BDC แหล่งระดมทุนใหม่ที่ยังมีอนาคต


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ หรือ BDC (Bond Dealers' Club) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 แม้ชื่อจะเป็นเพียงชมรมแต่โดยสถานะแล้วเทียบเท่าตลาดรองตราสารหนี้ที่มีอยู่ในต่างประเทศทีเดียว (Secondary Market) จวบจนถึงทุกวันนี้ BDC กำลังย่างเข้าสู่ขวบปีที่ 3 หากมองย้อนหลังลงไปจะยบว่าตลาดแห่งนี้มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าและเติบโตอย่างเห็นได้ชัด

"ในตลาดการเงิน (Financial Market) จะเห็นว่า สัดส่วนเงินกู้ที่มาจากธนาคารพาณิชย์สูงที่สุด โดยในปี 1995 มีมูลค่าถึง 4,294 พันล้านบาท รองลงมามาจากตลาดหุ้นมีมูลค่า 3,564 พันล้านบาท ส่วนการระดมทุนจากตลาดตราสารหนึ้ยังมีสัดส่วนน้อยมาก มีมูลค่าเพียง 415 พันล้านบาท นั่นก็หมายความว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมาก" สมจินต์ ศรไพศาล Senior Vice President ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ กล่าวถึงอนาคตของตลาดนี้ในงานสัมมนา "Thai Bond '96"

หากพิจารณาเปรียบเทียบตลาดตราสารหนี้ของไทยเมื่อสิ้นสุดเดือนธันวาคม 1995 กับมูลค่าสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด จะพบว่ามีขนาดเพียง 8 % และเมื่อเทียบกับผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีสัดส่วน 10% และ 12% เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับตลาดหุ้น

"ในต่างประเทศโดยทั่วไป ตลาดตราสารหนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้นถึง 2 เท่า อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยการที่จะทำให้ตลาดตราสารหนี้ใหญ่เท่าตลาดหุ้นยังเป็นหนทางอีกยาวไกล"

ราวปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา BDC พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปเยี่ยมชมตลาดตราสารหนี้ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และที่โยฮันเนสเบิร์ก อาฟริกาใต้ ซึ่งรูปแบบตลาดของยุโรป และสหรัฐฯ มีลักษณะเป็นตลาด Over The Counter หรือ OTC ในขณะที่โยฮันเนสเบิร์กมีรูปแบบเป็นศูนย์ซื้อขาย หรือที่เรียกว่า Exchange ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก ทั้งนี้ก็เพื่อศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียทั้งในรูปแบบของ OTC และ Exchange ก่อนที่จะนำมาประยุกต์ใช้ยกระดับตลาดตราสารหนี้ของไทย

ปัจจุบัน BDC มีสมาชิกทั้งสิ้น 87 ราย เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 58 ราย บริษัทหลักทรัพย์ 11 ราย บริษัทเงินทุน 1 ราย ธนาคารพาณิชย์ไทย 10 ราย และธนาคารพาณิชย์ต่างชาติอีก 7 ราย ซึ่งสมาชิกแต่ละรายจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้า 1 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมประจำปี 200,000 บาท และสมาชิกทุกรายจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ และข้อบังคับจรรยาบรรณ (Code of Conduct) ของ BDC โดยในการซื้อ-ขายแต่ละครั้งจะต้องมีการบันทึกลงในระบบของ BDC

ด้านตัวสินค้าในตลาด จนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หุ้นกู้ภาคเอกชนมีสัดส่วนสูงถึง 32% ของยอดคงค้างของตลาดรวมที่มีมูลค่า 123,237.5 ล้านบาท โดยสามารถแยกออกเป็นยอดคงค้างหุ้นกู้ มูลค่า 102,747.5 ล้านบาทจำนวน 86 Issues หุ้นกู้แปลงสภาพที่เข้ามาซื้อขายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1995 มูลค่า 4,490 ล้านบาทจำนวน 5 Issues และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดเมื่อ 24 ตุลาคม 1995 มูลค่า 16,000 ล้านบาทจำนวน 15 Issues

อย่างไรก็ตาม ในราวเดือนกันยายนคาดว่าจะสามารถนำพันธบัตรที่ออกโดยกองทุนพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF : Financial Institutions Development Fund) เข้ามาทำการซื้อขายพร้อมทั้งหุ้นกู้ประเภทคืนเงินต้นทุก 6 เดือน หรือ Amortizing Debenture

"ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการทดสอบโปรแกรม เพราะตราสารประเภทนี้ใช้ระบบ Bonds net ไม่ได้ เนื่องจากมีการจ่ายคืนเงินต้นทุก 6 เดือน ดังนั้นปัญหาคือ เราไม่สามารถอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ทันที เพราะในระบบ Bonds net จะสามารถคำนวณออกมาได้เฉพาะ Clean price และ Dirty price เท่านั้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นเราให้ความสำคัญกับ Straight bond มากกว่า ดังนั้นเมื่อบอนด์ประเภทนี้เกิดขึ้นเราจึงไม่สามารถคำนวณหาความสัมพันธ์ของราคาได้ ตอนนี้โปรแกรมของเราพร้อมที่จะทดลองแล้ว และคิดว่าจะใช้ได้กับตราสารทั้งแบบ Step up / down bond" สมจินต์ ให้รายละเอียด

