เสียงบ่นหนาหูว่าปีนี้เศรษฐกิจซบเซา ยอดขาย และกำไรของธุรกิจต่าง ๆ พลาดเป้าไปตามกัน
ทว่าผลประกอบการของ บริษัท ไทยเอนจิน เมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ
TEM ผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการเกษตร ยี่ห้อ "มิตซูบิชิ"
กลับออกมาสวนกระแสภาวะดังกล่าว
ล่าสุด 6 เดือนแรกของปีนี้ TEM มียอดขาย 737 ล้านบาท กำไรสุทธิ 98 ล้านบาท
หรือคิดเป็นอัตราเติบโต 43% และ 103% ตามลำดับ
"ยอดขายที่สูงขึ้นมาจากทางภาคเหนือและอีสาน เนื่องจากเราเพิ่มศูนย์บริการและกระจายสินค้าทางภาคเหนือและอีสาน
และเพิ่มศูนย์ย่อยเข้าไปอีก 20 แห่ง ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมา" ธีระศักดิ์
กาญจนศักดิ์ชัย กรรมการผู้จัดการกล่าวถึงที่มาของตัวเลขสวย ๆ
เดิม 2 ภาคดังกล่าวบริษัทมีสัดส่วนยอดขายค่อนข้างน้อยรวมกันประมาณ 20%
ของยอดขายทั้งหมด แต่จุดแข็งของบริษัทอยู่ในภาคใต้ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายกว่า
50% แต่ในครึ่งปีมานี้ ภาคเหนือ และอีสานทำยอดขายรวมกัน 38% ของยอดขายรวมบริษัทและภาคใต้มีสัดส่วนเหลือประมาณ
35%
"แต่ยอดขายในภาคใต้ก็ยังไม่ได้ตกไปแต่อย่างใด เรายังครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดที่ในภาคใต้"
เขาย้ำ
จากกลยุทธ์ด้านคุณภาพสินค้าที่สูงกว่าคู่แข่ง เนื่องจากเครื่องยนต์มิตซูบิชิทำงานด้วยระบบ
DIRECT INJECTION หรือระบบเผาไหม้โดยตรง ทำให้ประหยัดน้ำมัน อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาและให้กำลังแรงม้าสูง
ขณะที่ราคาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าเครื่องยนต์อื่น ๆ ในท้องตลาดซึ่งทำงานด้วยระบบเผาไหม้ธรรมดาซึ่งกินน้ำมันมากกว่า
ที่สำคัญคือการบริการหลังการขายซึ่งธีระศักดิ์ยืนยันว่า TEM มีศูนย์บริการหลังการขายแพร่หลายกว่าบริษัทอื่น
จากการที่มีศูนย์บริการประจำ 4 ภาค ศูนย์บริการย่อยระดับหมู่บ้านและอำเภอ
และรถบริการอีกกว่า 70 คัน
"มิตซูบิชิ" จึงแย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้นำตลาดได้อย่างไม่ยากเย็นแม้ว่าจะเข้ามาสู่ยุทธภูมินี้เพียงแค่
5-6 ปี
โดยสิ้นพฤษภาคมที่ผ่านมาเครื่องยนต์มิตซูบิชิมีส่วนแบ่งตลาด 24% เป็นที่สองรองจากยี่ห้อคูโบต้า
ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 56% จากที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 60-70% และที่สามเป็นของยันมาร์จากค่ายซูซูกิ
ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 16% โดยรายหลังนี้แต่เดิมอยู่ในอันดับที่สอง แต่ถูกเบียดตกไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
ทว่าเป้าหมายของธีระศักดิ์ไม่ใช่แค่นั้น ในระยะยาว TEM หวังเป็นผู้นำตลาดทั้งในและนอกประเทศ
แผนงานในอนาคตจึงถูกถักทอขึ้นเพื่อสานฝันดังกล่าว
แผนแรกคือการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศ TEM ประมาณการว่าจะต้องมีส่วนแบ่งตลาด
34% หรือมียอดขาย 2,387 ล้านบาทในปี 2543 โดยจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดปีละ 2%
