Beardson เข็นกองทุนหุ้น ลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในระหว่างที่ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมณฑลยูนานของจีน กำลังคร่ำเคร่งหารือเพื่อประสานความร่วมมือกันในอันที่จะสร้างให้ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นดินแดนแห่งความรุ่งโรจน์ Crosby Group กลุ่มธุรกิจวาณิชธนกิจเอเชียที่มีบทบาทโดดเด่นไม่แพ้เฮาส์เมืองลุงแซม หรือเมืองผู้ดี ก็ได้ริเริ่มจัดตั้ง "The Greater Mekong Capital Fund" กองทุนหุ้นลงทุนในรูปแบบหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) ที่เน้นการลงทุนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรก

Timothy Beardson ประธานกลุ่มครอสบี้ ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท เล่าว่า กองทุนนี้จะมีลักษณะคล้าย ๆ กองทุนเพื่อการพัฒนา (Development Fund) แต่เน้นการลงทุนแบบ Venture Capital หรือที่คนอเมริกันเรียกว่า Private Equity คือ ลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นของกองทุนนี้มีมูลค่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,250 ล้านบาท อายุ 7 ปี มีบริษัท Crosby Asset Management บริษัทในเครือเป็นผู้บริหารเงิน ซึ่งได้มาจากการลงขันของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB), Brunei Investment Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลบรูไน, Bank of Boston สถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมทั้งทำหน้าที่ตั้งแต่ศึกษาโครงการไปจนถึงตัดสินใจลงทุน

Beardson ผู้ซึ่งนั่งประจำที่สำนักงานใหญ่ ฮ่องกง อธิบายถึงนัยสำคัญของกองทุนนี้เมื่อครั้งที่มาเยือนสำนักงานครอสบี้ไทย ซึ่งจับมืออยู่กับ บงล.ตะวันออกฟายเน้นซ์ (1991) ครั้งล่าสุดว่า เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น กองทุนนี้จะมีบทบาทสำคัญเสมือนหนึ่งเป็นตัวเร่ง (Catalyst) ที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเขตเศรษฐกิจที่มีความเจริญเติบโตแห่งนี้ ซึ่งหมายความว่า กองทุน The Greater Mekong Capital Fund จะทำหน้าที่เป็นผู้ดึงผลประโยชน์ของนานาประเทศมาสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีความแตกต่างกันในด้านอื่นเล็กน้อยเท่านั้น ยกตัวอย่าง เวียดนามมีแรงงานฝีมือจำนวนมาก เป็นต้น

"กองทุนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่ได้ไปลงทุนที่ไหน เพียงแต่อยู่ในระหว่างการมองหาธุรกิจที่ดีมีคุณภาพทั้งในไทยและประเทศรอบ ๆ นี้ เพื่อลงทุนในลักษณะเข้าไปถือหุ้น และขณะนี้กำลังทำ Due Diligence หลายโครงการ และมีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการ Investigation อีกเป็นจำนวนมาก"

ขณะนี้ ครอสบี้อยู่ในระหว่างการศึกษาคัดเลือกโครงการ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ในมือประมาณ 100 โครงการ แต่คาดว่าจะมีเพียง 10 โครงการเท่านั้นที่จะสอบผ่าน Beardson เปิดเผยเพียงคร่าวๆ ว่า บริษัทที่จะเข้าตาเขาได้จะต้องเป็นบริษัทที่ดีมีคุณภาพ มีการบริหารงานที่ดี และต้องเป็นบริษัทที่มีอนาคต โดยโครงการที่จะลงทุนนั้นจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 75 ล้านบาท

"กลยุทธ์การลงทุนของเรา จะเน้นที่ตัวบริษัทเป็นหลัก ไม่มีการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรม หรือธุรกิจเป้าหมายไว้ตายตัว เพราะเราจะมองหาบริษัทเอกชนที่ดีมีคุณภาพ มีโครงการที่ดี มีลักษณะพลวัต และที่สำคัญต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาเขตลุ่มน้ำโขง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ให้น้ำหนักการลงทุนในแต่ละประเทศไว้แน่นอน ดังนั้น พอร์ตการลงทุนของกองทุนนี้จะมีลักษณะเป็นแบบผสมผสาน ไม่มีการกำหนดเป้าหมายไว้แน่นอนตายตัว" อดีตเจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจมาเลเซีย ก่อนตัดสินใจขายกิจการแล้วหันมาตั้งบริษัทของตนเองอย่างเต็มตัวเมื่อปี 1984 ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่า กองทุนนี้จะสามารถให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นหุ้นส่วนทั้งหมดภายใน 5 ปี หากกองทุนนี้สามารถนำเงินไปลงทุนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยใน 3 ปีแรก ซึ่งผลตอบแทนนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลกำไรจริงที่ผู้จัดการกองทุนสามารถทำได้ ไม่มีการรับประกันผลตอบแทน ขณะที่ตัวเขาเองเชื่อมั่นว่า กองทุนนี้จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น เพราะจากตัวอย่างกองทุนประเภทเดียวกันที่ลงทุนในภูมิภาคน ี้ก็สามารถสร้างกำไรจากการขายหุ้นที่ลงทุนได้อย่างสวยงามทีเดียว

