|
ไอทีวี จะกลับมา???
ผู้จัดการรายวัน(16 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์กันไว้ เมื่อศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีไอทีวี เนื่องจากเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ปรับลดค่าสัมปทานที่'ไอทีวี'ต้องจ่ายให้รัฐ และการปรับสัดส่วนรายการสาระและบันเทิงจาก 70 : 30 เป็น 50 : 50 เป็นการวินิจฉัยที่เกินขอบเขตสัญญาแห่งอนุญาโตตุลาการ และเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
โดยในคำพิพากษาของศาลปกครองนั้นมีช่วงหนึ่งที่กล่าวว่า 'การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้ปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ลงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด โดยที่ผู้คัดค้านมิได้ร้องขอ จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกินคำขอของผู้คัดค้านและขัดต่อมาตรา 37 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
'ทั้งยังมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะ เป็นการขัดกับข้อสัญญาและวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวที่ประสงค์จะจัดทำบริการสาธารณะให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ใช่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงเช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ทั่วไป'
เมื่อสิ้นเสียงพิพากษาก็เรียกได้ว่าเกิดความเคลื่อนไหวชนิดทันทีทันใด จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน ในการทวงคืนไอทีวีกลับมาเป็นสื่อเสรี ดังเจตนารมณ์เดิมเมื่อครั้งก่อตั้ง
-1-ทราบกันดีว่าไอทีวี (ITV – Independent Television) ก่อตั้งขึ้นก็เพราะผลจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ขณะนั้นมีการปิดกั้นสื่ออย่างหนัก แต่ความเป็นสื่อเสรีก็อยู่กับไอทีวีได้ไม่กี่ปี ก็ถูกกลุ่มชินคอร์เปอเรชั่นเข้ามาซื้อหุ้น หลังจากนั้นสังคมก็รู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าไอทีวีเปลี่ยนไป พอข้ามมาปี 2548 ไอทีวีก็เปลี่ยนมืออีกครั้งจากชินคอร์ปมาสู่อ้อมอกของเทมาเส็ก
หลังจากการครอบครองไอทีวีของชินคอร์ปก็มีความพยายามมากกว่าหนึ่งครั้งที่จะทวงคืนไอทีวีกลับคืนสู่เจตนารมณ์เดิม แต่ความพยายามดังกล่าวก็ดูจะเลือนหายในสายลมเสียทุกครั้งไป กระทั่งมาถึงคำตัดสินของศาลปกครองนี่เองจึงได้ทำให้เกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งที่ไอทีวีจะกลับมาเหมือนเดิม
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รักษาการณ์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดอุบลราชธานี ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กล่าวว่า
"ผมคิดว่าผลการตัดสินของศาลปกครองทำให้สังคมได้รับรู้ว่า ไอทีวีเป็นสื่อเสรีที่เน้นในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้เป็นสื่อภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความพยายามที่จะใช้อำนาจทำให้ไอทีวีกลายเป็นสื่อภาคธุรกิจ ตรงนี้ก็เท่ากับเป็นการกระทำที่ไม่ชอบในการเอาคลื่นความถี่ของภาคประชาชนไปใช้เพื่อประโยชน์ของพ่อค้า นายทุน ทำให้เราเห็นกระบวนการตรวจสอบของศาลที่จะรักษาสิ่งที่เป็นสมบัติของชาติ"
