ก้าวที่ 3 ดอยคำ จาก Local สู่ Global ถึง Local


ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

-“ดอยคำ” หนึ่งในสินค้าโครงการหลวง กำลังเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ทั้งลอนช์สินค้าใหม่ ทั้งปรับกระบวนกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น
-จับตาการเคลื่อนกายร่วม 3 ทศวรรษ จาก Niche สู่ Mass Consumer และ Global Market
-แม้วันนี้ส่วนแบ่งในตลาดไทย-เทศยังน้อย แต่เชื่อว่าในวันหน้า ด้วยจุดขายที่ชัดเจนจะทำให้ ดอยคำ และสินค้าของโครงการหลวงอีกหลายหลากแบรนด์ ผงาดขึ้นมาบนเวทีการแข่งขันได้สำเร็จ

เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ ของการถือกำเนิดแบรนด์ดอยคำ หนึ่งในสินค้าโครงการหลวง ที่ถือเป็น First Mover ผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อสุขภาพแบรนด์แรกๆในเมืองไทย ด้วยจุดขายที่เป็น Organic Food จากการที่เป็นผักและผลไม้จากโครงการหลวงที่เชื่อแน่ว่าจะต้องปลอดจากสารพิษ อีกทั้งยังมีห้องแล็ปเพื่อตรวจสอบสารพิษอีกด้วย

ด้วยจุดขายดังกล่าว เป็นเสมือนการจุดประกายให้ผู้ผลิตรายใหญ่จำนวนมาก หันเข้าสู่ตลาดพืช ผัก ผลไม้ ด้วยเช่นกัน

แม้จะมีจุดขายที่ดี และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่โหยหาสินค้า “ออร์แกนิก” กันมากทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ดังจะเห็นได้จากยอดจำหน่ายสินค้าประเภทนี้ในตลาดเดนมาร์กเพิ่มขึ้นกว่า 12% อีกทั้งหลายสินค้า เช่น ชีส นม ไข่ เครื่องสำอาง เนื้อสัตว์ ต่างพยายามใช้คำๆนี้มาเป็นจุดขายสำคัญ และแม้ว่าผู้บริโภคคนไทยจะให้ความนิยมในสินค้าประเภทดังกล่าวไม่น้อยไปกว่าหลายประเทศ แต่ด้วยความที่เป็นสินค้าเกษตรทำให้มีบางช่วงที่ขาดแคลนผลผลิตไปบ้าง อีกทั้งการไม่มีงบประมาณการตลาดมากมายหากเทียบกับบรรดาคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด ทำให้ชื่อของสินค้าไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง หรือแม้จะรู้จักแต่หลายครั้งไม่สามารถหาซื้อสินค้าได้

“ทำงานกับโมเดิร์นเทรดยาก และต้องทำโฆษณาด้วย แต่บังเอิญโมเดิร์นเทรดส่วนหนึ่งเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าอยู่แล้ว เพราะเป็นสินค้าในโครงการหลวง หรือโครงการในพระราชดำริ และเขาช่วยในพื้นที่ที่จะมีให้วาง แต่เราไม่ได้รับสิทธิ์อื่นๆพิเศษ เช่น ค่าแรกเข้า ค่าธรรมเนียม เราต้องเสียเหมือนกันกับทุกราย ทำให้ต้องจำกัดจำนวนเอสเคยู อยากเข้าทั้ง 7 ตัวก็ไม่ได้เพราะต้องเสียเงินเยอะ จึงต้องเลือกตัวที่มีศักยภาพที่สุด และเป็นที่นิยมมากที่สุด” อนุวัฒน์ จันทรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายการขายและการตลาด บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”

ทุกวันนี้สินค้าดอยคำมีจำหน่ายอย่างละนิดอย่างละหน่อยเพียง 2-3 เอสเคยูที่ โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ ท็อปส์ โตคิว เดอะมอลล์ ตั้งฮั่วเส็ง ยกเว้นสยามจัสโก้ ที่ให้พื้นที่ค่อนข้างมาก และศาลาโครงการหลวง 5 แห่ง ศาลาดอยคำ ปัจจุบันเปิดให้บริการบริเวณ ตลาด อตก. ดอนเมือง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดเชียงใหม่ 2 แห่ง และจังหวัดขอนแก่น

