การเคลื่อนไหวก่อนประกาศบริษัทประกันใหม่กำลังเข้มข้น กลุ่มประกันต่างชาติเริ่มแสดงตัว
ล่าสุด 'จอห์นแฮนดอค' เผยตัวจริงหลังจากอยู่เบื้องหลังอินเตอร์ไลฟ์มากว่า
5 ปี เอไอเอยักษ์ใหญ่ที่ยังคงเคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ ปล่อยเลือดเนื้อเชื้อไขไปโตที่อื่น
พร้อมกับส่วนแบ่งตลาด และตัวแทน กฤษณะแน่จริงทำ 'ศรีอยุธยา จาร์ดีน' โตวันโตคืนได้อย่างที่พูด
เพราะชื่อ 'กฤษณะ' ขายได้ บริษัทน้อยใหญ่โหมโฆษณาหวังสร้างฐานจุดยืนที่มั่นคงก่อนภัยเสรีมาถึงประตูบ้าน
ตามมติคณะรัฐมนตรี 'ยุคชวน' ได้แบ่งขั้นตอนการเปิดเสรีประกันภัยเป็น 3 ขั้นตอน
คือ ขั้นตอนที่ 1 เปิดโอกาสให้คนไทยจัดตั้งบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย
ขั้นตอนที่ 2 ขยายสัดส่วนต่างชาติถือหุ้นจาก 25% เป็น 49% และขั้นตอนที่
3 การเปิดเสรีประกันภัยให้ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งสาขาในประเทศ
จากนโยบายเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยดังกล่าว ทำให้กลุ่มธุรกิจชั้นนำต่างเดินหน้ายื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นจำนวนมากถึง
87 รายแยกเป็นธุรกิจประกันชีวิต 44 ราย และธุรกิจประกันวินาศภัย 43 ราย
และภายหลังการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบด้านแผนงาน
และสอบสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทที่ยื่นขอใบอนุญาตนั้น ปรากฎว่า มีบริษัทที่ยื่นขอใบอนุญาตผ่านเกณฑ์ทั้งสิ้น
66 ราย แยกเป็นบริษัทประกันชีวิต 35 ราย และบริษัทประกันวินาศภัย 31 ราย
แต่มีตัวเต็งที่น่าจะได้ และสมควรได้อยู่ประมาณ 5 รายเท่านั้น
ตามขั้นตอนนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชูชีพ หาญสวัสดิ์ จะต้องนำรายชื่อเหล่านี้เสนอต่อกระทรวงการคลัง
สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ทั้ง 3 หน่วยงานจะพิจารณาร่วมกัน ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นที่หวั่นเกรงกันมากว่าสภาพัฒน์จะขวางลำด้วยเหตุผลหลายประการ
แต่ถึงขณะนี้ กระบวนการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินมาตลอดก็กลับเงียบหายไปรวมเวลาแล้วกว่า
7 เดือนที่บริษัทประกันใหม่ยังคงค้างเติ่งเป็นปริศนาไม่ออกมาให้เห็นกันสักที
ล่าสุดเรื่องยังอยู่ที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อรอเสนอให้ ครม.พิจารณา
ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ข่าวของแบงก์ใหม่ที่เข้ามากลบจนทำให้ประกันภัยใหม่หายเข้ากลีบเมฆ
อีกส่วนหนึ่งเป็นกลยุทธ์ 'ยื้อ' ให้ได้นานที่สุดของบริษัทประกันรายเก่า
ๆ ทั้ง 13 รายหรืออาจเป็นการ 'ดิ้น' หาทางรอดก่อนที่ภัยจะมาถึงตัว
ว่าที่บริษัทประกันใหม่จึงต้องรับภาระไปอย่างจำยอม ทั้งในเรื่องดอกเบี้ยจากเงินค้ำประกัน
5% ของทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทสำหรับประกันวินาศภัย และ 500 ล้านบาทสำหรับประกันชีวิต
ภาระในการเตรียมคนซึ่งบางบริษัทมีการดึงมือบริหารมาบ้างแล้ว ภาระในเรื่องสถานที่ที่ต้องเตรียมแล้วไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้เป็นการสูญเสียต้นทุนทางการเงินไปโดยเปล่าประโยชน์