หากเราตั้งสมมติฐานกันไว้ก่อนว่าจะทวงคืนไอทีวีกลับคืนมา ณ ขณะนี้กระบวนการทวงคืนก็ยังไม่จบ เพราะคำตัดสินของศาลปกครองเป็นเพียงการตัดสินในกรณีคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ขณะที่ไอทีวีตอนนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นของเทมาเส็กแล้ว
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการ ส.ว. กรุงเทพมหานคร อธิบายถึงการซื้อหุ้นอื้อฉาวที่ผ่านมาโดยเชื่อมโยงกับกรณีไอทีวีว่า
"ปัจจุบันนี้มันชัดเจนว่าบริษัทชินฯเป็นบริษัทของต่างชาติ ซึ่งถ้าดูผิวเผินจะเห็นว่าต่างชาติถือบริษัทชินฯอยู่แค่ 49 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าดูให้ลึกๆ แล้ว บริษัทชินฯแอบใช้นอมินีในส่วนที่เป็นสัดส่วนของคนไทย เมื่อบริษัทกุหลาบแก้วจริงๆ แล้วเป็นของสิงคโปร์ ตกลงบริษัทชินฯที่ถือโดยเทมาเส็ก 49 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเอาของกุหลาบแก้วเข้ามารวมด้วย มันก็จะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์แน่นอน ชินฯก็เป็นบริษัทของต่างชาติ เมื่อไอทีวีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทชินฯ ขณะนี้ความเป็นเจ้าของก็ถูกตัดสินใจโดยเทมาเส็ก ผมคิดว่านี่ไม่เข้ากับเงื่อนไขในข้อสัญญา เงื่อนไขนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่คนไทยจะต้องตื่นขึ้น และสนใจว่าโทรทัศน์ของชาติกำลังถูกต่างชาติเป็นเจ้าของ ดังนั้น น่าจะรื้อสัญญาได้"
นายแพทย์นิรันดร์กล่าวว่า ประเด็นที่อาจจะต้องดำเนินต่อไปคือการฟ้องร้องให้การซื้อ-ขายหุ้นไอทีวีครั้งนี้เป็นโมฆะ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชัดเจน และทำให้เห็นว่าการเข้ามาบิดเบือนเจตนารมณ์ของกลุ่มทุนก็เป็นสิ่งที่ไม่ชอบเช่นกัน
แล้วหลังจากนั้น....
-2- ปัญหาต่อไปแล้วจะเอาไอทีวีให้กลับมาเป็นไอทีวีคนเดิมได้อย่างไร
ประเด็นนี้มีการพูดคุยกันมาก บ้างก็บอกว่าให้กลับไปมีการถือหุ้นในแบบเดิมคือถือหุ้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อไม่ให้เกิดการครอบงำจากผู้ถือหุ้นรายหนึ่งรายใดโดยเฉพาะ แต่ข้อเสนอหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งกว่าคือการระดมเงินจากประชาชนเพื่อซื้อหุ้นไอทีวีคืน ซึ่งด้านนายแพทย์นิรันดร์เองก็เห็นว่าอาจจะต้องเป็นไปในแนวทางนี้
เช่นเดียวกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ก็บอกว่า ถ้าจะทวงคืนก็ต้องซื้อคืน
"สัมปทานนี้เป็นสัมปทานที่เปิดให้มีการประมูลกัน แล้วเมื่อมีการประมูลแล้วก็มีคนมาเสนอเงิน เสนอราคา จ่ายผลตอบแทนให้รัฐ เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาคืนก็ต้องซื้อคืน แล้วตอนนี้บริษัทไอทีวีเป็นบริษัทมหาชน จะทวงคืนก็ต้องซื้อหุ้นคืน ถ้าจะทำนะครับ
