|
"โฆสิต"ชี้เศรษฐกิจสู่ยุคเสี่ยงสูง
ผู้จัดการรายวัน(25 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"โฆสิต ปั้มเปี่ยมรัษฎ์" เตือนทุกฝ่ายต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ต่อจากนี้เข้าสู่ยุคของความเสี่ยงสูง ด้านต่างประเทศ น้ำมัน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ระบุอนาคตเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างเปราะบาง ทุกประเทศทั่วโลก ความล้มเหลวของเศรษฐกิจ ปัจจุบันขึ้นอยู่กับการแข่งขัน ไม่ใช่เกิดจากเศรษฐกิจไม่ดี แนะประชาชนยึดพระราช-ดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทย กำลังเข้าสู่ภาวะความเสี่ยงสูง ที่มาจากปัจจัยทางด้านต่างประเทศ เป็นผลมาจากราคาสินค้าเริ่มขยับขึ้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจัย ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประเทศจะเผชิญต่อไป ดังนั้นจึงเห็นว่าขณะนี้ความสำคัญของเหตุการณ์ ทำให้การปรับตัวของภาคเอกชนมีความจำเป็นเร่งด่วนขึ้น
"ส่วนตัวแล้วมองว่าความจำเป็นเร่งด่วนขณะนี้คือการปรับตัว จากเดิมแนวคิดความล้มเหลวของเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ต่อไปนี้ความล้มเหลวหรือสำเร็จจะขึ้นอยู่กับว่า การปรับตัวได้ดีหรือไม่ดี ส่วนที่ปรับตัวไม่ได้คงมีปัญหาแน่ๆเพราะมีการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ของทุกที่ จึงต้องการที่จะให้ภาคธุรกิจมีความเข้าใจและต้องปรับตัวด้วย" นายโฆสิตกล่าว
ทั้งนี้ การปรับตัวของภาคธุรกิจคงจะต้อง พยายามที่จะให้มีการเพิ่มคุณค่าของผลผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการต่างๆ เช่น การสร้าง ความแตกต่าง ควบคุมต้นทุนให้ได้ ประชาชนก็ควรที่จะยึดเศรษฐกิจอย่างพอเพียง และหาวิธีที่จะต่อสู้กับความผันผวนที่เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งหากยังไม่ได้เริ่มทำก็ควรที่จะต้องทำตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนเรื่องนโยบายมหภาค การกระตุ้นเศรษฐกิจ คงไม่ได้จะช่วยอะไรมากนัก เพราะปัญหาอยู่ที่การแข่งขัน
เศรษฐกิจจะโต หรือไม่โต ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ขึ้นอยู่ว่าไทยจะมีการส่งออก ได้มากน้อยแค่ไหน แต่สหรัฐฯได้เติบโตหลายปีต่อเนื่อง เป็นบทเรียนที่สอนให้รู้ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตนั้น ยังมีความล้มเหลว อยู่ด้วย สาเหตุของความล้มเหลวไม่ใช่เกิดจากเศรษฐกิจไม่ดี แต่เป็นเพราะจากการ แข่งขันไม่ได้ ซึ่งจากนี้เป็นต้นไปเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น การปรับตัวให้แข่งขันได้นั้นจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีขีดความสามารถที่จำกัด ยิ่งจะต้องพยายามปรับตัวมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัวมากกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ
ค่าเงินในขณะนี้ถือว่าเป็นอุปสรรค ต่อการส่งออกหรือไม่
ความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ทุกๆ ประเทศทั่วโลกเผชิญอยู่ ไม่ใช่ว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไรมากเป็นพิเศษ ดังนั้น ทุกๆ ประเทศก็ต้องพบกับปัญหาแบบเดียวกัน คือ ดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาสินค้าปรับขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ตลาดทุนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยก็สามารถทำได้ดีในด้านของการแข่งขันกับประเทศคู่ค้า หรือแข่งขันในประเทศ โดยสังเกตจากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 การส่งออกของไทยได้ขยายตัวสูงถึง 17% สูงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และในระยะต่อไปเชื่อว่าประเทศไทยน่าที่จะสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมา และเศรษฐกิจปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4%
อย่างไรก็ตาม ภายใต้เศรษฐกิจที่ไทยสามารถทำได้ดีนั้น ก็ยังมีเหตุให้กังวลว่าแต่ละธุรกิจจะมีการปรับตัวได้หรือไม่ ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะมีโอกาสเผชิญปัญหาได้ในอนาคต แม้ในเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่องก็ตาม ภาคธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะเป็นปัญหามาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ไช่เรื่องแปลก เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศในโลกมาแล้ว ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีมากนัก ขึ้นอยู่กับว่าตัวธุรกิจเองจะปรับตัวได้ดีหรือไม่
โดยการปรับตัวของภาคเอกชนนั้น จะต้องอาศัยความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ภาคเอกชนจะต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้มีความหลากหลายและเกิดความชำนาญเฉพาะด้าน มาตรการของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่กว้างมากเกินไปที่จะเข้ามาช่วยหรือมีผลต่อภาคเอกชนโดยตรง
