|
สภาอุตฯชี้ทางรอดยุควิกฤตเอกชนตั้ง "CLUSTER" สร้างอำนาจต่อรองแทนพึ่งรัฐ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ประธานสภาอุตฯแนะผู้ประกอบการรวมตัวเป็นCLUSTER เพื่อสร้างอำนาจต่อรองซื้อสินค้าและขนส่ง มั่นใจเป็นทางรอดจากภาวะวิกฤตน้ำมัน ค่าเงินบาทฯลฯ ด้านบ.ไทยยูเนี่ยน ฟรอสเซ็น นำขบวนปรับราคาเพื่อให้อุตสาหกรรมทั้งระบบอยู่รอด ส่วนอุตสาหกรรมอัญมณีถูกกระทบจากราคาทองคำพุ่งสูง หวั่นถูกจีนตีตลาด ต้องหันมาผลิตจับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์แทน
แม้สถานการณ์น้ำมันจะยังไม่คลี่คลาย และได้ส่งผลกระทบให้เกิดสถานการณ์ราคาสินค้าตามมาอีกเป็นทิวแถว จนทำให้ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างสมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ ต้องจัดการประชุมเพื่อยับยังราคาสินค้าที่กำลังจะแห่ตามกันขึ้นราคา อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่ละรายเซ็กเตอร์พบว่าต่างพากันปรับตัวสู้กับภาวะเศรษฐกิจขาลงอย่างพัลวัน
สภาอุตฯแนะรวมกลุ่มสร้างอำนาจ
สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจก็ถือว่ายังพอไปได้ เพราะสินค้าพื้นฐานยังถือว่าขายได้อยู่ ซึ่งขณะนี้ต้องมีการตรึงราคาต่อไป แต่ก็พออยู่ได้ โดยทาง สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพื่อการลดต้นทุนการผลิต เช่น ธุรกิจส่งออก ต้องอาศัยบริษัทโลจิสติกส์ หากหลายๆบริษัทรวมตัวกันได้ก็สามารถสร้างอำนาจการต่อรองลดราคาค่าขนส่งได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีของการอยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
อย่างไรก็ดีการบริหารระบบการขนส่งภายในประเทศของผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกัน หากรวมตัวกันเป็น CLUSTER ได้ ก็จะยิ่งสร้างความได้เปรียบในการต่อรองการขนส่งในประเทศได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันนี้บริษัทขนส่งต่างๆนั้นแข่งขันกันมากขึ้น ถ้าผู้ประกอบการสามารถรวมตัวกันได้ก็จะสร้างอำนาจต่อรองได้มากกว่า นอกจากนั้นการรวมตัวกันเป็น CLUSTER ยังสามรถลดต้นทุนการผลิตอีกทางจากการซื้อวัตถุดิบรวมกัน ซึ่งทำให้ได้ราคาที่ถูกลงกว่าแยกกันซื้อ
ในเรื่องของอัตราค่าเงินบาทที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ส่งออกนั้น สันติมองว่า เท่าที่ผู้ประกอบการจะสามารถดูแลจัดการเองได้ ก็คือควรที่จะทำประกันความเสี่ยงให้รัดกุม เพราะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพียงอย่างเดียว การรับคำสั่งสินค้าใหม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ควรจะดูเรื่องความเสี่ยงด้วย เพราะไม่รู้ว่าเงินทุนไหลเข้ามาจะอยู่อีกนานเท่าใด
นอกจากปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ไปดันราคาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแล้ว ปัญหาที่ทางสภาอุตสาหกรรมฯเผชิญอยู่ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ ปัญหาแรงงานขาดแคลนซึ่งตอนนี้ทางสภาอุตสาหกรรมได้ประสานไปที่กรมแรงงานในการจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาเสริมกำลังการผลิต เพราะตอนนี้แรงงานทางภาคใต้ประสบปัญหาขาดแคลนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ซึ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่พอจะทำได้คือการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
แนะเอกชนเตรียมปรับตัวระยะยาว
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวเองเพิ่มขึ้นในหลายด้านเพื่อเป็นประโยชน์ในระยะยาวอีกด้วย โดยสภาอุตสาหกรรมฯ มีโครงการจะจัดแพกเกจอบรมผู้ประกอบการในเรื่องความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านการประหยัดต้นทุน การจัดแพ็กเกจจิ้ง และการใช้พลังงาน ซึ่งจะเป็นการสัญจรไปยังจังหวัดต่างๆเพื่อเพิ่มความรู้ให้ผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ละเลยการให้ความรู้ในเรื่องการเพิ่มการแข่งขันมาพอสมควร ซึ่งในอนาคตผู้ประกอบการจะต้องเจอปัญหาเรื่องข้อกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นมาด้วย
นอกจากนี้เพื่อเป็นการดูแลการผลิตให้ยั่งยืน สันติ ได้ สอบถามผู้ประกอบการ พบว่า แต่ละรายอุตสาหกรรมบางส่วน และแต่ละกลุ่มมีปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ที่ต้องการให้ภาครัฐจัดการเรื่องการจัดการมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรม รวมทั้งกลุ่มอาหารเองก็ต้องการให้ภาครัฐดูแลเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทางผู้ประกอบการต้องการให้ทางภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างเป็นระบบ
ไทยยูเนี่ยน ฟรอสเซ็น ดันโครงสร้างราคาใหม่
ในส่วนของผู้ประกอบการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง โดย ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานบริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทมีการปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่มีราคาค่าเงินบาทเข้ามากระทบกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยได้มีการปรับราคาสินค้าตามราคาต้นทุน อีกทั้งมีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หรือ Value Added รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิตหรือ Productivity ให้ได้
