|
'ยิ่งลักษณ์'กัดฟันดันSCฝ่าวิกฤตการเมืองเชื่อบ้านขายได้-เร่งรีแบรนด์ดิ้งสลัดภาพชินคอร์ป
ผู้จัดการรายวัน(16 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ยันกระแสต่อต้านตระกูลชินวัตรไม่กระทบยอดขายบ้าน เหตุเป็นเรื่องของธุรกิจ พร้อมเร่งสำรวจพฤติกรรมลูกค้าเพื่อรี แบรนด์ดิ้งครั้งใหญ่ หวั่นลูกค้ายังผูกภาพธุรกิจมือถือชินคอร์ป ยันไม่ขัดใจกับผู้บริหาร ทำงานด้วยความสัมพันธ์ที่ดี แก้เกมทำยอดขายได้แต่รายได้ตกต่ำ ฟุ้งภายใน 3-5 ปี รายได้ต้องเติบโตให้ได้ 30% ต่อปี เปรย " อนันต์ อัศวโภคิน" นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในดวงใจ
นับตั้งแต่ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ตัดสินใจขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่กลุ่มทุน"เทเมเส็ก"จากสิงคโปร์ ทำให้ตระกูลชินวัตรมีรายได้จากการขายหุ้นครั้งนี้กว่า 70,000 ล้านบาท โดยเป็นการขายผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี จนนำไปสู่กระแสการต่อต้านอย่างรุนแรงภายในสังคม ส่งผลให้เสถียรภาพของรัฐบาลได้สั่นคลอนอย่างรุนแรง ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขายหุ้นชินคอร์ปไปแล้ว ได้เกิดการวางตำแหน่ง"ทายาท "ไปสู่ธุรกิจของตระกูลใหม่ โดยเฉพาะการเข้ามาของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตผู้ถือหุ้นและผู้บริหารชินคอร์ป เข้ามานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทเอสซี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549 แทนตำแหน่งของนางบุษบา ดามาพงศ์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ จากในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ที่มีกระแสเกี่ยวกับบริษัทฯ ไม่ว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปจะนำมาใส่ทุนในบริษัทหรือไม่ฯ , กระแสกลุ่มสิงคโปร์จะเข้ามาถือหุ้น ,มีการลาออกของผู้บริหารและพนักงาน เป็นต้น
"ไม่หนักใจที่ต้องเข้ามานั่งบริหารในบริษัทเอสซี โดยบุคลิกแล้วเป็นคนสู้ สนุกกับงานใหม่ และถ้าเราตั้งใจจริง เชื่อว่าทุกอย่างจะปกติ อย่างเช่น กรณีที่ลูกค้าเอไอเอสได้ทำลายซิมการ์ดมือถือ รวมถึงไม่ใช้บริการของเอไอเอส แต่ถ้าเราทำดีลูกค้าก็ต้องกลับมา เหมือนกับการขายบ้านถ้าทำดีน่าจะขายได้ "นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยความเชื่อมั่น
โดยในขณะนี้ บริษัทฯกำลังอยู่ในช่วงการรี แบรนด์ดิ้งบริษัทใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการออกสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าและบุคคลทั่วไปต่อแบรนด์ของบริษัท เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลและวิเคราะห์ในการรีแบรนด์ดิ้ง คาดว่าภายในปีนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
" ตอนนี้ยังบอกแนวทางที่ชัดเจนไม่ได้ว่ารีแบรนด์ดิ้งจะมีโฉมหน้าอย่างไร แต่สิ่งสำคัญของการรีแบรนด์ก็เพื่อปรับภาพลักษณ์ใหม่ และจะส่งผลอย่างไรระหว่างแบรนด์แม่กับแบรนด์ลูก เรื่องมุมมองของลูกค้าภายนอกต่อบริษัทเอสซีเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ต้องการย้ำว่าเอสซีเราเน้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก "ประธานกรรมการบริหารกล่าวถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเกิดขึ้นกับเอสซี
ด้านนายสหัส ตันติคุณ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทฯ กล่าวยืนยันว่า กระแสต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท ซึ่งพิจารณาได้จากยอดขายที่ยังคงเติบโตอยู่ในระดับที่ดีและถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน
" บ้านไม่กระทบ เราไม่เกี่ยว ดูจากยอดขายที่ยังเพิ่มขึ้น" นายสหัส กล่าว
ยันทำงานเข้าขากับผู้บริหาร
นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงเรื่องระบบการทำงานในองค์กรว่า จะพยายามที่จะทำให้การทำงานทุกๆอย่างมีความคล่องตัว และเกิดการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น เรียกว่าจะเป็นการสปรีดให้องค์กรเร็วขึ้น ซึ่งต้องยอมรับในช่วงที่ทำงานอยู่ในบริษัทเอไอเอส จะลงมือปฎิบัติและลงถึงรายละเอียด แต่เมื่อมานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารแล้ว ก็น่าเป็นผู้วางแนวนโยบายให้ โดยมีกรรมการผู้อำนวยการผลักดันให้องค์กรเดินไปตามทิศทางที่วางไว้ อย่างเช่น กรณีการเลือกซื้อที่ดินมาพัฒนาโครงการ จะต้องช่วยให้กระบวนการตัดสินใจรวดเร็วขึ้นกว่าแต่เดิม
