนำเสนอข่าวที่โดดเด่นของไอทีวี อาจทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ของไทยรายนี้มีโอกาสเป็นซีเอ็นเอ็นย่อมๆ ได้ หากประเทศไทยไม่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินขึ้นในปี 2540 เสียก่อน

ผลพวงจากวิกฤติครั้งนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในไอทีวีตามมา

"บ่ายสามโมงตรงของวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2542 สุทธิชัย หยุ่น รองประธานกรรมการบริหารบริษัทไอทีวี จำกัด เปิดห้องประชุมฝ่ายข่าวของไอทีวี เพื่อแถลงข่าวบนชั้น 22 ของอาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า ท่ามกลางสื่อมวลชนจำนวนมาก รวมทั้งพนักงานฝ่ายข่าวของไอทีวี

นับเป็นการตอบโต้ครั้งแรกของสุทธิชัย หลังจากมีกระแสข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ช่วง 2-3 วันก่อนหน้านี้ ทั้งหมดนี้ระบุถึงปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างสุทธิชัย และผู้บริหารไอทีวีที่มาจากธนาคารไทยพาณิชย์

เนื้อหาที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันมติชน ไทยรัฐ ผู้จัดการรายวัน และไทยโพสต์ วันที่ 25 มิถุนายน ระบุถึงความต้องการผ่าตัดโครงสร้างของประกิต ประทีปะเสน อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เพิ่งเลือกโปรแกรมเกษียณอายุก่อนกำหนด ลาออกจากแบงก์ไปหมาดๆ และถูกเลือกจากแบงก์ไทยพาณิชย์ให้มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทไอทีวีแทนโอฬาร ไชยประวัติ

หลังมารับตำแหน่ง ประกิตได้ประกาศจะแก้ปัญหาขาดทุนของไอทีวี โดยปรับผังรายการใหม่ให้เน้นบันเทิงมากขึ้น พร้อมกับลงมือผ่าตัดโครงสร้างการบริหารงานภายในโดยยุบบอร์ดบริหารที่มีบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร ซึ่งเวลานี้ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้แล้ว และให้การบริหารงานอยู่ในมือของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดใหญ่) ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นทั้ง 13 ราย ซึ่งประกิตให้เหตุผลกับ "สื่อมวลชน" ว่า เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ไม่ซ้ำซ้อน

การเข้ามากวาดบ้านในไอทีวีของประกิตสร้างความไม่พอใจให้กับสุทธิชัย หยุ่น อย่างมาก เพราะการยุบบอร์ดบริหารเท่ากับว่าตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารฝ่ายข่าวที่สุทธิชัยนั่งอยู่ต้องถูกยุบไปด้วย"

(จากเรื่อง "ความขัดแย้งปะทุที่ไอทีวี" นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2542)

"ตลอดการแถลงข่าวในวันนั้น สุทธิชัยตอกย้ำถึงการเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างไอทีวีของประกิต ที่มุ่งแก้ปัญหารายได้ จนก่อให้เกิดความแตกแยกและปั่นป่วนขึ้นในฝ่ายข่าวของไอทีวี และที่สำคัญจะส่งผลต่อจุดยืนของการเป็นสถานีข่าวของไอทีวีเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะนี่คือไพ่ใบสำคัญที่สุทธิชัยจะอาศัยฐานเสียงจากมวลชน และฝ่ายข่าวของไอทีวี ในการต่อรองกับธนาคารไทยพาณิชย์

ในสายตาของสุทธิชัย เขาเชื่อว่า ความสำเร็จของไอทีวีมาจากการทุ่มเทของตัวเขาและทีมงานของเนชั่น ที่มาร่วมกันบุกเบิกสร้างทีมงานข่าวของไอทีวี และการเป็นสถานีข่าวของไอทีวี ก็เป็นตัวที่ทำรายได้ให้กับไอทีวี 80%

แต่เป็นการทำไม่ใช่ในลักษณะของการครอบงำแต่เป็นเพราะความทุ่มเท และเสียสละ

"ถ้าผมจะผิดก็มีอย่างเดียว คือทำงานมากไปขยันมากไป"

ความรู้สึกของสุทธิชัยต่อการกระทำของธนาคารไทยพาณิชย์ในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ไม่ต่างจากประโยคที่ว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล"

(เนื้อหาอีกตอนจากเรื่องเดียวกัน)

