'ตราเพชร'ปรับความเสี่ยงบาทแข็งถอนราคาปัจจุบันก่อนส่งออกสินค้า


ผู้จัดการรายวัน(22 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ตราเพชร"ยันค่าบาทแข็งค่าไม่กระทบส่งออก เหตุคำนวณเป็นบาทก่อนส่งสินค้าให้ตัวแทน แถมต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบจากยุโรปต่ำลง พร้อมกระตุ้นยอดขายช่วงนอกฤดูการขาย ชูกลยุทธ์Diamond Warehouse ให้เครดิตดีลเลอร์ 120 วัน สต๊อกสินค้าก่อนถึงฤดูขาย เล็งเพิ่มพอร์ตโครงการจัดสรร ดึงค่ายเพอร์เฟค-ปริญสิริ ดูความทันสมัยของกระบวนการผลิต คาดทั้งปียอดขายกว่า 2,000 ล้านบาท

นายไพฑูรย์ กิจสำเร็จ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กระเบื้องหลังคาตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เนื่องจากทางบริษัทมีแนวทางบริหารความเสี่ยง ที่สอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินบาทมาตลอด โดยก่อนที่จะส่งออกสินค้า ทาง บริษัทจะมีการคำนวณเป็นเงินบาทแล้วค่อยส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า ขณะที่บริษัทยังได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนนำเข้าสินค้าบางประเภทจากยุโรป ซึ่งถือแม้ว่าสัดส่วนนำเข้า จะไม่สูง แต่ก็เป็นประโยชน์กับบริษัท โดยในปีนี้คาดว่าสัดส่วนการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10% และปี 2550 เพิ่มเป็น 20% และจะมีการเพิ่มสินค้าใหม่ให้มีความหลากหลายมากขึ้น อนึ่ง ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 49 บริษัทยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 4 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนผบลกระทบจาก ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลต่อต้นทุนขายสินค้าเพียงเล็กน้อยประมาณ 1.97 ล้านบาท

นายสาธิต สุดบรรทัด รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัทฯว่า บริษัทยังคงหาตลาดใหม่ๆในต่างประเทศเข้ามาเสริม เพื่อรองรับการส่งออกของบริษัท เช่น เกาหลี และจีนที่ได้เริ่มเข้าส่งสินค้าไปในปี 2548 ส่วนประเทศญี่ปุ่นบริษัทได้ส่งสินค้าประเภทกระเบื้องคอนกรีตเข้าไป ขณะที่ในไต้หวันบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 49% เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายที่นำเข้าสินค้าจากบริษัทมีสาขาในไต้หวันถึง 16 สาขา ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ยอดขายมีอัตราเติบโตที่สูงเช่นกัน

สำหรับตลาดในประเทศนั้น นายสาธิต กล่าวว่าในระยะนี้เป็นช่วงที่การขายสินค้าค่อนข้างชะลอตัว เนื่องจากเป็นฤดูนอกการขาย(โลว์ซีซัน) ทำให้บริษัทต้องงัดกลยุทธ์กระตุ้นยอดขาย โดยนำกลยุทธ์ซีอาร์เอ็มเข้ามาใช้ เน้นในกลุ่มตัวแทนจำหน่ายระดับบนที่มียอดขายระดับไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทต่อเดือน ภายใต้โครงการ Diamond Warehouse หรือการให้ตัวแทนจำหน่ายสต๊อกจำนวนสินค้ามากขึ้นกว่าปกติ พร้อมขยายเวลาให้เครดิตทางการค้าจาก 30-45 วัน เป็น 120 วัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยจะเน้นตัวแทนจำหน่ายที่เป็นเกรดเอทั้งในแง่จำนวนสินค้าที่สั่งและประวัติทางการเงิน

ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายกลุ่มดังกล่าวประมาณ 35 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ประมาณ 10 กว่ารายเท่านั้น ซึ่งตัวแทนจำหน่ายกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สร้างยอดขายให้กับบริษัทสูงถึง 40% จากรายได้รวมในปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าที่จะให้ตัวแทนจำหน่ายระดับบนสร้างยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น โดยลูกค้าที่มียอดการซื้อมาก ก็จะมีสิทธิ์ลุ้นรับรถกระบะโตโยต้า จากงานขอบคุณตัวแทนจำหน่าย Diamond Family Party 2006 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่19 – 21 พ.ค. 2549 ที่พัทยา ชลบุรี

" สาเหตุที่มาจัดงานที่พัทยา เนื่องจากยอดขายสินค้าในภาคตะวันออกนั้นเติบโตขึ้นถึง 50% และถือเป็นตลาดอันดับหนึ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรีและพัทยาโตขึ้นมากขณะที่ในระยอง ในนิคมอุตสาหกรรมก็มีการก่อสร้างบ้านพักในโรงงานจำนวนมาก รวมถึงโครงการประเภทรีสอร์ต บนเกาะช้าง จ.ตราดก็มีการก่อสร้างมากเช่นกัน"

ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ 14% กระเบื้องหลังคาคอนกรีต 16% และไม้ฝา 24% เพิ่มขึ้นจากระดับ 14-16% ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ฝาบริษัทสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงกว่าไม้ฝาตราช้างองเครือซิเมนต์ไทยแล้ว ส่วนทางด้านกำลังการผลิตขณะนี้บริษัทมีกำลังการผลิตรวม4.5 แสนตัน และอยู่ระหว่างการเพิ่มอีก 5 หมื่นตันภายในสิ้นปี 48

นายสาธิต กล่าวว่าลูกค้าในโครงการจัดสรร ในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนดังกล่าวยังมีไม่มากประมาณ 10% เนื่องจากยอดขายหลักจะมาจากตัวแทนจำหน่ายถึง 90% เพราะกลุ่มนี้จะสามารถเข้าถึงผู้รับเหมาและลูกค้าได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังจะเพิ่มลูกค้าจัดสรร จากที่ก่อนหน้านี้มีบริษัทอสังหาฯสั่งสินค้าจากบริษัท อาทิเช่น บริษัทศุภาลัย บริษัท บีทูบี จำกัด รับสร้างบ้านในกลุ่มรอยัล เฮ้าส์ รวมถึงได้เข้าไปยังบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค , ปริญสิริ ในการเข้ามาความทันสมัยของกระบวนการผลิตและสินค้า

สำหรับเป้ารายได้รวมของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 10% หรือประมาณ 2,200 ล้านบาท จากที่ในปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 2,108.02 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรกมีรายได้รวม 594.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 77.88 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 19.69 ล้านบาท

ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าเจียระไน (Jearanai Product) ได้แก่ กระเบื้องเจียระไน แผ่นผนังเจียระไน ไม้ระแนงและไม้เชิงชายเจียระไน โดยสินค้าที่ผลิตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เยื่อกระดาษ ใยสังเคราะห์ และส่วนผสมอื่นประเภทเดียวกับกระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ มีข้อพิเศษ คือ กรรมวิธีการผลิตจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะไม่มีส่วนผสมของใยหิน ซึ่งจะมีผลต่อการเกิดมะเร็งได้ ขณะที่น้ำหนักจะเบากว่าสินค้าที่มีใยหินถึง 20% ทำให้การขนส่งมีความคล่องตัว บรรทุกน้ำหนักเพิ่มขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.