|

แบงก์ชาติจับตาค่าบาทผันผวนหวั่นต่างชาติทุบหุ้นขนเงินออก
ผู้จัดการรายวัน(23 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"บัณฑิต นิจถาวร" ชี้เริ่มมีเม็ดเงิน ไหลออกมาประมาณ 1 เดือน ต้องจับตาเม็ดเงินลงทุน จากต่างชาติอย่างใกล้ชิด ขณะที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุค่าเงินบาทเริ่มนิ่ง และแข็งค่าในระดับใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน พร้อมเตรียมเข้ารายงานสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไปได้ดีต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ เตือนหากรัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณไม่ทันตุลาคม 2549 จะกระทบต่องบลงทุนใหม่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงว่า ธปท.ยังไม่พบสัญญาณการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ แม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯจะลดลงก็ตาม โดย ธปท.ได้ติดตามการไหลเข้า-ออกของเงินทุนมาตลอด 5 ปี นับแต่ที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งพบว่าขณะนี้สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มนิ่ง โดยเงินบาทเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เพียง 30 สตางค์ จึงไม่ถือว่ามีความผันผวน
ขณะที่ภาคการส่งออก ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัว ได้แล้ว ขณะที่ภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังเชื่อว่าจะเติบโต ได้ 4% โดยเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อได้ ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ดุลบริการเกินดุล ขณะที่ดุลการค้า ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ แต่ขณะนี้ดุลการค้าบางเดือนสามารถเกินดุลได้ แต่เชื่อว่าตลอดปีดุลการค้าจะขาดดุลตามที่ ธปท.คาดไว้ อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีขนาดถึง 6 หมื่นเหรียญ สหรัฐ ถือว่ามีความมั่นคงพอสมควร
สำหรับการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง จึงไม่จำเป็นต้องออกมาตรการอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจภาคเอกชนเดินหน้าค่อนข้างดี ซึ่งจะเห็นได้จาก ตัวเลขการส่งออก ที่ขยายตัวได้สูง การบริโภคภาคเอกชนก็อยู่ที่ระดับ 4% ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนก็มีการขยายตัวถึง 8% ในภาวะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงตาม เพราะราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรง รวมไปถึงปัญหาการเมืองระหว่างภูมิภาคด้วย
ส่วนการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจกับกระทรวงการคลังเพื่อร่วมหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (23 พ.ค.) เท่าที่ดูในขณะนี้ตัวเลข เศรษฐกิจต่างๆ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเฉพาะดุลการค้าจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขดุลการค้าทั้งปีนี้จะขาดดุล แต่ตอนนี้ตัวเลขที่ออกมาบางเดือนก็เกินดุล ขณะที่บางเดือนดุลการค้าก็ขาดดุล ทำให้ไม่ต้องห่วงอะไรมากนัก ซึ่งตัวเลขดุลการค้าจะต้องมีการประเมินใหม่อีกครั้ง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังไม่รู้ว่าจะเป็นบวกหรือลบ ซึ่ง ธปท.จะต้องติดตามดูให้ละเอียดอีกครั้ง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในสถานการณ์ที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการลงทุนใหม่ๆ เท่านั้น ส่วนของการลงทุนในโครงการเดิมนั้นยังสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ รวมทั้งงบผูกพันที่สามารถใช้ได้อยู่ แต่หลังเดือนตุลาคมนี้ก็ต้องติดตามดูอีกครั้งว่าจะส่งผลกระทบหรือไม่ ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณอีกครั้ง
"ค่าใช้จ่ายปกติและงบผูกพันตามงบประมาณปีที่ผ่านมายังคงใช้ตามงบประมาณเดิมอยู่ เหลือแค่การลงทุนโครงการใหม่ๆ เท่านั้นเอง ซึ่งเราก็ต้องมีความอดทนเรื่องของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องใช้เวลา การเมืองต้องรอการเลือกตั้ง จะไปเร่งก็ไม่ได้ เพียงแค่เราก็ต้องดูแลประเทศให้ดีที่สุด อย่าตกใจหรือโวยวายเกินกว่าเหตุ" ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ธปท.เผยเงินนอกเริ่มไหลออกมา 1 เดือน
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสรียรภาพ การเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ถึงการเคลื่อนไหวของเงินลงทุนในช่วงนี้ว่า ในปีนี้ตลาดเงินในหลายประเทศค่อนข้างมีความผันผวน โดยในช่วงต้นปีระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาในไทยจำนวนมากทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นก็ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเม็ดเงินดังกล่าวเริ่มไหลออก เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นไปอีก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติปรับมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงไทยด้วย
"อยากแนะนำให้นักลงทุนจับตาดูการเคลื่อนไหว และความผันผวนของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการลงทุนตลอดทั้งปีนี้" นายบัณฑิตกล่าว
รับไตรมาส 2 ศก.ชะลอกว่าไตรมาสแรก
