เอเยนซี่เล็กสุดมั่น งัดไอเดียสู้ ฝ่าวิกฤติชาติ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทันทีที่ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้น ทุกค่ายธุรกิจต่างเร่งพลิกคัมภีร์เพื่อปรับตัวและหาทางรอดในภาวะวิกฤตเช่นนี้ แม้แต่ในวงการสื่อสารการตลาดอย่าง ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการจัดอีเว้นท์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเล็ก-ใหญ่ขนาดไหน จะข้ามชาติหรือไทยแท้อย่างไร ถ้าปรับตัวไม่ทัน ทางรอดสุดท้ายคือ รอวันเจ๊งม้วนเสื่อกลับบ้านอย่างเดียว!

"แม้ว่าธุรกิจโฆษณายักษ์ใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ก็ต้องโดนผลกระทบจากภาวะวิกฤตเช่นนี้ คือมันต้องกระทบบ้าง แต่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับจุดยืนและทิศทางขององค์กร ส่วนรายเล็ก ๆ นี่อาจหนักหน่อย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีลูกค้าเดินมาหาง่าย ๆ อยากได้งาน มักจะต้องพีชงานเอา บวกกับอาจจะมีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนด้วย" จุรีพร ไทยดำรงค์ หรือชื่อที่รู้จักกันในวงการโฆษณาว่า จูดี้ นั่งแป้นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เจ๊ ยูไนเต็ด จำกัด กล่าวถึงอุตสาหกรรโฆษณาที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเช่นนี้

สาเหตุหนึ่งที่ค่ายโฆษณาใหญ่ ๆ ไม่ได้หนักหนาไปกับผลกระทบมากนัก เป็นเพราะการมีบริการที่ตอบสนองลูกค้าได้ครบเกือบทุกประเภท นอกเหนือการผลิตงานโฆษณาผ่านสื่อ และการซื้อสื่อ ที่เรียกกันว่า Above the Line แล้ว ก็ยังมีธุรกิจประชาสัมพันธ์ รวมถึงธุรกิจอีเว้นท์ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Below the Line ให้บริการกับลูกค้าอยู่ภายในองค์กรเดียวกันอย่างเสร็จสรรพ เมื่ออยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ลูกค้าหรือเจ้าของสินค้าส่วนใหญ่ต้องรัดเข็มขัดการใช้จ่ายชนิดที่เรียกว่า แทบหายใจไม่ออก ย่อมส่งผลต่อธุรกิจในภาคโฆษณาเช่นกัน เพราะงบประมาณลำดับแรก ๆ ที่ลูกค้าจะเลือกหั่นทิ้ง หรือลดงบประมาณลง และหันไปใช้การสื่อสารการตลาดรูปแบบอื่นที่ใช้งบประมาณน้อยกว่าแทน

สำหรับเอเจนซี่ใหญ่ที่ให้บริการครบทุกความต้องการของลูกค้า หรือเรียกว่า วันสต็อปเซอร์วิสแล้ว สถานการณ์หั่นงบโฆษณา แล้วไปเสริมงบการทำประชาสัมพันธ์และอีเว้นท์แทน จึงถือเป็นการโยกเงินจากกระเป๋าซ้ายไปสู่กระเป๋าขวาแทน เรียกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับค่ายใหญ่ คือยอดบิลลิ่งที่ลดลงเท่านั้น

แต่ในเอเจนซี่ขนาดเล็กที่ไม่สามารถมีบริการได้เบ็ดเสร็จครบเหมือนองค์กรขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลมากทั้งเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น จำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ทำให้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะที่ลูกค้าลดงบประมาณโฆษณาลงอย่างแรง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของเอเจนซี่ค่ายเล็ก ๆ มักจะมาจากการพีชงานกับลูกค้ามากกว่าการได้มาจากอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อรับงานต่อจากเอเจนซี่ใหญ่ๆ

"อย่างเจ๊ ยูไนเต็ด ที่เปิดมาได้ขวบเศษ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามาหาเราเพราะความเป็นสเปเชี่ยลลิสต์ แทนที่จะเป็นเซอร์วิสอื่น ๆ และการทำงานของเราต้องช่วยลดงบประมาณการใช้สื่อให้ลูกค้าด้วย เรียกว่า ต้องยิงตูมเดียวอยู่หมัด ถูกใจทั้งลูกค้า และก็ตรงกับแนวคิดการทำงานของเรา และคาดว่าในปีนี้อัตราการเติบโตของบริษัทเราน่าจะอยู่ 200% จากปีที่แล้ว" เจ๊จูดี้ เจ้าแม่วงการโฆษณากล่าวถึงหลักการทำงานและการเติบโตของเจ๊ ยูไนเต็ด

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เจ๊ ยูไนเต็ดสามารถยืนหยัดอยู่ในวงการได้แม้จะภาวะเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงล่อแหลมอย่างนี้ เพราะการมีจุดแข็งในเรื่องการเน้นงานด้านครีเอทีฝเป็นหลัก โดยวางตำแหน่งของเอเจนซี่ตัวเองเป็น 'Creative Power House' หรือเป็นเอเจนซี่ทางเลือกให้กับลูกค้า ที่สามารถประกาศความสำเร็จผ่านผลงานที่โด่งดังเช่น โฆษณาชุด "น้องจุ๋ม" ของสมูทอี, ยาสีฟันเดนทิสเต้ ฯลฯ จนคว้ารางวัลระดับโลกมาได้อย่างมากมาย

