มุมมองผู้บริหารแถวหน้า ชี้ช่อง SMEs ปรับตัวหนีตาย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

- จะทำอย่างไรเมื่อปัจจัยลบจากภายนอกรายล้อมอยู่รอบตัว?
- วิธีการปรับตัวที่ทำอยู่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจก้าวไปได้อย่างราบลื่นหรือไม่?
- 4 ผู้บริหารมือโปรโชว์มุมมอง แนะวิธีคิดใหม่ แก้ปมปัญหา
- แปะโลโก้องค์กรดัง "TIFFA-ทีวี ไดเร็กต์-Kapook.com-DKSH" จาก 4 ธุรกิจทันสมัย "ลอจิสติกส์-การตลาดแบบตรง-ไอที-การบริหารจัดการสินค้า" ขึ้นเวทีร่วมเสวนา
- เพื่อปลาเล็กที่จะสู้เพื่ออยู่รอดและเติบโต...

แม้ว่าวันนี้เศรษฐกิจอาจจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤติแต่อยู่ในภาวะชะลอตัว เพราะหลายปัจจัยไม่ว่าราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย สภาวการณ์การแข่งขันที่สูง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทั่งความไม่แน่นอนของการเมือง เหล่านี้สร้างผลกระทบทุกหัวระแหง

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าว ซึ่งส่งผลในหลายๆ ด้าน ดังนั้น ธุรกิจเอสเอ็มอียิ่งจำเป็นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น การเสวนาเรื่อง "การปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEsให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ โดยวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการ และชมรม MR.SMEs มีมุมมองของผู้บริหารมืออาชีพที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาให้ข้อคิดและทางออกไว้อย่างน่าสนใจ

"ปรเมศวร์" kapok.com เชื่อยังไม่ตัน แนะใช้ไอทีลดต้นทุน

ปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ชื่อดัง Kapook.com ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่าโดยส่วนตัวยังไม่เชื่อว่าธุรกิจเอสเอ็มอีมาถึงทางตัน ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการคนหนึ่งมองในมุมของการใช้เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในฐานะที่เป็น Tools และ Space

Tools หมายถึงเครื่องมือทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องมี เช่น ถ้าใช้ไอทีเป็นเครื่องมือในการทำงานก็ไม่ต้องเสียเงินมาก อย่างการใช้อีเมลในการติดต่อสื่อสารสามารถลดต้นทุนและหาลูกค้าเพิ่มเติมได้ในเวลาเดียวกัน แต่ไม่เฉพาะอีเมลเท่านั้นที่จะทำให้งานเร็วขึ้นและลดขั้นตอน ยังมีเทคโนโลยีอีกหลายทางที่ช่วยธุรกิจได้

ล่าสุด ตู้โทรศัพท์สาขาระบบ PABX ซึ่งสามารถรองรับระบบโทรศัพท์ทางอินเตอร์เน็ตด้วยการโทรผ่านองค์กรหรือโทรต่างประเทศ ช่วยให้จ่ายค่าโทรถูกกว่าและสามารถดัดแปลงให้เป็น Call Center ได้ การทำงานจะสะดวกขึ้นในด้านการสื่อสาร

การใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการสื่อสารในองค์กรก็เป็นหนทางหนึ่งที่น่าสนใจ วิธีการ คือเปิดหน้าเว็บไซต์ และเชื่อมโยงระบบขององค์กรเข้าไป แต่ใช้เพื่อสื่อสารภายในองค์กรเท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดต้นทุนได้

นอกจากเรื่องเครื่องมือ เขายังมองเรื่องของ Space ซึ่งเป็นพื้นที่ในสังคมโลกอินเตอร์เน็ต เนื่องจากเครื่องมือในปัจจุบันมีมากขึ้น การขายสินค้าก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย ในต่างประเทศมีเว็บไซต์ Ebay.com ซึ่งมีคนไทยนำสินค้าไปขาย และสร้างรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องตระหนักว่าอินเตอร์เน็ตมิใช่ร้านค้าแต่เป็นชุมชนของคนซื้อและคนขาย

"เพราะฉะนั้นการใช้ไอทีในธุรกิจเอสเอ็มอีจึงต้องนำมาใช้ร่วมกัน แต่ต้องค่อย ๆ ใช้เริ่มจากการพัฒนาจากจุดเล็กๆ เพื่อให้เชื่อมโยงกันให้เป็นจิ๊กซอว์ตัวต่อไป ไม่ใช่จ้างคนอื่นมาทำเว็บไซต์ให้รวดเดียว เพราะถ้าทำรวดเดียวเลยอาจจะต้องเสียค่าเขียนโปรแกรม ซึ่งอาจจะแพงและไม่คุ้ม ควรจะต้องรอให้ธุรกิจเราเริ่มนิ่งก่อน เรามองเป็นจุดๆ ดีกว่า ว่าธุรกิจของเราเหมาะกับการใช้งานแบบไหนของไอทีก็หยิบมาใช้ก่อน ถ้าประสบความสำเร็จก็ค่อยขยายจุดต่อไป" ปรเมศวร์ แนะนำ

