|
สินเชื่อกู้บ้าน"พระเอก"ตลอดกาล"Kฮีโร่"ปล่อยหมัดชุดยาวถึงสิ้นปี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ถึงแม้สนามรบในงาน "มันนี่ เอ็กโป 2006" ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ จะบ่งบอกถึงแนวโน้มการประกาศสงครามฉกชิงฐานลูกค้าเงินฝากของแบงก์ต่างๆอย่างถึงพริกถึงขิง แต่ที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ยังคงครองแท่นผู้นำ หรือ "พระเอกตลอดกาล" อยู่เช่นเดิม เพราะสำหรับแบงก์ต่างๆการลดตัวลงมาจับตลาด "รีเทล" หรือ ลูกค้ารายย่อย ธงนำหรือตัวชูโรงเรียกรายได้เข้ากระเป๋า ยังหนีไม่พ้น "สินเชื่อบ้าน" ขณะที่บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ยังถือเป็นเรื่องใหม่ และในสนามแข่งขันก็มีผู้เล่นมากหน้าหลายตาจนเกินไป การควบคุมความเสี่ยงก็ทำได้ยากกว่า...
ราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อ ตัวแปรหลักที่ผลักให้อัตราดอกเบี้ยถูกดันสูงขึ้น เริ่มส่งแรงสั่นสะเทือนถึงการขยายตัวของสินเชื่อกลุ่มแบงก์อย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่ผู้บริโภคก็ถูกยัดเยียดให้มีภาระผ่อนชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น จากโครงสร้างการคิดดอกเบี้ยของแบงก์ต่างๆที่เริ่มเปลี่ยนไป
แต่ถึงอย่างนั้น "สินเชื่อที่อยู่อาศัย" ก็ยังยึดตำแหน่ง "พระเอกตลอดกาล" ที่สร้างรายได้ให้กับแบงก์ต่างๆมาโดยตลอดอย่างเหนียวแน่น...
พิสูจน์ได้จากสนามในงาน "มันนี่ เอ็กโป 2006" เพราะนอกจากการตั้งบูทรับเงินฝากอย่างเอิกเกริกเป็นครั้งแรกของแบงก์ต่างๆ แบงก์แทบทุกแห่งก็ไม่เคยละเลยการออกแคมเปญข่มขวัญคู่แข่งตลอดช่วง 4 วันที่จัดงาน
... ว่ากันว่า สีสันและแคมเปญภายในงานที่ว่าจัดจ้าน ก็ยังไม่ฉูดฉาดเท่ากับในสนามรบจริง....
ไม่ว่า ค่ายสีเหลืองอร่ามอย่างแบงก์กรุงศรีอยุธยา ค่ายบัวหลวง นครหลวงไทย ยูโอบี ทหารไทย ต่างก็งัดเอาไม่เด็ด แคมเปญที่ว่าสุดพิเศษ ออกมารบราฆ่าฟันศัตรู คู่แข่งอย่างไม่ลดละ ตั้งแต่ก่อนวันงาน กระทั่งเข้าสู่ฤดูกาลขายใน "มันนี่ เอ็กโป"
"โครงการกู้บ้านแถมยิ้ม" ของค่าย K ฮีโร่ ตระกูล KBANK แบงก์กสิกรไทย อาจเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่บอกถึงความรุนแรงในสนามรบ ถ้าไม่นับโปรโมชั่นก่อนหน้านี้ เช่น กู้บ้านแถมแจ๋ว และ HOME SMILE CLUB ที่ให้บริการก่อนและหลังการขายแก่ลูกค้าสินเชื่อบ้าน โครงการนี้นอกจากจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษในช่วงงานมหกรรมต่างๆ ก็ยังมีสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่ยื่นคำขอกู้สินเชื่อบ้านกสิกรไทยและ สินเชื่อบ้านทวีทรัพย์ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2549
สิทธิประโยชน์ในยิ้ม 5 บริการจะคลุมถึง ยิ้มต้อนรับหนังสือจาก HOME SMILE CLUB หนังสือตกแต่งบ้าน นิตยสารท่องเที่ยว อสท. และหนังสือคู่มือส่วนลด
ยิ้มสำหรับทุกคน ซึ่งก็คือ บริการผู้จัดการส่วนตัวเรื่องบ้าน บริการให้คำปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับบ้าน ติดต่อประสานงานหาร้านหรือช่างซ่อมให้ รวมถึงบริการจัดสวน กำจัดปลวก ทำความสะอาด ล้างรถ ขนย้ายและอื่นๆ
