"และแล้วศาสนาก็ได้เวทีเสียทีหลังจากที่รอมานาน"
นั่นเป็นคำอนุโมทนาของพระพิศาลธรรมาพาที หรือพระพยอมกัลยาโณ กับการมีช่องศาสนาเกิดขึ้นในบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองไปด้วยสาสนาหลักของโลกทั้ง
3 ศาสนาอย่างประเทศไทย
ไม่เพียงแต่พระพยอมเท่านั้นที่มาแสดงความยินดีกับ 3 ช่องศาสนาของไทยสกาย
อีก 2 ศาสนาโดยเฉพาะศาสนาคริสต์ก็เรียกได้ว่ามากันอย่างคึกคักทีเดียว
การเปิดแถลงข่าว "3 ช่องศาสนาไทยสกายทีวี" จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่
7 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ร.ต.ท.เชาวริน
ลัทธศักดิ์ศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นประธานในพิธี
หลังจากที่มีข่าวของช่องศาสนามาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ราย 3 วัน มาถึงวันนี้ความคืบหน้าของช่องศาสนาของไทยสกายค่อนข้างเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น
ภายใต้การดูแลของ พูลสุข เหล็กพูล ในฐานะผู้อำนวยการช่องศาสนา ซึ่งแม้จะผ่านงานโทรทัศน์มานับ
10 ปี แต่เมื่อเจองานนี้พูดได้อย่างเดียวว่า "เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต"
สำหรับ 3 ช่องศาสนานั้น ช่อง 11 จะเป็นช่องศาสนาพุทธ รับผิดชอบรายการโดยกรมการศาสนา
มีสมานจิต ภิรมย์รื่น รองอธิบดีกรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลและเซ็นสัญญาความร่วมมือกับไทยสกายเมื่อวันที่
7 สิงหาคม
ช่อง 12 ศาสนาคริสต์ มีชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์จอห์นเป็นผู้ประสานงาน
เซ็นสัญญากับไทยสกายไปก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนช่อง 13 ช่องศาสนาอิสลาม ประสานงานโดยสมาน ก้อพิทักษ์ เนื่องจากขั้นตอนและเนื้อหาในการผลิตรายการค่อนข้างจะซับซ้อนในวันแถลงข่าวจึงยังไม่มีการเซ็นสัญญาแต่ประการใด
แต่ทางสำนักจุฬาราชมนตรีก็เห็นด้วยและให้ความร่วมมือกับโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี
ในชั้นแรกจะใช้ช่วงเวลา 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ เป็นช่วงทดลองออกอากาศ
และแพร่ภาพในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ในระบบ DIGITAL DTH ผ่านดาวเทียมไทยคม
จนถึงปีใหม่จึงจะมีการปรับปรุง และออกอากาศแบบเต็มรูปแบบตลอด 24 ชั่วโมง
และอาจเป็น 2 ภาษาขึ้นกับความต้องการของสมาชิก
ในปีหน้า ถ้าโครงการนี้ได้รับการตอบสนองที่ดี ไทยสกายเตรียมแผนรองรับที่จะแพร่ภาพผ่านดาวเทียมไทยคม
2 ในระบบ C-BAND ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศในภาคพื้นเอเชียถึง 14 ประเทศ
ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
พม่า ลาว บังคลาเทศ เวียดนาม และมาเลเซีย คิดเป็นพื้นที่การออกอากาศทั้งสิ้นประมาณ
15 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่กว่า 2 พันล้านคน
การนำเสนอรายการนั้น ช่องศาสนาพุทธจะออกอากาศหมุนเวียน (RERUN) เป็น 4 ช่วงเวลาต่อวัน
ช่วงที่ 1 เวลา 6.30 - 10.00 น. และจะนำรายการต่าง ๆ มาฉายซ้ำในช่วงที่เหลือ
ส่วนช่องศาสนาคริสต์จะออกอากาศหมุนเวียน 5 ช่วงเวลาต่อวัน โดยช่วงที่ 1 เริ่ม