“ร้านโครงการหลวงทางมูลนิธิโครงการหลวงจะดูแล คนละส่วนกัน แต่เราเป็นเหมือนลูกของเขา เพราะแยกตัวออกมา นอกจากนี้ยังมีร้านของเอกชนอีก 8 แห่ง ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเอง แต่ใช้ตราสินค้าของเรา และอยู่ในการควบคุมของเรา ตอนนี้กำลังคุยเรื่องเอาต์เล็ตที่อยู่ในสวนสุขภาพ ตอนนี้เริ่มแล้ว”

นอกจากขยายช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ขายให้ได้มากที่สุดแล้ว ทางดอยคำยังพยายามเพิ่มช่องทางขายอื่นๆ โดยเฉพาะการขายตรงทั้งผ่านหน่วยรถที่ปัจจุบันมีอยู่ 2 คัน และพนักงานขายตรง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ขายผ่านนักธุรกิจอิสระแบบเอ็มแอลเอ็มของแอมเวย์ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แทรกเข้าไปยังหมู่บ้าน และอาคารสำนักงาน เพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

“คอนเซปต์ที่เราคิดในตอนนี้คือ อยากเคาะประตูไปถึงผู้บริโภคโดยตรง ในลักษณะไดเร็กเซล เพื่อบอกว่าเรามีสินค้าที่ดีไปให้เขา และอีกสิ่งหนึ่งคือเราจะเอดดูเคทในเรื่องโภชนาการด้านอาหารน้ำผลไม้ด้วย”

นี่คือหนึ่งในหลายภาพของดอยคำในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดใหม่ เป็นก้าวล่าสุดที่กำลังเริ่มต้นขึ้นในการผลักดันแบรนด์ดอยคำให้เป็นที่รู้จัก และมียอดขายเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่ก้าวกระโดดเท่านั้น แต่หมายถึงชนิดวิ่งค้ำถ่อเลยทีเดียว

จากเริ่มสู่ก้าวแรก

จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชาวเขาเผ่าต่างๆ ปัญหาที่พระองค์ท่านมันทรงพบอยู่บ่อยๆคือ การทำไร่เลื่อนลอย ทั้งยังทำลายป่าไม้และต้นนำลำธาร ซึ่งพระองค์ท่านพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งโครงการหลวงขึ้น เป็นโครงการส่วนพระองค์เมื่อปี 2512 โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการหลวง

นิตยสารคู่แข่ง ฉบับเดือนสิงหาคม 2538 ระบุว่า ในระยะแรกได้ศึกษาวิจัยว่ามีผลไม้อะไรที่สามารถให้ผลผลิตได้สูง และไม่ซ้ำซ้อนกับสินค้าพื้นราบ ซึ่งได้แก่ผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล พีช แพร์ บ๊วย ฯลฯ แต่เนื่องจากผลไม้เหล่านี้กว่าจะได้ผลผลิตจะต้องใช้ระยะเวลานาน จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับการปลูกผัก และประสบความสำเร็จมาก จนในระยะหลังได้ศึกษาเรื่องของไม้ดอกด้วย

เนื่องจากในระยะแรกผลผลิตที่ได้มีจำนวนน้อย ดังนั้นปัญหาการทำตลาดสินค้าจึงไม่มี แต่ในระยะหลังเมื่อผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ก็ได้ให้เอเยนต์ 2-3 รายเข้ามาทำตลาดให้ แต่เนื่องจากผู้ทำตลาดขาดความรู้ความชำนาญ ทำให้สินค้าสูญเสียมากจนไม่สามารถอยู่ได้ จึงต้องเลิกไป

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องหันกลับมาทำตลาดเองเมื่อประมาณปี 2521 ในแบรนด์ดอยคำ ซึ่งหม่อมเจ้าภีศเดช เป็นผู้ตั้งชื่อให้ แปลว่า ดอยที่ทำให้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมา ดำเนินงานอยู่ในรูปของการฝากขาย โดยให้เกษตรกรนำสินค้าที่ได้มาฝากขาย แต่หักค่าหัวคิวประมาณ 20% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าภาชนะบรรจุ การตกแต่ง ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ภายใต้นโยบายที่ว่า ต้องการให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น เพราะพระองค์ท่านมองการณ์ไกลว่า โครงการหลวงจะมีส่วนช่วยให้ชาวเขากินดีอยู่ดีมากขึ้น