และที่สำคัญ คือ การสูญเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ
ส่วนบริษัทประกันชีวิตรายเก่านั้น ต่างก็ช่วงชิงโอกาส และเวลาที่เหลืออยู่นี้อย่างรู้ค่า
การปรับตัวที่เห็นได้เด่นชัดมีอยู่ 3 ประการ คือ การร่วมมือกับบริษัทประกันชีวิตต่างชาติ
การพัฒนาเพิ่มจำนวนตัวแทนขายประกันจนไปถึงการดึงตัวแทนประกัน รวมทั้งการพึ่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ซึ่งเพิ่มขึ้นจนหนาตาในขณะนี้โดยเฉพาะบนหน้าจอโทรทัศน์
4 ลูกครึ่งประกันชีวิต
ความร่วมมือกับบริษัทต่างชาตินั้น ส่วนใหญ่เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนที่ต่างกันออกไปสูงสุด
คือ 25% ตามเกณฑ์ที่ทางการกำหนด
แม้ว่าจะถือหุ้นเพียง 25% แต่สิ่งที่บริษัทต่างชาติเหล่านี้นำมาด้วย เรียกได้ว่าบริษัทประกันชีวิตไทยรับไปเต็ม
ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์แบบใหม่ ๆ การส่งเสริมการขาย การพัฒนาความรู้ของตัวแทนประสบการณ์ความชำนาญที่เป็นระดับโลก
รวมไปถึงเทคโนโลยีซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เป็นอันมาก
ในด้านเทคโนโลยีนี้ สุขเทพ จันทร์ศรีชวาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยประสิทธิ์ประกันภัย
ยังยอมรับเพราะแม้จะไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น แต่ก็ซื้อเทคโนโลยีเขามาใช้
หลายบริษัทประกันชีวิตไทยที่ร่วมมือกับบริษัทต่างชาติอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
เพราะหลังจากการร่วมลงทุนกันแล้ว ยังได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเดิม โดยพ่วงชื่อบริษัทที่มาร่วมทุนเข้าไปด้วย
เพื่อความน่าเชื่อถือได้ บมจ.ประกันชีวิตศรีอยุธยาจาร์ดีน ซีเอ็มจี เป็นการร่วมมือระหว่างบริษัทประกันชีวิตศรีอยุธยาเดิม
กับบริษัทจาร์ดีน ซีเอ็มจี ไลฟ์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างจาร์ดีน แปซิฟิก
และโคโลเนียลมิวชวลกรุ๊ป จากออสเตรเลีย
ไล่ ๆ กันนั้นก็มีบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต ซึ่งร่วมทุนกับต่างชาติและเปลี่ยนชื่อเป็น
บมจ.พรูเด็นเชียล ทีเอสไลฟ์ ประกันชีวิต และ บริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต
ที่ตัดสินใจให้บริษัทอาซาฮี มิวชวลไลฟ์ จากญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้น
ล่าสุด บริษัทอินเตอร์ไลฟ์ ประกันชีวิต ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.อินเตอร์ไลฟ์
จอห์นแฮนคอค ประกันชีวิต หลังจากที่ดูใจกันมากว่า 5 ปี โดยบริษัทจอห์น แฮนคอค
จากสหรัฐเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 25% เมื่อปี 2533
เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มทุนต่างชาติด้านประกันชีวิตเริ่มมีความเคลื่อนไหวในภูมิภาคแถบนี้มากขึ้น
และไม่เฉพาะที่มาจากโซนอเมริกา และยุโรปเท่านั้น ในโซนเอเชียเองก็เริ่มมีบทบาทบ้างแล้ว
อย่างบริษัท นิปปอน ไลฟ์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
ก็กำลังเตรียมตัวที่เจาะตลาดประกันชีวิตในเอเชียรวมไปถึงประเทศจีนด้วย เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตในประเทศญี่ปุ่นเริ่มถึงจุดอิ่มตัว
ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียทั้งหมดประชากรยังทำประกันชีวิตกันน้อยมากอยู่ในระดับ
5-10% เท่านั้น
ศึกชิงตัวแทนยิ่งเข้มข้น
ส่วนการพัฒนา และเพิ่มจำนวนตัวแทนขายประกันนั้น ที่คึกคักที่สุดดูเหมือนจะเป็น
ประกันชีวิตศรีอยุธยา ที่ได้มือดีของค่ายเอ.ไอ.เอ. อย่าง กฤษณะ กฤตมโนรถ
เพราะตั้งเป้าสิ้นปี '39 มีตัวแทนขายประกัน 12,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากเดิมที่มีอยู่เมื่อสิ้นปี
'38 จำนวน 6,000 คน หรือคิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 500 คน
นับเป็นความชาญฉลาดของ มร.ปีเตอร์ แฟงกี้ โดยแท้ที่สามารถดึงคนอย่างกฤษณะผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการประกันชีวิตมากว่า
20 ปีมาร่วมทีมได้ เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หลังจากกฤษณะเข้ามาส่วนแบ่งการตลาดของ
'ประกันชีวิตศรีอยุธยา' ก็ดีวันดีคืน
จากใน 6 เดือนแรกส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรม หรือประมาณ
3.46% เลื่อนมาอยู่ในอันดับ 3 ด้วยอัตราเพิ่มของเบี้ยประกันปีแรกสูงถึง 89%
ซึ่งเป็นอัตราสุงสุดของอุตสาหกรรม
แม้ว่าฐานตัวเลขเดิมจะอยู่ที่ระดับร้อยกว่าล้านบาท แต่การเพิ่มแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก
ในขณะที่ เอ.ไอ.เอ ถิ่นเดิมของนักขายมือทองก็ไม่ยอมน้อยหน้าแม้จะมีบ่นออกมาบ้างว่าถูกแย่งตัวแทน
และที่เป็นเรื่องเป็นราว คือ ถูกตัดหน้าในการจัดงานสัมมนาที่พัทยาเมื่อวันที่
22-23 มิถุนายนที่ผ่านมา จนต้องล้มเลิกงานเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมน้อยเกินไป
ครึ่งปีหลัง เอ.ไอ.เอ ยังคงเดินหน้าต่อไปตั้งเป้าผลิตตัวแทนขายให้ได้มากกว่า
5,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วตกประมาณ 800 คนต่อเดือน
ผลพวงจากการเพิ่มตัวแทนขายทำให้กฤษณะ ตกเป็นเป้าโจมตีของบริษัทต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย
ๆ ด้วยกลยุทธ์ของกฤษณะเวลาที่ไปพูดตามที่ต่าง ๆ นั้นค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ต่อการถูกครหา
เนื่องจากจดหมายเชิญเข้าร่วมฟังบรรยายที่ส่งไปยังตัวแทนขายนั้น ไม่เพียงจัดส่งไปให้ตัวแทนของประกันชีวิตศรีอยุธยาเท่านั้น
กลุ่มเป้าหมายยังรวมไปถึงบรรดาตัวแทนประกันของบริษัทอื่นด้วย
ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่พูดยากเพราะถ้ามองในแง่ของกฤษณะแล้ว ผู้ที่ยังไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทก็ถือว่าเป็นบุคคทั่วไปทั้งหมดที่สามารถเชิญเข้ามาฟังการโน้มน้าวจิตใจของเขาได้ทั้งนั้น
บริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ จึงมีการเรียกร้องในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก จนถึงขั้นมีคำกล่าวออกมาอย่างไม่พอใจของ
ชัยยศ ติยะชาติ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตว่า
"หากเก่งจริงก็น่าจะสร้างเอาเอง"
นอกจากนี้ ยังมีการทักท้วงของคนในวงการประกันชีวิตด้วยกันเองในเรื่องผลประโยชน์ของผู้เอาประกัน
เนื่องจากกรณีการทุ่มเงินเพื่อดึงบุคลากรนั้น หากทุกบริษัทใช้วิธีนี้มากเข้าจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นตามไปด้วย