นับจากปีนี้ ซึ่งคาดว่าสิ้นปีจะมีส่วนแบ่งตลาด 26% หรือยอดขาย 1,393 ล้านบาท
ใช่เพียงแค่นี้ TEM ยังมีแผนขยายตลาดต่างประเทศซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ
16% ของยอดขายรวม แต่บริษัทคาดว่าจะเพิ่มให้เป็น 30% ในระยะยาว โดยมีตลาดหลักที่มาเลเซีย
ฟิลิปปินส์ และลาว
เหตุที่ TEM หวังว่ารายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้น เพราะมองว่าตลาดเหล่านี้มีศักยภาพการเติบโตสูง
โดยเฉพาะในแถบอินโดจีน ซึ่งยังมีการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรจำนวนน้อย แต่มีการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
ซึ่งทำให้มีอำนาจซื้อสูงขึ้น
การรุกล่าสุดคือจับมือกับรัฐบาลเวียดนาม ร่วมทุนในสัดส่วน 70% ต่อ 30%
เพื่อนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องยนต์จากประเทศไทยไปประกอบและขายในนั้น คาดว่าจะเริ่มได้ในปีหน้า
และในอีก 2-3 ปีถัดไปก็จะรุกคืบเข้าไปในพม่าในลักษณะเดียวกัน
"เราจะต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีอำนาจในการบริหารงาน"
ประสิทธิ์ กาญจนศักดิ์ชัย มือขวาทางการเงินของธีระศักดิ์กล่าวถึงนโยบายคร่าว
ๆ ในการลงทุนต่างแดน
ว่าไปแล้วคู่แข่งที่ต้องเผชิญก็หนีไม่พ้น "เครื่องจักรหน้าเต็ม"
ที่เจอะเจอในประเทศ นั่นคือ ยี่ห้อคูโบต้าและยันมาร์ เนื่องจากว่าทั้งสามบริษัทเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลประเภท
WATER COOLING SYSTEM ซึ่งเหมาะกับเมืองร้อนเพียง 3 รายในโลกเท่านั้น
แต่การแข่งขันในต่างประเทศไม่ใช่ปัญหาหนักอกของ TEM เพราะบริษัทสยามคูโบต้าและบริษัทยันมาร์
เอส.พี. ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จึงทำให้ในเวทีระหว่างประเทศ
สองบริษัทดังกล่าวไม่ใช่คู่แข่งของ TEM ซึ่งได้รับอนุญาตจากบริษัทมิตซูบิฃิ
ญี่ปุ่น ให้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องยนต์ "มิตซูบิขิ" รายเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งกลุ่มอินโดจีน
ดังนั้นคู่แข่งของ TEM จึงได้แก่บริษัทแม่ของคูโบต้าและยันมาร์จากญี่ปุ่น
ธีระศักดิ์ชี้ว่า TEM ได้เปรียบเรื่องต้นทุนสินค้า "เราผลิตในประเทศไทยและส่งจายไปในแถบนี้
ส่วนทางคู่แข่งเราต้องนำมาจากญี่ปุ่นซึ่งก็มีค่าขนส่งสูงกว่า เพราะเขาก็ไม่มีโรงงานในแถบประเทศเหล่านั้นเช่นกัน"
แน่นอนว่าการรุกทั้งในและต่างประเทศจะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นก็คือการมีต้นทุนต่ำ
แผนงานสนับสนุนที่วางไว้ก็คือการลดต้นทุนผลิตด้วยการผลิตชิ้นส่วนเอง ซึ่งเริ่มมาตั่งแต่กรกฎาคมปีที่แล้ว
ชิ้นส่วนหลัก 6 รายการที่ผลิตได้คือ เสื้อสูบเครื่องยนต์ ฝาสูบเครื่องยนต์
ล้อช่วยแรง เฟืองเกียร์ ฝาครอบชุดเฟืองและปลอกสูบ ทั้งหมดได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก
BOI เขต 3
"แต่ละชิ้นส่วนที่ผลิตได้จะประหยัดต้นทุน 40% ซึ่งเราคิดว่าจะทยอยเพิ่มการผลิตชิ้นส่วนไปเรื่อย
ๆ เพื่อให้ต้นทุนต่ำลงอีก" ประสิทธิ์กล่าวย้ำ
นอกเหนือจากสินค้าเดิม TEM ยังมีแผนเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ โดยในเดือนตุลาคมปีนี้