ยิ้มเพื่อบ้าน ให้บริการจัดส่งช่างซ่อมแซม บำรุงรักษาด่วนเกี่ยวกับระบบปรับอากาศ ระบบประปา ท่อน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ ระบบไฟฟ้า งานประกอบติดตั้ง และการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า
ยิ้มเพื่อครอบครัว คือการให้บริการรถเช่าฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และบริการรถตู้สำหรับเดินทางท่องเที่ยวพร้อมคนขับในวันหยุด รวมถึง ยิ้มรับสุขภาพสำหรับลูกค้าต่างจังหวัดจะได้รับเครื่องฟอกอากาศในรถยนต์และในบ้าน
โปรโมชั่นดังกล่าว จึงอธิบายถึงรูปแบบการตลาด การขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะในขณะที่อัตราดอกเบี้ยวิ่งขึ้นเร็วและแรง การต่อสู้ แข่งขันตัดราคาดอกเบี้ยมีแต่จะทำให้แบงก์แทบทุกแห่งบอบช้ำ
ส่วนสำคัญก็คือ การหดตัวอย่างรวดเร็วของกำลังซื้อ ซึ่งก็คือรายได้ในกระเป๋าของลูกค้าที่ทำท่าจะฝืดเคืองในขณะที่รายจ่ายมีแต่จะขยับขึ้น ทั้งหมดจึงส่งสัญญาณให้รู้ว่า การขยายตัวของสินเชื่อไม่ได้รื่นไหลเหมือนปีที่ผ่านๆมา
หากเฝ้าสังเกตุมาตลอดในช่วงปลายปีที่แล้ว ลูกค้าเงินกู้ธนาคารก็จะสัมผัสได้กับตัวเอง เมื่อโครงสร้างการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
ในฤดูกาลที่ดอกเบี้ยต่ำแตะพื้นแบงก์อาจเลือกกำหนดดอกเบี้ยคงที่ ราคาถูก ในเวลาที่คำนวณได้ว่ายังมีส่วนต่างกำไรกว้างอยู่ หากเทียบกับต้นทุน ค่าใช้จ่าย แต่พออัตรา
ดอกเบี้ยค่อยๆขยับ เราก็จะได้เห็นดอกเบี้ยคงที่มีอายุสั้นขึ้น จนแทบจะไม่มีให้เห็น หลังจากนั้นแบงก์แทบทุกแห่งก็จะปล่อยให้ลอยตัว
ผู้บริโภคที่กู้บ้านและกำลังผ่อนชำระอยู่ รวมถึงผู้กู้ใหม่จึงต้องถูกยัดเยียดให้แบกรับภาระส่วนนี้ไปโดยปริยาย ไม่เลือกว่าจะเป็นแบงก์รัฐหรือแบงก์พาณิชย์ที่หันมาปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นลอยตัวกันถ้วนหน้า
ว่ากันว่า แบงก์ทุกแห่งจะมีข้ออ้างเดียวกันคือ ต้นทุนที่ทะยานขึ้นจากการเร่งระดมเงินฝากเพื่อรักษาฐานลูกค้าไม่ให้ไหลไปซบค่ายแบงก์คู่แข่ง เพราะมันคือการรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากส่วนต่างดอกเบี้ยรับ ที่ไม่สมดุลกับดอกเบี้ยจ่าย
กฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ยอมรับว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเขย่าให้สินเชื่อบ้านขยายตัวในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ โดยมีเป้าหมายสำหรับโปรโมชั่นนี้ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นลูกค้าจำนวน 8 พันราย ขณะที่ปีนี้คาดว่าสินเชื่อบ้านธนาคารจะทะลุหลัก 1.8 หมื่นล้านบาท
สินเชื่อบ้านสำหรับค่ายนี้ ถือเป็นตลาดลูกค้ารายย่อยหรือ "รีเทล" ที่มีพอร์ตสูงระดับ 7 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อทั้งหมด 8.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีเพียง 1 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคล 7 พันล้านบาท
สำหรับแบงก์ทุกแห่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยจึงเทียบไม่ได้กับสินเชื่อ "ดาวรุ่ง" อย่างบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ที่กำลังไล่หลังตามมาติดๆ แต่ก็ค่อนข้างห่างไกลพอสมควรกว่าจะไล่กวดให้ทัน...