ในที่สุดก็ต้องมีการขึ้นค่าประกันภัยซึ่งหากกรรมการประกันภัยยอมตามผลเสียย่อมตกกับผู้เอาประกัน
แต่ถ้าไม่มีการเพิ่มเบี้ยประกันบริษัทต่าง ๆ ก็ต้องมีฐานะการดำเนินงานอ่อนแอลง
บริษัทที่ได้ผลกระทบในเรื่องนี้มากที่สุดเห็นจะเป็น บริษัทไทยประกันชีวิต
เพราะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และมีสาขาอยู่ค่อนข้างมาก
ซึ่งในเรื่องนี้ สุขเทพ ซึ่งนั่งเป็นนายกสมาคมประกันชีวิตไทยด้วยก็ได้ออกมาเรียกร้องหลายครั้งแล้วแต่ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย
เนื่องจากไม่ได้รับการตอบสนองจากเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกับเขาเท่าใดนัก
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ประกันชีวิตศรีอยุธยาถูกกล่าวว่า ได้มีการเสนอผลประโยชน์ด้านอื่น
ๆ ให้กับตัวแทนขายด้วย เช่น การเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในกรณีที่ตัวแทนมีหนี้สินกับบริษัทเดิม
แล้วนำมาจ่ายคืนในลักษณะผ่อนชำระ หรือการเสนอผลตอบแทนในรูปของเงินพิเศษในระดับ
5-6 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ต่อข่าวที่ออกมา รวมทั้งกรมการประกันภัยเองที่มีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวให้เห็นมากนัก
แม้ว่าจะมีกฏหมายที่ห้ามไม่ให้จ่ายผลประโยชน์พิเศษนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม
ระดมยิงโฆษณากันทั้งปี
ในส่วนการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้น ปีนี้จะเห็นว่าบริษัทประกันภัยต่างลงสมรภูมิรบบนหน้าจอโทรทัศน์กันมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น เมืองไทยประกันชีวิต ที่มีโฆษณาต่อนเองมาเป็นปีที่ 6 เริ่มจากเรื่องสมศรี
มาเป็นเรื่องสมควร จิ้งจก และนกแสก จนถึงท่านยม ล่าสุดจึงเป็นชุดรวมฮิตทั้งหมดเป็นฝีมือของบริษัทลินตาส
(ประเทศไทย) เฉพาะชุดรวมใช้งบในการถ่ายทำ 5.5 ล้านบาท ส่วนงบโฆษณาและส่งเสริมการขายตลอดปีนี้บริษัทตั้งไว้ที่
25 ล้านบาท
งานโฆษณาชุดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ของผู้ชมต่อบริษัทประกันชีวิตในยุคที่มีความทันสมัยไม่เรียบง่ายเหมือนในอดีต
มีความใกล้ชิดกับคนทั่วไปมากขึ้น
อาคเนย์ประกันภัย ก็มีโฆษณา 2 ใน 3 ชุดที่จุดประกายได้ไม่แพ้กัน เรื่องหนึ่ง
คือ 'ของโปรดของพ่อ' เป็นเรื่องที่แม่ และลูกร้องไห้หน้าศพพ่อก่อนที่จะนำเหล้าใส่โลงให้พ่อที่เสียชีวิต
เพราะเมาสุรา อีกเรื่องชื่อ 'การเริ่มต้นชีวิตใหม่' ที่มีประโยคติดปากคนดู
"จำได้ไหมคะ ชื่ออะไร ชื่อคมสันหรือเปล่า" ซึ่งตัวละครประสบอุบัติเหตุจนสมองพิการ
เพราะการขับรถด้วยความประมาท รับผิดชอบการผลิตโดยเดนท์สยังก์ แอนด์ รูบิแคม
(ดีวายด์แอนด์อาร์)
โฆษณาครั้งนี้ แม้ไม่ได้มีเนื้อหาที่พูดถึงตัวบริษัทหรือกรมธรรม์ แต่ก็ได้สร้างชื่อให้
อาคเนย์ประกันภัย เป็นที่รู้จักและคุ้นหูมากขึ้น ซึ่งการรุกทางด้านสื่อโฆษณานี้เป็นผลพวงมาจากการปรับโครงสร้างการบริหารของบริษัทมาตั้งแต่ปี
2537 ซึ่งได้มีการปรับวิธีการทำงานและระบบการตลาด รวมทั้งการขยายสาขาออกไปในภูมิภาคต่าง
ๆ มากขึ้น
สำหรับงบเฉพาะในการซื้อสื่อของอาคเนย์ปีนี้ บริษัทตั้งไว้ที่ 40 ล้านบาท
แต่คาดว่าน่าจะเกินกว่าที่ตั้งไว้ เพราะช่วงที่ออกในสื่อโทรทัศน์นั้น ผู้บริหารอย่าง