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย นายบัณฑิตกล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 จะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยปรับตัวจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยจากไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาเรื่องการอุปโภคในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกก็ยังขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีอยู่ โดยสิ่งที่เศรษฐกิจไทยยังต้องปรับตัวอยู่ คงจะเป็นเรื่องการลงทุนในประเทศ เพราะในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่ในอัตราที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี ปัจจัยด้านการลงทุนของประเทศน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะลดลงอย่างชัดเจน และจากการลดลงของเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายในประเทศปรับตัวและเริ่มฟื้นตัวได้
"ช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยปรับตัวจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่ลดลง โดยหลังจากนั้นเชื่อว่าการใช้จ่ายในประเทศก็น่าจะได้ประโยชน์ ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องพิจารณาถึงการขยายตัวของไตรมาส 1 ที่ผ่านมาด้วยว่าจะออกมาเป็น อย่างไรเพราะถ้าหากปรับตัวลดลง ตัวเลขของไตรมาส 2 ก็น่าจะต่ำกว่าอีกเล็กน้อย" นายบัณฑิตกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของ ธปท.จะให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจะพยายามคุมเงินเฟ้อไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากหากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้เอกชนขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพราะไม่สามารถคำนวณต้นทุนได้ขณะที่ต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะสูงขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงตามไปด้วย
"ที่ผ่านมา กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีอย่าง ต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนก็สามารถปรับตัวรองรับการดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหามากนัก" นายบัณฑิตกล่าว
แนะรัฐไม่ควรแทรกแซงนโยบายการเงิน-น้ำมัน
ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ไม่มีรัฐบาลถาวรว่า ที่จริงแล้วเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้โดยภาคเอกชนเป็นหลัก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว เอกชน การลงทุนธุรกิจ ซึ่งในส่วนของรัฐหากเข้ามาดูแลจัดการการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนให้เหมาะสม เชื่อว่าเศรษฐกิจก็คงจะขยายตัวได้ดีขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทย น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4-5%
ทั้งนี้ ในการทำงานของภาครัฐบางหน่วยงานก็ทำหน้าที่ได้อย่างมีอิสระในการประคอง เศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ ในขณะที่นักการเมืองก็เข้ามาตัดสินใจบางเรื่องที่เป็นนโยบายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในบางเรื่องที่รัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวนโยบายต่างๆ ก็สามารถเดินหน้าต่อไปและถือว่าเป็นเรื่องดีได้ เช่น นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สามารถทำหน้าที่ได้ดี โดยไม่ต้องมีรัฐบาลเข้ามากำกับดูแลราคาน้ำมันที่ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดหากรัฐเข้ามาแทรงแซงบ่อยก็อาจจะไม่ดี
"ในบางเรื่องการที่ไม่มีรัฐบาลรักษาการเข้ามายุ่ง ก็สามารถเดินต่อไปได้ และอาจจะไม่มีผลเสียเท่าไหร่ แต่ในบางเรื่อง เช่น การแปรรูป กฟผ.อาจจะมีความ จำเป็นที่ต้องมีรัฐบาลถาวรเข้ามาดูแล" นายปิยสวัสดิ์กล่าว
นักค้าเงินคาดบาทอ่อนต่อตามภูมิภาค
ด้านนักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า เงินบาทวันนี้ (22 พ.ค.) มีทิศทางอ่อนค่าลงตามค่าเงินสกุล อื่นๆ ในภูมิภาคยกเว้นค่าเงินหยวน โดยเปิดตลาดที่ระดับ 38.22/25 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าสุดขอวันที่ระดับ 38.19 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 38.50 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงมาปิดตลาดที่ 38.39/42 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้ สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าลงนั้น เนื่องจากตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากในช่วงนี้ จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นทั้งภูมิภาคในช่วงนี้ ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศเองก็ยังไม่ค่อย จะดีนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง และปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้ที่กลับมาส่งผลทางจิตวิทยาอีกครั้ง
ประกอบกับปัจจัยภายนอก โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่าขึ้นจากการที่บรรดาเฮดจ์ฟันด์ทยอยขายสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ น้ำมัน และหันมาถือครองสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์มากขึ้น ทำให้ทิศทางค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทจะยังอยู่ในทิศทาง ที่อ่อนค่าต่อเนื่อง โดยมีแนวรับที่ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ และแนวต้านที่ 38.20 บาทต่อดอลลาร์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|