ปกรณ์ พงศ์วราภา อีกตำนานหนึ่งของคนทำหนังสือ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ชายรูปร่างสันทัด ใส่แว่น ชอบผูกไทลายกราฟิก ที่เดินไปเดินมาอยู่นั้น เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของพนักงานกว่า 100 คนของค่าย GM กรุ๊ป ภาพเบื้องหน้าอาจจะเป็นเพียงคนธรรมดาๆ ในขณะที่วิธีคิดในเรื่องการทำหนังสือ และตัวตนจริงๆเบื้องลึกของเขานั้น ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ

“วันหนึ่งเมื่อผมอายุประมาณ 42 ปี “คุณขวัญ” ได้เดินถือกระดาษปึกใหญ่เข้ามาหาแล้วถามผมว่า”

“คุณทำหนังสือมาแล้วประมาณ 15 ปี คุณรู้ไหมตอนนี้เป็นหนี้อยู่เท่าไหร่”

ผมสั่นหัว “ไม่รู้” ผมตอบไม่เต็มเสียง

เธอวางกระดาษแผ่นสุดท้ายลงตรงหน้าผมชี้ให้ผมดูตัวเลขหนี้สินทั้งหมด

“88 ล้าน” เสียงเธอไม่ดังแต่ชัดเจนนัก

หากไม่มีหนี้ 88 ล้านบาท ในวันนั้น ค่าย GM กรุ๊ป ที่เข้มแข็ง ณ วันนี้ อาจจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะภาระของยอดหนี้จำนวนนั้น แท้ๆ ที่ได้ทำให้ปกรณ์ พงศ์วราภา ต้องปฏิวัติระบบการทำงานของ ตัวเองใหม่หมด เริ่มทำงานด้วยการใช้สมองมากกว่าหัวใจ รวมทั้งเอาหัวใจของนายทุนมาผสมผสานกับจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นคนทำหนังสือมากขึ้น

มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ เลย ที่ผู้ ซึ่งไม่ได้ร่ำเรียนงานศิลปะจากมหาวิทยาลัยใดๆ ในโลก จบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป.7 จากโรงเรียนประชาบาลเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ไม่สนใจในการเล่นอินเทอร์เน็ต จะกลายมาเป็นเจ้าของค่ายหนังสือที่ดีไซน์รูปเล่มได้สวยที่สุดค่ายหนึ่งของเมืองไทยในวันนี้

จากลูกชายชาวสวนคนจีนแห่งเมืองนครปฐม มุ่งหน้าเข้ามากรุงเทพฯ หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาเริ่มงานหนังสือ ที่ “ลลนา” ของสุวรรณี สุคนธา ที่ล่วงลับ สร้างชื่อขึ้นมาด้วยการเป็นนักเขียน เพื่อชีวิต เป็นเจ้าของหนังสือหนุ่มสาว เมื่อปี 2519 หนังสือ ซึ่งรูปลักษณ์ของ “หน้าปก” แตกต่าง กันโดยสิ้นเชิงกับ “เนื้อหา” ข้างในบางคอลัมน์ ที่นักเขียน เพื่อชีวิตหลายคนเคยมาจรดปลายปากกา ไว้ เมื่อหนุ่มสาวปิดตัวลง ก็มาเริ่มทำนิตยสาร “ไฮคลาส” ได้เพียง 3 ปีก็จำเป็นต้องปล่อยขายไป จนกระทั่งมาพบเส้นทางแห่งดวงดาวจากหนังสือ GM

หนุ่มสาวถูกปิด ไฮคลาสขายขาดทุน เงินก้อนใหญ่จมอยู่กับอาคาร “พงศ์วราภา” บนถนนพิชัย และกว่ารายได้จากหนังสือ GM จะอยู่ตัว ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 ปี ในขณะเดียวกันหนังสือเล่มอื่นๆก็เพิ่งเกิดคือ ที่มาของหนี้สินก้อนใหญ่

ปกรณ์โชคดี ที่ได้ภรรยามาช่วยด้านการเงินอย่างจริงจังชนิด ที่ไม่ยอมให้เขาต้องถือเช็คเงินสดเองอีกต่อไป “คุณขวัญ” จบจาก เกษตรศาสตร์ สาขาสัตวบาล แม้ไม่มีความรู้ในเรื่องการเงิน และบัญชีเลย แต่เธอก็มีความตั้งใจอย่างมาก ที่จะแก้ปัญหานี้ เริ่ม ตั้งแต่ติดต่อเจ้าหนี้ เพื่อขอผัดผ่อนหนี้สิน วิ่งแลกเช็คเอง โดยปล่อย ให้เขาได้ใช้เวลาทั้งหมดลงไปลุยงานทางด้านหนังสืออย่างจริงจัง

