ทรูฮิต

โดย วิสุทธิ์ ตันติตยาพงษ์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ครั้งก่อนผมพูดถึงมีเดียโกส์ดิจิตอล วันนี้จึงขออนุญาตเล่าให้คุณๆ ฟังต่อถึงส่วนควบอันสำคัญของโลกดิจิตอลมีเดีย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจจะทราบมาแล้วบ้างเกี่ยวกับเครื่องวัดความนิยมของเว็บไซต์ ซึ่งสำคัญมากต่อผู้ลงโฆษณาและผู้ที่คิดจะประกอบการบนโลกไซเบอร์ ที่เป็นเว็บไซต์ที่ชื่อว่า ทรูฮิต (www.truehits.net) ซึ่งเป็นของสำนักงานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐสบทร. ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ - สวทช. เป็นผู้ที่ตั้งต้นสร้างเครื่องมือดังกล่าวเพื่อมีข้อมูลสำหรับเว็บไซต์ของไทย

ประโยชน์ของการวัดความนิยม ทั้งจำนวนคนเข้าชมเว็บ (Unique IP) และความนิยมในประเภทของเว็บที่เกิดขึ้น (New Service) ทำให้ผู้ที่ตั้งใจประกอบธุรกิจบนโลกออนไลน์และผู้ลงโฆษณา มีทิศทางที่เกิดจากการใช้ข้อมูลอ้างอิง ทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจเว็บไทย รวมไปถึงว่าจะลงโฆษณากับเว็บไหนดีจึงจะครอบคลุมกลุ่มคนได้มากที่สุด

แต่ทราบไหมครับว่าค่าใช้จ่ายในการจัดการเพื่อให้ได้ตัววัดดังกล่าวที่ทรูฮิตได้รับ อยู่ประมาณหลักพันกลางๆ ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากข้อมูลอ้างอิง ในขณะที่อุตสาหกรรมของโลกไซเบอร์น่าจะได้รับการส่งเสริม ซึ่งนั่นหมายถึงทุกคนที่ทำมาหาได้ ควรมีส่วนร่วมกันที่จะสนับสนุนเครื่องวัดนี้ไปพร้อมกัน

ที่ผมพูดนี่ไม่ได้เป็นกระบอก เสียงของทรูฮิตแต่อย่างใด เพียงแต่เกรงว่าเครื่องมือวัดที่เป็นของคนไทย และมีส่วนในการเขียนประวัติศาสตร์การตลาดของโลกไซเบอร์ จะล้มหายตายจากไปถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน ผมอยากให้คนไทยด้วยกันดูแลกันโดยการช่วยกันสร้างและใช้ทรูฮิตเพื่ออ้างอิง พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเว็บนี้ เพื่อที่ว่าทรูฮิตจะได้สร้างเครื่องวัดตัวใหม่ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการประกอบ ธุรกรรมบนโลกอินเตอร์เน็ทของไทย

ในโอกาสนี้ผมอยากให้คุณๆอ่านบทความของคุณปิยะพงศ์ ป้องภัย ที่พูดถึงกำเนิดและประโยชน์ของทรูฮิตกันก่อน เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

กำเนิดทรูฮิต

ย้อนเวลากลับไปในปี 2543 ตอนนั้นเว็บไซต์เมืองไทยไม่มีสถิติที่เป็นมาตรฐาน แต่ละเว็บใช้บริการสถิติเมืองนอกที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ตรงกับสถานการณ์ที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่ 'สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ' หรือ สบทร. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง เพื่อให้บริการด้านเครือข่ายและเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ภาครัฐ ได้ระบุไว้ในเอกสารว่า......ปัจจุบันระบบให้บริการตรวจสอบสถิติการเยี่ยมชมเว็บไซต์ ที่สมบูรณ์และมีคุณภาพนั้น จะมีให้บริการอยู่แต่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เว็บไซต์ของ หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาระบบดังกล่าวของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ข้อมูลการเยี่ยมชมเว็บไซต์ไทยอยู่ในมือของผู้ให้บริการในต่างประเทศ นักวิจัยไทยจึงไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเป็นสถิติที่มีประโยชน์ได้ ....(ที่มา เว็บไซต์สบทร.)

