ปกรณ์ บุณยเกื้อกูล ต้องล้างหนี้ บง. บางกอกเงินทุนให้หมดในปีนี้


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทเงินทุน บางกอกเงินทุน ในอดีตถือเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง จนทางการต้องเข้ามาดูแล และถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในโครงการทรัสต์ 4 เม.ย. เมื่อปี 2527

และในที่สุดเมื่อปี 2535 ที่ผ่านมานี้ กลุ่มไรมอนและตระกูลศรีไกรวินซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไรมอนแลนด์ และบริษัทสวีเดนมอเตอร์ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์วอลโว่ ได้จับมือกันเข้าไปประมูลใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนของบริษัทบางกอกเงินทุนมาจากกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเริ่มเข้ามาบริหารบริษัทตั้งแต่เดือน มีนาคม 2536

แม้ว่าจะประมูลมาด้วยราคาเพียง 300 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างถูก แต่ก็แถมหนี้สินติดมาด้วยเกือบ 2,000 ล้านบาท จึงไม่ใช้เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ที่จะเข้ามาบริหารและทำให้บริษัทอยู่ในภาวะที่มีกำไร

บริษัทบางกอกเงินทุน จัดว่าเป็นสถาบันการเงินขนาดเล็ก มีสินทรัพย์เพียงประมาณ 6 พันล้านบาท ในปัจจุบันถือว่ายังไม่ค่อยมีฐานลูกค้าเป็นของตัวเองเท่าไหร่นัก เนื่องจากบริษัทเริ่มทำธุรกิจอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นการเติบโตของบริษัทถือว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างฐานให้แน่นเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะแยกหรือแตกตัวเข้าไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกันอยู่

ปกรณ์ บุณยเกื้อกูล กรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่เพิ่งถูกทาบทามให้เข้ามารับตำแหน่งใหม่เพียงระยะเวลาปีกว่า จึงจำเป็นต้องทำงานหนักอย่างแรก คือ ต้องทำตัวเลขติดลบหนี้เก่าให้เป็นศูนย์ รวมทั้งต้องเริ่มต้นสร้างรายได้ให้กับบริษัทควบคู่ไปด้วย เพราะว่ารายได้หลักจากธุรกิจสินเชื่อขณะนี้แทบไม่มีเข้ามาเลย จึงต้องอาศัยการขายสินทรัพย์ถาวรไปบางส่วนเพื่อเคลียร์หนี้ที่ติดค้างมา

กรรมการผู้จัดการคนใหม่ กล่าวให้ฟังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การแข่งขันของธุรกิจประเภทนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การทำงานมีความยากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้บริหารจำต้องใช้ความสามารถมากขึ้น

เขาย้อนให้ฟังว่าในอดีตตลาดค่อนข้างปิด การแข่งขันไม่มากนัก จะทำอะไรก็ง่ายไม่ต้องออกแรงมากก็ทำกำไรได้ดี แต่นับจากนี้ไปการดำเนินธุรกิจจะยากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่บริษัทของเราเล็กอาจจะมีความเสียเปรียบที่ไม่สามารถทำธุรกิจได้หลากหลายมากนัก คงจะเลือกทำธุรกิจที่ดีและมีอนาคตดีเท่านั้น

แนวความคิดของปกรณ์ก็คือการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันควรจะมีความหลากหลายแต่ต้องไม่มากจนเกินไป

"ในระยะแรกที่เรายังนับหนึ่งอยู่ ก็ควรจะเริ่มจากธุรกิจขั้นพื้นฐานก่อน ต่อมาเมื่อมีความเข้มแข็งดีแล้วอาจจะหันไปทำธุรกิจที่มีความหลากหลายขึ้นก็เป็นได้"

ในระยะแรกนั้นปกรณ์เล่าว่าคงจะเน้นธุรกิจทางด้านสินเชื่อเป็นหลัก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดตอนนี้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด การทำธุรกิจเงินทุน หรือธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงมีรายได้หลักมาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ส่วนธุรกิจอื่นที่คิดว่าทำได้ไม่ดี สู้คนอื่นไม่ได้ก็จะไม่ทำ