หลังจากโครงการหลวงทำตลาดเอง ก็ได้พัฒนาสินค้าและคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีห้องเย็น และรถห้องเย็น เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าให้คงอยู่ สำหรับการวางตลาด ในส่วนที่โครงการหลวงเป็นผู้ทำตลาดเองซึ่งมีอยู่ราว 27% จะวางตามซูเปอร์มาร์เก็ต และศาลาโครงการหลวง อีก 53% จำหน่ายให้กับลูกค้ารายย่อย ที่เหลืออีก 20% จำหน่ายให้ผู้ค้าส่งที่มีอยู่ประมาณ 36 ราย กระจายสินค้าให้

แม้ช่วงเวลานั้นจะทำตลาดแบบไม่เต็มสูบ และมีกลุ่มผู้บริโภคไม่กว้างขวางนัก กระนั้นโครงการหลวงสามารถทำยอดขายผ่านมือถึง 65 ล้านบาท เมื่อรวมกับยอดขายดอกไม้แห้งอีกประมาณ 50-60 ล้านบาท ทำให้รายได้ของโครงการหลวงมีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ยอดขายสูงสุดมาจากผลไม้ที่ส่วนใหญ่จะเน้นส่งโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 50% ที่เหลือเป็นผัก 30% และดอกไม้ 20% โดยคิดจากยอดการผลิตที่มูลค่าสูงถึง 210 ล้านบาท

ก้าวที่สองจากนิชสู่แมสสู่โกลบอล

หากพิจารณาในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ในระยะแรกเป็นเพียงการตั้งโรงงานอาหารกระป๋องขึ้นมาเพื่อนำผลิตผลที่เหลือจากการขายมาเข้าโรงงานเพื่อผลิตสินค้าแปรรูป โดยไม่ได้เตรียมว่าโรงงานจะเปิดทำการผลิตกี่วัน เพราะในระยะแรกมีเพียงเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและเจ้าหน้าที่เพียง 4-5 คน ที่เหลือเป็นลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น แต่ระยะหลังเมื่อมีพนักงานทำงานที่แน่นอน โรงงานต้องทำงานทุกวันเพื่อผลิตสินค้าแปรรูปมากขึ้น และหลากหลายมากขึ้นถึง 40-50 ชนิด

อย่างไรก็ตาม หากจะทำธุรกิจในรูปโครงการหลวงคงจะยุ่งยากมาก เนื่องจากการติดต่อทางธุรกิจจะต้องใช้ธนาคาร

ดังนั้น พระเจ้าอยู่หัวของเราจึงทรงมีพระบรมราโชบายออกมาว่าให้จัดตั้งเป็นนิติบุคคลโดยอิงนโยบายเดิม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้จัดตั้งบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยได้โอนย้ายจากโครงการหลวงมาเป็นบริษัทในเครือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่มี จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการ มีโรงงานหลวง 4 แห่ง ได้แก่ อำเภอฝาง เชียงใหม่ อำเภอแม่จัน เชียงราย อำเภอเต่างอย สกลนคร และอำเภอละหานทราย บุรีรัมย์

การโอนย้ายดังกล่าวเป็นการย้ายมาตั้งเป็นบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร พร้อมเริ่มผลิตอาหารกระป๋องประเภทผลไม้กระป๋อง ผักประป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง ผลไม้อบแห้ง โดยตลาดใหญ่ 65% เป็นตลาดส่งออก จะส่งไปที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรป ภายใต้แบรนด์ LIBY’S และ ROLAND ซึ่งเป็นแบรนด์ของผู้ว่าจ้างผลิต ส่วนที่เหลือส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศได้แก่ เนสท์เล่ ไทยคิวพี มะลิ เป็นต้น

เหตุผลของการรุกเข้าสู่ตลาดแมสของดอยคำครั้งนั้น นอกเหนือจากการนำยอดขายที่ได้มาใช้ในการพัฒนาชนบทแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดคอนซูเมอร์หรือตลาดแมสเป็นตลาดใหญ่ที่ในอนาคตนับวันจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับศักยภาพของดอยคำในวันนั้นค่อนข้างพร้อมที่จะทำตลาด เพราะมิใช่เป็นเพียงโรงงานที่ผลิตและปรุงแต่งวัตถุดิบเท่านั้น แต่สามารถผลิตออกมาเป็นสินค้าต่างๆได้ทันที ประกอบกับดอยคำมีโรงงานผลิตถึง 4 แห่งก็น่าจะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการผลิตในจำนวนมาก

แต่เอาเข้าจริงจนกระทั่งวันนั้นถึงวันนี้ แบรนด์ดอยคำก็ยังไม่สามารถดาวได้ดังที่ใจหวัง ทั้งที่คุณภาพของสินค้าดี และสดเพราะอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ทำให้แบรนด์ดอยคำได้เปรียบในเรื่องสีสันและรสชาติจากธรรมชาติ อีกทั้งการมีสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ย่อมจะเป็นตัวการันตีในคุณภาพได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ว่าโรงงานของดอยคำจะมีกำลังการผลิตมากมายมหาศาลเพียงใด ทว่า การผลิตสินค้าหลายหลากชนิด ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าแต่ละชนิดในลักษณะแมสได้ โอกาสที่ต้นทุนการผลิตของสินค้าดอยคำในแต่ละประเภทจะสูงกว่าคู่แข่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาดอยคำไม่ได้ทำตลาดเอง รวมทั้งไม่มีงบโปรโมชั่น และกิจกรรมเพื่อสร้างแบรนด์อแวร์เนสให้กับสินค้า สิ่งที่พอจะทำได้คือตัดงบการตลาดออกมาจากยอดจำหน่ายซึ่งคิดดูแล้วเป็นจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับแบรนด์อื่นๆที่อยู่ในตลาดที่ใช้งบแต่ละปีจำนวนนับสิบ นับร้อยล้านบาทต่อการลอนช์สินค้าแต่ละครั้ง

และที่สำคัญแม้ว่าสินค้าจะดีเพียงใด คนรู้จักและพูดกันปากต่อปากว่าดีประการใด แต่หากผู้บริโภคไม่ทราบว่าจะซื้อสินค้านั้นได้ที่ไหนแล้วไซร้ก็ยากที่สินค้านั้นจะแจ้งเกิดได้ …ก้าวต่อไปของดอยคำจึงต้องทะลายปัญหานี้ให้จงได้

ก้าวที่ 3 ปรับทุกกระบวนเข้าถึงตลาดให้มากกว่าเดิม

ทุกวันนี้ยอดขายของดอยคำอยู่ที่ 250 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นการส่งออก 20% คาดว่าในปีนี้จะขึ้นมาอยู่ที่ 280 ล้านบาท กว่าจะขยับตัวเลขขึ้นมาอยู่ในระดับนี้ได้ก็ต้องปรับตัวเองไปมากพอสมควร ด้วยในช่วงก่อนหน้านี้เพียง 2-3 ปีดอยคำเพิ่งจะมียอดขายอยู่ที่ 180 ล้านบาท และ 220 ล้านบาทเท่านั้น

ท่ามกลางสินค้าของดอยคำที่มีอยู่มากมายหลายสิบชนิด ไม่ว่าจะเป็น แยม น้ำผลไม้ 40% น้ำผลไม้ 100% ผลไม้อบแห้ง น้ำผึ้ง นมถั่วเหลือง และอื่นๆ น้ำผลไม้ถือว่าเป็นพระเอกที่สร้างรายได้ให้มากที่สุดเกือบ 40% แม้ในตลาดนี้ดอยคำจะมีส่วนแบ่งในตลาดเพียงเล็กน้อย จากการสำรวจ Brand Admire ของนิตยสารบางสำนักระบุว่า ดอยคำไล่ตามผู้นำตลาดชนิดไม่เห็นฝุ่น คืออยู่ที่ 10 ทว่า ผู้บริหารเชื่อว่าไม่น่าจะอยู่ในตำแหน่งบ๊วยถึงขนาดนั้น ลึกๆแล้วไม่น่าจะหนีตำแหน่งที่ 7-8 แน่นอน

ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริหารดอยคำได้ปรับกระบวนยุทธ์ไปมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ประการแรก การปรับระบบการจัดจำหน่าย จากที่เคยให้อินช์เคป คอนซูเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง เป็นผู้จัดจำหน่ายในยุคแรกๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นล็อกซ์เล่ย์ ก่อนจะปรับมาจำหน่ายเองในท้ายที่สุด ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถกระจายสินค้าได้เต็มที่กว่า และทำให้รู้ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งมากกว่า

