|
กลยุทธ์เล่นหุ้นรวย! 3 พี่น้อง "ชินวัตร"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
* ชื่อเสียง 3พี่น้องชินวัตร "ทักษิณ-เจ๊แดง-พายัพ" ต่างก็โดดเด่นและโด่งดังในตลาดหุ้นไม่แพ้กัน
* ทั้งในเรื่องของการซื้อ..ซื้อ..กิจการ! ทั้งในด้านการปั่นหุ้น ...และการทำราคาหุ้น รวมไปถึงการรักษาระดับราคาหุ้นในกลุ่มกิจการของตัวเอง ได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ
* แต่ที่แน่ๆ ทุกคนล้วนแต่รวย...รวย...รวย และก็เฮง..เฮง..เฮง! จากตลาดหุ้น
* เขามีกลยุทธ์อย่างไรในการเล่นหุ้น...จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและติดตาม...
พี่น้องในตระกูลชินวัตรคลุกคลีกับวงการตลาดหุ้นมาช้านาน แต่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นอย่างจริงจังมีเพียง 3 คน ได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และพายัพ ชินวัตร และรูปแบบการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละคนมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
"ทักษิณ เล่นหุ้นแบบใช้ฐานอำนาจรัฐสร้างความร่ำรวยเฉพาะในหุ้นกลุ่มตัวเอง และที่บริษัทเลือกไปลงทุน แต่จะไม่เล่นเหมือนพี่ ๆ น้องๆ แต่ เจ๊แดง ชอบเทคโอเวอร์บริษัทฟื้นฟูกิจการ ส่วนพายัพ ชัดเจน เล่นหุ้นแบบสร้างราคาหรือดันราคาได้เยี่ยมยุทธ์จนบรรดานักการเมืองและแมงเม่าแห่ตามกัน " แหล่งข่าว จากวงการหุ้น ระบุ
แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ก็สามารถสร้างส่วนต่างมหาศาลให้กับทั้ง 3 คนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ บางรูปแบบอาจวัดได้เป็นตัวเลขชัดเจน บางแบบไม่เห็นตัวเลขที่ชัดเจน
เริ่มจากพี่ใหญ่ของตระกูลชินวัตรอย่างทักษิณ นำบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2533 จากนั้นได้นำบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5 พฤศจิกายน 2534และบริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด เข้าตลาดหุ้นในวันที่ 18 มกราคม 2537 นี่คือธุรกิจหลักและหลังจากนั้นก็มีธุรกิจอื่นตามมาอีก
"ทักษิณ" รวยกับโครงการรัฐ
ด้วยความสำเร็จทางภาคธุรกิจที่สามารถขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ได้ผลักดันให้ทักษิณ ชินวัตร โดดลงมาเล่นการเมืองในนามพรรคพลังธรรมระยะหนึ่ง เมื่อพรรคพลังธรรมเสื่อมลงทักษิณก็ตั้งพรรคการเมืองเองในนามพรรคไทยรักไทย ออกนโยบายโดนใจประชาชนจนสามารถยึดที่นั่งในสภาได้อย่างเด็ดขาดในรัฐสภาเมื่อปี 2544
ระหว่างนั้นได้มอบภาระในการบริหารงานให้กับผู้บริหารมืออาชีพที่ไว้ใจได้อย่างบุญคลี ปลั่งศิริ ทำหน้าที่แทน ขณะที่หุ้นที่ถือไว้ได้โอนให้กับลูกชาย ภรรยาและญาติภรรยา
เพียงแค่นี้ยังไม่เข้าถึงสไตล์การหาประโยชน์จากการลงทุนในตลาดหุ้นของทักษิณ ชินวัตร แต่ทุกอย่างจะเริ่มหลังจากที่ทักษิณก้าวผงาดขึ้นเป็นผู้นำประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี
ใครจะรู้ว่านโยบายการแก้ปัญหาของประเทศไทย ที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับธุรกิจของเครือชินวัตร นโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าส่งผลให้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเขาเติบโตอย่างมาก ราคาหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แถมยังมีการแก้สัญญากับองค์การโทรศัพท์ในส่วนของการจ่ายเงินชดเชยของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบพรีเพดจาก 25% เหลือ 20% รวมถึงการลดภาษีนำเข้าโทรศัพท์มือถือจาก 10% เหลือ 0%
จะเห็นได้ว่าในแต่ธุรกิจของตระกูลชินวัตรต่างมีการปรับตัว โดยได้นโยบายของรัฐบาลเป็นตัวเอื้อประโยชน์ตลาดเวลา ไม่นับรวมส่วนที่ ADVANC ต้องจ่ายให้กับรัฐที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น