เนื่องจากโครงสร้างของตราสารหนี้เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น BDC จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อนำมารองรับ ซึ่งคาดว่าจนถึงปลายปีนี้ BDC จะมีโปรแกรมหลัก ๆ 3 โปรแกรม สำหรับตราสาร 3 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ โปรแกรมที่ใช้ในตลาดทั่วไป (Regular program) สำหรับตราสารธรรมดา Table of cash flow สำหรับตราสารประเภท Amortizing debenture หรือ Step up / down Debenture และโปรแกรมการซื้อ-ขายตามราคา (trading by prices) โปรแกรมนี้จะใช้ในกรณีทั้ง 2 โปรแกรม ไม่สามารถรองรับตราสารพิเศษบางชนิดได้

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังมีนโยบายที่จะผลักดันให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล บริษัทประกัน และสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้สามารถเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ได้

ขณะเดียวกัน BDC ก็กำลังอยู่ในระหว่างร่างข้อเสนอและโครงสร้างของตลาดซื้อคืน (Repurchase Market) ปัจจุบันไทยมีตลาดซื้อคืนพันธบัตรเพียงแห่งเดียว คือ ที่ธปท. ซึ่งจะมีการซื้อขายวันละ 2 ครั้งในรูปแบบของการประมูล ซึ่งหากตลาดนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จจะทำให้ตลาดตราสารหนี้มีสภาพคล่อง และสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนได้มากขึ้น

ในเรื่องของภาษี ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ของไทยได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษี Capital gain แต่นักลงทุนจะต้องจ่ายภาษีดอกเบี้ย (Interest tax) โดยนักลงทุนไทยประเภทบุคคลจะต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ในกรณีที่ราคาตราสารหนี้มีราคาต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว นักลงทุนจะถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บ Discount tax เพราะถือว่าเป็นดอกเบี้ยประเภทหนึ่ง ดังนั้นนักลงทุนจะต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายอีก 15% แต่นักลงทุนไทยประเภทสถาบันจะจ่ายเฉพาะภาษีนิติบุคคล 30% ในตอนปลายปี และอีก 3% สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับสถาบันการเงิน

ในกรณีของนักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนประเภทบุคคลจะต้องจ่ายเหมือนกับนักลงทุนไทย ส่วนนักลงทุนสถาบันจะต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15 หรือ 10% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอนุสัญญาภาษีซ้อน ซึ่งปัจจุบันนี้มีกว่า 20 ประเทศ

"ด้านปัญหาการขาดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ขณะนี้กระทรวงการคลังพยายามที่จะแก้ไข ก.ม.ให้กระทรวงการคลังสามารถออกบอนด์ได้แม้ว่างบประมาณจะสมดุล โดยออกได้ 10% ของงบประมาณ และเงินที่ระดมมาได้จะนำไปปล่อยกู้แก่รัฐวิสาหกิจที่ต้องการใช้เงิน ซึ่งหากเป็นไหได้ก็จะทำให้เกิดอัตราอ้างอิงมาตรฐานขึ้นได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ในปลายปี" สมจินต์ ให้ความหวัง

การปรับปรุงประสิทธิภาพในการชำระเงินและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing & Settlement) ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ BDC จะต้องทำการพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งสมจินต์ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะจะต้องคำนึงถึงทุกฝ่าย ปัจจุบัน BDC ใช้ระบบ T+2 ซึ่งค่อนข้างช้าในกรณีที่มีความต้องการใช้เงินเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันระบบของ BDC ยังไม่สามารถทำได้เร็วกว่านี้ ณ ขณะนี้ ทั้งธปท.ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และ BDC กำลังร่วมกันทำงานเพื่อที่จะพัฒนาให้ระบบนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบัน ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในตลาด จะมีทั้งที่เป็นแบบ Dealing Transaction ซึ่งเป็นการซื้อ-ขายกันโดยตรงระหว่างดีลเลอร์ที่เป็นสมาชิก BDC และ Crossing Transaction ที่เป็นการซื้อ-ขายระหว่างสมาชิกกับนักลงทุนที่มิใช่สมาชิก มิใช่การซื้อขายผ่านระบบ Bondnet ของ BDC เพียงแต่มีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบของ BDC เท่านั้น จากสถิติตัวเลขในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธุรกรรมแบบ Crossing Transaction มีมูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกรรมแบบ Dealing Transaction มีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่มีมูลค่า 18,000 ล้านบาท และ 12,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งนั่นหมายความว่าธุรกรรมทั้งสองประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต (ดูตารางมูลค่าการซื้อขายใน BDC)

นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างราคาการเสนอขาย-ซื้อ (Bid-Offer Spread) ของตราสารหนี้ที่มีการซื้อ-ขายสูงสุด 10 อันดับแรก ยังสามารถบ่งบอกได้ว่าตลาดเริ่มมีสภาพคล่องมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนต่างได้ปรับตัวลดลงมาเรื่อย ๆ จากระดับประมาณ 0.1% ลดลงเหลือประมาณ 0.05 %



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.