|
กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดันกลุ่มชิ้นส่วนฯQ1โตเกิน40%
ผู้จัดการรายวัน(22 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้เติบโตทั้งกลุ่ม โดย DELTA MPT HANA และ TEAM ที่กำไรโตต่อเนื่องและก้าวกระโดดเกินกว่า 100% ขณะที่ KCE ขาดทุนลดลง ส่วน DRACO ฟื้นจากขาดทุนในงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นมีกำไร เนื่องจากความต้องการใช้ชิ้นส่วนฯ มีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 48 หลังจากซบเซามาหลายปี แถมได้ส่วนต่างจากค่าเงิน ส่วน KCE ขาดทุนลดลง ขณะที่ EIC เพียงตัวที่พบว่ากำไรตก เนื่องจากยกเลิกการขายสินค้าที่สั่งผลิตในประเทศจีนและส่งมอบประสบปัญหาในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้า บวกกับขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มนี้กำไรเพิ่ม 40.09% หรือเพิ่มจาก 1,186.84 ล้านบาท เป็น 1,162.67 ล้านบาท
TEAM กำไรเพิ่มสูงสุด DELTA และ MPT ก้าวกระโดด
โดย DELTA หรือบริษัท เดลต้า อีเล็คทรอนิกส์ จำกัด(มหาชน) โชว์ผลงานไตรมาสแรกปีนี้กำไรทะยาน 176% แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะลดลง เนื่องจากการลดลงของยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ PSBG1 (ได้แก่ผลิตภัณฑ์สวิตช์ชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายสำหรับคอมพิวเตอร์และอแดปเตอร์) และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มจอแสดงภาพ โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลงในกลุ่มจอแสดงภาพได้แก่ มอนิเตอร์ทั้งแบบ CRT และ LCD อย่างไรก็ตาม ยอดขายของทีวีแอลซีดีได้เพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 200% จึงสามารถทดแทนยอดขายของมอนิเตอร์ที่ลดลงได้บางส่วน
การที่บริษัทเปลี่ยนนโยบายหันมาผลิตสินค้ามาร์จิ้นสูง เพื่อดันกำไรขั้นต้นของบริษัทให้เติบโตต่อเนื่อง และกำไรขั้นต้นของบริษัทในไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเกือบทุกสายผลิตภัณฑ์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงดังนั้นจากกำไรขั้นต้นสูงขึ้นจึงดันให้ผลงานของบริษัทปีนี้เติบโตตาม
สำหรับ MPT ผลงานไตรมาสแรกปีนี้ก้าวกระโดดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผลงานพุ่งไป 134 % เนื่องจากยอดขายสินค้าในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากปริมาณการขายที่สูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนขายในไตรมาสนี้ก็เพิ่มตาม จากจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและต้นทุนค่าเสื่อมราคา ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการคาดการณ์ในการเจริญเเเติบโตของธุรกิจในอนาคต ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นของค่าใช้จ่ายพนักงานอย่างมาก ค่าเสื่อมราคาและการใช้ประโยชน์ที่ต่ำลงของการเริ่มต้นการผลิตสินค้าใหม่ นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบในทางด้านลบต่ออัตรากำไรขั้นต้นที่เกิดจากการแปลงค่าจากยอดขายที่เป็นดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาไปเป็นสกุลเงินบาท
TEAM หรือบริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) งบไตรมาสแรกปีนี้พบว่ากำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 672.77% โดยเพิ่มจาก 7.86 ล้านบาท เป็น 60.74 ล้านบาท จากปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ควบคุมสำหรับกลุ่มลูกค้าในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้รายได้จากการขายเพิ่มมากขึ้นคิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตของรายได้ 96.38 % และยังมีกำไรขั้นต้น 19.10 % ของรายได้จากการขายซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ถึง 13.34% ของรายได้ เนื่องจากความพยายามในการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตให้อยู่ในงบประมาณที่กำหนด ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในไตรมาสนี้ แม้มี จำนวนเพิ่มขึ้นจำนวน 17.47 ล้านบาทเนื่องจากการบันทึกค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแต่อย่างไรก็ตามเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ยังคงน้อยกว่างวดเดียวกัน ของปีก่อน คือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.35 ของรายได้จากการขายลดลงจากปีก่อนที่คิดเป็น 9.88 %ของรายได้จากการขาย
ขณะที่หุ้นในกลุ่มที่เหลืออีก 5 ตัวพบว่ากำไรยังคงเติบโตต่อเนื่องคือ CCET ผลงานไตรมาสแรกปีนี้ยังเติบโตเพิ่มได้เกือบ 13% โดยเป็นผลจากรายได้จากสินค้าที่ยังคงเติบโตแม้ว่าจะไม่ก้าวกระโดดก็ตาม ขณะที่ต้นทุนขายลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นตาม แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตของยอดขายของบริษัท
ส่วน IEC พบว่าไตรมาสแรกปีนี้ผลการดำเนินงานลดลง จากเดิมที่ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีกำไรแต่ปีนี้กลับขาดทุน อันเป็นผลจากยอดขายสินค้าลดลง จากที่บริษัทมีการยกเลิกการขายสินค้าที่สั่งผลิตในประเทศจีนและส่งมอบในจีนเพราะประสบปัญหาในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยการยกเลิกการขายสินค้าดังกล่าวส่งผลให้รายได้รวมจากการขายสินค้าในไตรมาสนี้ลดลง และค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้บริษัทเกิดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ HANA ดูเหมือนจะเป็นบริษัทที่ผลงานเติบโตต่อเนื่อง จากยอดขายของบริษัทที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้บริษัทได้รับส่วนต่างจากค่าเงิน ซึ่งรายได้เพิ่มขึ้นเกิดจากหน่วยงานที่เซี่ยงไฮ้ยอดขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฟื้นตัวในไตรมาส 3ปี 48 และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน แม้กำไรขั้นต้นจะลดลงอันเป็นผลจากการปรับมูลค่าวัตถุดิและการปรับขึ้นค่าแรง ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้กำไรขั้นต้นลดลง แม้ที่โรงงานเจียซิงได้เริ่มเปิดดำเนินการ แต่ยอดขายของโรงงานแห่งนี้กลับลดลงขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายเท่ากับ 6%
SPPT บริษัท กำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 8.67% โดยกำไรสุทธิไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มจาก 33.08 ล้านบาท เป็น 35.97 ล้านบาท ส่วน SVI หรือ บริษัท เอสวีไอ จำกัด(มหาชน) ไตรมาสแรกปีนี้เติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยกำไรสุทธิโตขึ้นจาก 33.08 ล้านบาท เป็น 50.37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52.26% จากงวดเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากต้นทุนค่าวัตถุดิบลดลง และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ลดลง เนื่องจากผลิตในโครงการที่ได้รับส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น ผลประกอบการขาดทุนจากบริษัทย่อยในไตรมาสนี้มีจำนวน 5.4 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากผลประกอบการขาดทุนจากโรงงานที่เทียนจิน ประเทศจีน เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีการผลิตในเดือนมีนาคมปีนี้ ขณะที่กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 8% อันเป็นผลจากโรงงานในเทียนจิน ประเทศจีนเพิ่งเริ่มมีการผลิตในเดือนมีนาคมปีนี้
DRACO และ KCE ขาดทุนลด
สำหรับ DRACO เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกเติบโต โดยพลิกจากขาดทุนเป็นมีกำไร เนื่องจากความต้องการใช้แผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าประเภท Single-sided มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจากอดีต ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา บริษัทฯ มุ่งเจาะตลาดลูกค้าสำหรับแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าประเภท Double-side Silver Through Hole ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนคำสั่งซื้อที่เกิดจากความต้องการแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าประเภท Single-sided ที่ลดลง โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนาลูกค้าใหม่ๆ ประมาณ 6-8 เดือน และในไตรมาสที่ 1 ปี 49 บริษัทฯ มียอดขายจากลูกค้ารายใหม่ๆ และเป็นคำสั่งซื้อของแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าประเภท Double-sided Silver Through Hole เพิ่มสูงขึ้น โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ต้นทุนขายลดลง
ส่วน KCE ไตรมาสแรกปีนี้ฟื้นตัวแล้ว โดยพบขาดทุนลดลง หรือผลการดำเนินงานดีขึ้นถึง 52 % เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทในเครือทุกบริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น แต่จากเดิมที่บริษัทยังประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ จึงทำให้บริษัทขาดทุนลดลง บวกกับการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้บริษัทขาดทุนลดลง และเดิมเคยส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานทั้งในเรื่องของอัตราความสูญเสียหรือประสิทธิภาพในการใช้กำลังการผลิต ก็ได้รับการแก้ไข และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับ จึงมีผลกระทบต่อการดำเนินงานในไตรมาสนี้น้อยลง
EIC ตัวเดียวในกลุ่มนี้ที่ไตรมาสแรกขาดทุน
โดยพบว่า EIC หรือบริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ขาดทุนสุทธิ จำนวน 3.89 ล้านบาท ลดลง 12.91 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันในปี 2548 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 9.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลงกว่า 143.12 % เนื่องจากบริษัทได้มีการยกเลิกการขายสินค้าที่สั่งผลิตในประเทศจีนและส่งมอบในจีนเพราะประสบปัญหาในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยการยกเลิกการขายสินค้าดังกล่าวส่งผลให้รายได้รวมจากการขายสินค้าในไตรมาสนี้ลดลง46.05 ล้านบาท หรือลดลงกว่าเกือบ 50 % จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทประสบผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และมียอดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย ด้วยการแต่งตั้งทีมขายเพิ่มขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|