ในส่วนของธุรกิจดาวเทียมอย่างชินแซทเทลไลท์หรือ SATTEL ได้ยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ให้บริการได้ครอบคลุมในหลายทวีป สิทธิประโยชน์ที่ได้มีทั้งจากสิทธิทางภาษีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI เป็นผู้มอบให้ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของไทยก็จัดเงินกู้ให้กับลูกค้าของ SATTEL อย่างประเทศพม่า ที่เงินกู้ก้อนดังกล่าวราว 4,000 ล้านบาทแทบไม่มีโอกาสได้คืน
ลูกค้าส่วนใหญ่ของไอพีสตาร์ตามประเทศต่าง ๆ มักเกิดขึ้นหลังจากการเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ ของนายกทักษิณ ชินวัตรที่ได้พบกับผู้นำของประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีนและอินเดีย ทำให้ SATTEL โตแบบก้าวกระโดดจาก 7,306.25 ล้านบาทในปี 2545 เป็น 14,656.25 ล้านบาทในปี 2546 และโตขึ้นต่อเนื่องปีละประมาณ 1 พันล้านบาท
ภายหลังจากการโดดเข้ามาแก้ปัญหาในสถานีโทรทัศน์ไอทีวี หลังจากค่ายไทยพาณิชย์สู้กับค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายปีละ 1 พันล้านบาทไม่ไหว แถมไม่สามารถผลิตรายการที่สร้างรายได้ให้กับสถานีได้มากนักเนื่องจากติดเงื่อนไขที่ต้องเป็นสถานีข่าวสาร ต้องนำเสนอข่าวสาร 70% อีก 30% จึงจะเป็นรายการบันเทิง
อำนาจรัฐที่ทักษิณ ชินวัตร ทำได้ ส่งผลให้มีการลดค่าสัมปทานจาก 1 พันล้านบาทเหลือเพียง 230 ล้านบาท แถมยังเสกให้สถานีข่าวสารหายไปสามารถเพิ่มรายการบันเทิงจาก 30% ขยับขึ้นเป็น 50% ส่งผลให้ไอทีวีกำไรทันทีหลังจากที่กลุ่มชิน คอร์ป โดดเข้าร่วมทุน
ในส่วนของธุรกิจอื่นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ชิน คอร์ป บริษัทที่มีรูปแบบการลงทุนแบบโฮลดิ้งส์ คอมปานี ได้เข้าไปร่วมกับแอร์เอเชียของประเทศมาเลเชีย จัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ(Low Cost Air Line) ในนามไทยแอร์เอเชีย ทั้ง ๆ ที่บริษัทการบินไทย ก็เตรียมการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำเช่นกัน และสุดท้ายนกแอร์ก็คลอดตามหลังไทยแอร์เอเชีย รวมถึงข้อครหาเรื่องเส้นทางการบินที่ทำกำไรบางแห่งที่การบินไทยยกเลิกบิน
ถัดมาเป็นการเปิดตัวธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลในนามแคปปิตอลโอเค ที่ร่วมกับธนาคารดีบีเอสจากสิงคโปร์ ธนาคารแห่งนี้ก็มีรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ได้ "2เด้ง" บริหารเก่ง-กระเป๋าตุง
ภายในระยะเวลา 6 ปีของทักษิณ ชินวัตร ที่เข้ามาบริหารประเทศ ธุรกิจในตระกูลของเขาก็สามารถขจัดอุปสรรค ขวางหนามทางธุรกิจได้อย่างราบเรียบ บนอำนาจรัฐที่ทักษิณสามารถเสกขึ้นมาได้ ส่งผลให้มูลค่าหุ้น 4 ตัวหลักอย่าง SHIN ADVANC SETTEL และ ITV ในช่วงต้นปี 2549 ก่อนขายให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ สูงถึง 4.9 แสนล้านบาท
จากนั้นทักษะการวางตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญตามองค์กรต่าง ๆ ก็เกิดประสิทธิภาพ อย่างวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ก็เห็นดีเห็นงามที่ใช้เม็ดเงินของ กบข. เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ และหนึ่งในหุ้นที่เข้ามาลงทุนก็คือบริษัทในกลุ่มชินวัตร จากนั้นสำนักงานประกันสังคมก็เดินรอยตามเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นโดยถือหุ้นในกลุ่มชินวัตรเช่นกัน
