|
ไทยรักไทยเสื่อม กำไร'ชินคอร์ป'ทรุดส่อเค้าพรรคแตก-ปัญหาขายหุ้นโผล่
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
บทพิสูจน์ "ชินคอร์ป" โตได้จากนโยบายรัฐบาลไทยรักไทย กำไรไตรมาสแรกสะท้อนไร้เงาทักษิณทรุดทันที แถมสถานการณ์การเมืองชัดเจนพรรคแตก หากกลับมาเป็นรัฐบาลไม่ได้กระทบกำไรหนัก
ผลการดำเนินการไตรมาสแรกของปี 2549 ของบริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น หลังจากผู้ถือหุ้นตระกูลชินวัตรขายให้กับบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เมื่อ 23 มกราคม 2549 โดยทั้ง 5 บริษัทที่อยู่ภายใต้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่มีเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อม ภาพรวมมีกำไรลดลง 826 ล้านบาทหรือลดลง 9.8%
สิ่งที่น่าสนใจคือการปรับลดลงของกำไรสุทธิเกือบทุกบริษัท เกิดขึ้นหลังจากการขายหุ้นของกลุ่มชินวัตรให้กับเทมาเส็กของสิงคโปร์ และในช่วง 3 เดือนนั้นรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร ถูกถล่มอย่างหนัก แถมการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ถูกศาลตัดสินแล้วว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ขณะที่การกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่จากคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมาชิกพรรคไทยรักไทยขึ้นมาทันที เริ่มมีการทยอยลาออกจากพรรคกันต่อเนื่อง เพราะไม่ติดล็อก 90 วันเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
โตเพราะนโยบายเอื้อ
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มชิน คอร์ป หรือ SHIN ที่ลดลงนอกจากเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กระแสความไม่พอใจในตัวผู้นำรัฐบาลก็มีผลต่อภาพรวมของกำไรในชิน คอร์ป เนื่องจากตัวชิน คอร์ป มีลักษณะเป็นโฮลดิ้งคอมปานี ที่มีรายได้หลักจากการถือหุ้นในบริษัทลูกต่าง ๆ
ชิน คอร์ป ให้เหตุผลว่ากำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2549 ลดลงลดลงจากไตรมาสเดียวกันในปี 2548 ร้อยละ 10.2 จาก จำนวน 2,479 ล้านบาทเหลือ 2,226 ล้านบาท เนื่องจากส่วนแบ่งผลกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลง
เริ่มจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC กำไรลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการปรับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนรายปีที่จ่ายให้ ทีโอที ในส่วนของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทโพสต์เพดจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 30 ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2548 กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทเท่ากับ 5,290 ล้านบาทลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2548
บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL ขาดทุนสุทธิ 58 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์รวมถึงค่าตัดจำหน่ายต้นทุนทางการเงินโครงการไอพีสตาร์ และดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น
ส่วน ไอทีวี(ITV) รายได้รวมไตรมาส 1 ปี 2549 ลดลง 12.1% และ 12.5% จากไตรมาส 4 ปี 2548 และไตรมาส 1 ปี 2548 ตามลำดับ สาเหตุจากการชะลอการใช้งบโฆษณาของลูกค้า Agency ที่ต้องการทราบผลการเปลี่ยนแปลงของ Rating จากการปรับผังรายการใหม่ดังกล่าวข้างต้น และสภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในไตรมาสนี้ มีกำไรสุทธิ 103 ล้านบาทและลดลง 58 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากสาเหตุการลดลงของรายได้ของบริษัทและมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.09 บาท
มีเพียงบริษัทเดียวที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นคือ บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL กำไรเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากธุรกิจอินเทอร์เน็ต ซึ่งบริษัทเน้นกลุ่มลูกค้าองค์กรมากขึ้นภายใต้การบริการที่มีคุณภาพ และธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์และธุรกิจที่ให้บริการข้อมูลด้วยเสียงปัจจุบันมีการปรับปรุงใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการค้นหาสินค้าและบริการ
ทรท.ไม่กลับมาวุ่นแน่
สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ต้องรอดูว่าจะมี ส.ส.ของไทยรักไทยออกไปหาพรรคใหม่หรือพรรคอื่นมากน้อยเพียงใด ต้องมองภาพให้ออกว่ามติของศาลที่ออกมาเพื่อแก้วิกฤติของประเทศนั้น คำตัดสินหลายกรณีไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย แต่สัญญาณนี้ไม่ใช่เรื่องดีกับไทยรักไทย ยิ่ง ส.ส.ไหลออกมาก โอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลก็น้อยลงทุกขณะ
ที่ผ่านมาธุรกิจแห่งได้ประโยชน์จากการขับเคลื่อนจากนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยแทบทั้งสิ้น ส่วนใครจะได้มากหรือน้อยขึ้นกับว่านโยบายเหล่านั้นจะไปเอื้อกับกิจการประเภทใด กลุ่มชิน คอร์ปก็ได้อานิสงส์ไปไม่น้อย
เมื่อไทยรักไทยเรื่องเสื่อมลง ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า กระแสต่อต้านตัวผู้นำและธุรกิจในเครือ ส่งผลให้การดำเนินงานลดลงตามไปด้วยและสะท้อนมายังราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ คาดว่าในไตรมาส 2 ของปีผลการดำเนินงานคงดีขึ้นกว่าไตรมาสแรกไม่มากนัก โดยเฉพาะตัวทำรายได้หลักอย่าง ADVANC ที่ต้องสู้สงครามราคากับคู่แข่งรายอื่น กำไรคงต้องลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าขณะนี้ฝ่ายวิจัยหลายแห่งยังคงให้ความไว้วางใจหุ้นในกลุ่มนี้ ยกเว้นหุ้นไอทีวีที่ยังไม่ชัดเจนว่าผลอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองจะออกมาอย่างไร แต่ในเชิงกลยุทธ์แล้วการไม่กลับมาของพรรคไทยรักไทยจะเป็นปัจจัยลบสำหรับหุ้นกลุ่มนี้ ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลค่อนข้างมาก
ปัญหาที่ยังคงตีความกันในเรื่องสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศว่า เป็นไปตามข้อกำหนดของบริษัทหรือตามสัญญาสัมปทานหรือไม่ เชื่อว่าอีกไม่นานคงเริ่มมีคำวินิจฉัยจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมามากขึ้น รวมถึงเรื่องพื้นที่จอดดาวเทียม สัมปทานมือถือต่าง ๆ หากไม่ใช่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาลแล้ว เรื่องเหล่านี้มีสิทธิถูกหยิบยกขึ้นมารวมถึงอาจมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|