เปิดแผน 'เดอะ พิซซ่า คอมปะนี'รุกภูธร-ควานหาพันธมิตรท้องถิ่น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจอาหารยังเป็นธุรกิจที่นักลงทุนเล็งลงทุนในอันดับต้นๆ ถ้าเจาะเฉพาะตลาดพิซซ่า จะเห็นว่ามีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องดูจากมูลค่าตลาดรวมปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่จำนวนผู้เล่นในตลาดที่มีอยู่ไม่มาก

แต่อย่างไรก็ตามมีการประเมินกันว่าตลาดเริ่มถึงจุดอิ่มตัว เห็นได้จากการกระตุ้นตลาดของแบรนด์ใหญ่ต่างเริ่มหากลยุทธ์การตลาดใหม่เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเดอะ พิซซ่า คอมปะนี พิซซ่าสัญญาติไทยภายใต้ บริษัท เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทที่ชูกลยุทธ์การตลาดแบบเต็มรูปแบบทั้ง 4P ทั้งรูปลักษณ์สินค้า มีเมนูใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมถึงชูราคาเดียว 199 บาท และที่สำคัญการให้ความสำคัญกับ P Place นั่นหมายรวมถึงการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุม ควบคู่กับนโยบายการลงทุนของบริษัทที่ลงทุนเองและการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์

ซึ่งปัจจุบัน เดอะพิซซ่า คอมปะนี มีสาขาทั้งสิ้น 151 สาขา เป็นสาขาที่ดำเนินงานโดยบริษัท 121 สาขา แบ่งเป็น รูปแบบนั่งรับประทานในร้าน รูปแบบสั่งนำกลับและดิลิเวอรี่ และอีก 30 สาขาเป็นแฟรนไชส์

กุลวัฒน์ วิชัยลักษณ์ ผู้อำนวยการแฟรนไชส์ ให้ข้อมูลกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า แผนการขยายสาขาแฟรนไชส์ในปี 2549 นี้ คาดจะเปิดเพิ่มอีก 15-20 สาขา กระจายในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะสาขาในต่างจังหวัดนั้น ยังมีโอกาสอีกมาก เพราะปัจจุบันสาขาแฟรนไชส์มีเพียง 30 สาขาเท่านั้น แต่หากมองถึงโอกาสการเจริญเติบโตในแต่ละจังหวัดมีสูงมาก และโอกาสการเจริญเติบโตน่าจะครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดในประเทศไทย

ปัจจัยที่ กุลวัฒน์ มองเห็น นั่นคือ การขยายการลงทุนของห้างสรรพสินค้าทั้งในท้องถิ่นและห้างจากส่วนกลาง รวมถึงดิสเคาท์สโตร์ ซึ่งเป็นพื้นที่หรือทำเลหลักของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี ทั้งนี้มองถึงปริมาณคนที่เข้ามาจับจ่ายเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับเม็ดเงินที่ลงทุนในแต่ละสาขาที่ขนาดพื้นที่ 200-220 ตร.ม.ที่ 12-13 ล้านบาท

"อย่างไรก็ตาม ห้างสรรพสินค้า หรือดิสเคาท์สโตร์ ยังเป็นพื้นที่อันดับแรกที่จะลงทุน"

กุลวัฒน์ ยอมรับว่าด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ที่ยังไม่สามารถ เติบโตได้ทันกับการเติบโตของจำนวนสาขานั้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นำนโยบายดิลิเวอรี่มีจำนวน 70 สาขาเพื่อครอบคลุมการให้บริการ แต่สำหรับการลงทุนของแฟรนไชส์และสาขาในต่างจังหวัดจะมีเฉพาะการลงทุนในรูปแบบนั่งรับประทานที่ร้านเท่านั้น

กุลวัฒน์ เชื่อมั่นว่า ด้วยจำนวนอินเตอร์แบรนด์ในมือของบริษัท ประกอบด้วย เดอร์รี่ควีน ซเวนเซ่นส์ เบอร์เกอร์คิง ซิสสเลอร์ ในฐานะมาสเตอร์แฟรนไชส์ และนโยบายการขยายสาขาจับคู่เป็นแพคเกจสามารถหาพื้นที่และเจรจาต่อรองได้ไม่ยาก นั้นภาพที่เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้า ดิสเคาท์สโตร์ ตามต่างจังหวัดจะเห็นภาพของแบรนด์ไมเนอร์ฟู้ด เป็นพันธมิตรด้วย