ภาพที่เกิดขึ้นถือเป็นแรงหนุนให้หุ้นในกลุ่มชินวัตร กลายเป็นหุ้นที่ปราศจากความเสี่ยง เนื่องจากการลงทุนของ กบข.และ สำนักงานประกันสังคม ส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในเงินฝากหรือพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำ เมื่อสามารถข้ามเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้ย่อมต้องเลือกหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนดี เท่ากับเป็นการการันตีหุ้นในกลุ่มชินได้เป็นอย่างดี แถมสร้างภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศไปในตัว ราคาหุ้นจึงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และเมื่อ 23 มกราคม 2549 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในชิน คอร์ปก็ตัดสินใจขายหุ้น จำนวน 1,487 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.595% ที่ราคาหุ้นละ 49.25 บาท รับเงินไปเงิน 7.32 หมื่นล้านบาท ให้กับ บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ถือหุ้นใหญ่ เพื่อต้องการเลี่ยงข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศกว่ากฎหมายไทยกำหนด จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการไม่เสียภาษีของผู้ถือหุ้นใหญ่ในชิน คอร์ป ซึ่งเชื่อมโยงไปยังทักษิณ ชินวัตร อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกฝากหนึ่งนอกเหนือจากการสร้างและขยายอาณาจักรของชิน คอร์ปให้ใหญ่ขึ้นแล้ว ยังมีการลงทุนในตลาดหุ้นของพี่ใหญ่ของตระกูลชินวัตรเช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัด แต่เป็นที่รู้กันในวงการเซียนหุ้นว่าทักษิณ ชินวัตร มีหุ้นในกลุ่มพลังงานไม่น้อย คาดว่าจะใช้ตัวแทนถือหุ้น(Nominee) ต่างประเทศเข้าถือหุ้นแทน
เห็นได้ในปีแรกที่เข้ามาเมื่อนโยบายประชานิยมได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี การทำอะไรก็ง่าย ไร้การต่อต้าน ในปลายปี 2544 มีการนำเอาการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) จากราคาเสนอขายที่ 35 บาทในครั้งนั้นวันนี้ยืนเหนือ 260 บาท
เชื่อกันว่าท่านนายกน่าจะมีหุ้น ปตท.ไว้ไม่น้อย เพราะช่วงนั้นยังมีการจัดสรรหุ้นให้กับผู้มีอุปการคุณและนักเล่นหุ้นรายใหญ่รวมถึงนักการเมืองอยู่ แถมใช้สูตรดันราคาด้วยการให้กองทุนรวมวายุภักษ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและสำนักงานประกันสังคมเข้ามาถือหุ้น เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มชิน คอร์ป
หุ้นพลังงานถือว่าเป็นหุ้นที่ยากจะมีอะไรมาทดแทนได้ เนื่องจากทรัพยากรประเภทนี้มีจำกัดและทุกคนต้องใช้ แถมประเทศไทยยังต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ดังนั้นหุ้นกลุ่มนี้นักการเมืองและเซียนหุ้นมือหนักหลายคนนิยมถือครอง
"TPI-กฟผ." ขุมทรัพย์แห่งใหม่
นอกเหนือจากปตท.และปตท.สพ.แล้ว หุ้นที่อยู่ในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ยังเป็นที่หมายตาของบุคคลในรัฐบาลไม่น้อย โดยเฉพาะเงินที่เพิ่งได้รับจากการขายชิน คอร์ป 7.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก TPI มีกระบวนการผลิตครบวงจร ทั้งโรงกลั่น ปั๊มน้ำมัน โรงงานทำปิโตรเคมี แม้ TPI จะต่อสู้มาตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อมาถึงรัฐบาลไทยรักไทยช่วงแรกก็ดูเหมือนรัฐจะเห็นด้วยกับการให้ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เข้ามาแก้ปัญหา
แต่สุดท้ายก็ใช้อำนาจรัฐที่มีดึงเอากระทรวงการคลังและพันธมิตรอย่างปตท.เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมปิดทางกลับมาของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ทุกประตู และเชื่อกันว่ามี NOMINEE ของทักษิณถือหุ้นใน TPI เช่นเดียวกัน
