“ทีโอที” สูญรายได้เกือบหมื่นล้าน หลังประกาศใช้ค่าเชื่อมโครงข่าย


ผู้จัดการรายวัน(23 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอที หนักใจกับการประกาศใช้ค่าไอซี สูญรายได้ไปเกือบหมื่นล้าน เร่งเตรียมข้อมูลเสนอบอร์ด ยังยึดอัตราเก่า ทั้ง 3 แบบ หวั่นใจค่าทรานซิตมากสุด พร้อมรับมือดีแทค ทรูมูฟ เลิกจ่ายแอ็กแซสชาร์จ ส่วนเอไอเอสขอแก้สัญญาลดค่าต๋ง ขณะที่ “ศุภชัย” สั่งฝ่ายกฎหมายเตรียมข้อมูลดูสัญญาหาทางออก วอน กทช.ไม่ควรมีดับเบิลแสตนดาร์ด

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูง บริษัท ทีโอที เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มงานเทคนิค และด้านการเงินได้เตรียมจัดเตรียมข้อมูลและสรุปตัวเลขของบอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือไอซี (อินเตอร์คอนเนกชัน ชาร์จ) ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อนำเสนอเป็นวาระเข้าสู่คณะกรรมการ (บอร์ด) ให้มีมติสรุปเห็นชอบ ก่อนยื่นนำเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 15 วัน

สำหรับอัตราไอซี ที่จะนำเสนอ กทช. ทีโอทีจะนำเสนอตัวเลขทั้งของแบบเก่าที่เคยจัดทำไว้ก่อนหน้านี้ คือ อัตราเก็บแบบต้นทาง (Originate) 3 บาทต่อนาที อัตราเก็บปลายทาง (Terminate) 3 บาทต่อนาที และแบบเชื่อมต่อผ่าน (Transit) 1.07 บาทต่อนาที ขณะเดียวกันจะนำเสนออัตราแบบใหม่ให้บอร์ดพิจารณาควบคู่ พร้อมกับจัดทำข้อสรุปถึงผลกระทบที่ ทีโอที จะได้รับหลังจาก กทช.ประกาศใช้

“เป็นเรื่องน่าห่วงและหนักใจ มากที่สุดของทีโอที ในขณะนี้หาก กทช.นำค่าไอซีมาใช้เมื่อไหร่ และเอกชนยกเลิกค่าเชื่อมวงจร หรือแอ็กแซสชาร์จ 200 บาทต่อเลขหมาย หันมาจ่ายค่าไอซีแทน รายได้ที่มาจากตรงนี้ของทีโอทีจะหายไปทันที ซึ่งในจุดนี้ยังไม่รู้ว่าค่าแอ็กแซส ชาร์จ กทช.จะพิจารณาอย่างไรให้เก็บหรือไม่ให้เก็บ”

เขากล่าวว่า ผลกระทบหรือสถานการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความชัดเจนได้ ทุกอย่างจะต้องรอให้ กทช.สรุปผลออกมาทั้งหมด ถึงแนวทางหรือมาตรฐานในการจัดเก็บไอซี แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงยกเลิกแอ็กแซสชาร์จ ทีโอที จะได้รับผลกระทบทางด้านรายได้อย่างชัดเจนที่สุด และเป็นสถานการณ์รุนแรงอย่างมากต่อการปรับตัวด้านการแข่งขันและแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ค่าทรานซิต เป็นอัตราที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะอัตรานี้ทุกฝ่ายเรียกร้องมากที่สุด และเป็นตัวที่จะใช้แทนค่าแอ็กแซส ชาร์จโดยตรง ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายก็ได้มีการต่อตรงกันไม่มีผ่านทีโอทีแล้ว”

ทั้งนี้ รายได้ต่อปีของทีโอทีกว่า 12,000 ล้านบาท จะหดหายลงทันที และรายได้ที่เกิดจากการใช้ไอซีอาจจะไม่ถึงระดับ 5,000 ล้านบาท เนื่องจาก เอกชนหรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องการที่จะไม่จ่ายในจุดนี้ อีกทั้งได้เริ่มมีการขอให้มีเชื่อมต่อตรงด้วยกัน และจะนำค่าไอซี มาใช้ตกลงค่าใช้จ่ายร่วมกันมากกว่าที่จะจ่ายให้ ทีโอที ซึ่งได้มีการคำนวณกันแล้วการเชื่อมต่อผ่านจะให้ผลดีมากกว่าการจ่ายในรูปแบบแอ็กแซส ชาร์จ

การยกเลิกค่าแอ็กแซส ชาร์จ ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค บริษัท ทรูมูฟ ที่ ทีโอที จะได้รับผลกระทบแล้ว ในส่วนของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส อาจจะต้องมีการเรียกร้องเรื่องแก้ไขสัญญาสัมปทานตามมา ส่วนของการจัดส่งรายได้ เนื่องจากเห็นว่าได้มีการจ่ายค่าไอซี เข้ามาทดแทนแล้ว และไม่เป็นธรรมต่อการจัดส่งรายได้ให้กับ ทีโอที

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อยากรู้มาตรฐานที่ กทช.จะกำหนดออกมาจะมีลักษณะเป็นอย่างไร จะให้ค่าแอ็กแซส ชาร์จจะยังคงอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มี ทีโอที ก็ต้องทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น หากยังคงให้อยู่ก็ไม่มีปัญหา แต่เรื่องนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายหรือเอกชน อาจจะไม่ยินยอมในเรื่องนี้อย่างแน่นอนกับการที่จะเสียค่าใช้จ่าย 2 ส่วน

ด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า หากมีการประกาศใช้ไอซี กทช.ไม่ควรให้มีการจัดเก็บค่าแอ็กแซสชาร์จ เพราะอาจจะทำให้เหมือนมีมาตรฐานที่ทับซ้อนกัน มีความเหลื่อมล้ำไม่ชัดเจน โดยระหว่างนี้ตนได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษาผลกระทบและรูปแบบการจัดเก็บจากร่างประกาศกิจจานุเบกษา ที่ กทช.ได้ประกาศใช้ ก่อนที่จะเสนอตัวเลขหรือการเจรจาถึงปัญหาเรื่องค่าแอ็กแซสชาร์จ กับ ทีโอที และ กทช.

“ภายในสัปดาห์นี้ก็จะมีข้อสรุปของจุดยืนของทรู ที่จะออกมาในลักษณะใด ในการหาทางออกกับการประกาศใช้ค่าไอซีและการตกลงเรื่องอัตราที่จะนำมาใช้”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.