"กรรมการแบงก์มองว่าไอทีวีเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้น ยังอยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต อยากให้มีคนดูแลใกล้ชิด ก็เลยให้ผมไปดูแลแทน ดร.โอฬาร ดูแลให้ทุกอย่างเดินไปอย่างเรียบร้อยเพราะสัมพันธภาพของธนาคารไทยพาณิชย์กับไอทีวี ในฐานะหนึ่งก็คือผู้ถือหุ้น และในด้านหนึ่งก็คือเจ้าหนี้ จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องดูให้ไอทีวีประสบความสำเร็จ" คำตอบของประกิต ให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" ที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในไอทีวีนับจากนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ใช้เงินลงทุนในไอทีวี ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 40% คิดเป็นเงิน 480 ล้านบาท บวกกับความสัมพันธ์ในฐานะของเจ้าหนี้อีก 3,000 ล้านบาท ค้ำประกันอีก 1,000 ล้านบาท รวมแล้วเกือบ 4,000 ล้านบาท

เป็นตัวเลขการลงทุนในช่วง 3 ปีที่แบงก์ไทยพาณิชย์ยังไม่ได้รับประโยชน์กลับมาเลย นายธนาคารอย่างประกิตแค่กดเครื่องคิดเลขนิดเดียวก็รู้แล้วว่า ไอทีวีมีปัญหาขาดทุน และยังมีปัญหาค่าสัมปทานก้อนใหญ่ที่เป็นเงื่อนปมใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นประกิตยังมีคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานของไอทีวีอีกมากมาย โดยเฉพาะอำนาจรองประธานกรรมการบริหาร ที่มีบทบาทมากกว่าผู้บริหารในระดับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

(จากเรื่อง "ไอทีวีกับเนชั่น CONFLICT OF INTEREST" นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2542)

บทสรุปของความขัดแย้งครั้งนี้ คือธนาคารไทยพาณิชย์ได้เข้าควบคุมการบริหารงานในไอทีวีอย่างเบ็ดเสร็จ ส่วนทีมงานของเนชั่นได้ลาออกเพื่อไปจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเนชั่น แชนแนล สถานีข่าว 24 ชั่วโมง

แนวทางแก้ปัญหาไอทีวีของธนาคารไทยพาณิชย์ คือต้องขายกิจการของไอทีวีออกไป โดยมีความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรายละเอียดในสัญญาสัมปทานก่อนขาย โดยเฉพาะประเด็นการกระจายการถือครองหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 ราย รายละไม่เกิน 10%

"มติของคณะรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ที่อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมการงานของไอทีวี 2 ข้อ คือ การยกเลิกสัญญาสัมปทานข้อ 1.2 ที่กำหนดให้มีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 ราย และแต่ละรายถือไม่เกิน 10% ระบุว่าเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ.2535 และข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องเหล่านี้โดยตรง

ถัดจากนั้น ในวันที่ 25 เมษายน 2543 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานไอทีวีตามมติของคณะรัฐมนตรี ในสัญญาข้อ 1.2 และสัญญาในเรื่องของการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ลงนามโดยผู้บริหารของไอทีวี และธนาคารไทยพาณิชย์ ประกอบด้วยนพพร พงษ์เวช ในฐานะของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ศรัณย์ทร ชุติมา ผู้จัดการทั่วไปลงนามร่วมกับผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาสัมปทานไอทีวีในครั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลของชวน หลีกภัย ยอมให้มีการเลื่อนจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน แต่อยู่ที่การแก้ไขสัญญาในข้อ 1.2 ในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นที่เปลี่ยนแปลงให้นิติบุคคลสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 75%

ถัดจากนั้นในเดือนมิถุนายน ธนาคารไทยพาณิชย์ก็ได้ดึงเอากลุ่มชินคอร์ปเข้ามาซื้อหุ้นในไอทีวี ซึ่งกลุ่มชินคอร์ปได้ใช้เงินลงทุนไปในไอทีวีแล้วประมาณ 1,600 ล้านบาท แลกกับการเข้ามาถือหุ้นในไอทีวี 39% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้แปลงจากหนี้เป็นทุน เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 55% โดยสิทธิในการบริหารงานทั้งหมดเป็นของกลุ่มชินคอร์ป จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลของชวน หลีกภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่กลุ่มเนชั่น ได้ยอมรับในหลักการที่ว่าทีวีเสรีเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป กับข้อเท็จจริงในเรื่องภาระของสำนักงานทรัพย์สินฯ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการขาดทุน และทรัพย์สินที่เหลืออยู่ก็คือไอทีวี

