ธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ หรือ เวนดิ้งแมชชีน (VENDING
MACHINE) ของบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นขึ้นในปี
2535 ด้วยการนำตู้ขายสินค้ายี่ห้อ ฟูจิ อิเลคทริคเข้ามาจำหน่ายซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่กล้าบุกเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
โดยมีการนำเข้าตู้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรก คือ ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชนิดผสม
ซึ่งเครื่องจะผสมเครื่องดื่มต่าง ๆ ตามที่ผู้ซื้อเลือก เช่น น้ำอัดลม กาแฟร้อน
กาแฟเย็น ชาร้อน ประเภทที่สอง คือ ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์เรียบร้อย
เช่น น้ำผลไม้กระป๋อง น้ำอัดลมกระป๋อง นม และเครื่องดื่มชนิดกล่อง ประเภทที่สาม
คือ ตู้จำหน่ายขนมขบเคี้ยว
ช่วงที่ผ่านมา ICC ถือว่ารุกเงียบ และเก็บกินส่วนแบ่งตลาดเพียงรายเดียว
แต่ด้วยอัตราเติบโตของตลาดปีละ 100% จากแนวโน้มการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ที่ต้องการความสะดวก
และรวดเร็ว จึงดึงดูดให้หลายบริษัทให้ความสนใจในธุรกิจนี้ ในช่วงปี 2538
เป็นต้นมา จึงมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจนี้อีกหลายราย ซึ่งได้แก่
บริษัท รอยัล เวนดิ้ง แมชชีนส์ ผู้แทนจำหน่ายตู้ยี่ห้อ โกลสตาร์ บริษัทไทย-โบนันซ่า
และรายเล็ก ๆ อีกหลายแห่ง เช่น บริษัทบางกอกเวนดิ้ง บริษัทยินเพรซิเด้นท์
ส่งผลให้ธุรกิจนี้เริ่มมีสีสันแห่งการแข่งขันขึ้นมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้ประกอบการรายเก่า ICC ย่อมไม่ยอมถูกลูบคมง่าย
ๆ ดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ กรรมการรองผู้จัดการ ICC เผยว่า หัวใจของการแข่งขันอยู่ที่การบริการ
ทั้งในด้านติดตั้งเครื่อง และการมีสินค้าที่เพียงพอและไม่ขาดสต็อก ซึ่ง ICC
มีแผนจะเพิ่มพนักงานขายจำนวนมากและวางตู้ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะสู้กับการแข่งขันที่เกิดขึ้นได้
รวมทั้งยังได้เปรียบในแง่ที่รู้ลู่ทางธุรกิจเป็นอย่างดี และในระยะยาว ICC
จะผลิตตู้เอง ย่อมทำให้ต้นทุนต่ำลง
แต่ปัญหาของการทำธุรกิจก็ยังมี ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคยุ่งยากในการหาเหรียญเพื่อหยอดตู้ซื้อสินค้าแล้ว
ก็ยังได้แก่การทำลายเครื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะคนไทยบางส่วนยังไม่ยอมรับกับความทันสมัยเหล่านี้
เช่นเดียวกับที่มีการทุบตู้โทรศัพท์บ่อย ๆ นั่นเอง
สำหรับธุรกิจค้าปลีก ICC ยังไม่ได้ลงทุนอย่างจริงจังเท่าใดนัก แต่ก็ให้ความสนใจตลอดมา
โดยเข้าไปถือหุ้นในห้างสรรพสินค้าอิเซตัน และเยาฮันในสัดส่วน 3% และ 4% ตามลำดับ
และล่าสุดได้เข้าลงทุน 10% ในร้านแฟร์รี่แลนด์เมื่อต้นปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าประเภท "แคชแอนด์แคร์รี่แอนด์คอนวีเนียนสโตร์"
ภายใต้ชื่อ "ซีซีซี" ปัจจุบันมี 2 สาขา คือ ที่อ้อมน้อย และพระราม
3 แต่มีแผนจะขยายอีกในปีนี้
การที่ ICC ให้ความสนใจในธุรกิจค้าปลีก แรงผลักดันส่วนหนึ่งอาจมาจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์
จากการวางจำหน่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง ซึ่งรุนแรงถึงขนาดที่
ICC ไม่ยอมส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้านั้น
ในปี 2538 เริ่มรุกธุรกิจนี้ ด้วยการประกาศตัวร่วมทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าเพื่อผลิตสินค้า
"HOUSE BRAND" ให้กับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ โดยรูปแบบการลงทุนจะเป็นลักษณะที่
ICC ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาและบริษัทนั้นจะเข้าร่วมลงทุนกับห้างสรรพสินค้า
โดยถือหุ้นกันฝ่ายละ 50% โดยจะผลิตสินค้าป้อนให้กับห้างสรรพสินค้านั้น ๆ
โดยเฉพาะ
บริษัทแรก และบริษัทเดียวที่ ICC ดำเนินในขณะนั้นก็คือ บริษัท เอ็มไอซี
(MIC) จำกัด ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ เพื่อผลิตเสื้อผ้า
เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ภายใต้ยี่ห้อ "MONE" ให้กับห้างเดอะมอลล์
ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านกระจายสินค้าแล้ว ยังทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดกลางถึงล่าง
จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงตลาดกลางถึงบน
การร่วมทุนลักษณะนี้ จึงนับเป็นการรุกอีกก้าวสู่ธุรกิจค้าปลีก
แต่เหตุที่ยังไม่รุกในธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัวเพราะว่ายังไม่พร้อมทั้งในเรื่องบุคลากรและความเชี่ยวชาญ
บุญเกียรติ โชควัฒนา ชี้แจงว่า
"เราคงไม่โดดไปทำอย่างพรวดพราด เพราะยังไม่มีประสบการณ์ และธุรกิจนี้ไม่ใช่ว่าใครเข้ามาทำก็สำเร็จ
จะสำเร็จได้ต้องมีกำลังคน กำลังเงิน และนโยบายที่ดี" และรวมไปถึงพันธมิตรที่ดีด้วยนั่นเอง
แม้เขาจะยังไม่ระบุถึงตัวพันธมิตรว่าจะเป็นใคร เพียงกล่าวกว้าง ๆ ว่าพันธมิตรต้องมีคุณธรรม
มีมาตรฐาน และมีสัจธรรม ทว่าก็คงมีชื่อของ "กลุ่มเดอะมอลล์" ในลำดับต้น
ๆ อย่างแน่นอน