15 ปี ของ GM กรุ๊ป มีหนังสือในเครือทั้งหมดเกิดขึ้น 6 เล่ม คือ GM, GM car, GM 2000, บ้าน และตกแต่ง, M แมกกาซีน และทีวีรีวิว

กลยุทธ์ ที่สำคัญคือ การกระจายหนังสือไปจับตลาดของลูกค้าทุกกลุ่มรายได้ โดยมีตั้งแต่หนังสือเล่มละ 25 บาทถึง 150 บาท ทุกเล่มมีจุดแข็งในเรื่องการดีไซน์ ที่ต้องสวยก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนยอดขายเขาวางไว้ว่าจะต้องติด อันดับ 1-3 เท่านั้น

คนส่วนใหญ่อาจจะจดจำได้เฉพาะเบอร์ 1 แต่ปกรณ์ก็พอใจกับอันดับ 2 หรือ 3 โดยไม่ ทิ้งช่วงห่างกับอันดับแรก ซึ่งจะมีผลอย่างมากกับการลงโฆษณา แม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหนังสือ ที่ติดอันดับต้นๆ ในแผงนั้น จะไม่ถูกกระทบมากนัก หากอยู่ตรงตำแหน่งนี้ไม่ได้ เขา ก็พร้อม ที่จะปิดหนังสือเล่มนั้น ๆ ทันที เหมือนกัน ปกรณ์มั่นใจว่าเวลานี้หนังสือทุกเล่มบนแผงของ GM กรุ๊ปได้อยู่ในตำแหน่ง ที่เขาพอใจ

ที่ออฟฟิศ ปกรณ์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องของฝ่ายศิลป์ เพื่อคอยดูเรื่องรูป และการดีไซน์ว่าทำได้สวยหรือไม่ ก่อน ที่จะส่งตีพิมพ์ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเขาไม่มีพื้นความรู้ทางด้านนี้เลย แต่สามารถให้คำแนะนำดีๆ กับลูกน้องได้ เพราะชอบ ที่จะเรียนรู้ และศึกษาจากหนังสือเล่มต่างๆ โดย เฉพาะหนังสืออาร์ตจากต่างประเทศ ในห้องทำงานทั้ง ที่บ้าน และออฟฟิศ จึงมีหนังสือสวยๆ เต็มไปหมด โดยใช้วิธีจำจากเล่มโน้นเล่มนี้มาดัดแปลงเป็นแบบใหม่ออกมา เพื่อให้เข้ากับบุคลิกของหนังสือ แต่ละเล่ม

“ยอมรับนะว่า ผมเป็นนักก๊อบปี้คนหนึ่ง แต่ถ้าคิดเองไม่ดี แต่ก๊อบปี้แล้วดี จะเอายังไง” เขาย้อนถาม “ผู้จัดการ” และก็ได้สรุปว่าตัวเขาเองน่าจะเรียกว่าเป็นนักผสมผสาน เป็นพ่อครัว ที่รู้จักปรุงแต่งรสมากกว่า

M แมกกาซีน หนังสือแนวเซ็กซี่ ที่กำลังเป็นที่รู้จักของบรรดาชายไทยทั่วประเทศ เป็นฝีมือของปกรณ์ทั้งหมดก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่การดีไซน์หน้าตาหนังสือเอง วางแผนเรื่องรูปร่วมกับช่างภาพ และ ช่วยคัดเลือกรูป ในห้องทำงาน ที่บ้านนั้น มีสไลด์ของนางแบบสวยๆ วางกองเป็นตั้งๆ นับเป็นทรัพย์สิน ที่ประเมินค่าไม่ได้อีกอย่างหนึ่งของเขา

ความคิดของปกรณ์ พงศ์วราภา ในการหาช่องว่างทางการตลาด เพื่อออกหนังสือแต่ละเล่มน่าสนใจทีเดียว

หนังสือ “บ้าน และตกแต่ง” มีขึ้นหลังหนังสือ GM ประมาณ 2-3 ปี เป็นความคิดของผู้ ซึ่งกำลังจะขายความมีรสนิยมในการอยู่อาศัย ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม ไม่มีความเป็น อยู่ ที่เลิศวิไล ตัวตน ที่แท้จริงของเขาในขณะนั้น อาศัยอยู่บนชั้น 5 ของห้องแถวธรรมดา ที่เป็นที่ตั้งออฟฟิศเท่านั้น