จะนำเข้าเครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็กที่ใช้ในการเกษตรเข้ามาจำหน่ายซึ่งในช่วงปีแรกหวังรายได้เพียง
92 ล้านบาท "สินค้าสองตัวนี้ไม่แย่งตลาดกัน เพราะเครื่องยนต์ดีเซลเหมาะกับการใช้งานที่หนักกว่า
ถ้าซื้อเป็นเครื่องแรกเกษตรกรก็จะซื้อดีเซล และจะซื้อเบนซินมาช่วยเสริมการทำงานตามมา"
ธีระศักดิ์ชี้แจง
ตลาดเครื่องยนต์เบนซินเป็นตลาดที่มีคู่แข่งขันน้อยราย มีเพียง 2 ค่ายที่ฟาดฟันกันอยู่นั่นคือ
ฮอนด้า ซึ่งกินส่วนแบ่งกว่า 80% และคาวาซากิ โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 3-4 พันล้านบาท
และอัตราเติบโตปีละ 10%
แต่ TEM ก็ไม่ได้ย่นย่อต่อการเจาะตลาด เพราะชื่อมิตซูบิขิก็เป็นที่รู้จักและยังมีเครือข่ายจัดจำหน่ายที่เข้าแข็ง
โดยมีหัวหอกหลักในการกระจายสินค้าในประเทศด้วยตัวแทนจำหน่ายประจำภาค 22
แห่งซึ่งมีเครือข่ายดีลเลอร์กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้มีบริษัทไทยธุรกิจเกษตรของธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ไม่เพียงเท่านั้น TEM ยังจะนำเข้าเครื่องจักรกลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและงานก่อสร้างต่าง
ๆ ยี่ห้อมิตซูบิชิเข้ามาขายอีกด้วย โดยได้รับอนุญาตจากฝ่ายญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว
คาดว่าจะทยอยทำตลาดตามภาวะที่เหมาะสมต่อไป
การหันมาทำตลาดสินค้าใหม่ ๆ มากขึ้น ก็เพื่อต้องการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ
โดยเฉพาะเพื่อลดความผันผวนของยอดขายสินค้าปัจจุบัน ซึ่งจะมีรายได้เข้ามามากในปลายปีและค่อนข้างน้อยในต้นปี
ส่วนรายได้จากสินค้าใหม่จะมากน้อยเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มของเครื่องจักรเกษตรและเครื่องจักรอื่น
ๆ
แม้งานทั้งหมดจะเน้นการผลิตและการตลาด แต่ในส่วนการเงิน TEM ก็มิได้ละเลย
โดยได้ปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งใหม่ไป เมื่อเดือนสิงหาคม ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียน
2 ล้านหุ้น ซึ่งระดมทุนได้ 460 ล้านบาท อันจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อผู้ถือหุ้นลดจาก
1.6 เท่าเหลือ 1 เท่า อันเป็นระดับตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ระหว่าง 1-1.4 เท่า
อีกทั้งจะออกหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านบาทตามมาในปลายปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ประสิทธิ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "จริง ๆ เราออกหุ้นกู้ก็ได้ แต่ถ้าทำอย่างนั้นสัดส่วนหนี้ก็จะสูงเกินไป
การเพิ่มทุนจะทำให้มีช่องว่างในการกู้ยืมมากขึ้น"
รวมทั้งการเพิ่มทุนและออกหุ้นกู้ยังทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำลง 3-4% จากเดิมที่มีต้นทุนดอกเบี้ย
13-15% ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดเหลือเพียง 1% กว่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
จากเดิมที่เคยสูงถึง 3%
นั่นคือในท้ายที่สุดแล้ว กำไรสุทธิของบริษัทก็คงมีตัวเลขงาม ๆ ออกมาให้เห็นอีกเช่นเคย