ลดราคาฟื้น 'ฮุนได' 'บรรเทิง' ต้องกล้ากว่านี้


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

แล้วยูไนเต็ด โอโต เซลส์ (ประเทศไทย) ของบรรเทิง จึงสงวนพรสุข ก็ตัดสินใจลดราคาจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดลงมา 20,000-30,000 บาทต่อคัน

แต่ดูเหมือนว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าจะช้าเกินไป และสูญเปล่า

แถลงการณ์ของบริษัทได้ให้เหตุผลอย่างสวยหรูถึงสาเหตุในการลดราคาครั้งนี้

"จากการที่นายชุง มงกู ประธานบริษัทฮุนได มอเตอร์ แห่งประเทศเกาหลีใต้ ได้แถลงนโยบายหลักว่า จะนำฮุนได มอเตอร์ขึ้นสู่ตำแหน่ง 1 ใน 10 ของผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ของโลกภายในปี ค.ศ.2000 ด้วยการนำวิวัฒนาการอันล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยียานยนต์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ขณะที่ต้นทุนจะต่ำลง เพื่อตอบสนองผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลก ดังนั้นบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายหนึ่งในการจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดในประเทศไทยเสียใหม่ เพื่อสนองนโยบายของฮุนได มอเตอร์ และเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคชาวไทยได้สัมผัสรถยนต์ฮุนไดได้มากขึ้น"

แม้เหตุผลจะสวยหรูอย่างไรก็ตาม แต่ความเป็นจริงนั้น ถ้าไม่ตัดสินใจทำอะไรขึ้นมา คงอยู่ไม่ได้ในตลาด และก็ใช่ว่าการลดราคาครั้งนี้ จะทำให้มั่นใจได้ว่าตัวเองยังสามารถอยู่รอดได้ในตลาดที่ร้อนระอุเช่นนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่านับจากปลายปี 2538 เรื่อยมาสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ฮุนไดในเมืองไทย ค่อนข้างจะอับเฉาอย่างมาก เพราะถูกตีกระหน่ำอย่างหนักทั้งจากข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องการวางเงินดาวน์ และระยะเวลาการผ่อนชำระที่จะต้องดาวน์ขั้นต่ำ 25% และผ่อนไม่เกิน 48 เดือน ซึ่งกลยุทธ์ดาวน์ 0% และผ่อนนาน 60 เดือนนั้น ฮุนไดเป็นยี่ห้อหนึ่งที่เน้นการทำตลาดลักษณะนี้อย่างมาก

อีกแรงบีบหนึ่งก็คือ การที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นทั้งโตโยต้า และฮอนด้า เข้ามาเล่นสงครามราคาเดียวเต็มรูปแบบ จึงทำให้เล่นรถยนต์ฮุนไดหมดความน่าสนใจไปเลย ตลาดแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับรถยนต์ยี่ห้อนี้แม้แต่น้อย

ความชัดเจนก็เมื่อ การเปิดตัวรถยนต์ฮุนได รุ่นแอคเซ้นท์ เมื่อปลายปี 2538 ซึ่งยูไนเต็ด โอโต เซลส์ฯ มั่นใจว่า จะสามารถสร้างตลาดได้มากพอสมควร เพราะเป็นรถยนต์ซีดานขนาดเล็ก ที่นับว่าเพียบพร้อมรุ่นหนึ่งของโลกยานยนต์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะ คุณสมบัติด้านความปลอดภัย สะดวกสบาย และรูปทรงที่ถือว่าเป็นรถยนต์ซีดานยุคหน้า อีกทั้งราคาจำหน่ายไม่ถึง 4 แสนบาทในรุ่นเล็กสุด

แต่พอเอาเข้าจริง ฮุนได แอคเซ้นท์ ไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตลาดเมืองไทยเลยแม้แต่น้อย เพราะระหว่างนั้น ตลาดอยุ่ระหว่างรอคอยการเปิดตัวโตโยต้า โคโรลล่า โฉมใหม่ และเมื่อโคโรลล่าเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2539 กระแสโคโรลล่า ก็กลบชื่อรถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนดากลางเกือบทุกยี่ห้อในตลาด โดยเฉพาะรถยนต์จากเกาหลีใต้ที่เพิ่งจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยไม่กี่ปี

ฮุนไดก็หนีไม่พ้นกระแสนี้ หลังจากนั้นทางฮอนด้า คาร์ส (ประเทศไทย) ได้เปิดตัวรถยนต์นั่งฮอนด้า ซิตี้ ด้วยราคาที่ต่ำมาก พร้อมกับสเปรกที่ทำขึ้นเพื่อเมืองไทย และภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะยิ่งทำให้ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และขนาดกลางตกอยู่ในมือของโตโยต้าและฮอนด้าเป็นส่วนใหญ่ ประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 60% ของตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กและกลาง

ฮุนไดจากที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่เกือบ 10% และมีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่ผ่านครึ่งปี 2539 มานี้ยอดจำหน่ายวูบไปมาก ส่วนแบ่งตลาดเหลืออยู่ไม่ถึง 3%