จุลพยัพ ศรีกาญจนา รองประธานบริหารมุ่งเน้นแต่เฉพาะช่วงไพร์มไทม์เท่านั้น
และเน้นความถี่ในการออกอากาศค่อนข้างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า "เข้าถึงลูกค้าได้สูงสุด
ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกกลุ่มรายได้" เนื่องจากในธุรกิจประกันนั้นไม่สามารถแยกระดับลูกค้าได้
ไทยประกันชีวติมีโฆษณาออกมาบ้างเป็นระยะตามโอกาสสำคัญ ๆ เช่น การชักชวนให้บริจาคโลหิตถวายในหลวงในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ
50 ปี
ส่วน เอ.ไอ.เอ.ปีนี้ลงโฆษณาถึง 2 ชุด โดยตั้งงบไว้ 40 ล้านบาท แต่ใช้จริงประมาณ
31 ล้านบาท แบ่งเป็นซื้อสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว 22-24 ล้านบาทที่เหลือใช้เป็นงบในการผลิต
โดยชุดแรกที่แพร่ภาพไปแล้ว คือ ชุด 'รถไฟ' จัดฉายตั้งแต่เมษายนจนถึงธันวาคมนับว่าสร้างภาพยักษ์ใหญ่ที่ทรงความมั่นคงอย่าง
เอ.ไอ.เอ. ได้เป็นอย่างดี เพราะเป้าหลักมิได้มุ่งเน้นที่จะนำเสนอแบบของกรมธรรม์
เพียงแต่ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรให้ยังอยู่ในความนึกคิดของประชาชนเท่านั้น
อินเตอร์ไลฟ์ จอห์นแฮนคอค เปิดตัวใหม่พ่วงแบรนด์เนมต่างชาติ ทำโฆษณาฉาย
3 ประเทศ ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยบริษัทแม่ลงทุนในส่วนการผลิตประมาณ
10 ล้านบาท ส่วนงบโฆษณาตั้งไว้ที่ 25 ล้านบาท เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ
จอห์นแฮนคอค
แลกข้อมูลยังทำไม่ได้
นอกจากบริษัทประกันชีวิตจะต่างคนต่างดิ้นหาทางออกแล้ว ในขณะเดียวกันก็รวมกลุ่ม
เพื่อเสนอแนะความต้องการออกมาเช่นกัน โดยผ่านทางสมาคมประกันชีวิตที่มีสุขเทพ
จันทร์ศรีชวาลา นั่งเป็นนายกสมาคมอยู่
ความร่วมมือที่เรียกร้องมานานแล้ว คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลของตัวแทนขายและลูกค้าของบริษัทสมาชิก
นอกจากนี้ปัจจุบันที่มีความเคลื่อนไหวมากขึ้น คือ การร้องขอความช่วยเหลือและสนับสนุนจากทางภาคราชการไทย
สำหรับ การเรียกร้องให้บริษัทประกันชีวิตทำสัญญาแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้านั้น
เป็นความพยายามที่ยังต้องพยายามกันต่อไป โดยขณะนี้เป็นความเห็นในหลักการเบื้องต้นที่จะจัดทำร่างสัญญาแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเฉพาะรายที่ยกเลิกกรมธรรม์
เป้าหมายของความพยายามนี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำบัญชีรายชื่อตัวแทน
เป็นการสกัดกั้นการกระทำของตัวแทนประกันบางรายที่โน้มน้าวให้ลูกค้าผู้เอาประกันยกเลิกกรมธรรม์กับบริษัทเก่า
และให้ทำกรมธรรม์ใหม่กับบริษัทที่ตัวแทนนั้นย้ายไปร่วมงานด้วย
ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งบริษัทเก่า และตัวลูกค้าผู้เอาประกันในเรื่องของผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับจากกรมธรรม์เดิม
การจัดทำข้อมูลนั้นจะนำบัญชีรายชื่อของลูกค้าที่ยกเลิกประกัน และรายชื่อตัวแทนที่แนะนำให้ลูกค้าทำประกันชีวิตที่ได้รับจากบริษัทสมาชิกมาจัดให้เป็นหมวดหมู่
เพื่อให้บริษัทสมาชิกมาจัดให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้บริษัทสมาชิกตรวจสอบได้ว่าลูกค้าที่มาทำประกันเคยยกเลิกกรมธรรม์มาก่อนหรือไม่