"ในเรื่องการรับรู้ในแบรนด์นั้น เชื่อว่าผู้บริโภคจำนวนมากรู้จักเดอะ พิซซ่า คอมปะนี แต่ยังไม่สามารถหาทานได้ในจังหวัดนั้นๆ ฉะนั้นโอกาสและช่องว่างของการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดยังมีอีกมาก มองว่าในหลายๆ พื้นที่มีศักยภาพ ทั้งนี้การรองรับการตอบโตของการขยายสาขาในแต่ละพื้นที่นั้น บริษัทมีแผนงานระยะยาวรองรับไว้หมดแล้ว”

กับความพร้อมของบริษัททั้งพันธมิตรพื้นที่ แต่กับพันธมิตรผู้ร่วมลงทุนหรือแฟรนไชซีนั้น กุลวัฒน์ กล่าวว่า แม้เม็ดเงินการลงทุนกับเดอะ พิซซ่า คอมปะนี จะสูงมากแต่เมื่อเทียบอัตราผลตอบแทน กำไรกับธุรกิจอื่นแล้วเกิดความคุ้มค่าสมกับเงินลงทุน ซึ่งความสนใจจะมีอย่างต่อเนื่อง ดูจากผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้สนใจติดต่อข้อมูล หรือความต้องการของแฟรนไชซีรายเดิมที่ต้องการขยายสาขาเพิ่มเป็นสาขาที่ 2 สาขาที่ 3 หรือสาขาที่ 4 รวมถึงขยายแบรนด์ต่างๆ ในเครือ

กุลวัฒน์ กล่าวว่า ภาพรวมการเติบโตของจำนวนนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นก็ตาม จากการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งข้อมูล สินเชื่อผู้ประกอบการ แต่ต้องดูว่าความต้องการลงทุนในระดับไหน เพราะจากสถิติที่ผ่านมาตัวเลขความไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนของแฟรนไชส์ก็ยังมีสัดส่วนที่สูง หรือจำนวนแฟรนไชซอร์เองก็ตามทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่

ด้วยภาพที่เกิดขึ้น ย่อมสกรีนนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับเดอะ พิซซ่า คอมปะนี ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งจำนวนเงินที่ต้องมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาและดำเนินกิจการ การศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่แฟรนไชซีจะเป็นนักธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์อื่นหรือประเภทอื่นมาแล้ว เช่น ค้าปลีก ทำให้เข้าใจระบบการทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตาม ในตลาดยังมีความต้องการของนักลงทุนหน้าใหม่ ที่สนใจลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ เนื่องจากข้อดีที่เห็นชัดเจนคือการลดความเสี่ยงในการลงทุน ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันสูง หรือคือการฝากความเสี่ยงไว้กับบริษัทที่ประสบความสำเร็จวัดผลได้

เมื่อมีนักลงทุน เช่นนี้ทยอยเข้ามาศึกษาหาข้อมูลเพื่อร่วมลงทุนกับเดอะ พิซซ่า คอมปะนี นั้น กุลวัฒน์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วมาตรฐานการคัดเลือกเป็นแฟรนไชซีไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่หรือรายเดิมที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งของในเครือบริษัท หรือแฟรนไชส์แบรนด์อื่นอยู่แล้ว ต้องผ่านมาตรฐานเดียวกันกับที่บริษัทกำหนดไว้

ดังที่ ผู้บริหาร (บิล ไฮเนคกี้ ประธานกลุ่มและประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมเนอร์ กร๊ป) มุ่งหวังไว้คือ "แฟรนไชซี ที่มีความแข็งแกร่งจะนำพลัง ความคิด สร้างสรรค์ เพื่อที่จะนำแบรนด์ที่ยอดเยี่ยมก้าวปาสู่ความเป็นผู้นำอย่างแท้จริงในตลาดของตนเอง การที่ต้องการพันมิตรเช่นนี้เพื่อที่จะนำระบบที่มีอยู่ อีกทั้งความรู้ และประสบการณ์ของบริษัท ไปสู่ความเป็นผู้นำในตลาดของตนเองทั้งในประเทศและต่างประเทศ"

ฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นแฟรนไชซีของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี ได้นั้นต้องประกอบด้วย 1.มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในด้านการดำเนินกิจการร้านอาหาร และมีความสนใจในอุตสาหกรรมร้านอาหาร มีทักษะการบริหารงาน 2.มีเงินทุนมากพอที่จะพัฒนาและดำเนินกิจการของร้าน 3.สภาพตลาดที่ดี