ทั้งนี้ เขา ยอมรับว่า การขึ้นราคาสินค้าในช่วงแรกๆคงต้องเจอกับผลกระทบจากเหล่าลุกค้าทั้วโลกแน่ๆ แต่เชื่อว่า ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะกระทบกับผู้ผลิตทั่วโลกทั่วถ้วนกัน ดังนั้นการขึ้นราคา สินค้าของเขาจึงจะเป็นการให้ตลาดซึมซับโครงสร้างราคาใหม่ เพื่อให้ผู้ผลิตรายอื่นได้ปรับตัวตามกันต่อไป ขณะที่ทางบริษัทได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 5% และผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 8% ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น 10% จึงทำให้ทางไทยยูเนี่ยนฯจะทำการขึ้นราคาสินค้าขึ้นอีก 3-5% ทั้งนี้จะต้องใช้การปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์และการลดต้นทุนการผลิตเข้ามาถัวเฉลี่ยต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย
"เพราะเราเป็นผู้นำตลาด จึงต้องปรับราคาเพื่อให้รายย่อยเขาอยู่รอดได้ ถ้าเราไม่ปรับรายเล็กจะปรับก็คงยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับราคาเพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่รอดได้ " ธีรพงศ์ กล่าว
แนะรัฐดูแลเกษตรกรให้ดี
ทั้งนี้ธีรพงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเกษตรกรให้สามารถขายสินค้าได้ เพราะบริษัทบางส่วนยังต้องพึ่งพิงกำลังการผลิตจากเหล่าเกษตรกรอยู่ ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนไปได้ทั้งระบบ อีกทั้งอัตราค่าเงินไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป เพราะแม้รัฐบาลจะเน้นให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงไว้ แต่ว่าเมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาประกันความเสี่ยงทีทำไว้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เขาจึงเห็นว่ารัฐควรที่จะเข้ามาดูแลไม่ให้ค่าเงินแข็งมากเกินไป
"การประกันความเสี่ยงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นคือเมื่อค่าเงินบาทแข็งรายได้คุณก็หายไป ดังนั้นรัฐจึงควรดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับที่ไม่แข็งค่ามากเกินไป" ธีรพงษ์เน้น
พร้อมกันนั้น บริษัทอาหารรายใหญ่ของเมืองไทยอย่างเจริญโภคภัณฑ์อาหารก็ได้เตรียมที่จะปรับราคาสินค้าเช่นกัน อดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และต้นทุนสินค้าก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้บริษัทต้องเจรจากับผู้ประกอบการในต่างประเทศเพื่อขอปรับขึ้นราคาสินค้า ได้แก่ ไก่ปรุงสุก เป็ด และกุ้ง ในขณะที่อุตสาหกรรมส่งออกประเภทอาหารต้องขึ้นราคาสินค้านั้น ทางผู้ประกอบการส่งออกอัญมณีนั้นก็ถุกผลกระทบจากราคาทองที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ก็ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมรายอื่นๆ
อัญมณีเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าหนีต้นทุนพุ่ง
สุทธิพงษ์ ดำรงค์สกุล กรรมการผู้จัดการ จีโมโพลิส กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการส่งออกอัญมณีที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานีมีปัญหาเรื่องราคาทองคำที่มีราคาแพงมากขึ้นไปตามๆกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความกังวลใจมากกกว่า ราคาน้ำมันและอัตราค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรทอัญมณีในเมืองไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลักการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทจึงถัวเฉลี่ยกับราคานำเข้าไปได้ ขณะที่การขนส่งก็ไม่ได้กระทบมากนัก เพราะใช้ Supply Chain ที่ไม่ซับซ้อน เพราะมีการนำเข้าและผลิตในโรงงานและส่งออกทางอากาศ ซึ่งต่างจากอุตสาหกรรมแบบอื่นๆ
แต่สิ่งที่ทางผู้ประกอบการเป็นกังวลคือ ราคาทองคำทำให้ต้องขึ้นราคาสินค้าและจะไปกระทบความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน แม้ราคาทองคำทั่วโลกจะสูงขึ้นเหมือนกัน แต่จีนมีแต้มต่อที่ราคาค่าแรงถูกกว่ามาก จึงทำให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี ต้องปรับเปลี่ยนระบบการตลาดหันมาให้ความสำคัญกับตลาดระดับบนและระดับกลางมากขึ้น ซึ่งจากที่เคยมีตลาดระดับบน 10% ก็อาจจะขยายกลุ่มเป้าหมายระดับนี้ให้กินสัดส่วนมากขึ้น
"ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาขาย ทำให้ต้องเหนื่อยขึ้น เพราะต้องหันมาเล่นตลาดบนทำสินค้า ไฮเอนด์ หากจะไปเล่นราคาสู้จีนก็คงจะสู้ไม่ได้" สุทธิพงษ์กล่าว
ตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
อย่างไรก็ตาม มาตรการล่าสุดที่ทางรัฐบาลออกมาช่วยภาคประชาชนในภาวะเศรษฐกิจขาลงก็คือทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนำโดย สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รมว.พาณิชย์ ประชุมหารือร่วมกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่จำนวน 28 ราย เช่น บริษัทสหพัฒนพิบูล (มหาชน) จำกัด บริษัทยูนิลีเวอร์ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัทคาโอดินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทโอสถสภา จำกัด บริษัทดีทแฮล์ม จำกัด และอีกหลายบริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ทั้งหมดต่างยืนยันว่าจะยังไม่ปรับราคาจำหน่ายสินค้าตามต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องขึ้นไปในช่วงนี้แน่นอน เพราะขณะนี้ทุกบริษัทต่าง สามารถจำหน่ายขายสินค้าได้ต่อเนื่องยอดขายโดยรวมไม่ตกลงจากเดิม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|