"มาม่า" ยักษ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนีตลาดอิ่มตัว สลัดทิ้งภาพ 5 บาทขยับตัวเข้าสู่ตลาดพรีเมี่ยม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าภาพรวมของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2549 ตลาดยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้าบะหมี่สำเร็จรูปในแบบถ้วยและชามจะเป็นสินค้าตัวหลักในการผลักดันให้ตลาดรวมเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น และคาดการณ์ว่ายอดขายของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ซึ่งมีสัดส่วน 15% ของตลาดรวมมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท จะมีอัตราการเติบโตถึง 50 % ขณะที่ตลาดชนิดซองใกล้ถึงจุดอิ่มตัว เพราะมีการเติบโตเพียง 7%

ตัวเลขดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างรุนแรง ที่ผลักดันทำให้หลายๆค่ายต้องที่อยู่ในอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในยุคนี้ มีอันต้องพลิกกลยุทธ์การตลาดใหม่เพื่อเข้ามารับมือกับสถานการณ์ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่กำลังใกล้ถึงจุดเปลี่ยน จากจุดขายเดิมๆที่ขายในเรื่องและราคาถูก และ Convenience ความสะดวก สบาย เป็นอันดับแรก เปลี่ยนมาสู่ยุคของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่แข่งขันกันด้วย การใส่มูลค่าเพิ่มเข้าไปในสินค้า

เห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายๆค่ายก็ได้พยายามมองช่องว่างของตลาดและชูกลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆขึ้น และพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้สินค้า หรือเพิ่มมูลค่าสินค้าทั้งในแง่อารมณ์ หรืออีโมชันนัล ผ่านการสื่อสารการตลาด และการให้ประโยชน์ด้านฟังก์ชันนัลของสินค้าให้กับผู้บริโภคเพื่อที่จะกระตุ้นยอดขายและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดให้มากขึ้น

ทั้งนี้การดิ้นรนก่อนที่ตลาดชนิดซอง 5 บาท จะเริ่มถึงจุดอิ่มตัวนั้น มีความพยายามของผู้เล่นในตลาด จากหลายๆค่ายที่พัฒนาผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปออกมาในรูปแบบต่างที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและการหาสินค้าบะหมี่รูปแบบใหม่ๆ ที่ขยายฐานไปสู่ตลาดระดับบน หรือตลาดพรีเมี่ยม

นับตั้งแต่การวางตลาดมาม่า โอเรียนทอล คิทเช่น ชนิดซอง ที่มีราคาจำหน่าย 12 บาท ซึ่งเป็นบะหมี่ชนิดต้ม การเพิ่มมูลค่าด้วยการออกสินค้าที่รับกับกระแสสุขภาพเส้นชาเขียว และการเปิดตัวรสชาติใหม่ ที่ใส่นวัตกรรมใหม่ที่เลือกได้ทั้งแบบน้ำและแบบแห้งในซองเดียวกัน

ล่าสุดมาถึงวิวัฒนาการการเปลี่ยนตลาดบะหมี่แบบซอง ที่ถึงจุดเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำตลาดชนิดถ้วยและชาม และการวางตลาดซูเปอร์โบวล์ เนื้อสัตว์ในซอง จำหน่ายราคา 25 บาท และพรีเมียร์ โบว์ล ราคาชามละ 28 บาท ของค่ายยำยำ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนภาพใหม่ไปสู่การทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีความเป็นพรีเมี่ยม รวมถึงการทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ชูจุดเด่นเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย เข้ามาเป็นตัวสร้างโอกาสทางการขายใหม่ให้กับตลาดที่มีใกล้ถึงจุดอิ่มตัว

ช่วงที่ผ่านมา"มาม่า" ยักษ์ใหญ่ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีการเตรียมความพร้อมในการทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยและชาม ด้วยการทุ่มงบ 30 ล้านบาท วางตลาดมาม่า คัพ คอลเลกชั่นมิสยูนิเวิร์ส ที่ชูจุดเด่นของบรรจุภัณฑ์พิมพ์ภาพของพรีเซ็นเตอร์ นาตาลี เกลโบวา มิสยูนิเวิร์ส 2005 ลงบนมาม่าคัพใน 12 เวอร์ชั่น ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อจำหน่ายในประเทศ 4 ล้านถ้วย และ 1 ล้านถ้วยส่งออกไป 171 ทั่วโลก ซึ่งเป็นการยกระดับแบรนด์เพื่อการทำตลาดไปทั่วโลก

ปัจจุบัน "มาม่า"ครองความเป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 50% ในขณะที่คู่แข่งอันดับสองและสาม มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 24% และ 20% ตามลำดับ ( จากข้อมูลผลการสำรวจตลาดโดยบริษัท เอ.ซี .เนลสัน(ประเทศไทย) จำกัด เดือนตุลาคม 2548 )

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานสำหรับ บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า”บอกว่า "ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบซองในเมืองไทย เริ่มใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เพราะมีอัตราการบริโภค 35 ซอง ต่อคนต่อปี ใกล้เคียงกับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อิ่มตัวแล้วในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการบริโภค 40 ซองต่อคนต่อปีประมาณ

ดังนั้นนโยบายการทำตลาดปีนี้ บริษัทจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดระดับพรีเมี่ยมมากขึ้นคือ การทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยและชามราคา 12 บาท โดย ตั้งเป้าบะหมี่ถ้วยของมาม่า จะมีส่วนแบ่งมากกว่า 50% จากก่อนหน้านี้มีส่วนแบ่ง 25% ซึ่งบริษัทสร้างความแตกต่างด้วยการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นถ้วยกระดาษ ส่งผลให้ปัจจุบันมาม่าขึ้นเป็นผู้นำตลาดบะหมี่ถ้วย ครองส่วนแบ่ง 40-50% "


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.