" สำหรับเป้าหมายในเบื้องต้นที่จะเน้น มี 3 กลุ่มเท่านั้น คือ สินเชื่อเคหะ สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่ออุตสาหกรรม เพราะถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จากดอกเบี้ยมากกว่ารายได้ที่เก็บแต่ค่าธรรมเนียม ซึ่งการปล่อยสินเชื่อทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องและบริษัทยังสามารถประเมินรายได้ได้ล่วงหน้า ทำให้บริษัทสามารถรู้และกำหนดทิศทางการเติบโตของบริษัทได้ "

ในขั้นแรกนี้ปกรณ์บอกว่าบริษัทยังไม่มีฐานลูกค้ามากนัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างฐานธุรกิจของบริษัทให้อยู่ได้ก่อนซึ่งอาจจะต้องเป็นการพึ่งพาเอื้อกันเองก่อน ระหว่างธุรกิจในเครือของ 2 กลุ่มหลักซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ จากกลุ่มไรมอนและจากกลุ่มตระกูลศรีไกรวิน เมื่อธุรกิจของบริษัทแข็งแรงดีแล้ว ค่อยขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มอื่น ๆ ขยายวงกว้างออกไป

สำหรับกลุ่มศรีไกรวินและกลุ่มไรมอนนั้นถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทบางกอกเงินทุนถึง 80% โดยเฉพาะกลุ่มศรีไกรวินนั้นทำธุรกิจค้ารถ เพราะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์วอลโว่ และไครสเลอร์สของบริษัทสวีเดนมอเตอร์ ซึ่งสามารถหาประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่เป็นดีลเลอร์ของบริษัทได้ ขณะเดียวกันก็ยังจะขยายสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าของไรมอนแลนด์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

" การที่เรามุ่งตลาดไปตรงนี้เพราะว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกัน และกันในระยะแรก อีกทั้งบริษัทเองก็รู้ข้อมูลของลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นอย่างดีก็น่าจะทำงานได้ง่ายขึ้น เราน่าจะใช้จุดนี้ที่ได้เปรียบคู่แข่งขัน สำหรับเป้าหมายในระยะต่อไป คือ 3 ปีข้างหน้านั้น บริษัทบางกอกเงินทุนตั้งเป้าว่าด้านการปล่อยสินเชื่อต้องไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท"

ในส่วนของสินทรัพย์นั้น ปกรณ์บอกว่าภายในต้นปี 2540 นี้ บริษัทตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มจากปีนี้เกือบ 100% และมีกำไรสุทธิประมาณ 180 ล้านบาท ซึ่งในปี 2538 บริษัทสามารถทำกำไรได้ 150 ล้านบาท

ปกรณ์ชี้แจงว่า หลังจากที่ซื้อใบอนุญาตมาราว 3 ปี ทางผู้บริหารแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเหมือนกับเพิ่งเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด การที่บริษัทตั้งเป้าการเติบโตไว้ถึง 100% นั้นไม่ถือว่าเป็นตัวเลขที่มากมายอะไร

"สิ่งที่เราหวังมากที่สุดและพยายามเดินไปให้ถึงเป้าหมาย คือการที่จะทำให้สินทรัพย์ของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 พันล้านบาทให้ได้ตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2001 ซึ่งคงต้องเหนื่อยกันพอสมควร"

ทางด้านส่วนตัวนั้น ปกรณ์ถือว่าเป็นผู้ที่คร่ำหวอดทางด้านการเงินคนหนึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับธนาคารทั้งในและต่างประเทศ ก่อนหน้าที่จะถูกทาบทามมาอยู่ที่นี่เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่ที่ธนาคารซิตี้แบงก์ จนเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำสาขาประเทศไทย และเป็นผู้จัดการภาคพื้นประเทศไทยด้านไพรเวทแบงก์กิ้ง

จากนั้นย้ายไปประจำที่สำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์กและเลื่อนเป็นผู้ประสานงานด้านไพรเวทแบงก์กิ้งประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค และเป็นหัวหน้าส่วนไพรเวทแบงก์กิ้ง ประจำสาขาซานฟรานซิสโก และลอสแองเจลิส ซึ่งผ่านประสบการณ์ทางด้านสินเชื่อในสหรัฐอเมริกามากว่า 5 ปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.