ในฐานะมือฉมังทางด้านการเงินของกลุ่มบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)
ที่มีการขยายการลงทุนอย่างไม่หยุดยั้ง ศิริชัย รัศมีจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
ยังยืนยันอย่างไม่ค่อยหนักแน่นว่า แม้บริษัทจะมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็จะรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E RATIO) ของ SAMART ไว้ให้อยู่ในระดับไม่เกิน
1:2.5 เท่า และพยายามที่จะไม่เพิ่มทุน
ทั้งนี้นอกจากการเพิ่มทุนจะทำให้เงินปันผลต่อหุ้นลดลงเนื่องจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นแล้ว
(Dilution Effect) ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นตกต่ำสุดขีดเช่นนี้ ราคาหุ้นเพิ่มทุนคงออกมาไม่สวยหรูนัก
และอาจทำให้การระดมทุนไม่เข้าเป้าเท่าที่ควร
SAMART มีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเปิดบริษัทใหม่ขึ้นมากว่า
10 แห่ง เช่น ไทยเทรดเน็ท พอสเน็ท สามารถคอมเทค สามารถอีซี่เปย์ สามารถอินโฟเนต
สามารถมาเลเซีย เอสดีเอ็น บีเอชดี เป็นต้น
"ประมาณ 1-2 ปีก่อนเรามีการขยายตัวมากเหมือนการปลูกต้นไม่ใหม่ ช่วงนี้ก็คงอยู่ระหว่างการรดน้ำให้มันเติบโต
เราคงยังไม่มีการตั้งบริษัทอะไรใหม่ ๆ หรือลงทุนอะไรมาก ๆ ในปีนี้"
ศิริชัยอธิบายเมื่อถูกถามถึงเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในการลงทุนช่วงนี้
เหตุที่น่าเป็นห่วงเนื่องจาก SAMART มีเงื่อนไขกับ บงล. ทิสโก้ ว่าจะรักษาระดับหนี้สินต่อทุนของบริษัทไม่ให้เกิน
2.5 เท่า ซึ่งศิริชัยยังคงยืนยันว่านั่นเป็นนโยบายของบริษัทอยู่แล้ว แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของ
SAMART จะอยู่ประมาณ 2.2 เท่า แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกู้เงินและนำมาฝากต่อในลักษณะของการ
ARBITRAGE เนื่องจากต้นทุนเงินกู้โดยเฉลี่ยของบริษัทอยู่ในระดับ 9% เท่านั้น
ขณะที่นำมาฝากได้ถึง 13-14%
อย่างไรก็ตามการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ที่จะมีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น PCN 1800
ที่ SAMART จะเปลี่ยนจากการเป็น SERVICE PROVIDER มาเป็น OPERATOR นั้น ก็จำต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล
อาจจะถึงหลักพันล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุน ซึ่ง SAMART กำลังเจรจากับ
TAC คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ขณะที่บริษัทยังมีเงื่อนไขกับ
บงล. ทิสโก้อยู่ หนทางที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดก็คงไม่พ้นการเพิ่มทุน
ศิริชัย กล่าวว่า "เราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเพิ่มทุน หากมีโครงการลงทุนใด
ๆ ก็อาจจะใช้วิธีตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา และใช้บริษัทดังกล่าวก็เงินมาดำเนินการเอง
"
แม้ว่าการกู้เงินโดยใช้ชื่อ SAMART โดยตรงจะทำให้มีเครดิตดีกว่าซึ่งจะทำให้กู้เงินได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า
แต่ศิริชัยยังคงยืนยันว่าแตกต่างกันไม่มากนัก เนื่องจากบริษัทแม่มีเครดิตดีอยู่แล้ว
ปัจจุบันการให้บริการ PCN 1800 ของกลุ่ม SAMART ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
โดยมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 22,000 ราย จากที่ต้นปีมีเพียงไม่กี่พันรายเท่านั้น
พ.อ.เรืองทรัพย์ โฆวินทะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจบริการเครือข่าย
ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30,000 ราย
ในส่วนของโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทผ่านดาวเทียม ซึ่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยรับหลักการแล้วให้
บมจ.สามารถ และบ.อะควิเม้นท์ ติดตั้งกว่า 40,000 หมู่บ้าน โดยติดตั้งให้เสร็จภายในปี
2541 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดว่า SAMART จะติดตั้งทั้งสิ้นกี่หมู่บ้าน
ราคาเท่าไหร่ คาดว่าจะเจรจาเสร็จภายใน 1 เดือน
โครงการนี้นับว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนระดับพันล้านเช่นกัน
แต่คงไม่เป็นปัญหา เนื่องจาก บมจ.สามารถ เทลคอม (SAMTEL) เป็นผู้ดำเนินการ
และ (SAMTEL) เองก็เพิ่งระดมทุนถึง 1,176 ล้านบาท โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อช่วง
2-3 เดือนที่ผ่านมา ยังมีเม็ดเงินเหลือสำหรับการลงทุน และมีที่ว่างสำหรับการกู้ยืมเงินอีกจำนวนมาก
ปัจจุบัน SAMTEL มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับ 1.2 เท่าเท่านั้น
ในด้านของบริษัท สามารถ โพสต์เทล ซึ่งมีเงื่อนไขกับกรมไปรษณีย์โทรเลขว่าเมื่อมีการเปิดเสรีเพจเจอร์แล้ว
POSTEL จำต้องขยายสถานีเครือข่ายให้ครบ 250 แห่งภายในปีนี้ ซึ่งขณะที่มีสถานีเครือข่ายแล้ว
220 แห่ง คาดว่าในส่วนนี้จะใช้งบลงทุนไม่สูงนัก และอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท
สามารถ โพสต์เทลเอง
พ.อ.เรืองทรัพย์ เปิดเผยว่า บริการ POSTEL ขณะนี้มียอดผู้ใช้บริการกว่า
72,000 รายแล้ว คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ยอดผู้ใช้บริการจะไม่ต่ำกว่า 100,000
ราย นับว่ามีการขยายตัวเร็วมาก เมื่อเทียบกับเมื่อต้นปีก่อนเปิดเสรีมียอดผู้ใช้บริการไม่ถึงหมื่นราย
ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของบริษัทมาจากสายธุรกิจบริการเครือข่ายประมาณ
37% ธุรกิจการผลิต 19% ซึ่งเท่ากับธุรกิจอิเล็กโทรนิกส์ลีฟวิ่งมาจากธุรกิจต่างประเทศ
12% ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ส 11% และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์มีเดียอีก
2%
ทั้งนี้สายธุรกิจบริการเครือข่ายมีการขยายตัวสูงมาก เมื่อเทียบกับปีก่อน
ซึ่งทำรายได้ประมาณ 10% ของยอดขายรวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม พ.อ.เรืองทรัพย์
ยังคงคาดว่าในสายธุรกิจนี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปี 2538 ประมาณ 77%
สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีของ SAMART พบว่ามีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,834
ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนประมาณ 36% มียอดขาย1,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง
65% ขณะที่กำไรขยายตัวประมาณ 11% จาก 268 ล้านบาทในปีก่อนเป็น 298 ล้านบาทในปีนี้