นิธิ เวนเจอร์ฯ รุกทุกด้านหวังล้างขาดทุนในปี' 41


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังการเปลี่ยนแปลงธุรกิจจากการผลิตผัก และผลไม้กระป๋อง มาเป็นผู้ผลิตข้าวโพดหวานควบคู่ไปกับธุรกิจ ลงทุนได้เพียงปีเดียว ทำให้บริษัท นิธิ เวนเจอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มมีกำไรให้เห็นในปลายปี 2538 โดยทำกำไรได้ทั้งสิ้น 3.3 ล้านบาทหรือ NCORP จากที่ในปี 2537 มีผลในการดำเนินงานขาดทุนถึง 65.6 ล้านบาท ก่อนหน้านั้น NCORP ขาดทุนต่อเนื่องกันมาหลายปี เพราะผลจากการตกต่ำธุรกิจผักและผลไม้กระป๋อง อันทำให้ผู้ผลิตแทบทุกรายเจ็บตัวไปตาม ๆ กัน และผลขาดทุนที่ว่าก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ NCORP ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ในปี 2537 โดยดึงบริษัทเงินทุน นิธิภัทร จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งถือหุ้น 53.63% ซึ่งต่อมาได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือเพียง 10% ของทุนจดทะเบียนเมื่อสิ้นปี 2538 และปรับกระบวนทัพทางธุรกิจใหม่ด้วยการหันหน้าสู่ธุรกิจข้าวโพดหวาน พร้อมกับธุรกิจลงทุนในหลักทรัพย์ รวมทั้งเปลี่ยนชื่อจาก "ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล" มาเป็นนิธิเวนเจอร์ฯ

กำไรที่ทำได้ในปี 2538 จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับ NCORP ในเส้นทางใหม่

โรจน์ บุรุษรัตนพันธ์ ผู้จัดการทั่วไปของ NCORP ชี้ถึงความแตกต่างของธุรกิจใหม่และเก่าของบริษัทว่า "ผักและผลไม้กระป๋องเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานมาก (LABOR INTENSIVE) ส่วนธุรกิจข้าวโพดหวานเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง (CAPITAL INTENSIVE)

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบศักยภาพการเติบโตของข้าวโพดหวานกับผักผลไม้กระป๋องแล้ว ธุรกิจข้าวโพดหวานนี้มีอัตราเติบโตสูงถึงปีละ 10-15% ที่สำคัญก็คืออัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 18% ขณะที่ผักและผลไม้กระป๋องมีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 10% เศษ ๆ

ขณะนี้ NCORP มีส่วนแบ่งตลาดโลกประมาณ 3-4% ซึ่งอยู่ในราวอันดับ 4 ของโลกแต่เป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งการส่งออกถึง 60% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ

ลูกค้าของ NCORP กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก แต่ตลาดหลักคือยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนซื้อสินค้าถึง 60% โรจน์กล่าวว่าจะทยอยลดสัดส่วนให้เหลือเพียง 40% ในอีกสองปีข้างหน้า เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านตลาด

เป้าหมายของ NCORP คือ ต้องการมีส่วนแบ่งตลาด 10% ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2543 - 2544

แต่หนทางก็ไม่ง่ายนักเนื่องจากมีคู่แข่งอย่าง สหรัฐอเมริกา ผู้ส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ซึ่งกินส่วนแบ่งถึง 65% ตามด้วยฝรั่งเศส 15% ส่วนตำแหน่งที่สามเป็นของอิตาลีซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10%

โรจน์ กล่าวว่า NCORP ไม่หวั่นกับการแข่งขัน เนื่องจากคู่แข่งต่างประเทศต่างมีข้อจำกัดในด้านการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด นั่นคือการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบทำได้ยากกว่าในประเทศไทย ซึ่งยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานจำนวนน้อยเพียง 1 แสนไร่ เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีจำนวนนับล้านไร่

อีกทั้งบริษัทมีจุดแข็งอยู่ที่การพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจนี้ ด้วยว่าบริษัทมีมือดีทางด้านนี้คือ ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ ดร.หนุ่มจากมหาวิทยาลัยฮาวาย ซึ่งศึกษาและมีประสบการณ์ด้านนี้โดยเฉพาะ และนับเป็นหนึ่งในระดับแนวหน้าด้านข้าวโพดหวานซึ่งมีไม่กี่คนในประเทศไทย

"สหรัฐฯ เป็นต้นกำเนิดข้าวโพดหวาน เขาพัฒนาสายพันธุ์มานาน แต่เราก็ไม่กลัว สายพันธุ์เราดีกว่าเขาเสียอีก เพราะมีปริมาณน้ำตาลซึ่งจะเป็นตัวให้ความหวานในข้าวโพดสูงถึง 15-16% ขณะที่ของอเมริกามีแค่ 12% เท่านั้น"

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของผู้ผลิตในประเทศคือต้นทุนข้าวโพดที่สูงกว่า เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดต่อไรของสหรัฐฯทำได้ถึง 3 ตันต่อไร่ ขณะที่ของไทยทำได้เพียง 1.5 ตันต่อไร่ ดังนั้นราคาข้าวโพดที่เป็นวัตถุดิบของข้าวโพดกระป๋องย่อมสูงกว่าต่างประเทศ