6.00-9.00 น. และนำรายการมาฉายซ้ำในช่วงที่เหลือเช่นกัน
กำหนดออกอากาศในวันที่ 12 สิงหาคม สำหรับช่อง 11 ช่องศาสนาพุทธ ซึ่งจะเริ่มเป็นช่องแรก
ตามมาด้วยช่อง 12 ช่องศาสนาคริสต์ ในวันที่ 15 สิงหาคม ส่วนช่อง 13 ช่องศาสนาอิสลามนั้น
ยังคงอยู่ในช่วงการเตรียมงานในเรื่องรายละเอียด "อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเรียบร้อยและสามารถออกอากาศได้ภายในปีนี้"
พูลสิน กล่าว
งานนี้นับว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ของไทยสกายเฉพาะในงานแถลงข่าวได้เชิญคนในวงการศาสนามาร่วมงานได้ค่อนข้างมากทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นคนของทางราชการ สมานจิต ภิรมย์รื่น รองอธิบดีกรมการศาสนา
ภาคเอกชน วิรงรอง จันวินิจ ผู้อยู่เบื้องหลังสารคดีพุทธศาสนาที่มีคุณภาพของการบินไทยมากว่า
10 ปี อนุรุธและล้วนชาย สองพี่น้องของตระกูล "ว่องวาณิช" จากยุวพุทธิกสมาคม
เสฐียรพงษ์ วรรณปก แห่งราชบัณฑิตยสภา
ศาสนาคริสต์นำทีมโดย พระคาดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู ประธานสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย
พระสมณฑูต LUGGI BRESSAN จากสำนักวาติกัน พระคุณเจ้ายอดพิมพิสาร ประธานสื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย
และชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย
ตัวแทนศาสนาอิสลามมาเพียงคนเดียว คือ สมาน ก้อพิทักษ์ ประชาสัมพันธ์ สำนักจุฬาราชมนตรี
และขึ้นกล่าวแทนวินัย สะมะอุต เลขาธิการ สำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งติดภารกิจในการอบรมของสมาคมกลอรีแห่งประเทศไทย
สำหรับรายการที่นำมาแพร่ภาพ ทางทีมงานช่องศาสนาคริสต์ดูจะมีความคึกคักและมีแนวทางการทำงานที่ค่อนข้างจะชัดเจนที่สุด
"เราถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แบบเด็กเล่นขายของ"
ชัยณรงค์กล่าวถึงภารกิจครั้งนี้อย่างมีชีวิตชีวา
การเตรียมงานของช่องศาสนาคริสต์คืบหน้าไปค่อนข้างมาก ไม่เฉพาะความร่วมมือจากศาสนิกโรมันคาทอลิกและโปรแตสแตนเท่านั้น
ชัยณรงค์ยืนยันว่าได้ขอความร่วมมือจากคริสตศาสนิกกลุ่มอื่นในการเสนอรายการด้วย
สำหรับในประเทศแถบ FOOTPRINT เช่น เกาหลีในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ชัยณรงค์ได้เดินทางไปเพื่อเจรจาความร่วมมือกับบริษัทเคเบิ้ลทีวีที่แพร่ภาพเกี่ยวกับศาสนาคริสต์แบบเต็มช่อง
มาทางช่องศาสนาพุทธค่อนข้างจะเชื่องช้าอยู่พอสมควร ซึ่งต้องทำใจเมื่อมีหน่วยราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง
รายการส่วนใหญ่ที่เตรียมจะแพร่ภาพในช่วงทดลองออกอากาศจึงมักเป็นรายการที่เคยฉายมาแล้วในฟรีทีวีช่องต่าง
ๆ รวมทั้งรายการที่ออกแพร่ภาพในนามการบินไทย ซึ่งวิรงรองยืนยันว่า "ให้ฟรี"
เพราะถือว่าเป็นรายการที่มีคุณภาพและช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา
งานนี้คงต้องยกนิ้วให้กับไทยสกายที่ทำงานเพื่อศาสนา แต่ "ก็คงมีอะไรบ้างแหละ
เขาจึงได้ทำ" นั่นเป็นคำปรารภเชิงหยอกเย้าจากพระพยอม ซึ่งอย่างไรเสียก็ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
สำหรับการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในศาสนาอีกช่องทางหนึ่งด้วย