แต่คำถามก็คือสมควรจะซื้อคืนหรือไม่? และต้องถามต่อว่าจะซื้อมาทำอะไร? ถ้าจะซื้อไอทีวีมาทำสถานีสักช่องหนึ่งคล้ายๆ ที่ อสมท ทำอยู่คือเป็นสถานีเชิงพานิชย์ ถ้าอย่างนั้นก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องซื้อคืนมา เพราะมีผลเพียงแค่ทำให้ไอทีวีเปลี่ยนมือเฉยๆ สำหรับประชาชน สุดท้ายแล้วมันก็จะมีทีวีซึ่งมีรายการบันเทิง มีอะไรต่างๆ เหมือนเดิม เพราะอย่างข้ออ้างที่จะให้ อสมท ซื้อคืนนั้น ก็เนื่องจาก อสมท เป็นรัฐเวลาแก้สัญญาจะแก้ง่าย เขาก็จะไปปรับผังรายการให้มีรายการบันเทิงเหมือนสถานีทั่วๆ ไป ถ้าซื้อมาด้วยจุดประสงค์แบบนี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับประชาชนเลย หรือถ้าจะทำอย่างนั้นก็ปล่อยให้เอกชนซื้อขายกัน กลุ่มไหนอยากจะได้ก็ไปประมูลแข่งกัน ไม่ใช่หน้าที่ที่ อสมท จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
แต่ถ้าเกิดรัฐมีนโยบายชัดเจนว่าต้องการให้ไอทีวีเป็นสถานีที่ให้บริการสาธารณะ เหมือนอย่างเอ็นเอชเค (NHK) บีบีซี (BBC) ก็จะต้องชัดเจนว่าไม่ได้เอามาทำเชิงพานิชย์ สถานีโทรทัศน์สาธารณะนั้นเป็นสิทธิขาดในประเทศไทย ถ้าจะเอามาทำอย่างนี้ต้องมีความหมายและผมก็จะสนับสนุนให้ซื้อคืนถ้าเป็นกรณีแบบนี้ แต่ต้องด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรมกับรัฐนะครับ ไม่ใช่เงื่อนไขที่ไปเอื้อให้การซื้อขายหุ้นระหว่างเทมาเส็กกับชินฯมันราบรื่นขึ้น ถ้าทำด้วยเจตนาอย่างนั้นก็คงต้องคัดค้าน"
สมเกียรติกล่าวถึงวิธีการนี้ว่า
"องค์การมหาชนเป็นรูปแบบการจัดการเมื่อซื้อคืนมาแล้วซึ่งก็คงจัดการได้หลายแบบ องค์กรมหาชนก็คงเป็นรูปแบบหนึ่ง แต่ว่าถ้าเขาไปดูในกฎหมายองค์กรมหาชนจริงๆจะมีปัญหา เพราะองค์กรมหาชนจะให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในกรณีนี้ก็คือรัฐมนตรีสำนักนายกเป็นประธานกรรมการ ถ้าอย่างนั้นก็คือการเมืองต้องเข้ามาแทรกไอทีวีได้ แล้วไอทีวีก็จะไม่ต่างจากช่อง 11 ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ข้อเสนอนี้คงอยากให้มีทีวีสาธารณะอย่างที่ผมเสนอ แต่ถ้าจะให้เป็นทีวีสาธารณะแล้ววิธีการไม่น่าจะด้วยกฎหมายองค์การมหาชน คงต้องออกกฎหมายใหม่ให้ชัดเจนไปเลย ว่าโครงสร้างในการบริหารจัดการ โครงสร้างในการกำกับดูแลตรวจสอบต้องเป็นอิสระจากการเมืองอย่างไร รัฐจะจัดเงินอุดหนุนให้อย่างไร เพื่อให้ผลิตรายการที่มีคุณค่ากับประชาชน แต่อาจจะไม่ได้มีผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์ คือทำในสิ่งที่สถานีโทรทัศน์เอกชนไม่ทำกัน ถ้าทำอย่างนี้ก็จะมีความหมาย"
-3- ขณะที่การทวงคืนไอทีวีกำลังเป็นประเด็นให้พูดคุย เวลาเดียวกันก็มีคำถามที่น่าสนใจไม่น้อยว่า การทวงคืนไอทีวีในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมากจากอดีตยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่หรือไม่
นายแพทย์นิรันดร์เห็นว่า การทวงคืนไอทีวีอาจเป็นเพียงกรณีหนึ่งในการปฏิรูปสื่อ ซึ่งจำเป็นที่เราต้องมองทั้งระบบไม่ใช่เพียงแค่กรณีไอทีวีเพียงอย่างเดียว