"ถ้าหากเทียบขนาด เราคงเป็นเอเจนซี่ขนาดเล็ก แต่เล็กแบบพริกขึ้หนู เพราะสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ คือเรามีความแข็งแกร่งทางด้านความเป็นครีเอทีฝ คือการทำงานของเราจะเน้นที่ไอเดีย เน้นที่ความคิดสร้างสรรค์ ที่ต้องตอบโจทย์ของลูกค้าได้ ส่วนบริการอื่น ๆ จะเป็นเรื่องรองลงไป" ฉัตรฐากูร นาชัยสิทธิ์ กรรมการหุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัท เจ๊ ยูไนเต็ด จำกัด กล่าวถึงจุดแข็งที่ทำให้เจ๊ฯ แข่งกับเอเจนซี่รายอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ เทรน์ที่ลูกค้าจะหันมาสนใจเอเจนซี่รายเล็กที่มีความเป็นสเปเชี่ยลิสต์ในตัวเองจะมีมากขึ้น เพราะลูกค้าติดที่ผลงานของเอเจนซี่ไม่ใช่ที่ชื่อเสียงของเอเจนซี่เหมือนแต่ก่อน ฉัตรฐากูร กล่าวทิ้งท้าย

อีเว้นท์เน้นไอเดีย โชว์กึ๋นแก้เลี่ยน

การมีจุดขายหรือยูเอสพีที่แข็งแกร่งและชัดเจนของเอเจนซี่ขนาดเล็กที่จะเป็นปัจจัยหลักให้สามารถอยู่รอดในตลาดได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการอยู่รอดในตลาดของธุรกิจรับจัดอีเว้นท์ขนาดเล็กด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าภาวะวิกฤตที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะระมัดระวังการใช้เงินมากกว่าแต่ก่อน และหันมาให้ความสำคัญกับการจัดอีเว้นท์มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสทองของคนจัดอีเว้นท์ก็ว่าได้

"ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ บริษัทรับจัดอีเว้นท์ทั้งรายเล็กรายใหญ่ โดนผลกระทบหมด แต่ว่ารายใหญ่อาจจะกระทบแค่บิลลิ่ง และเหนื่อยหน่อย แต่ถ้าเป็นบริษัทรายเล็ก ๆ ที่ไม่มียูเอสพีหรือจุดขายที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง คงไม่รอดแน่ เพราะต้องคอยหั่นราคาให้ถูกลงเพื่อแย่งลูกค้า แล้วตอนนี้บริษัทรับจัดอีเว้นท์ก็มีมากเป็นดอกเห็ด" กวี พูลทวีเกียรติ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีอาร์ พรีเซ็นเตชั่น จำกัด กล่าวถึงจุดยืนที่ชัดเจนที่จะช่วยให้บริษัทฝ่าวิกฤตในภาวะอย่างนี้ได้

ในภาวะที่ลูกค้าจำนวนมากลดการใช้สื่อระดับ Above the Line ลง แล้วหันมาเน้นการใช้สื่อ Below the Line มากขึ้นแทน ด้วยเหตุผลสองประการคือ ราคาของ Below the Line ที่ถูกกว่า และสามารถสื่อสารได้ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่าสื่อ Above the Line บริษัทรับจัดอีเว้นท์หลายรายต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาวะเศรฐกิจที่ผัวผวน คือโอกาสทองของธุรกิจการจัดอีเว้นท์ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร การทำการสื่อสารการตลาดก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

"สำหรับมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจอีเว้นท์อยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท เป็นตลาดที่ใหญ่ เม็ดเงินมหาศาล แต่เราตั้งเป้ายอดบิลลิ่งในปี้นี้ไว้ที่ประมาณ 150 ล้านบาท เพราะกลัวรับงานเยอะแล้วผลงานที่ได้จะไม่มีคุณภาพ แต่ภาวะเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยทำให้ผมคาดว่าน่าจะบวกยอดบิลลิ่งเพิ่มได้ไม่น่าจะต่ำกว่า 10% เพราะไตรมาสแรกที่ผ่านมาตัวเลขรายได้สวยและน่าพอใจมาก เกินที่ตั้งเป้าไว้ด้วยซ้ำไป" กวี กล่าว

บริษัทรับจัดอีเว้นท์ที่ดีต้องสามารถครีเอทสิ่งใหม่ๆ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในงานให้ลูกค้าพอใจ และสามารถดึงดูดให้คนมาร่วมงานได้จึงจะสามารถอยู่รอดในตลาดอีเว้นท์ได้ นี่คือหัวใจหลักของธุรกิจการจัดอีเว้นท์ ไล่ตั้งแต่บริษัทเล็กยันบริษัทใหญ่

"80% ของลูกค้าจะมาจากปากต่อปาก เพราะชอบในคุณภาพและฝีมือของงานเรา ที่เหลืออีก 20% เป็นลูกค้าที่เราหาเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ค่อยได้พีชงานแข่งกับใคร ซึ่งต่างจากบริษัทรับจัดอีเว้นท์เล็ก ๆ รายอื่น" กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีอาร์ฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับเทรนด์การจัดอีเว้นท์ของเมืองไทย ยังล้าหลังกว่าเทรนด์อีเว้นท์ในประเทศอื่น ๆ อยู่หลาย 10 ปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าของสินค้าหรืองานอีเว้นท์นั้น ๆ มีการแข่งขันในเรื่องการจัดอีเว้นท์น้อยกว่าต่างประเทศ ผนวกกับคนที่รับจัดอีเว้นท์ด้วยวิญญาณจริงๆ มันมีน้อย บริษัทส่วนใหญ่มักจะเป็นแค่มือสมัครเล่น ซึ่งผลงานที่ได้จะซ้ำ ๆ กันน่าเบื่อ เหมือนกับโฆษณาทางโทรทัศน์ที่คนดูเกิดพฤติกรรมต่อต้านหรือเลิกดูโฆษณาไปเลย นายกวี กล่าวทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.