ภาพความยิ่งใหญ่ของฮุนไดเมื่อคราวเปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทย ราว 5 ปีก่อน ภาพความรุ่งโรจน์ของ บรรเทิง ที่กลับมาอีกครั้ง และพรั่งพร้อมด้วยขุนศึกฝีมือเฉียบหลายคนอยู่ข้างกาย มาถึงวันนี้ภาพความยิ่งใหญ่เหล่านั้นแทบจะลบเลือนจนหมดสิ้นเสียแล้ว

ปัญหาของฮุนไดนั้น เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่ผู้บริหารชุดใหม่ โดยเฉพาะศิริชัย สายพัฒนา ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไปประมาณ 1 ปีมาแล้ว จะสามารถแก้ไขได้ เพราะเรื่องราวหลายอย่างเป็นปัญหาที่สะท้อนไปยังผู้บริโภคจนกลายเป็นภาพพจน์เสียแล้ว

อะไหล่ ไม่มีสต็อกไว้ ศูนย์บริการไม่ได้มาตรฐาน บางแห่งเดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิดเดี๋ยวเปลี่ยน ลูกค้าเคว้ง ราคาขายต่อตกต่ำลงอย่างมาก ทั้งที่ก่อนซื้อสาธยายว่า จะมีโนบายเข้ามารับซื้อเพื่อดันราคารถยนต์ฮุนไดมือสอง แต่การลงทุนตรงนี้ต้องใช้เงินมาก ก็เลยยังเป็นแค่แผนงานต่อไป และอีกหลายปัญหาที่ทับถมเรื่อยมา จนที่สุดทีมบริหารก็ถือว่ามือดีกลุ่มหนึ่งของวงการรถยนต์เมืองไทยจำใจต้องลาจากบรรเทิง ทั้งที่บางคนได้ร่วมหัวจมท้ายกันมามากกว่า 10 ปี

มีการวิเคราะห์กันว่า ทีมผู้บริหารชุดก่อนนั้น ได้เห็นโอกาสของฮุนไดแล้ว แต่ทว่าบรรเทิงได้กล้าที่จะทำอะไรลงไปในเชิงรุก ที่สุดจึงต้องมาคอยตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรขึ้นมา ไม่มีประโยชน์ ผู้บริหารที่เคยร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับฮุนไดจึงตัดสินใจตีจาก

มองถึงการประกาศลดราคาครั้งนี้ของฮุนได้แล้ว แม้แต่ผู้บริหารระดังสูงอย่างศิริชัย สายพัฒนาเองก็ยังไม่แน่ใจว่า จะทำให้สถานการณ์ของฮุนไดดีขึ้นได้ทั้งหมด

"การเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะทำให้ยอดการจำหน่ายฮุนไดดีขึ้น แต่ต้องรอดูเงื่อนไข 2 ประการสำคัญ คือ ข้อกำหนดของรัฐในการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ และการเคลื่อนไหวของคู่แข่งในตลาด" คำกล่าวของศิริชัย

ข้อกังวลของศิริชัยนั้น คงเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวรถยนต์นั่งขนาดเล็กของโตโยต้า ภายใต้รหัสเอเอฟซี ซึ่งจะเป็นรถยนต์นั่งซีดาน ขนาดเล็กราคาประหยัด ซึ่งโตโยต้าผลิตขึ้นเพื่อภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ และคาดว่าราคาจะอยู่ที่ 340,000 บาทพร้อมเครื่องปรับอากาศในรุ่นต่ำสุด และยังจะมีฮอนด้าซีวิค 3 ประตู ซึ่งราคาจะไม่สูงนัก และฮอนด้า คาร์ส ยังเตรียมฮอนด้า ซิตี้ 3 ประตู ไว้เป็นหมัดเด็ดเพื่อตีกลับโตโยต้า ในช่วงต้นปี 2540 อีกครั้งหนึ่ง ดูไปแล้วน่าหนักใจแทนผู้บริหารของฮุนไดไม่น้อยทีเดียว

ในกระแสสงครามราคาเช่นนี้ ถ้ายูไนเต็ด โอโต เซลส์ฯ คอยแต่จะมาประกาศลดราคาตามหลังคุ่แข่งที่เป็นยักษ์ใหญ่ ก็ให้มั่นใจได้เลยว่า ไม่มีวันที่ฮุนไดจะได้ยิ่งใหญ่ในเมืองไทยได้อีก

สถานการณ์เช่นนี้ บรรเทิง จะต้องตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่หรือไป สู้หรือถอย ซึ่งกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้นั้นมีมากมายนัก

สงครามราคาที่ฮุนไดเป็นผู้ก่อขึ้นมา ขณะนี้กำลังจะกลับมารัดคอตัวเองจนยากที่จะดิ้นให้หลุดได้ และเมื่อจุดยุทธศาสตร์ของตนเองที่เป็นฝ่ายรุกอย่างได้เปรียบ กลับต้องมาตั้งรับอย่างพลิกตำราแทบไม่ทันเช่นนี้

ฮุนได ก็คงเป็นได้แค่ลูกไล่ให้กับรถญี่ปุ่นอยู่ต่อไป ตราบใดที่บรรเทิง ยังไม่กล้าเหมือนเดิม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.