|
ตลาดหุ้นยื่นอุทธรณ์คดีไออีซีผู้บริหารแจงQ1กำไรจากการลงทุน205ล.
ผู้จัดการรายวัน(19 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรณีหุ้นไออีซี พร้อมใช้มาตรการสั่งห้ามมาร์จิ้นและเน็ตเซทเทิลเมนท์ ในหุ้นบริษัทอื่นๆ ที่เข้าเกณฑ์ผิดปกติต่อไป ระบุโบรกเกอร์ที่ห้ามมาร์จิ้นในหุ้นไออีซีสามารถทำได้ เพราะเป็นการป้องกันความเสี่ยง ขณะที่บริษัทไออีซีแจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกเพิ่มเติม สาเหตุมีกำไรจากการลงทุนของบริษัทย่อยในหุ้นบล.แอ๊ดคินซันและบริษัทไมด้า-เมดด้าลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเมนท์ มีกำไรจากการลงทุนถึง 205 ล้านบาท
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้มีการประชุมเพื่อที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองในกรณีที่บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC ได้ขอให้ยกเลิกคำสั่งซื้อขายในลักษณะหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (Net Settlement) และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Trading) ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ถือเป็นหน้าที่ที่จะดำเนินการได้ และจะยังคงใช้มาตรการนี้ในหุ้นบริษัทอื่นๆ ที่พบว่าราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวผิดปกติและเป็นตามเกณฑ์ที่จะใช้มาตรการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหุ้นบริษัทไออีซีนั้น ขณะนี้ไม่สามารถใช้มาตรการห้ามซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้นและเน็ตเซทเทิลเมนท์ในหุ้นบริษัทไออีซีได้ เพราะศาลปกครองมีคำสั่ง
นางสาวโสภาวดี กล่าวต่อว่า ภายในคำอุทธรณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นจะชี้ให้เห็นถึงเหตุผลของการสั่งห้ามมาร์จิ้นและเน็ตเซทเทิลเมนท์ในหุ้นบริษัทไออีซี รวมถึงอาจจะนำข้อมูลจากการตรวจสอบที่พบว่ามีนักลงทุนที่เกี่ยวข้องการที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวผิดปกติจำนวน 33 คนเสนอในคำอุทธรณ์ด้วย
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ยื่นอุทธรณ์นั้น ถือว่าเป็นการทำตามหน้าที่ด้วยความชอบธรรม และมองว่าเมื่อมีโอกาสชี้แจงก็จะชี้ให้เห็นถึงเหตุผลในการใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเข้ามาตรวจสอบและใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อระงับความร้อนแรงของการเก็งกำไร" รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์กล่าว
สำหรับกรณีที่โบรกเกอร์ยังห้ามมาร์จิ้นในหุ้นบริษัทไออีซีต่อไปอีกนั้น นางสาวโสภาวดี กล่าวว่า โบรกเกอร์สามารถทำได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับดุลพินิจของโบรกเกอร์แต่ละแห่ง ซึ่งการที่ยังห้ามมาร์จิ้นอยู่นั้น เพื่อเป็นการปกป้องลูกค้าไม่ให้เก็งกำไรเกินไป รวมถึงเป็นการป้องกันความเสี่ยงของโบรกเกอร์เองด้วย
นายศรายุทธ กอุพาณิชานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC กล่าวถึง ผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 104 ล้านบาท บริษัทมีกำไรก่อนส่วนแบ่งกำไรและขาดทุนตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 14.2 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งกำไรโดยวิธีส่วนได้เสียจำนวน 141 ล้านบาท และส่วนแบ่งขาดทุนโดยวิธีส่วนได้เสียจำนวน 51 ล้านบาท
โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้เกิดจากที่บริษัท ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทได้มีการลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขาย โดยได้ลงทุนในหลักทรัพย์ บริษัท ไมด้า-เมดด้าลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)หรือ MME และบริษัทหลักทรัพย์ แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน)หรือ ASL โดยบริษัทมีกำไรจากการขายเงินลงทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวในไตรมาสนี้จำนวน 205.9 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระผูกพันในการค้ำประกันหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารในนามของบริษัท ไมโครเนติค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม และวงเงินสินเชื่อกับธนาคารของบริษัทร่วมดังกล่าวเป็นเงินรวม 20 ล้านบาท
ปัจจุบันการค้ำประกันไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยบริษัทร่วมดังกล่าวได้เสนอเรื่องไปยังธนาคารเพื่อขอให้ธนาคารลดสัดส่วนภาระค้ำประกันของบริษัทฯ ให้สอดคล้องและเป็นไปตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลงดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคาร ซึ่งคาดว่าธนาคารน่าจะพิจารณาในเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 นี้
ส่วนการลงทุนในบริษัท โลคัส เทเลคอมมูนิเคชั่น อิงค์ จำกัด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อหุ้นสามัญของบริษัท โลคัส เทเลคอมมูนิเคชั่น อิงค์ จำกัด (LOCUS) จำนวน 92,234 หุ้น จากผู้ถือหุ้นเดิมของ LOCUS คือ นายซัง โยน ยิม โดยบริษัทฯ ได้ซื้อในราคาที่ตราไว้หุ้นละ 1,000 บาท คิดเป็นราคา 92.23 ล้านบาท มีผลทำให้สัดส่วนของหุ้นที่ถือเพิ่มขึ้น จากเดิม 25.32% เป็น 42%
ภายใต้เงื่อนไขการทำสัญญาดังกล่าว บริษัทฯมีภาระในการค้ำประกันหนี้ของ LOCUS ที่มีต่อสถาบันการเงินเป็นจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 80 ล้านบาท (จากวงเงินกู้ยืมจำนวน 560 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการค้ำประกันในส่วนของบริษัทฯ เป็นจำนวน 9.40% ของภาระหนี้ทั้งหมดของ LOCUS โดยภาระค้ำประกันหนี้ดังกล่าวนี้ต่ำกว่าสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ใน LOCUS
ทั้งนี้ บริษัท อินทิคิวป์ คอร์ปอเรชั่น (เดิมชื่อบริษัท โลคัส เทคโนโลยี จำกัด ประเทศเกาหลีใต้ ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ LOCUS และยังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของ LOCUS ได้ปลดหนี้และลดหนี้ที่ LOCUS มีต่อบริษัทดังกล่าว จำนวนเงิน 2.34 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีเงื่อนไขในการแปลงหนี้จำนวนเงิน 7 แสนเหรียญสหรัฐ มาเป็นทุนของ LOCUS โดยบริษัทอินทิคิวป์ คอร์ปอเรชั่นมิใช่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายซัง โยน ยิม หรือ กับบริษัทฯ แต่ประการใด
ด้านบรรยากาศการซื้อขายหุ้น IEC วานนี้ (18 พ.ค.) ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขาย หลังจากที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองให้ตลาดเพิกถอนห้ามเน็ตเซทเทิลเม้นท์ และมาร์จิ้น โดยมีราคาต่ำสุดที่ 4.44 บาท ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงท้ายตลาดทำให้ราคากลับขึ้นมายืนอยู่เหนือราคาปิดครั้งก่อน ทำราคาสูงสุดที่ 4.64 บาท และปิดปิดการซื้อขายที่4.62 บาท ลดลงจากวันก่อน 0.06 บาท หรือคิดเป็น 1.32% มูลค่าการซื้อขายรวม 207.02 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|