ในขณะที่ยังไม่มีใครเห็นความสำคัญของการเก็บสถิติเว็บ กลุ่มบุคคลเล็กๆ ภายใต้การนำของ ดร.ปิยะ ตัณฑวิเชียร ได้เกิดความคิดที่จะทำอะไรบางอย่างขึ้นมา ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของระบบสถิติทรูฮิตในที่สุด กลุ่มทำงานในตอนนั้นได้ขยายตัวจนรวมถึง จารุวรรณ ละองมาลย์ ไพโรจน์ พุ่มขจร และ เจริญ ลักษณ์เลิศกุล "ไอเดียเรื่องทรูฮิตเริ่มในเดือนพฤษภาคม ปี 2543 มีดูของต่างประเทศที่ให้บริการ web counter หรือตัวนับผู้ให้เข้าบริการ ซึ่งมีเว็บไทยใช้บริการตรงนี้อยู่เยอะ มีการจัดเรตติ้ง เมืองไทยน่าจะมีตัวนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการวัด" ดร.ปิยะ เล่าถึงจุดกำเนิดความคิดเรื่องทรูฮิตที่ตนผลักดันออกมาจนเป็นรูปเป็นร่างในที่สุด

"ถ้าได้สถิติของแต่ละเว็บมาหมด เราก็จะได้สถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยด้วยในภาพรวม" ดร.ปิยะ อธิบายแนวคิดเบื้องหลัง ตามคำบอกเล่าของดร.ปิยะ ในช่วงแรกมีการพูดคุยกับเว็บมาสเตอร์ชื่อดังในยุคนั้น อย่างคุณวันฉัตร จากเว็บ www.pantip.com บอกอ ลายจุด จากเว็บ www.bannok.com และคุณป้อม เว็บมาสเตอร์ www.thaiseconhand .com รวมทั้งเว็บมาสเตอร์คนอื่นๆ อีกหลายคน ความเห็นคือ คิดว่าน่าจะทำของไทยขึ้นมา

ใครได้ประโยชน์จากสถิติกลางของเว็บไทย

ชุมชนเว็บ+เว็บมาสเตอร์ ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคงไม่พ้นชุมชนเว็บมาสเตอร์ที่ได้ "สถิติกลาง" ไว้เป็นดัชนีอ้างอิง ในการระบุปริมาณทราฟฟิก และความนิยมของเว็บไซต์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับการขายโฆษณา นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง link ใน directory และหน้าหลักของทรูฮิต เว็บมาสเตอร์เป็นอาชีพที่ต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ วงการนี้กลับเป็นกลุ่มคนที่ยอมรับ และเห็นความสำคัญของระบบทรูฮิตมากที่สุด ความสัมพันธ์ตรงนี้อาจเปรียบได้กับ ข้อมูลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ที่เป็นประโยชน์ในการเดินเรือของชาวเรือ ในสมัยที่ผู้เขียนรับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์เอ็มเว็บประเทศไทย หรือ mweb.co.th (ปัจจุบันถูกยุบรวมกับสนุกดอทคอม)

บทบาทของทรูฮิตมีความจำเป็นสูงมากในแง่การอ้างอิงเวลาขายโฆษณากับลูกค้า เพราะเวลานั้น การยอมรับจากแวดวงเอเยนซี่ยังมีต่ำ กว่าทุกวันนี้มาก การขายโฆษณาเป็นเรื่องที่กินแรงและเวลา โดยส่วนใหญ่ต้องการคำอธิบายมากมายกว่าจะสามารถปิดดีลแต่ละครั้งได้ ในสายตาของเอเยนซี่หลายรายในอดีต มองสื่อออนไลน์ด้วยความไม่เข้าใจ เช่น ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพว่ามีคนเข้าเยอะจริง การยืนยันด้วยสถิติแบบ inhouse ที่เจ็นขึ้นจากเซิร์ฟเวอร์เอง กลับไม่ได้รับการยอมรับ และถูกระแวดระวังว่าอาจจะเจ็นขึ้นมาให้สวยหรูอย่างไรก็ได้ ยิ่งบุคลากรในแวดวงเอเยนซี่ขณะนั้น โดยมากมักไม่มีประสบการณ์ด้านไอทีมาก่อน