"เจตนารมณ์ของเรา คือ การทำเงินจากการลงทุนในธุรกิจที่ดีในเขตลุ่มแม่น้ำโขง แต่การลงทุนนี้มีลักษณะเหมือนเป็นการซื้ออนาคตบริษัทในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นก็คือ กำไรของเรา"

จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดทุน และคลุกคลีทำธุรกิจอยู่ในเอเชียเป็นระยะเวลานาน ทำให้เขาคาดหมายว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงจะพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองไปได้อย่างรวดเร็ว นั่นย่อมหมายความว่า หุ้นส่วนที่มีหุ้นในกองทุนนี้จะได้ผลตอบแทนเร็วขึ้นกว่าเดิม พร้อมกันนั้นมูลค่าของกองทุนก็อาจจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน ซึ่งเขาประมาณคร่าว ๆ ว่า อาจจะสูงถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นมาเพียง 200 ล้านเหรียญสหรัฐก็เป็นได้

"เราต้องการเห็นโครงการนำร่อง หรือ Pilot Project ที่เราสามารถลงทุนได้เกิดขึ้นมาก ๆ เพื่อที่เราจะได้เพิ่มเงินกองทุนให้มากขึ้น"

อย่างไรก็ดี ล่าสุดเกิดความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มครอสบี้ โดยเฉพาะในบริษัทหลัก คือ ครอสบี้ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งประกาศโยกย้ายตัวผู้บริหารครั้งใหญ่และมีการเพิ่มทุนจาก 46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็นมากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปีนี้

Beardson กล่าวว่า ครอสบี้ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้งส์ กำลังมองหาผู้ร่วมทุนเพื่อมาถือหุ้นส่วนข้างน้อย ซึ่งตอนนี้บริษัทกำลังเจรจากับสถาบันอยู่ 4 แห่ง ในจำนวนนี้มีบริษัทในแถบเอเชียรวมอยู่ด้วย และคาดกันว่า จะมีธนาคาร Banque Paribas SA แห่งฝรั่งเศส ซึ่งกำลังแสวงหาบริษัทดบรกเกอร์เอเชียเพื่อลงทุน สนใจเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในครอสยี้ด้วย

ประเด็นเรื่องการเพิ่มทุนนั้น เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก Beardson ให้เหตุผลว่า ครอสบี้กำลังพัฒนาธุรกิจด้านคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ และเล็งเห็นว่าธุรกรรมเรื่อง Bought deals กำลังเติบโตอย่างมาก ซึ่งล่าสุด ครอสบี้ร่วมกับธนาคารโซซิเอเต้เจเนราล เพิ่งร่วมกันทำธุรกรรมนี้ให้กับบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าในฮ่องกงชื่อ Giordano International มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

(Bought deal หรือที่รู้จักในนาม private placement ก็คือ การขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง บริษัทที่ประสงค์จะระดมทุนโดยเร็วอาจขายหุ้นใหม่หรือหุ้นที่มีอยู่ให้แก่โบรกเกอร์ในราคาที่ตกลงกันไว้ และโบรกเกอร์ก็จะนำหุ้นจำนวนนั้นไปขายให้ลูกค้า โดยคาดหมายว่าจะได้รับผลกำไรกลับมาจากการทำรายการเช่นนี้ในเวลาอันสั้น)

Beardson เล็งเห็นว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าธุรกรรมเช่นนี้จะเติบโตสูงมาก นอกจากนี้ การค้าตราสารหนี้สกุลเงินเอเชียก็เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากขึ้น เขายังต้องการมีเก้าอี้โบรกเกอร์ในตลาดหุ้นหลายแห่งในเอเชีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นมาเลเซียและอินโดนีเซีย ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ ครอสบี้จำเป็นต้องมีการเพิ่มฐานเงินทุนเพื่อที่จะขยายธุรกิจได้มากขึ้นนั่นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.