กุลวัฒน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจาก 3 ส่วนสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักแล้ว ความสำเร็จของธุรกิจนอกจากความเข้มแข็งของแบรนด์แล้ว ในส่วนของแฟรนไชซีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั้นคือต้องเป็นบุคคลที่มีเวลาให้กับธุรกิจ เพราะธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นผลมาจากความเอาใจใส่และทุ่มเทของเจ้าของร้าน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับทุกๆ เรื่องภายในร้าน โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่ตั้งร้านขึ้น และสามารถที่จะทำหน้าที่ด้านการขาย การผลิตและการจัดการภายในร้านได้

และกับการขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างจังหวัดนั้น พันธมิตรหรือคู่ค้านั้น จะให้ความสำคัญกับผู้ลงทุนนั้นท้องถิ่นนั้นๆ มาเป็นอันดับแรก กุลวัฒน์ ให้เหตุผลว่า ทั้งนี้เพื่อเกื้อหนุนกับธุรกิจที่เขาที่มีอยู่หรือเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจร่วมกัน รวมถึงการรู้พฤติกรรมผู้บริโภค สอดรับการทำตลาดตรงกลุ่มเป้าหมายและความเอาใจใส่ต่อธุรกิจ

"มองว่าด้วยเม็ดเงินการลงทุนที่สูง จะเป็นการขยายธุรกิจอีกไลน์หนึ่งของนักลงทุน มากกว่าจะเป็นธุรกิจเสริมที่ใครจะเข้ามาทำแทนก็ได้ ฉะนั้นความเอาใจใส่ต่อธุรกิจใหม่นี้จะสูงตามไปด้วยนำมาสู่การพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แม้ความสำเร็จของบริษัทจะมีให้เห็น แต่ถ้าขาดความใส่ใจของคู่ค้าที่ดี ธุรกิจก็ลำบากได้"

กุลวัฒน์ ยังได้กล่าวถึงการรักษามาตรฐานสินค้า บริการ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับบริษัทแม่ว่า โดยใช้ one system ทำแบบอย่างเดียวกันกับบริษัทแม่ ทั้งการบริการ คุณภาพสินค้า โดยมีทีมตรวจสอบทั้งเป็นทางการ และการสุ่มตรวจ โดยคุณภาพสินค้านั้นการันตรีจากวัตถุดิบได้ในระดับหนึ่งคือการบริษัทแม่จัดหาให้ เช่น หน้าพิซซ่าต่างๆ และชีส ขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆ สามารถซื้อได้จากซัพพลายเออร์ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากบริษัท

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนหรือแฟรนไชซีคือระบบการอบรมพนักงาน เพราะเป็นกำลังสำคัญและเป็นปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการฝึกอบรม การสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับตนเองและพนักงานในร้าน

ซึ่งผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์และผู้จัดการร้านต้องจบโปรแกรมการฝึกอบรมผู้จัดการร้าน ใช้ระยะเวลา 10 สัปดาห์ที่ร้านสาขาเดอะ พิซซ่า คอมปะนี ที่คัดเลือกไว้ ซึ่งการฝึกอบรมครอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับการดำเนินงาน เทคนิคการเตรียมอาหาร การใช้เครื่องมือต่างๆ และการบริหารคน การสรรหาบุคลากร การแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้ง การสร้างสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า การสร้างทีมงาน การบริหารเวลา และสอนให้ตระหนักถึงธุรกิจที่ทำคือการใช้คนในการให้บริการลูกค้า

******************************

ลงทุน The Pizza Company

1.ขนาดพื้นที่ 200-220 ตร.ม. (ห้างสรรพสินค้า) 12-13 ล้านบาท
ขนาดพื้นที่ 160 ตร.ม. (อาคารพาณิชย์) 8-8.5 ล้านบาท
*รวมค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและค่าลิขสิทธิ์แล้ว

2.สัญญา 10 ปี ประมาณการ์คืนทุน 4 ปีถึงสี่ปีครึ่ง

3.บริษัททำการเช่าสถานที่เปิดร้านให้ ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์จะสามารถเช่าช่วงต่อไป หรือเสนอทำเลมาใหพิจารณา

4.จัดหาแบบแปลนการก่อสร้างคิดค่าออกแบบรวมในใบเสร็จเป็นค่าใช้จ่าย (ผู้รับเหมาจากภายนอกต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากผู้ซื้อและผู้ขายแฟรนไชส์)

5.จัดอบรมพนักงาน และให้ความช่วยเหลือในการบริหารร้าน

6.จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์จำนวน 5% ของยอดขายทุกเดือน และอีก 5% ของยอดขายรวมสำหรับค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.