แต่เมื่อมั่นใจว่ามีช่างภาพฝีมือดี มีบ้านของคนที่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือ ไฮคลาส หรือ GM มีฝ่ายศิลป์ ที่ไว้ใจได้ มีทีมตลาดที่พร้อม และ ที่สำคัญตอนนั้น ในตลาดมีหนังสือประเภทนี้คือ บ้าน และสวน ที่แนวของหนังสือเน้นบ้านสวยๆ ทุกรูปแบบ และบ้านในฝัน ที่เน้นบ้านสวยหรูราคาแพง เพียง 2 เล่มเท่านั้น บ้าน และตกแต่งจึงตั้งจุดขายไว้ตรงบ้านสไตล์โมเดิร์นของคนรุ่นใหม่เท่านั้น

ส่วน GMcar เกิดขึ้นสมัย ที่ในตลาดมีหนังสือรถประมาณ 30 เล่ม ช่องว่าง ที่เห็น ก็คือ ไม่มีหนังสือรถเล่มใด ที่มีสี่สีทั้งเล่ม ทั้งๆ ที่เวลาคนซื้อรถก็จะเน้นความสำคัญเรื่องสีอย่างมากเหมือนกัน ดังนั้น GMcar จึงเป็นหนังสือรถเล่มแรก ที่เป็นเป็นสี่สีทั้งเล่ม

แม้แต่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเม็ดเงิน จากโฆษณาของหนังสือทุกเล่มลดลงต่ำกว่าครึ่ง ปกรณ์ยังฉวยช่วงจังหวะนี้ออกหนังสือ อีก 2 เล่มคือ “M แมกกาซีน” และ “ทีวีรีวิว” ทั้งสองเล่มเขามองว่าน่าจะเป็นหนังสือ ที่ขาย ตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งโฆษณา

ความคิดในการออก เอ็ม แข่งกับ เพ้นท์เฮ้าส์ และฟอร์เม็น หนังสือแนวเดียว กัน 2 ฉบับ ที่ติดตลาดอยู่แล้วก็คือ

“ผมมองว่าเมืองไทยมีคนอยู่ 60 ล้าน คน เป็นผู้หญิง 30 ล้าน เป็นคนแก่ และเด็ก 15 ล้าน เหลือแค่ 15 ล้าน ให้เป็นเกย์ไปอีก 5 ล้าน เหลือ 10 ล้าน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ผมขอแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ มันก็แสนคนเข้าไปแล้ว เอาแค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ 5 หมื่นแล้ว ถ้าผมคิดผิดผมทำ 6 เล่มก็จะขาดทุนไป 6-7 แสนบาท”

เขาคิดถูก เอ็มออกมาไม่นาน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อด้วยการออกเป็นอัลบั้มขาย เล่มละ 300 บาท โดยไม่ง้อโฆษณา

ส่วนกลุ่มเป้าหมายของทีวีรีวิว หนังสือแนวนี้บนแผงเขามองว่ามีอยู่เล่มเดียว และเป็นเล่ม ที่หินที่สุด คือ ทีวีพูล คราวนี้มีการใช้กลยุทธ์ของแถมมาช่วย เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาเร็วขึ้น เช่น แถมรถมอเตอร์ไซค์แถมรถกระบะ เมื่อครบ 1 ปี เขามั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเริ่มมีกำไร และเมื่อได้กำไร ก็ต้องเป็นเม็ดเงิน ที่ค่อนข้างสูงเช่นกันเพราะเป็นหนังสือ ที่ออกเป็นรายสัปดาห์

จะว่าไปแล้วความสำเร็จของ GM กรุ๊ป เป็นเพราะปกรณ์โชคดีอย่างมากๆ ใน 3 เรื่องด้วยกันคือ มีภรรยาช่วยดูแลทางด้านการเงิน ซึ่งไม่มีทางรั่วไหลแน่นอน 2. เขามีทีมงานที่ดี ผู้อำนวยการ หลักทั้ง 3 ฝ่าย คือ ณิพรรณ กุลประสูตร เป็นเสมือนมือขวา ที่ดูแลทางด้านกองบรรณาธิการทั้งหมด ประทีป ปัจฉิมทึก ดูแลทางด้านงานศิลป์ และยังมีตัวหลักทางด้านการตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นลูกน้องเก่าแก่ ที่ทำงานด้วยกันมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี การที่เป็นคนรู้ใจมานานจึงสามารถสื่อสาร และเข้าใจคอนเซ็ปต์ต่างๆ ได้ในแนวเดียวกัน

และ 3. คือ การเป็นคนที่ไม่กลัวคำว่า “เสียหน้า” เมื่อเม็ดเงิน ที่ได้มาจากการโฆษณานั้น ลดลงเกือบครึ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เขายอมลดคุณภาพหนังสือทุกเล่มจากสี่สีทั้งเล่ม เป็นขาวดำครึ่งหนึ่งทันแล้วเปลี่ยนการวางแผงจากรายปักษ์มาเป็นรายเดือน พร้อมๆ กับควบคุมต้นทุนการผลิตอย่างใกล้ชิด