" สไตล์การทำงานภายในองค์กรมีความสัมพันธ์กันดีและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ต้องถือว่าการทำงานครั้งนี้มีความท้าทายอย่างมาก "
คุยฟุ้งยอดขายโตปีละ 30%
นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวถึงแผนธุรกิจว่า ได้กำหนดให้ภายใน 3-5 ปี เอสซีต้องเติบโตควบคู่ไปกับการเป็นนักพัฒนาที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันแม้โครงสร้างรายได้หลักจากมาจากธุรกิจอาคารสำนักงาน แต่ในอนาคตจะต้องมีการเพิ่มน้ำหนักโครงการบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียมมากขึ้น โดยสินค้าของบริษัทสามารถแยกเป็นโครงการบ้านเดี่ยว ซึ่งปัจจุบัน มีสินค้าที่นำเสนอสู่ตลาดในระดับราคา 4-6 ล้านบาท และ 6-10 ล้านบาท และกำลังวางแผนที่จะเพิ่มสินค้าบ้านเดี่ยวระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากยังมีช่องทางการตลาดอยู่ ขณะที่สินค้าทาวน์โฮมสามารถครอบคลุมลูกค้าในระดับราคา 2-6 ล้านบาท ส่วนของโครงการคอนโดมิเนียม บริษัทจะเน้นขยายไปสู่ตลาดสูงและกลางมากขึ้น ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่ 1.5-สูงสุด 6 ล้านบาท เพื่อให้มีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
สำหรับโครงการใหม่ที่วางไว้ปีนี้จะมีประมาณ 2-4 โครงการ ได้แก่ ลงทุนในโครงการอาคารสำนักงานประมาณ 1-2 โครงการ และการพัฒนาที่อยู่อาศัย 1-2 โครงการ
นายสหัสกล่าวเสริมว่า ตามแผนธุรกิจในระยะ 5 ปีซึ่งเป็นแผนที่มีการหารือตั้งแต่ปี 2548 กำหนดไว้ว่ารายได้ของบริษัทในแต่ละปีจะต้องเติบโตประมาณ 30%ให้ได้ ซึ่งแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 บริษัทจะสามารถทำยอดขายได้กว่า 600 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 48 ถึง 200% แต่ตัวเลขรายได้ไม่ทันกับยอดขาย โดยมีรายได้รวม 426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 8-9% สาเหตุหลักเกิดจากแม้บริษัทจะมียอดขายจากโครงการบางกอกบูเลอวาร์ด แต่ต้องรอโอนถึงจะรับรู้เป็นรายได้ โครงการอาคารชุดพักอาศัย เซ็นทริคซีน มียอดขายเกือบ 100% แม้จะมีการคืนห้องชุดมาประมาณ 10 ยูนิต แต่กว่าจะรับรู้รายได้ก็ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการก่อสร้าง แต่คาดว่าในปี 2550 จะรับรู้รายได้มากกว่าปีนี้
โดยในปีนี้ บริษัทได้ตั้งเป้ายอดขายประมาณ 1,800 ล้านบาท สูงขึ้นจากยอดขายปีก่อนประมาณ 50% ปัจจุบันสามารถปิดการขายได้แล้วกว่า 800-850 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายที่มารับรู้รายได้ปีนี้ประมาณ 1,100 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 50% และต่อเนื่องถึงปี 2550 ซึ่งยอดขายบางส่วนมารับรู้รายได้ปีนี้และยอดขายบางส่วนของต้นปีมารับรู้รายได้ปีนี้ ขณะที่งบการลงทุนเพื่อซื้อที่ดินพัฒนาโครงการตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท ส่วนของโครงการอาคารสำนักงาน หากมีโอกาสหรือเห็นช่องทางในการลงทุน ก็อาจจะเพิ่มงบการลงทุนก็ได้ เช่น พื้นที่บริเวณในอาคารชินวัตร 3 ที่อาจจะสามารถก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงานได้ แต่ทั้งหมดต้องรอการประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ของทางกรุงเทพฯในวันที่ 17 พ.ค.นี้
"อนันต์"นักพัฒนาอสังหาฯในดวงใจ
นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาฯในช่วงครึ่งปีหลังโดยเชื่อว่า สถานการณ์ต่าง ๆ จะดีขึ้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์สถานการณ์ทิศทางที่ชัดเจนมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องและมีการปรับตัวได้ดี หลังจากในช่วงครึ่งปีแรก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคได้ชะลอการตัดสินใจการซื้อลง
" แม้จะเข้ามาในวงการอสังหาฯ แต่ใจจริงต้องการทำให้ดี ถามว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในดวงใจเป็นใคร ก็ต้องขอบอกว่า คือ นายอนันต์ อัศวโภคิน และอยากเรียกรู้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย "นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|