ปี 2000 ทีจีโปรฝันตั้งเป้าส่งออกให้ได้ 50%


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

นั่นเป็นคำกล่าวอย่างหนักแน่นของวีระเกียรติ ลีลาประชากุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TG Pro ที่ตั้งเป้าในการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์สแตนเลสไปยังตลาดต่างประเทศให้ได้ 50% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งขณะนี้สามารถส่งออกได้เพียง 20% ของกำลังการผลิตเท่านั้นที่เหลือ 80% คือ การจำหน่ายในประเทศ

วีระเกียรติ ได้พูดถึงตลาดส่งออกที่จะขยายเพิ่มว่า จะส่งออกให้ครอบคลุมตลาดในย่านภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ก็ยังมีตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป เขากล่าวว่า "เราแบ่งตลาดส่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ อเมริกา 50% ยุโรป 25% เอเชีย 25%"

สาเหตุที่วีระเกียรติ ต้องการที่จะขยายตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้นนั้น เพื่อเป็นการรองรับการเกิดของเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า ซึ่งปัจจุบันตลาดอาเซียนมีการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทท่อสแตนเลสน้อยมาก และมีคู่แข่งที่สำคัญอยู่แค่ประเทศญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียว

ดังนั้น เราจึงสร้างตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย ยังไม่สามารถผลิตสแตนเลสขนาดเดียวกับที่ประเทศไทยผลิตได้ ดังนั้น ไทยยังเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าเหล่านี้ทั้งคุณภาพและราคา

โดยในช่วงแรกบริษัทจะนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายยังประเทศอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายภายในสิ้นปีนี้ ส่วนประเทศมาเลเซียอยู่ระหว่างการเจรจา

สำหรับประเทศจีนที่หลาย ๆ คนเป็นห่วงว่า จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญในการผลิตอุตสาหกรรมสแตนเลสประเภทเดียวกันนี้ วีระเกียรติ บอกว่า เขามองต่างจากคนอื่น ด้วยเหตุที่ผลิตภัณฑ์ที่จีนผลิตได้ยังเป็นสินค้าประเภทแมส โพรดักส์ ที่ไม่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงมากนัก ประกอบกับเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศมากกว่าที่จะส่งออก

"ถ้าจะพิจารณากันจริง ๆ แล้วผมว่าในอุตสาหกรรมนี้ จีนน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 8-10 ปีกว่าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้สูงกว่าที่เป็นอยู่และมีปริมาณมากพอที่จะส่งออกได้ ปัญหาอีกอย่าง คือ เรื่องการขนส่งที่จีนค่อนข้างมีปัญหาเพราะระบบสาธารณูปโภคของเขายังไม่สมบูรณ์ ระบบการขนส่งยังไม่รวดเร็วเท่าที่ควร"

ทางด้านกำลังผลิตวีระเกียรติบอกว่า ในปัจจุบันนี้อยู่ที่ 9,600 ตันต่อปี และคาดว่าจะมีกำลังการผลิตเต็มที่ถึง 39,000 ตันต่อปีภายใน 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุนของโครงการระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นการผลิตท่อรีดลดขนาด และอุปกรณ์สแตนเลส เพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อใช้ในการผลิตหัวฉีดและท่อไอเสีย โดยมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,228 ล้านบาท

ซึ่งบริษัทจะใช้แหล่งเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารและสถาบันการเงินจำนวน 943 ล้านบาท และเงินสดจากการดำเนินงาน 285 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และจะสรุปผลได้ประมาณเดือนหน้านี้

ทางด้านแหล่งเงินทุนของบริษัทนั้น นอกจากจะได้มาจากเงินหมุนเวียนของบริษัทแล้วยังมาจากการระดมทุนในตลาดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ระดมทุนไปเพียง 2 ครั้ง และล่าสุดได้ออกหุ้นกู้ชนิดไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิ ซึ่งหุ้นกู้ชนิดไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิ ซึ่งหุ้นกู้ดังกล่าวฉบับละ 1,000 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 600 ล้านบาท ระยะเวลาไถ่ถอน 5 ปี โดยจะทำการจำหน่ายให้แก่บุคคลในวงจำกัด และมีตลาดรองในชมรมผู้ค้าตราสารหนี้

โดยได้แต่งตั้งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ, บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ คาเธ่ย์ทรัสต์, และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ เป็นผุ้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

วีระเกียรติ เล่าต่อไปว่า เงินที่ได้ในครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการขยายโรงงานแห่งที่ 2 ที่จังหวัดระยอง โดยต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1,300 ล้านบาท ส่วนเงินจำนวนที่ขาดไปอีก 800 ล้านบาท ได้ทำการกู้ยืมมาจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ส่วนกรณีที่บริษัทถูกจัดอันดับจากบริษัทไทยเรทติ้ง แอนด์ อินโฟร์เมชั่น หรือทริสให้อยู่ในระดับ BB+ นั้น วีระเกียรติ มองว่า อาจจะเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปขณะนี้ค่อนข้างซบเซา

"แต่ถ้าเป็นความเห็นส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าใดนัก เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว ให้ BB+ ยังต่ำไปหน่อย เพราะทริสจะมองเรื่องโครงสร้างทางการเงินเป็นหลัก แต่เรามองเรื่องพื้นฐานทางอุตสาหกรรมด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีผลกับการจำหน่ายหุ้นกู้ที่เราจะออก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากภาคอุตสาหกรรม แต่เราก็จะพัฒนาบริษัทให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง AA ให้ได้"

แม้ว่าไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เกือบ 2 ปีแต่ภาพของบริษัทก็ยังไม่ทิ้งความเป็นธุรกิจครอบครัว เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งหมดยังเป็นคนของตระกูลลีลาประชากุล วีระเกียรติ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล ได้อรรถาธิบายถึงเรื่องนี้ด้วยสีหน้าจริงจังว่า ไม่แปลกสำหรับธุรกิจใหญ่ ๆ ในประเทศไทยที่จะเติบโตมาจากตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้ ทางบริษัทเองก็ได้ดึงมืออาชีพเข้ามาเป็นจำนวนไม่น้อย ต่อไปภาพของธุรกิจครอบครัวอาจจะเจือจางลงไปได้บ้าง แต่ไม่ว่าภาพลักษณ์ธุรกิจของบริษัทจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารทุกคนก็จะทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.