ประการที่สอง การปรับแพกเกจจิ้ง จากเดิมน้ำผลไม้อยู่ในรูปกระป๋อง แต่หลังจากทำตลาดเองได้เปลี่ยนมาเป็นกล่องแบบยูเอชที เพื่อให้สามารถควบคุมราคาผลิตได้ อีกทั้งไม่ต้องประสบปัญหาจากกระป๋องที่มักบุบสลาย พร้อมกับตอบสนองผู้บริโภคที่มั่นใจในบรรจุภัณฑ์แบบยูเอชทีมากกว่า

“ปลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยปรับเปลี่ยนแพกเกจจิ้งใหม่ เพื่อให้ทันสมัย และดูเป็นวัยรุ่น เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากลุ่มลูกค้าวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา มีความตื่นตัวในกระแสสุขภาพมากขึ้น”

ประการที่สาม เพิ่ม Value Added ด้วยการใส่วิตามินและแคลเซียมเข้าไปในน้ำผลไม้บางรสชาติ เช่น ฝรั่ง ลิ้นจี่ เป็นต้น ประการที่สี่ เริ่มมีโฆษณาทางนิตยสาร Food News ของ อาจารย์ยิ่งศักดิ์ และเป็นสปอนเซอร์ในรายการอาหาร เพื่อให้ความรู้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับการนำน้ำผลไม้สูตรเข้มข้น หรือผลไม้กระป๋องไปทำอาหารและขนมสูตรต่างๆ ยังผลให้ร้านเบเกอรี่รู้จักแบรนด์ดอยคำมากขึ้น และประการสุดท้าย ขยายช่องทางการจำหน่ายโดยเฉพาะการตั้งทีมขายตรงขึ้น เพื่อกระจายไปขายตามหมู่บ้าน อาคารสำนักงาน และแหล่งชุมชนทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“การเพิ่มช่องทางใหม่ นอกจากจะช่วยให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการรองรับกับการแข่งขันที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่ในตลาด และผู้ประกอบการใหม่ๆที่เข้ามาในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะรายใหญ่จากต่างประเทศ ที่มีความได้เปรียบในด้านแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และเงินทุน รวมถึงความได้เปรียบเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรจากการที่ภาครัฐเปิดเสรีทางการค้า หรือเอฟทีเอ ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีน้ำเข้าหรือเสียในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ” อนุวัฒน์ กล่าว

จริงๆแล้วสินค้าตามโครงการพระราชดำริมีมากมายกว่า 2,000 โครงการ และมีหลายสินค้าที่โดดเด่น คุ้นหู อย่างเช่น นมจิตรลดา นมเม็ดรสชาติอร่อยที่เต็มไปด้วยคุณค่า, เขาค้อที่ผลิตน้ำผลไม้ และอื่นๆอีกหลากหลายที่ไม่สามารถจาระไนได้หมดในพื้นที่เพียงเท่านี้ เพียงแต่ดอยคำเป็นสินค้าที่ดูเหมือนหลายคนรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี และสามารถต่อสู้มาได้ถึงกว่า 3 ทศวรรษท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่สูงยิ่ง

ดอยคำได้ขยับจากสินค้าแบรนด์เล็กๆที่ไม่มีใครรู้จัก มาสู่แบรนด์ที่ผู้คนให้การยอมรับกว้างมากขึ้น-มากขึ้นในระดับแมส คอนซูเมอร์ ทั้งใน-นอกประเทศ จากคุณภาพและความสดของสินค้า จนได้รับการคัดเลือกจาก Thai Expo Award 1988 เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศมาตรฐาน “สินค้าไทยส่งออก” ในสาขาพืชผัก ผลไม้สด และผลไม้กระป๋องส่งออกดีเด่นประจำปี 2531

มาวันนี้ดอยคำยังให้ความสำคัญกับการส่งออกอยู่ เพียงแต่จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับการรุกตลาดในประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีการแข่งขันกันหนัก โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ใช้กลยุทธ์ราคาเข้าตีตลาด ดังนั้นดอยคำจึงต้องเน้นรักษาลูกค้าในประเทศไว้ก่อน...ก่อนจะไปรุกตลาดต่างประเทศอีกครั้งในเวลาไม่นานนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.