"TIFFA" เจาะช่องทางชี้ลอจิสติกส์ช่วยได้มาก

ชยาวุธ ทิวเสถียร ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ TIFFA และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ Logistics กล่าวว่า ลอจิสติกส์สามารถเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจเอสเอ็มอีได้มาก ยิ่งในสภาพการณ์ที่น้ำมันเพิ่มสูง การผลักภาระให้ผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องง่าย โดยในเรื่องการขนส่งการนำลอจิสติกส์มาใช้อย่างจริงจังจะสามารถให้คำปรึกษากับเจ้าของธุรกิจได้ว่า ธุรกิจใดเหมาะสมกับการขนส่งแบบใดจึงจะประหยัดที่สุด หรือมีวิธีการใดบ้างที่จะติดต่อกับหน่วยงานราชการ ซึ่งการโทรศัพท์ติดต่อขอคำแนะนำก่อนที่จะดำเนินการจัดส่งสินค้า จะช่วยในเรื่องของการลดขั้นตอนและเวลาในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ ลอจิสติกส์ช่วยสำรวจได้ว่าลูกค้าของธุรกิจอยู่ในระดับใดบ้าง ต้องใช้รถประเภทใด ใช้เรือขนส่งหรือทางอื่นๆ ซึ่งเป็นการลดภาระเรื่องการกระจายสินค้า หรือเป็นหมวดของการขนส่ง ซึ่งในบางครั้งผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

"ประเภทของการขนส่งที่ถูกต้องจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนเรื่องของเวลาและป้องกันความผิดพลาดของธุรกิจ เพราะการดำเนินการที่มีการผิดพลาดจะมีค่าปรับตามมา ดังนั้น เรื่องการขนส่งจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องให้การใส่ใจ ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ที่ขาดส่วนนี้อาจจะใช้รถผิดประเภท ขนส่งน้อยแต่ใช้รถใหญ่ทำให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย สำหรับธุรกิจส่งออกในต่างประเทศมีเครือข่ายในการติดตามสินค้าให้ว่ามีการส่งมอบของโดยไม่ต้องเสียเวลา" ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ TIFFA อธิบาย

"ทีวี ไดเร็ค" ฟันธงต้องสู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดแบบตรง มีมุมมองด้านการตลาดในสภาวการณ์ปัจจุบันว่า ในภาวะที่เจ้าของธุรกิจมีภาระเรื่องการตลาด สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำคือ การต่อรอง ซึ่งอยู่ที่จังหวะ และต้องหาสิ่งที่สามารถต่อรองได้ ที่เห็นได้ชัด คือ ค่าประกันภัยทุกชนิดที่สามารถทำได้ เช่น ประกันไฟไหม้ ประกันรถยนต์ รวมถึง ค่าประกันสังคมและค่ารักษาพยาบาลก็สามารถต่อรองได้

"นอกจากนี้ เมื่อเรารับรู้สถานการณ์หนึ่งๆ แล้ว ทำให้เราคิดว่าเราต้องประหยัด แต่พอประหยัด ทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะหยุด เพราะบางบริษัทเมื่อพูดว่าต้องประหยัด ระบบงานของบริษัทหรือความรู้สึกบางอย่างของพนักงานจะสูญเสียไป จึงต้องลองปรับเปลี่ยนโดยสร้างแนวคิดว่า หนึ่งบาทที่ใช้ออกไปต้องมีประสิทธิผลจะดีกว่า" ทรงพล แนะให้ปรับวิธีมองปัญหา

"ถ้าเราเลือกที่จะลดคนเพื่อที่จะเป็นองค์กรที่เล็กกว่าเดิม แต่ต้องคำนึงด้วยว่าถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วจะอยู่อย่างไร จะโตอย่างไร เรารอดแต่เราโตไม่ได้"

เขาสรุปว่า เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำเริ่มแรกคือ หาความคิดสร้างสรรค์(creativity) ซึ่งง่ายกว่าที่หลายๆ คนคิดอย่างมาก คำว่า creative คือการเอาของสองสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันให้มันมาเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องมีความคิดแบบนี้ บางครั้งอาจจะมีอยู่แล้วแต่ไม่ได้นำออกมาใช้ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า สิ่งที่จะสู้ได้ในภาวการณ์แบบนี้คือความคิดสร้างสรรค์ เรื่องของการตลาดไม่มีข้อแตกต่างกันมาก

