"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นวิธีการระดมเงินออกเพื่อใช้พัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมได้ทางหนึ่งและประเทศไทยเองก็ยังมีโอกาสที่จะระดมเงินออมในลักษณะนี้ได้อีกมาก
เพราะในปีที่ผ่านมายอดคงค้างของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่แล้วในระบบมีไม่ถึง
1.5% ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก และมีผู้เข้าร่วมกองทุน
หรือผู้ร่วมในการออมแบบนี้ประมาณร้อยละ 2 ของแรงงานทั้งหมด" ผลจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
และการเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์เข้าเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองประเภทนี้ ได้จะช่วยทำให้การออกรูปแบบนี้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
และมีสมาชิกมากขึ้น และน่าจะเป็นแหล่งเงินทุนหลักของประเทศได้ในอนาคต
นั่นเป็นคำกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจของดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องอินเวสต์เมนต์ แบงคกิ้ง
ของธนาคารกรุงเทพหลังจากที่เปิดหมวกอำลาชีวิตราชการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมาได้เกือบ
2 ปี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นงานล่าสุดที่ ดร.พิสิฐ เตรียมผลักดันอยู่ในขณะนี้
ถือว่าเป็นงานใหม่ที่ท้าทายทีเดียว
ดร.พิสิฐ กล่าวเพิ่มเติมถึงเจตนารมณ์ต่อไปว่า ธนาคารมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง
ในการที่จะสนองนโยบายของรัฐในการให้บริการด้านการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมเงินออมในการพัฒนาเศรษฐกิจ
อันเป็นการสนองตอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินออมของประเทศ
นอกจากนี้ก็ยังเป็นการส่งเสริมสวัสดิการของผู้ทำงานในยามเกษียณอายุ ซึ่งกระทรวงการคลังเองก็ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรอย่างมากแก่ผู้เป็นสมาชิก
และบริษัทหรือนายจ้างที่เป็นผู้จัดตั้งกองทุนอีกด้วย รัชนีพรรณ ยุกตะเสวี
ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถือว่าเป็นมือขวาของ ดร.พิสิฐ ได้กล่าวเสริม
เธออธิบายว่า กลุ่มงานจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ธนาคารกรุงเทพจัดตั้งขึ้นมานั้น
จะให้บริการทางด้านต่าง ๆ แบบครบวงจรที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตัวอย่างเช่น บริการให้คำปรึกษาและจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับองค์กรหรือสถาบันที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา
รับบริหารและจัดการกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาแล้ว โดยจะทำหน้าที่ทางด้านการบริการจัดเก็บเอกสารสำคัญของกองทุนของแต่ละบริษัท
รวมทั้งจัดทำรายงานเพื่อนำส่งกระทรวงการคลัง คณะกรรมการกองทุนและสมาชิกกองทุนด้วยระบบคอมพิวเตอร์
นอกจากนั้นยังมีการรับจัดทำเช็คเพื่อจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ผู้ที่พ้นจากสมาชิกภาพและบริการอื่น
ๆ แทนกองทุนและสมาชิกกองทุนหรือนำเงินไปบริหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ข้อกำหนดของกระทรวงการคลัง
ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 6 รายที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งกองทุนในครั้งนี้
ส่วนรายละเอียดของกองทุนของธนาคารกรุงเทพนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ กองทุนใหญ่ตั้งแต่
10 ล้าน จนถึง 1,000 ล้านบาท และกองทุนเล็กซึ่งอาจจะมีกองทุนจำนวนเงินไม่มากนักแต่หลายกองทุนเข้ามาบริหารด้วยกัน
ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนขณะนี้เป็นบริษัทเอกชนมีเข้ามาแล้ว 2-3
ราย และธนาคารพยายามที่จะขยายไปสู่กองทุนของพนักงานรัฐวิสาหกิจรายใหญ่อีกหลายราย
ซึ่งกำลังศึกษาความเป็นไปได้
การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครั้งนี้เป็นผลมาจากการเปิดเสรีทางการเงินที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง
ๆ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และไม่อาจพึ่งพารายได้หลักจากส่วนต่างของดอกเบี้ยอีกต่อไปเหมือนเช่นในอดีต
ทำให้ต้องเร่งหารายได้อื่นเข้ามาเสริม เช่น รายได้จากค่าธรรมเนียมการให้บริการ
รวมทั้งการเสนอรูปแบบการบริการใหม่ ๆ ออกมา
ประกอบกับการที่ทางการได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต และบริษัทหลักทรัพย์สามารถเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นับตั้งแต่ปี
2538 เป็นต้นมา
"ซึ่งสาเหตุดังกล่าวทำให้ธนาคารกรุงเทพเสนอตัวเข้ามารุกธุรกิจด้านการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
อย่างไรก็ตามบริการใหม่ของธนาคารนี้ เพิ่งเริ่มต้น ส่วนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้นคงต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง
ๆ ของธนาคาร รวมทั้งสาขาและฝ่ายสินเชื่อทั้งในเขตนครหลวง และต่างจังหวัดอันถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาธนาคารไปสู่การเป็นธนาคารที่ให้บริการได้อย่างครบวงจร
และเป็นธนาคารอันดับหนึ่งต่อไป นั่นคือคำกล่าวอย่างมุ่งมั่นของผู้จัดการกองทุน
การรุกธุรกิจด้านการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของธนาคารกรุงเทพครั้งนื้
นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สถาบันการเงินที่เคยครองความเป็นเจ้าตลาด ต้องปรับแผนเพื่อรองรับกับการเข่งขันที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น
สำหรับพนักงานในสายงานกิจการการเงินธนกิจ มีประมาณ 10 คนนำทีมโดยรัชนีพรรณ
ขึ้นตรงกับ ดร.พิสิฐ
ตัวรัชนีพรรณเองนั้นถือว่าเป็นลูกหม้อของกระทรวงการคลัง ในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือ
สศค. หลังจากนั้นได้ใช้ชีวิตการทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง
จึงได้มาลงตัวที่ธนาคารกรุงเทพตามคำชักชวนของ ดร.พิสิฐ
ประวัติการศึกษาของเธอ จบปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และมาต่อปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วจึงบินลัดฟ้าไปต่อปริญญาโททางด้านการเงินอีกใบที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ถือว่าเป็นผู้หญิงทำงานในแวดวงการเงินที่น่าจับตามองดีคนหนึ่งของวงการ