อีกรายการหนึ่งที่ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลไทยรักไทยเป็นอย่างมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จนั่นคือการนำเอาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้จงได้ แต่โชคร้ายที่ในช่วงกลางปี 2548 เป็นต้นมาขบวนการคนรู้ทักทักษิณ รวมตัวกันติดและคัดค้านอย่างต่อเนื่อง จนศาลปกครองมีคำพิพากษาว่ากระบวนการนำเอา กฟผ.เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แผนการลงทุนนี้จึงต้องล้มไป
หากแผนการลงทุนของทักษิณ ชินวัตรไม่มีอะไรผิดพลาด เขาจะใช้เงิน 7.3 หมื่นล้านบาทจากการขายชิน คอร์ป แล้วนำมาลงทุนในธุรกิจพลังงานต่อ หากเขายังครองอำนาจต่อจนครบ 8 ปี คาดว่าเขาน่าจะสร้างเม็ดเงินจากการลงทุนในตลาดหุ้นได้อีกราว 5-6 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
"เจ๊แดง" ถูกครหาใช้ตลาดหุ้น "ฟอกเงิน"
เราได้เห็นวิธีการลงทุนในตลาดหุ้นของทักษิณ ชินวัตรแล้วว่า ต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไป เมื่อมีช่องทางที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทของตนได้ก็ดำเนินการบนพื้นฐานของกฎหมายและอำนาจรัฐที่มีในมือ
ขณะที่น้องสาวอย่างเยาวภา ชินวัตร หรือเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่แต่งงานกับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน น้องสาวของนายกรัฐมนตรีมีรูปแบบการลงทุนที่แต่งต่างจากพี่ชาย เข้าลักษณะเข้าเร็ว ออกเร็ว ชื่อเสียงไม่เสีย
แม้จะนำพาบริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK ธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังได้เห็นการเข้ามาลงทุนในกิจการของบริษัทอื่น เช่น สิงหาคมปี 2547 ด้วยการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัททราฟฟิกคอร์นเนอร์โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผ่านทางลูกชายและลูกสาว
ทั้ง ๆ ที่บริษัทดังกล่าวเพิ่มยกระดับจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอ ขึ้นมาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทนี้ถูกจับตาจากทางการที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างหวือหวาและในวันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นผู้บริหารของบริษัทก็เทขายหุ้นนับล้านหุ้นออกมา หลังจากนั้นได้ขายหุ้นออกให้กลุ่มวิไลลักษณ์เข้ามาถือหุ้นแทน และสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือข่ายของทราฟฟิกคอร์นเนอร์ ก็ทำหน้าที่พิทักษ์พี่ชายของเยาวภามาโดยตลอดในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร ถูกโจมตีของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย
จากนั้นได้เข้าซื้อกิจการบริษัท เคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด(มหาชน) ในเดือนพฤษภาคม 2547 และเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจหลักเป็นการรับจ้างประกอบรถโกคาร์ท และจักรยานและการขายหรือให้เช่าพื้นที่ในเขตปลอดอากร
รวมทั้งมีข่าวว่าได้เข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) แต่ใช้ตัวแทนเข้าถือหุ้นแทน และยังมีธุรกิจบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานจากภาครัฐอีกหลายรายการ
การลงทุนของเยาวภาในตลาดหุ้นอาจมีเพียงไม่กี่บริษัท แต่ลักษณะของการเข้าลงทุนมักจะเป็นการเข้าไปร่วมถือหุ้นในกิจการที่พื้นฐานไม่ค่อนดีนัก แต่ราคาหุ้นมักจะหวือหวา ส่วนจะได้กำไรจากการขายหุ้นไปที่ราคาใด เยาวภาเท่านั้นที่จะตอบเรื่องนี้ได้
ขณะเดียวกันการเข้าซื้อกิจการในตลาดหุ้นของ "เจ๊แดง" นั้นถูกตั้งข้อสังเกตุถึงที่มาของเงินและความร่ำรวยผิดปกติ เพราะช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เธอสามารถซื้อกิจการได้มาก และนี่คือที่มาของข่าวลือว่า มีการ "ฟอกเงิน"เกิดขึ้น? และเธอก็ได้พยายามชี้แจงข้อครหาเป็นระยะ ๆ
"พายัพ ชินวัตร" เซียนปั่นหุ้น?