ในกรณีที่มีการตรวจสอบและพบว่ามีการแนะนำให้ยกเลิกกรมธรรม์ บริษัทสมาชิกก็จะส่งรายชื่อให้แก่สมาคมฯ
และกรมการประกันภัยเพื่อลงโทษ โดยการเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตหรือให้หมดสิทธิ์การขายประกันชีวิต
3-5 ปี โดยการไม่ต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งทางสมาคมฯ เชื่อว่า วิธีการนี้จะสามารถป้องกันการแนะนำให้ยกเลิกกรมธรรม์ได้ในระดับหนึ่ง
แนวคิดนี้ จะได้ผลเป็นรูปธรรมเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากทางภาคราชการด้วย
นั่นคือ กรมการประกันภัย เพราะความร่วมมือจากทางการในการเป็นตัวกลางช่วยประสานงานการเซ็นสัญญา
ย่อมเป็นสิ่งกระตุ้นให้บริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ ให้ความร่วมมือมากขึ้นกว่าที่ทางสมาคมฯ
จะเรียกร้องอยู่ฝ่ายเดียว
สำหรับความร่วมมือจากทาง เอ.ไอ.เอ. นั้นยังไม่มีทีท่าที่ชัดเจน เพราะความที่เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการประกันภัย
ทำให้ เอ.ไอ.เอ. ไม่แน่ใจว่าการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนั้นจะกลายเป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่
จึงยังคงเกี่ยงไปถึงเรื่องกฎเกณฑ์ ในการเปิดเผยข้อมูลของบรรดาสมาชิกรวมถึงการควบคุมกรณีนำข้อมูลที่ได้ไปใช้
แยกธุรกิจประกันยังไม่ลงตัว
นอกจากการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่เป็นตัวบีบคั้นผู้ประกอบการแล้ว อุปสรรคอีกประการหนึ่ง
คือ การไม่ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากทางการเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจกลับถูกควบคุมจนบางครั้ง
ทำให้การดำเนินธุรกิจประกันภัยไม่มีความคล่องตัว
ความหวังที่จะพึ่งกลไกและคนของทางการในอันที่จะช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างหวังได้ยาก
จนเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า ในบรรดาสถาบันการเงินด้วยกัน เรื่องของบริษัทประกันภัยมักจะถูกจัดอันดับความสำคัญไว้รั้งท้ายเสมอ
ที่ผ่านมานั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า บริษัทประกันภัยทั้งหลายต่างประคับประคองธุรกิจของตนเองมาโดยตลอด
เพิ่งมาในระยะหลังนี่เองที่จะเห็นว่ามีความเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้ทางการเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เนื่องจากทางการมีส่วนต้องช่วยโดยตรง คือ
พ.ร.บ.ประกันชีวิต 2535 และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย 2535 ซึ่งกำหนดให้ บริษัทประกันภัยที่ประกอบธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยในบริษัทเดียวกันนั้น
ต้องทำการแยกบริษัทออกไปตั้งเป็นบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยใหม่
ภายในระยะเวลา 8 ปีนับจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้
ปัจจุบัน บริษัทประกันภัยที่มีธุรกิจประกันทั้ง 2 ประเภทในบริษัทเดียวกันมีอยู่
5 บริษัท ได้แก่ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต บริษัทไทยสมุทรประกันภัย บริษัทไทยประสิทธิ์ประกันภัย
บริษัทอาคเนย์ประกันภัย และ เอ.ไอ.เอ.