โดยมีราคาตกประมาณกิโลกรัมละ 2.2 - 2.5 บาท ขณะที่ของสหรัฐฯ ตกประมาณกิโลกรัมละ 1.8 บาทหรืออย่างสูงสุดไม่เกิน 2 บาท แต่เมื่อหักกลบลบค่าขนส่งและค่าแรงงานที่ประเทศไทยต่ำกว่าแล้ว ก็จะทำให้ต้นทุนข้าวโพดกระป๋องไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ประมาณ 20%

" ทางแก้ก็คือต้องพยายามพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งเราก็มีการปรับปรุงขึ้นตามลำดับ เดิมสายพันธุ์ของเราคือ ATS-1 มีผลผลิตเพียง 1.5 ตันต่อไร ตอนนี้ก็มี ATS-2 ที่ให้ผลผลิต 1.8 ตันต่อไร่ และในเมษายนปีหน้าเราก็จะเริ่มใช้สายพันธุ์ ATS-3 ซึ่งจะให้ผลผลิตสูงประมาณ 2 ตันต่อไร่" โรจน์กล่าวอย่างมีความหวัง

พร้อมไปกับการขยายตัวต่างประเทศ MCORP ก็มีแผนขยายตลาดในประเทศอีกด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทมียอดขายในประเทศเพียง 20% ของยอดขายรวมเท่านั้น โรจน์ชี้ถึงแนวทางว่า

"ตลาดข้าวโพดในประเทศมีศักยภาพ แต่คนไทยยังไม่นิยมมาก ฉะนั้นเราต้องพยายามสร้างความต้องการของตลาดขึ้นมา ด้วยการผลักดันให้นำข้าวโพดหวานไปเป็นส่วนประกอบของอาหารมากขึ้น"

ศักยภาพที่ว่าเห็นได้จากอัตราเติบโตในประเทศของบริษัทซึ่งขยายตัวถึงปีละ 40 % เพียงแต่การที่ผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิด คือ ข้าวโพดฝักสด ข้าวโพดอบเนย ข้าวโพดผัดเนย ข้าวโพดทอด และข้าวโพดคลุกมะพร้าว ซึ่งจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อยี่ห้อ "เทสตี้" (TASTEE) ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ข้าวโพดสดเป็นวัตถุดิบทำให้ยากต่อการขนส่งและขยายตัวในต่างจังหวัด ในปัจจุบันการขายทำโดยผ่านบูธในห้างสรรพสินค้าและสถานศึกษาต่าง ๆ จำนวน 80 แห่ง แถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แต่โรจน์ก็มีแนวคิดแก้ปัญหานี้อยู่บ้างแล้ว "หัวใจการจัดการคือเรื่องการขนส่ง ตอนนี้คิดว่าจะทำรถออกไปเร่ขายตามชุมชนเพื่อกระจายไปยังต่างจังหวัดได้ง่ายขึ้น"

นอกจากช่องทางกระจายสินค้าแล้วยังมีแผนเพิ่มสินค้าใหม่ โดยในตุลาคมนี้ จะออกสินค้าอีก 2 ตัวคือข้าวโพดบรรจุถุงสูญญากาศ ซึ่งแต่เดิมทำ เพื่อส่งออกเท่านั้น และซุปข้าวโพดกระป๋อง ซึ่งตัวหลังถือเป็นสินค้าที่ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดทำออกขายในประเทศ NCORP หวังว่าสินค้าจะช่วยทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มจาก 60 ล้านบาทของตลาดรวมราวหนึ่งพันล้านบาทได้อย่างไม่ยากเย็น

ทางด้านธุรกิจลงทุนซึ่งแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นก็ดูจะไปได้ดี เนื่องจากมี บงล.นิธิภัทร เข้ามาดูแลพอร์ตให้ ในปีที่แล้ว NCORP มีกำไรจากการลงทุน 17 ล้านบาท "วัตถุประสงค์หลัก คือ เราจะไม่เข้าไปถือหุ้นใหญ่" โรจน์กล่าวถึงนโยบายกว้าง ๆ

เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจเกษตรแล้ว โรจน์ยอมรับว่าธุรกิจลงทุนเป็นตัวสร้างกำไรให้มากกว่า ขณะที่ธุรกิจเกษตรเป็นตัวทำรายได้ อย่างไรก็ตามบริษัทก็คงไม่ทิ้งธุรกิจเกษตร เพราะมีรายได้สม่ำเสมอกว่าธุรกิจลงทุนนั่นเอง

"ปีที่แล้วธุรกิจเกษตรอาจมีรายได้น้อยเพราะยังทำไม่เต็มที่ แต่ปีนี้เรียกว่าเริ่มมีกำไร ส่วนธุรกิจลงทุนก็มีกำไรอยู่แล้ว เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนบริหารพอร์ต"

ในปีนี้ โรจน์คาดว่าบริษัทจะมีรายได้รวมเกิน 400 ล้านบาทแน่นอน หรือเติบโตจากเดิมประมาณ 30% และหากแนวโน้มดังกล่าวยังคงเป็นไปเช่นนี้ เขาคาดว่าจะสามารถตัดขาดทุนสะสมที่มีอยู่ประมาณ 90 ล้านบาทได้ภายใน 2 ปีนี้ หรือประมาณในปี 2541

การรุกรอบด้านทั้งในและนอกประเทศคงทำให้ความหวังที่ว่าไม่ไกลเกินเอื้อม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.