"DKSH" มองทะลุเน้นหาจุดเด่นพัฒนาตัวเอง

กิตติ ทรัพย์ชูกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสินค้า บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีว่า จะต้องมอง 2 ด้าน คือ มองปัจจัยภายนอก คือ การแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลง และมองจากปัจจัยภายใน คือ เรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ที่มีการพูดถึง SWOT นั้นอาจจะกลายเป็นเพียงอดีต แต่ต้องมองให้ทะลุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากหรือน้อยเพียงใด

"วิธีการของ DKSH ซึงไม่มีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แต่จะเป็นคนที่เชื่อมระหว่างคู่ค้าและลูกค้า สิ่งที่ทำให้ลูกค้าใช้บริการของเราคือ บริการของเราเป็นท๊อปสเปเชี่ยลลิสต์ ไม่ใช่แค่ความน่าเชื่อถือและเราทำได้เขาถึงจะใช้เรา เมื่อก่อนเราคิดแบบนั้น แต่ถ้าจะให้เกิดนวัตกรรมเราต้องเปรียบเทียบว่าเรากับคู่แข่งเป็นอย่างไรบ้าง"

" สิ่งหนึ่งที่เราต้องเปรียบเทียบ คืออะไรที่เราด้อยกว่า อะไรที่เราเด่นกว่า หรืออย่างไหนที่เราเสมอ สิ่งไหนที่เราเด่นกว่าเป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีจะต้องพัฒนาให้เกิดเป็นจุดต่างให้ได้ และเราต้องพยายามทำสินค้าของเราให้เป็นผู้นำให้ได้"

กิตติกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องทำ คือ หาความเก่งและความเป็นผู้นำของคนในองค์กร จากนั้นต้องหาหนทางการบริหารความเก่งว่าจะทำอย่างไร ถ้าลูกค้าเชื่อถือในคนของเราก็ได้เปรียบ เป็นการสร้างจุดต่างให้กับสินค้าได้ในระดับหนึ่ง

กล่าวโดยสรุป คือ สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำเป็นขั้นตอนแรกเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจริง คือการทำใจยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการคาดการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ ราคาน้ำมันอาจจะไม่ลดลง การทำใจเป็นการยอมรับความจริงในระดับหนึ่ง ถ้ายอมรับได้อย่างจริงๆ จังๆ แล้ว ก็จะเห็นอีกหนึ่งด้านของเหรียญ ซึ่งมักจะมีทางออกอยู่เสมอ

เอสเอ็มอีเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ต้องใช้ความเล็กให้เป็นประโยชน์ ต้องทำทุกทางให้ต้นทุนต่ำ วิเคราะห์การตลาดเพื่อหลบกับคู่แข่งที่เป็นปลาใหญ่ เพราะไม่มีทางสู้กับปลาใหญ่แบบตาต่อตาฟันต่อฟันได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราต้องเลี่ยงทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ ต้องโฟกัสตลาดให้เล็กตามขนาดของธุรกิจ

"เราเป็นปลาเล็กเราต้องเลือกบ่อที่เล็กพอเหมาะกับขนาดของเรา ถ้าเราลงบ่อที่พอดีตัวเราจะคับบ่อพอดี เราหากินในบ่อนั้นให้อิ่มจนเราตัวใหญ่แล้วเราก็ค่อยขยับไปกินบ่อใหม่ แต่ไม่ใช่รีบลงทะเลเพราะไม่อย่างนั้นจะลำบาก"

นอกจากนี้ การเจรจากับคู่ค้าเรื่องของการขนส่งเมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ควรเลือกใช้แนวคิดทางเดียวกันไปด้วยกันทำให้ได้ผลดีเรื่องต้นทุนและขนส่ง สินค้าอาจจะมาจากคนละที่หรือต่างชนิดกันแต่เมื่อจุดหมายเป็นที่เดียวกันก็ไปด้วยกันโดยจะรอให้สินค้าเต็มคันรถก่อน แต่ทั้งนี้ต้องมีการเจรจากับคู่ค้าให้มีความเข้าใจร่วมกันเสียก่อน

ท้ายที่สุด คือ เรื่องการตลาด4P(Product,Price,Place,Promotion) ตัวที่สำคัญที่สุด คือ สินค้า (Product) ที่จะต้องดีและแข็งแรง แตกต่าง มีจุดแข็งที่ไม่มีใครมาตีได้ ราคาก็จะสามารถเชือดเฉือนกันได้ ซึ่งหากสินค้าได้คุณภาพจะไม่มีผลกับสงครามราคาเท่าไร การโปรโมชั่นถ้าใช้โดยที่สินค้าด้อยคุณภาพก็จะเหนื่อยและเสียแรงเปล่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอยู่ก็คือ สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญเหมือนกัน แต่แต่ละคนสามารถทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นหนักเบาไม่เท่ากันได้จากความสามารถในการปรับตัว...แม้จะเป็นปลาเล็กแต่จะอยู่รอดและเติบโต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.