“ผมมีเบรกทางบรรณาธิการบ้าง เช่น หากคุณให้คอลัม นิสต์เขียนมาเยอะใส่เข้าไปเป็น 10 คน แน่นอนเขาเป็นคนทำหนังสือมืออาชีพ เขาก็อยากให้คนอ่านได้อะไรเยอะๆ แต่ผม ซึ่งเป็นนักธุรกิจด้วยก็ต้องคิดว่า นี่ต้นทุนมันเพิ่มมาอีกแค่นี้นะ เมื่อไรโฆษณาเยอะก็ไม่เป็นไร แต่หากน้อยลงเนื้อหาคุณจะคงไว้เหมือนเดิมไม่ได้คุณต้องลดบ้าง ไม่มีคนอ่าน คนไหนหรอก ที่จะมานั่งจับผิดว่า เดือนที่แล้ว 120 หน้า ทำไมเดือนนี้มาเหลือ 112 หน้า การ ลดไปไม่กี่หน้า มันก็เป็นเงิน ปีหนึ่งๆ เยอะนะ เพราะหนังสือ ในเครือมันก็หลายเล่ม

ปลายปีนี้ หนังสือทุกเล่มในเครือ จะมีการรวมเล่มเป็นปกแข็ง เป็นรายได้พิเศษอย่างหนึ่ง ที่จะเข้ามา ส่วนปีหน้า GM WATCH เปลี่ยนจากหนังสือของแถมใน GMcar ออกเป็นรายเดือนวางขาย

จากวันที่ต้องทำงานหนักมาตลอด เพื่อใช้หนี้ นับจากช่วงนี้ไปเขาบอกว่าจะเป็นวันเวลาของการสะสมจริงๆ เสียที

วันนี้ในวัย 53 ปี ปกรณ์ พงศ์วราภา มีบ้านหลังใหญ่สไตล์โมเดิร์นอย่างที่เขาชอบ อยู่ด้านหลัง อาคารพงศ์วราภา มีเพียงประตูรั้ว ที่เชื่อมต่อกัน ทุกอย่างในบ้านตกแต่งด้วยความเรียบง่าย เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตของเขาในปัจจุบัน ห้องที่เขาให้ความสำคัญมากๆ คือ ห้องทำงาน และห้องดูหนัง ซึ่งเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง ที่เขาชอบเป็นชีวิตจิตใจ นอกเหนือจากการอ่านหนังสือ ดูกีฬาฟุตบอล ดูมวย ออกงานสังคมเท่า ที่จำเป็น ไม่มีสังคมของคนกลางคืน เหมือนเมื่อช่วงวัยหนุ่ม ที่ผ่านเลย แม้แต่สถานที่นวด ก็เปลี่ยนไปเป็นนวดแผนโบราณ หรือเข้าห้องซาวน่า มีไปร้าน “โกวเล้ง” ที่อาร์ซีเอ บ้างนานๆ ครั้ง เพื่อพบปะ เพื่อนฝูง

เขามีลูกชายเพียงคนเดียว กำลังศึกษาอยู่ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะบริหารธุรกิจ ปีที่ 3 ซึ่งชอบศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์มากกว่า ที่จะสนใจงานหนังสือแบบพ่อ

เป้าหมายชีวิตของผู้กุมบังเหียนค่าย GM คนนี้ก็คือ ต้องการพักผ่อนอย่างจริงๆ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น เขาจึงมีความคิด ที่จะขายกิจการที่เขาทำมากับมือให้กับนักธุรกิจรายใดก็ได้ ที่มีความสนใจ โดยที่ตัวเองอาจเหลือหุ้นไว้เพียงบางส่วนให้ลูกชายถือ

เมื่อถามถึงมูลค่าของ GM กรุ๊ป ปกรณ์ทำท่ายิ้มๆ แล้วบอกว่า ธุรกิจนี้ไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆมูลค่าของมันมากก็จริง แต่ตีเป็นราคายาก

“หากวันหนึ่งมีคนให้ค่าเหนื่อยคุณก้อนหนึ่ง แล้วคุณสามารถอยู่กับมันได้อย่างสุขสบายตลอดชีวิตแต่เหลือหุ้นไว้เพียงส่วนหนึ่ง ถึงจะเป็นส่วนน้อย แต่เรายังเป็นผู้บริหาร เพราะเขายังเชื่อมือเราอยู่ ผมไม่เชื่อว่าใครมาซื้อหุ้นแล้วบอกว่า คุณอย่ามายุ่งเลย แต่ ที่จริงถ้าได้อย่างนั้น ก็ยิ่งดีใหญ่ ผมเองก็จะได้พักสักทีหนึ่ง”

และนั่นคือ หนทาง ที่ ปกรณ์ พงศ์วราภา ตัดสินใจเลือกแล้ว!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.