"เรื่องนี้ต้องมองทั้งระบบ ต้องนึกถึงเรื่องกฎหมายวิทยุโทรทัศน์ที่เกิดขึ้น ตอนนี้กฎหมายวิทยุโทรทัศน์ยังไม่ออก เพราะฉะนั้นถ้ามองทั้งระบบในขณะนี้ต้องยอมรับว่าสื่อทั้งหมดที่เป็นเรื่องของคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งก็รวมถึงไอทีวีด้วย จะต้องมีการจำแนกคลื่นออกเป็น 3 ประเภทคือสื่อที่เป็นสื่อสาธารณะ สื่อภาคธุรกิจ และสื่อของภาคประชาชน ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่การปฏิรูปสื่อจะต้องนำสื่อ 3 ส่วนนี้มาดำเนินการเพื่อควบคู่กับกฎหมายที่จะเกิดขึ้น ต้องมาดูตำแหน่งแห่งหนที่ชัดเจนว่าไอทีวี อสมท ควรอยู่ตรงไหน ช่อง 3, 5, 7, 9 จะอยู่ที่ตรงไหน ตรงนี้ไม่ใช่แค่ทวงคืนไอทีวีแต่จะต้องทวงคืนคลื่นต่างๆ กลับคืนมาเพื่อจัดระบบใหม่"
นายแพทย์นิรันดร์ฝากไว้ว่าเรื่องนี้ภาคประชาชนต้องตื่นตัวและเข้าใจในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ อย่ามองแค่กรณีใดกรณีหนึ่ง
ส่วน ดร.เจิมศักดิ์เองก็กล่าวว่า กรณีไอทีวีถึงที่สุดแล้วจะมีการทวงคืนหรือสร้างสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ก็ตาม แต่อย่างไรก็ต้องเลิกสัมปทานกับเทมาเส็กเนื่องจากเป็นเรื่องที่ขัดกฎหมาย และต้องทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เป็นอิสระจากการเมือง
"ปัญหาที่สำคัญที่สุดอีกปัญหาหนึ่งคือเราจะต้องมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่เป็นอิสระ และ กสช.จะต้องมาจัดสรรคลื่นใหม่ทั้งหมด การจัดสรรคลื่นใหม่นี้ต้องวางมาตรการในการป้องกันไม่ให้อำนาจรัฐและอำนาจของผู้ที่เป็นเจ้าของแทรกแซงคนทำสื่อ แทรกแซงกองบรรณาธิการข่าว นั่นเป็นหน้าที่ที่ กสช.ต้องมามอง"
ด้าน ดร.สมเกียรติก็ตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นในการทวงคืนไอทีวีเช่นกัน โดยเขากล่าวว่า
"มันขึ้นอยู่กับคุณตีความคำว่าทวงคืนว่าอะไร ถ้าแปลว่าให้ อสมท ซื้อคืนมาความเป็นไปได้จะเยอะเลย เพราะเขาอยากจะทำอยู่แล้วและผมก็เชื่อว่ารัฐบาลก็อยากจะให้ทำ เพราะตระกูลชินวัตรในฐานะที่เป็นคนขายให้เทมาเส็กก็อยากให้การซื้อขายมันราบรื่น และเราก็รู้กันดีว่าเทมาเส็กไม่อยากจะได้ไอทีวี เพราะฉะนั้นถ้าหาใครมาช่วยซื้อคืนออกไปได้ มันก็คงช่วยให้ภาระผูกพันระหว่างกลุ่มชินวัตรกับเทมาเส็กมันลดน้อยไป เขาก็คงจะชอบ กลุ่มการเมืองคงจะชอบแต่สุดท้ายมันจะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น การทวงคืนจึงขึ้นอยู่กับว่าเราตีความคำว่าทวงคืนว่าอะไร แล้วจะทวงคืนมาทำอะไร
"แต่ด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงนะครับว่าที่ผ่านมาเงื่อนไขสัมปทานของไอทีวีที่ทำให้ไอทีวีเป็นอย่างนั้น เพราะไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐในระดับที่สูง ขณะที่กลับมีการเรียกร้องให้มีรายการสาธารณะ เช่น รายการข่าว ซึ่งมันขัดแย้งโดยตัวมันเอง มันเป็นไปไม่ได้ในทางธุรกิจ ถ้าเรียกร้องแบบนี้ก็คงจะเอากลับมาได้แต่ปัญหาก็คงจะไม่จบไม่สิ้น ไม่จบที่ว่าคนที่เอาไอทีวีกลับมาทำแล้วก็ขาดทุน ขาดทุนก็จะให้บริการสาธารณะไม่ได้ ก็จะขอแก้สัมปทาน ลดรายการสาธารณะลง ถ้าทำอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าทวงคืนกลับมาแล้ววิญญาณจะยังเหลืออยู่หรือเปล่า หรือเอาแต่ร่างกลับมา"