แม้ว่าในเรื่องนี้ เมืองไทยประกันชีวิตมีความเคลื่อนไหวด้วยการจะจัดทำแผนในการแยกธุรกิจประกันวินาศภัยออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่
แต่ปรากฏว่ายังติดขัดในแง่ของกฎหมายเอง ที่ยังไม่ชัดเจนจึงต้องรอการตีความกฎหมายจากที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงพาณิชย์เสียก่อน
เนื่องจากบทเฉพาะกาลในมาตรา 127 พ.ร.บ.ประกันชีวิต 2535 และมาตรา 121 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย
2535 กำหนดให้บริษัทที่ประกอบการทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะต้องจัดตั้งบริษัทใหม่ตามกฎหมาย
นั่นหมายถึงบริษัทประกันภัยดังกล่าวต้องขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และได้รับอนุมัติจาก
ครม.
เมื่อถึงตรงนี้ก็ต้องทำใจ เพราะกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาพอสควรทีเดียว
จึงจะได้เห็นการแยกธุรกิจประกันภัยอย่างจริงจัง แม้ว่านักกฎหมายบางกลุ่มจะออกมายืนยันว่า
เมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ก็สามารถแยกธุรกิจได้เลยโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่ก็ตาม
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ทางเลือกใหม่ของ 3 ยักษ์ประกัน
ขณะที่ด้านประกันแข่งกันหนักเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
หรือ สศค. ก็ได้อนุมัติผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 19 ราย ซึ่งมีบริษัทประกันชีวิตได้ด้วย
3 ราย คือ บริษัทไทยประกันชีวิต เอ.ไอ.เอ. และศรีอยุธยา จาร์ดีนฯ จึงถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่บริษัทประกันชีวิตจะหารายได้เข้าตัว
นอกเหนือจากธุรกิจหลัก
ฐานลูกค้าในระยะแรกคงเป็นฐานลูกค้าเดิมของแต่ละบริษัท รวมทั้งบริษัทในเครือและพันธมิตรก่อนที่จะหาลูกค้ารายอื่นอย่างจริงจัง
สำหรับการลงทุนนั้นไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากเดิมบริษัทประกันเหล่านี้ก็บริหารพอร์ตการลงทุนของธุรกิจประกันภัยเป็นหลักอยู่แล้ว
คิดว่าน่าจะมีความคล้ายคลึงกับพอร์ตประกันที่มีอยู่เดิม
นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทประกันชีวิตทั้ง 3 ที่ได้รับอนุมัติ เพราะนอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงในเชิงของธุรกิจแล้ว
ยังเป็นการขยายงานไปสู่ธุรกิจการเงินที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในครั้งนี้
เอ.ไอ.เอ. และศรีอยุธยา จาร์ดีนฯ อาจจะดูมีภาษีกว่าสักหน่อย เพราะหนึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ
ที่มีความชำนาญในการบริหารกองทุนอยู่แล้ว
แต่ก็ไม่น่ามีปัญหาสำหรับไทยประกันชีวิต เนื่องจากการออมเงินในประเทศยังมีน้อย
โอกาสในการเติบโตจึงยังมีอีกมาก
ปรับตัวเพื่ออยู่รอด
มาถึงตรงนี้การปรับกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทนั้น ย่อมต้องผ่านการกลั่นกรองจากทีมงานมาแล้วเป็นอย่างดี
และเห็นว่าเหมาะสมกับธรรมชาติของบริษัทตน
สิ่งที่พอจะกล่าวได้ คือ การดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในปัจจุบัน และอนาคตนั้นเหมือนกับธุรกิจอื่น
ๆ ที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อย ๆ
ปัจจัยสำคัญที่น่าจับตามอง คือ กลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทจะงัดขึ้นมาแข่งขันกันนั้น
คงหนีไม่พ้น 4 เรื่องใหญ่ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เคยเสนอแนะไว้ตั้งแต่ต้นปี
นั่นคือ
การหาพันธมิตรทางธุรกิจหรือผู้ร่วมลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ การเตรียมพร้อมทางด้านเทคโนโลยีทั้งระบบคอมพิวเตอร์
ข้อมูล และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากรให้อยู่ในระดับมืออาชีพ
และการขยายเครือข่ายสาขา ซึ่งจะเป็นช่องทางเชื่อมระหว่างลูกค้าตัวแทน และบริษัทเข้าด้วยกัน