ในขณะที่ฝั่งเว็บมาสเตอร์เองก็ขาดประสบการณ์ด้านงานโฆษณา การหาจุดเชื่อมความเข้าใจระหว่างเว็บมาสเตอร์กับเอเยนซีจึงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่ายาก สรุปปัญหาในยุคบุกเบิกของการโฆษณาออนไลน์ในยุคนั้นก็คือ เว็บมาสเตอร์ทราบดีว่าเว็บไซต์ของตนมีคนเข้ามากแค่ไหนในแต่ละวัน แต่การใช้สถิติที่รวบรวมจากเซิร์ฟเวอร์ของตนนำไปอ้างอิงนั้นกลับทำไม่ได้ เพราะไม่ได้รับการเชื่อถือจากวงการเอเยนซี่โฆษณา กลายเป็นปัญหาค้างคาเรื่อยมา

"อย่างเรื่องโฆษณา ไม่เคยมีคำถามกับสื่ออื่น ว่ามีคนดูกี่คน คลิ๊กกี่ที แต่พอเป็นเว็บไซต์จะต้องให้บอกอย่างละเอียด" อดีตเว็บมาสเตอร์ชื่อดังคนหนึ่งที่ปัจจุบันออกจากวงการไปแล้ว เคยบ่นถึงความรู้สึกส่วนตัวให้ฟังในการคุยคราวหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนเป็นภาพสะท้อนแห่งยุคสมัยที่สังคมกำลังเปลี่ยนจากยุคจักรกลไปสู่ดิจิตอลได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการมีสถิติกลางขึ้นมาอย่างทรูฮิต จึงช่วยให้ทั้งวงการเว็บและวงการโฆษณามีจุดอ้างอิงร่วมกัน ทำให้มีคำตอบที่อธิบายได้ในเรื่องของความนิยมของเว็บไซต์ และขณะเดียวกันนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการวัดมูลค่าเว็บไซต์ไทยเช่นกัน

วงการโฆษณา

ธุรกิจนี้ได้ประโยชน์โดยตรงจากทรูฮิต และสถิติกลาง แม้ในขณะนี้จะยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้มาก แต่ในอนาคตประเด็นนี้จะเป้นหัวใจหลักของการโฆษณาและการตลาดออนไลน์ วงการโฆษณาที่ต้องการมาตรฐานกลางในการวัดความนิยมเว็บไซต์บริษัทโฆษณา หรือผู้ลงโฆษณาสามารถตัดสินใจได้ว่า ควรจะเลือกลงโฆษณาที่เว็บไซต์ใดจึงจะเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า เช่น อาจเลือกการลงกับเว็บไซต์ อันดับที่ 4-6 ที่อาจให้ผลเท่ากับเว็บไซต์อันดับหนึ่ง แต่มีอัตราค่าโฆษณาที่ต่ำกว่ามาก ทำให้ใช้เม็ดเงินที่มีอยู่ในมือได้คุ้มค่าที่สุด การลงโฆษณาที่เว็บไซต์ใหญ่ที่สุดเพียงไซต์เดียวอาจไม่ใช่คำตอบ ในหลายกรณีการกระจายไปตามเว็บไซต์ที่เหมาะสมน่าจะตอบสนองความต้องการของคนควักกระเป๋าจ่ายค่าโฆษณามากกว่า และการที่จะรู้ได้ว่า ควรลงที่เว็บไซต์ใด การมีมาตรฐานสถิติจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ครับคงเต็มอิ่มกันไปแล้ว ฉบับหน้าผมจะพูดถึงทำอย่างไรจึงจะเริ่มต้นธุรกิจดอทคอมได้ โดยที่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ฉบับนี้ผมขอเชียร์ทรูฮิตแบบเต็มที่ซะก่อน ในขณะที่เป็นการปูพื้นให้กับคุณๆ สำหรับสัปดาห์หน้าด้วย สวัสดีครับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.