ที่ผ่านมาแบงก์ใหญ่หลายแห่งจึงยังออกอาการกล้าๆกลัวๆ ที่จะเทน้ำหนักให้กับธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงเต็มตัว...
โดยเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่มีผู้เล่นในสนามมากหน้าหลายตา และส่วนใหญ่ก็เป็นทุนนอกเงินหนาที่มีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
ตรงกันข้ามกับมุมมองแบงก์ที่ถือว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นตลาดใหม่ มีความเสี่ยงสูง เพราะไม่มีหลักประกัน ดังนั้นการขยายตลาดจึงต้องวางระบบป้องกันความเสี่ยงอย่างดี นั่นก็หมายถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะถูกผลักให้สูงตามมา
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังรอการแก้ไข ก็ทำให้การขยายตัวสินเชื่อบ้าน "ตัวละครโดดเด่น" ตลาดรีเทลของแบงก์แทบทุกแห่งชะงักงัน แทบทุกรายมองไม่เห็นหลักชัย ส่วนใหญ่จึงพลาดเป้าหมายกันตั้งแต่ครึ่งปีแรก
ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย ยอมรับว่า รายได้ในกระเป๋าลูกค้า ไม่สมดุลกับรายจ่าย เพราะในขณะที่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันถูกผลักไปรอที่ 1% แต่รายได้ในกระเป๋ากลับไม่ขยับเลย หรือถ้าขยับก็ต่ำจนไม่เกิดความสมดุล
รายได้ที่ไหลเข้าซึ่งไม่สัมพันธ์กับค่าใช้จ่าย คือเหตุผลสำคัญที่แบงก์ต้องปรับรูปแบบการอนุมัติและคัดลูกค้าด้วยความเข้มงวดอย่างช่วยไม่ได้
จากที่เคยยื่นขอเข้ามา 100 รายเคยสอบผ่านราว 50-60 ราย ก็จะเปลี่ยนมาเป็นสอบตกเสีย 60-70 ราย บวกกับระบบการคัดกรอง หรือการให้คะแนนก็จะมีรายละเอียดถี่ ยิบ มากขึ้น
เนื่องจากโจทย์ภายนอกเริ่มยากขึ้น บรรดาแบงก์ต่างๆ จึงต้องหาทางออกด้วยการปรับระบบตรวจสอบข้อมูลลูกค้าละเอียดทุกซอกมุม ไม่ว่าจะเป็นการเช็คทะเบียนประวัติการชำระหนี้ผ่านเครดิตบูโร หรือ ดูรายได้ต่อวงเงิน รวมถึงเก็บข้อมูล และเฝ้าดูพฤติกรรม เพื่อการประเมินคุณภาพการชำระหนี้
ซึ่งถ้ามีสัญญาณแสดงให้เห็น แบงก์ก็จะจัดระบบป้องกัน เพื่อคุมไม่ให้เอ็นพีแอลหรือหนี้เสียโผล่ขึ้นมาเพิ่มอีก
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มไตรมาส 2 ปีนี้ ชาติชายก็ยังเชื่อว่าสินเชื่อบ้านจะขยายตัวได้ถึง 4 พันล้านบาท หากนับเทศกาลเทกระจาดทั้งงาน มหกรรมบ้านและคอนโด และงานที่แบงก์จัดเพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อที่จะมีอยู่ตลอดปี
สำหรับลูกหนี้แบงก์ และผู้ที่คิดจะกู้บ้านในชั่วโมงหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เคยเป็น เพราะยิ่งดอกเบี้ยวิ่งขึ้นไม่หยุด ภาระทุกอย่างก็จะตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคเหมือนถูกมัดมือชก...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|