ดร.สมเกียรติคิดว่าวิธีการสร้างสื่อสาธารณะที่ดีตอนนี้น่าจะเป็นการสร้างสถานีโทรทัศน์ที่ให้บริการสาธารณะขึ้น โดยศึกษากรณีความสำเร็จของบีบีซีของอังกฤษหรือเอ็นเอชเคของญี่ปุ่น แต่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้ประสบปัญหาเหมือนกับที่บีบีซีประสบ
-4- ไม่ว่ากรณีทวงคืนไอทีวีจะลงเอยในรูปแบบใด นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับการทำให้สังคมไทยเกิดสื่อสาธารณะที่ไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจใดๆ สามารถนำเสนอข่าวอย่างเจาะลึกและรอบด้าน เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยได้เห็นแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่สื่อถูกแทรกแซง ความจริงถูกปิดกั้น บางครั้งเรื่องพื้นๆ อย่างการคอร์รัปชันที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ กลับไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจได้ (ยังไม่ต้องนับรวมเรื่องใหญ่ๆ อีกมากมาย) แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็นำพากันไปสู่วิกฤตการเมืองเช่นที่เห็น
ถึงที่สุดแล้วสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าการทวงคืนไอทีวีให้กลับเป็นเหมือนเดิม ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก แต่ในเชิงสัญลักษณ์แล้วการทวงคืนไอทีวีนับเป็นความสำคัญยิ่งที่ต้องกระทำ เพื่อสร้างสื่อของภาคประชาชนที่แท้จริงให้เกิดขึ้นให้จงได้
คำให้การกบฏไอทีวีอีกครั้ง"หมดหวังที่จะทวงคืนไอทีวี"
หลังศาลปกครองตัดสินยกเลิกคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ กระแสการทวงคืนไอทีวีก็โหมขึ้นอีกครั้ง แต่สำหรับ ภัทราพร สังข์พวงทอง อดีตกบฏไอทีวี (ปัจจุบันเธอเป็นพิธีกรรายการกบนอกกะลา) เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เธอกลับไม่มีความหวังว่าจะได้เห็นเช่นนั้น
"ตอนนั้นอาจจะยังเป็นนักข่าวที่อายุน้อยๆ เราก็มีความใฝ่ฝันในอาชีพอาชีพหนึ่ง เรียนจบมาเราก็อยากเป็นนักข่าว ทีนี้เมื่อเกิดสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของประชาชนจริงๆ เพื่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนจริงๆ เราก็รู้สึกว่าที่นี่แหละคือที่ที่เราฝันอยากจะทำงานในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง
"พอเราเข้าไปอยู่ในสถานีที่เป็นสถานีข่าวแล้ว พัฒนาการของนักข่าวคนหนึ่งก็จะเปลี่ยนไป จากตอนแรกที่เป็นความฝันที่เราได้เข้าไปทำในสถานีข่าวที่เป็นของคนไทย มันพัฒนาไปเป็นความภาคภูมิใจ ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของสิทธิเสรีภาพในการทำงาน ในการเสนอข่าว ความภาคภูมิใจนี้จึงทำให้เราเกิดความรักในสถานี ความหวงสถานี หวงเพื่อเสรีภาพของตัวเราและของงานที่เราทำ
"แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยการปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นตั้งแต่กลุ่มชินคอร์ปเข้ามา เราก็รู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพของเราถูกรุกราน เพราะกลุ่มชินฯก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเมือง มีผลประโยชน์ทับซ้อน ความรู้สึกต่อไอทีวีของเรามันเกิดการแตกหักไปแล้ว ตั้งแต่ถูกชินคอร์ปรุกราน แล้วเราเป็นฝ่ายที่เดินออกมาจากไอทีวีไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม แต่ผลคือเราไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของสิทธิเสรีภาพในการทำข่าวกับไอทีวีอีกแล้ว
ถ้าถามถึงตอนนี้ที่ไอทีวีเป็นของเทมาเส็กกับตอนที่เป็นของชินคอร์ป ความรู้สึกเสียใจต่างกันโดยสิ้นเชิง การที่ไอทีวีเปลี่ยนมือไปเป็นของชาวต่างชาติ เราว่าไอทีวีไม่เสียหายไปกว่าความเสียหายเดิมที่เสียไปแล้ว เพราะว่าไอทีวีได้สูญเสียความเป็นสถานีข่าวไปนานมากแล้ว เพียงแต่ตอนนี้บอกได้ว่าเห็นมั้ยล่ะว่าไอทีวีมันไม่ใช่ของประชาชน เพราะคนที่ครอบครองเขามีสิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่คนเดียว เขาจะกระทำย่ำยียังไงก็ได้ ตอนที่เขาอยากได้เขาก็บอกว่าจะทำเพื่อประชาชน แต่วันหนึ่งที่เขาไม่ต้องการมันแล้ว เขาก็ขายให้คนอื่นเหมือนเป็นสินค้าอีกชิ้นหนึ่งในเครือเท่านั้นเอง เป็นแค่การคิดแบบนักธุรกิจคนหนึ่งที่ค้ากำไรเท่านั้นเอง
แม้โดยความรู้สึกมันแตกหักกับไอทีวีไปแล้ว แต่ถ้าดูที่คำตัดสินของศาลครั้งนี้จะเห็นว่าศาลกลับมาที่เป้าหมายเดิมของสถานีคือปกป้องความเป็นสถานีโทรทัศน์ของคนไทยเอาไว้ ในเมื่อกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนในสถานีโทรทัศน์ซึ่งควรจะเป็นของคนไทยก็ควรที่จะจ่ายในราคาแพง คือดีใจกับคำตัดสินของศาลที่มองแบบนี้นะ
เรื่องการทวงคืนนั้นเห็นด้วย แต่ก็คิดไม่ออกนะว่าจะทวงคืนได้อย่างไร และจริงๆ การทวงคืนไอทีวีมันมีความพยายามมาหลายรอบแล้วนะ แต่ก็ไม่เคยมีพลังมากพอที่จะทวงกลับมาได้ แล้วถ้าจะให้เอาเงินไปซื้อคืนมามันก็เป็นไปไม่ได้ใช่มั้ย แล้วแรงขับเคลื่อนภายในไอทีวีเองมีหรือเปล่า? พลังจากภายนอกเคยกดดันคนในไอทีวีหลายรอบแล้วนะ แต่เหมือนกับว่าข้างในเองเขามีแรงด้วยมั้ย มันอาจมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น กลุ่มผู้ปฏิบัติงานไม่มีการรวมกลุ่มกันที่มากพอที่จะขานรับกับกระแสภายนอก อย่างช่วงที่ขายหุ้นให้ชินคอร์ป ปฏิกิริยาจากภายในยังไม่มีกระเพื่อมออกมาข้างนอกเลย ฉะนั้น ทำสถานีข่าวแห่งใหม่เลยอาจจะง่ายกว่า แต่ก็น่าสงสารคนที่อยู่ในไอทีวีนะ เขาคงกำลังสับสนกับสถานภาพของตัวเองเหมือนกัน การที่สถานีเปลี่ยนเจ้าของบ่อยๆ คงทำให้เขาเคว้งคว้าง
โดยส่วนตัวหมดหวังที่จะทวงคืนไอทีวี แต่มันเป็นเรื่องที่ดีนะที่มีคนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาทวงสถานีข่าวให้กลับมาเป็นของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีเดิมหรือตั้งขึ้นใหม่ ผลดีก็จะตกอยู่กับสังคมไทยทั้งนั้นแหละ เพราะความวุ่นวายที่ผ่านมานี้มันบอกได้ชัดเจนเลยว่าสถานีข่าวมันมีผลต่อการดำเนินไปของสังคมสูงมาก ในภาวะวิกฤตคนไทยจะแสวงหาสถานีข่าวทุกครั้งนะ แต่ในภาวะปกติสถานีข่าวก็จะถูกลืมไป"
เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|