และนี่คือที่มาของวิกฤติที่เกิดขึ้นกับไอทีวี ที่คำว่าทีวีเสรีได้ตายไปแล้วอย่างสิ้นเชิง"

(จากเรื่อง "ทีวีเสรีตายไปแล้ว" นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2544)

"ทุกวันนี้ โทรทัศน์ยังเป็นสัมปทานที่ถูกผูกขาดอย่างแน่นหนา มีเพียงแค่เอกชน 2 รายเท่านั้น และโทรทัศน์ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะอนุมัติง่ายๆ กว่าไอทีวีจะเกิดขึ้นก็เลือดตาแทบกระเด็น ไม่เหมือนกับธุรกิจสื่อสาร โอกาสที่จะเปิดสัมปทานให้กับรายใหม่มีมากกว่า และสิ่งที่บุญคลีมองลึกลงไปกว่านั้นก็คือชื่อของไอทีวีเป็นแบรนด์เนม ที่ติดหูติดตาคนดูแล้ว ช่อง 3 และช่อง 7 ก็ยังไม่ได้สร้างแบรนด์เหมือนกับไอทีวี

ผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในไอทีวีก็คือจะทำให้พอร์ตการลงทุนของชินคอร์ปดูดีขึ้น ต้องไม่ลืมว่าชินคอร์ปอเรชั่น อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแดค

การลงทุนในไอทีวีจึงเท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องการลงทุน ไม่มุ่งเน้นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือธุรกิจสื่อสารเท่านั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลถึงราคาหุ้นของชินคอร์ปด้วย

ชินคอร์ปรู้ดีว่าโอกาสที่จะได้สถานีโทรทัศน์มาด้วยเงินลงทุนเท่านี้คงไม่มีอีกแล้ว หากจะรอจนถึงเปิดเสรีในปี 2006

"ลงทุนถูกวันนี้ใช้เงินแค่ 25 บาทต่อดอลลาร์ แต่อนาคตมัน 40 บาท ถ้าเราต้องรอจนถึงปี 2006 รอให้ถึงวันเปิดเสรี"

ชินคอร์ปได้ไอทีวีมาด้วยราคาถูกมาก เงินจำนวน 1,600 ล้านบาท แลกกับหุ้น 39% ที่ทำให้ชินคอร์ปกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสถานีโทรทัศน์ ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วทั้งเครือข่าย และ content"

(จากเรื่อง "ไอทีวี" จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย? ของชินคอร์ป" นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2543)

บุญคลีที่กล่าวถึงในเนื้อหาข้างต้นคือ บุญคลี ปลั่งศิริ CEO ของชินคอร์ป

ชินคอร์ปได้ใช้เวลาลองผิดลองถูกในการบริหารไอทีวีอยู่กว่า 3 ปี ระหว่างนี้ นอกจากการนำไอทีวีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังมีการผ่าตัดทีมงานข่าว และมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารระดับสูงไปหลายระลอก

จนในที่สุด แนวทางของไอทีวีก็ได้ข้อสรุปถึงทิศทางที่ชัดเจนในต้นปี 2547 ที่อนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้ลดค่าสัมปทานที่ไอทีวีต้องจ่ายให้รัฐจากปีละ 1,000 ล้านบาท เหลือเพียงปีละ 230 ล้านบาท และปรับสัดส่วนเนื้อหาระหว่างข่าวสารและสาระ กับรายการบันเทิง จาก 70 : 30 เป็น 50 : 50 โดยเนื้อหาในส่วนบันเทิงนั้นมีการดึงไตรภพ ลิมปพัทธ์ และกันตนา กรุ๊ป กลับเข้ามาร่วมจัดทำรายการอีกครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน

สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้คัดค้านคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการในครั้งนั้น และได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาให้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการประเด็นที่ไอทีวีได้ลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายเหลือปีละ 230 ล้านบาท เป็นโมฆะ และให้ปรับผังรายการใหม่ กลับมาใช้รูปแบบเดิมคือต้องมีเนื้อหาที่เป็นข่าวสารและสาระ 70% เหลือสัดส่วนสำหรับการเสนอรายการบันเทิงเพียง 30%

เป็นคำพิพากษาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองระลอกใหญ่ ที่สังคมกำลังไม่พอใจการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งชิน คอร์ปอเรชั่น ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่อาจนำพาประเทศไปสู่ความวิบัติ

ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งของไอทีวี ที่เกิดขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับวิกฤติ

(รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก www.gotomanager.com)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.