"ทุกอุตสาหกรรมประสบปัญหาความเสี่ยงเหมือนกันหมด เป็นปัญหาสากลที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งกำลังเข้าสู่ยุคความเสี่ยง จึงให้น้ำหนักของการปรับตัวมากกว่า การขยายตัว ถ้าปรับตัวได้ก็จะมีความสำเร็จ ที่สูง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการประสานความร่วมมือกันในการแก้ไข" ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพกล่าว
สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คงจะได้ผลทางด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่เกี่ยวกับความล้มเหลวทางธุรกิจอันเนื่องมาจากการแข่งขันไม่ได้ โดยสหรัฐอเมริกาจะเป็นตัวอย่างให้แก่หลายๆ ประเทศได้เป็นอย่างดี โดยจะเห็นได้ว่าจีดีพีของสหรัฐฯไตรมาสแรกเติบโตมากกว่า 4% แต่ภายในโครงสร้างเศรษฐกิจที่เติบโต ก็มีความล้มเหลวอีกมาก จึงเป็นที่มาของการแก้ไขปัญหาของทั่วโลก ไม่ใช่เป็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกๆ ประเทศ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังมีความไม่สมดุลอีกมาก
"เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโตได้ดีมาหลายปี แต่ภายในโครงสร้างดังกล่าวนี้ มีความล้มเหลวอยู่มากมาย เนื่องจากไม่สามารถ แข่งขันได้โดยดูจากราคาสินค้าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 18% แต่ราคาผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง 6% แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่ด้อยลง เมื่อประเทศอื่นทำได้ดีกว่าแต่สหรัฐฯตกไป เพราะฉะนั้นประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐฯต้องเผชิญ กับการปรับตัว โดยในส่วนของการปรับตัวนั้น เช่น ทางภาคเหนือของสหรัฐฯมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งส่งผลให้การจ้างงานลดลง 20% แต่ขณะเดียวกัน จำนวนประชากร 33% ยังมีความเป็นอยู่ต่ำเส้นความยากจนของสหรัฐฯเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีการปรับตัว แต่ขณะเดียวกัน ไม่ได้ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น เนื่องการแข่งขันล้มเหลว" นายโฆสิตกล่าว
ปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังมีอยู่ ต้องมีการปรับตัวอย่างไร...
นายโฆสิตกล่าวว่า การปรับตัวจะต้อง มีการปรับกันในทุกๆ ภาค ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล ภาครัฐ หรือภาคเอกชน เรื่องการปรับตัวจะต้องทำด้วยตัวเองที่แต่ละฝ่ายก็จะต้องแก้ไขและปรับตัวให้เหมาะสมหรือปรับตามที่เกี่ยวข้อง คือ จะให้ภาครัฐปรับแทนเอกชน หรือให้เอกชนปรับแทนภาครัฐ คงจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งขณะนี้มองว่ายังไม่สายเกินไปที่ทุกฝ่ายจะมีการปรับตัว แม้ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยยังคงเติบโตได้ดี แต่ในอนาคตอาจจะมีความเสี่ยง จนทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบาง
ส่วนนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ก็ต้องดูว่าธปท. ต้องการที่จะดูแลอะไร หากต้องการดูแลภาวะเงินเฟ้อก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ดังนั้น ภาคเอกชนที่ปรับตัวในการแข่งขันได้ ก็จะอยู่รอด โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่หลากหลายมีผู้เชี่ยวชาญ มาให้คำแนะนำ อย่างไรก็ตาม มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้ 4-4.5% ตามเป้าหมายที่วางไว้
ขณะที่ธนาคารก็ต้องปรับตัวเองด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความหลากหลาย ตรงกับความต้องการของลูกค้า สอดคล้องกับในภาวะที่ดอกเบี้ยขาขึ้น ดูแลลูกค้าให้ดี ดูแลต้นทุนให้ดี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของการ แข่งขันของแต่ละธนาคารเอง
สำหรับไทยเองนั้น แนวโน้มความล้มเหลวทางเศรษฐกิจไทยอาจจะเป็นอย่างเช่นสหรัฐฯหรือมากกว่า ซึ่งถือเป็นยุคความเสี่ยงสูง ที่จะเพิ่มความรุนแรงไปจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ในส่วนของปีหน้านั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรืออาจจะสูงกว่านี้ก็เป็นไปได้ แนวโน้มความเสี่ยง ที่สูงนี้ไม่ได้มาจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุง ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ประเทศอื่นๆ ไล่หลังตามมาเรื่อยๆ อาทิ จีน เพราะฉะนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยให้ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจลดลง แต่สิ่งที่จะช่วยได้คือการปรับตัวของธุรกิจและพัฒนาการแข่งขัน ขณะนี้ ยังไม่สายเกินไปที่จะปรับตัวทั้งตัวธุรกิจเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|