โบรกหวั่นฟอร์ตเซลล์ซ้ำเติมตลาดหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(23 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ต่างชาติ เมินตลาดหุ้นไทย ทิ้งอีก 5.6 พันล้านบาท ทำยอดขายสุทธิรวม 6 วันแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ด้านโบรกเกอร์ แนะให้จับตาการใช้มาตรการบังคับขาย หรือฟอร์ตเซลล์ ที่จะเข้ามาซ้ำเติม หากราคาหุ้นยังรูดต่อเนื่อง เหตุสถานการณ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ฟื้น

วานนี้ (22 พ.ค.) นักลงทุนต่างประเทศยังคงเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก ซึ่งเป็นการขายต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ก่อน โดยมีปริมาณซื้อ 4,137.99 ล้านบาท และขาย 9,786.19 ล้านบาท หรือขายสิทธิทั้งสิ้นประมาณ 5,648.19 ล้านบาท ทำให้พอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมีการเทขายหุ้นออกมา 6 วันทำการ (15-22 พ.ค.) รวมทั้งสิ้นกว่า 20,817.70 ล้านบาท

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นของไทย ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 30-40% จากอดีตจะอยู่ในระดับ 20% เท่านั้น ดังนั้นการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย และได้ส่งผลในเชิงจิตวิทยา เพราะจะทำให้นักลงทุนในประเทศเกิดความหวาดวิตกต่อปัจจัยดังกล่าว

"การที่ประเทศไทยมีปัจจัยลบทางด้านการเมืองและสภาพเศรษฐกิจ อาจจะการฟื้นตัวของตลาดหุ้นช้ากว่าที่อื่นๆได้ อย่างไรก็ตามนักลงทุนก็ได้มีการรับรู้ในปัจจัยดังกล่าวไปบ้างแล้ว ส่วนดัชนีจะปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 700 จุดหรือไม่ไม่มีใครทำนายได้ แต่ที่ผ่านมานักวิเคราะห์ที่ต่างๆ ยังไม่ตื่นตกใจว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 700 จุด"นางสาวโสภาวดีกล่าว

***จับตาฟอร์ตเซลล์ซ้ำเติมตลาดหุ้น

แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์เปิดเผยว่า ถ้าภาวะตลาดหุ้นยังปรับตัวลดลงมาหนักอย่างต่อเนื่องอีก คาดว่าอาจจะนักลงทุนบางส่วนถูกโบรกเกอร์บังคับขายหุ้น (ฟอร์ตเซลล์) ได้ ซึ่งจะถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะคอยซ้ำเติมตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไรที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างหวือหวาก่อนหน้านี้ ถ้าภาวะตลาดหุ้นไม่ดีหุ้นเหล่านี้มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงมาหนักได้เช่นกัน

นายอภิศักดิ์ ลิมป์ธำรงกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นปรับลดลงน่าจะเกิดจากความกังวลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นทำกำไรออกมา และการโยกเงินจากตลาดทุนมาลงทุนในตลาดเงินแทนหลังจากที่อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยที่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในระยะยาวน่าจะมาจากตัวเลขดุลการค้าที่ขาดดุลถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา รวมทั้งการที่นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจะปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างความกังวลต่อนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากตัวเลขบางตัวในดุลการค้า เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มวลรวม และจะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกหลายตัวที่มีปัญหา

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในวันนี้( 23 พ.ค) ยังมีความกดดันจากปัจจัยเดิมๆ ต่อเนื่องส่งผลให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการขายออกมาอีกและอาจส่งผลต่อดัชนีลดลงอีก10จุด แต่หากดัชนีลงมากก็อาจมีแรงเข้ามาเก็งกำไรได้บ้าง 5-6จุด โดยแนวรับมีระดับอยู่ที่ 715จุด และแนวต้านอยู่ที่730จุด

***ภาวะหุ้น***

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ความผันผวนในตลาดหุ้นช่วงนี้เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยนักลงทุนไม่ควรวิตกมากนัก เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกเองปรับตัวลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูปัจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของโลกก็ยังสามารถขยายตัวได้ดีพอสมควร ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่มีความวิตกกันอยู่ ก็อาจจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งในที่สุดแล้วก็เชื่อว่าจะปรับตัวลดลงซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย

"ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ปัจจุบันผู้ลงทุนอาจจะมีความวิตกกันเกินไป ซึ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั้งของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งของไทยเองน่าจะปรับขึ้นอีกระยะหนึ่งและก็จะเริ่มทรงตัว โดยในส่วนของไทยน่าจะปรับขึ้นอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะดูตัวเลขเศรษฐกิจว่ามีความจำเป็นต้องปรับขึ้นไปอีกหรือไม่" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

สำหรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้มองว่ายังไม่แย่จนเกินไป ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวจริงแต่ก็เป็นผลมาจากราคาน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น มีเพียงดุลการค้าเท่านั้นที่ยังขาดดุลอยู่บ้าง ซึ่งนั่นก็หมายความว่านโยบายการเงินของเรามีความยึดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก ส่วนผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้ อาจจะกระทบต่อจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้นของบจ.บ้าง แต่ถือว่าไม่มากนัก เพราะภาระหนี้ของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในระดับต่ำ บวกกับดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นยังไม่สูงนักหากเทียบกัชช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

สำหรับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง แน่นอนว่ามีผลต่อการลงทุนในตลาดซึ่งทำให้เกิดภาวะที่ไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประเทศจะไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ถือว่าเริ่มมีความชัดเจนขึ้นมาพอสมควร แต่จากความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นนี้ผู้ลงทุนอาจจะไม่กล้าเข้ามาลงทุนเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การที่ดีชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าปัจจัยพื้นฐานไม่ได้ปรับลดลงไปด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคยังถือว่าต่ำมากและอาจจะต่ำที่สุดก็ว่าได้ทั้งในเรื่องของค่า P/E และผลตอบแทนจากการลงทุน โดยในช่วงนี้ที่ตลาดปรับตัวลดลงเช่นนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่าในระยะสั้นอาจจะมีความผันผวนเกิดขึ้นบ้าง

นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี ประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคม บลจ. กล่าวว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งวันนี้น่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยขาดผู้ดูแลมา 1-2 เดือน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่ลดลง จึงต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน รวมไปถึงภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ และดอกเบี้ย

"หากยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่จะยิ่งทำให้มีความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะต่างชาติที่ยังชะลอการลงทุน เพื่อรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะสานต่อนโยบายของรัฐบาลเดิม หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการลงทุนอย่างไร นอกจากนี้ ยังแสดงความเป็นห่วงการใช้จ่ายของภาครัฐที่อาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากการจัดทำงบประมาณปี 2550 อาจไม่ทันเดือนตุลาคมนี้"

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้ บริษัทได้มีการปรับประมาณการใหม่ จากเดิมที่คาดว่าดัชนีสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 780 จุด มาเป็น 820-850 จุด เนื่องจากยังเชื่อมั่นพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวได้ในอัตรา 4-5% การส่งออกยังมีการขยายตัว ขณะที่ปัญหาการเมืองหากได้ข้อยุติโดยเร็วก็จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.