มาถึงน้องชายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการกล่าวขานจากเซียนหุ้นมากที่สุด พายัพ ชินวัตร มีรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างไปจากพี่น้องทั้งหมด เขานิยมชมชอบหุ้นขนาดเล็ก เน้นการเก็งกำไรเป็นหลัก มีหุ้นนับสิบบริษัทที่เขามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้หุ้นตัวนั้นจะถูกจับตาจากหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม
ลักษณะการเล่นหุ้นของพายัพ ชินวัตร นับได้ว่ามีการเล่นกันเป็นเครือข่ายโดยมีเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วปรอ.รุ่น 4414 เป็นเครือข่าย รวมทั้งยังมีเซียนหุ้นมือดีอย่าง Mr. Tony เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมงาน
การเก็บหุ้นของพายัพมีทั้งเก็บครั้งละมาก ๆ และค่อย ๆ เก็บจนครองส่วนแบ่ง 4-5% ก็มี แน่นอนว่าเมื่อหุ้นตัวใดมีชื่อว่าพายัพเข้าไปไล่เก็บหุ้นตัวนั้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้ว่าบางครั้งจะถูกมาตรการสกัดกั้นจากทางการด้วยการห้ามโบรกเกอร์ให้สินเชื่อหุ้นตัวนั้น และให้ซื้อขายด้วยเงินสดเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานแรงซื้อของขาใหญ่ได้
หลักการการลงทุนในลักษณะนี้จะมีการเก็บหุ้นไว้ในราคาต่ำก่อนที่จะมีการออกข่าวหรือเผยถึงโครงการใหม่ในอนาคต พร้อมกับมีการโยกและผลัดกันซื้อเพื่อดันราคาหุ้นให้สูงขึ้น เพื่อดึงให้รายย่อยหรือผู้ที่ต้องการเก็งกำไรเข้ามารับช่วงแทน
สำหรับหุ้นที่มีชื่อของพายัพเข้าไปเกี่ยวข้องประกอบด้วย บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เค-เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย รีซอร์เซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท หลักทรัพย์แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) บริษัท บีเอ็นที เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน)
หุ้นส่วนใหญ่ที่พายัพ ชินวัตร เข้าลงทุนมักเป็นที่มีพื้นฐานไม่ดีนัก หรืออยู่ในกลุ่มฟื้นฟูกิจการ หลังจากนั้นก็จะมีโครงการใหม่เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับบริษัท ทำให้ราคาหุ้นจะพุ่งขึ้นบางตัวจากราคาที่ 90 สตางค์ขึ้นไปถึง 7 บาท หรือจาก 8 บาทเคยขึ้นไปเกือบถึง 40 บาทก็มี กำไรเท่าไหร่ลองไปคิดดู เพราะการถือของพายัพจะต้องเป็นล้านหุ้นขึ้นไป
เป็นที่น่าสังเกตุว่าจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทเหล่านี้เดิมเคยพบชื่อของพายัพ ชินวัตร ถือไว้ แต่หลังจากมีการประชุมผู้ถือหุ้นและมีการปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหม่ในช่วงเดือนเมษายน 2549 กลับไม่พบชื่อของพายัพ ชินวัตร ติดอันดับผู้ถือหุ้นรายใหญ่เหมือนก่อน
การลงทุนในลักษณะนี้มีทั้งการไล่เก็บสะสมเพื่อให้มีสัดส่วนมากขึ้น จากนั้นอาจมีการต่อรองกับเจ้าของบริษัทถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงว่าต้องการอะไร หากสามารถเจรจากันได้ผู้ทีไล่เก็บหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า
3 รูปแบบ 3 สไตล์การลงทุนของพี่น้องตระกูลชินวัตร แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พี่ใหญ่ใช้เวลานาน แต่ได้เค้กก้อนใหญ่ไป น้องสาวลงทุนซื้อกิจการที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูเพื่อมาดำเนินธุรกิจใหม่ ส่วนพายัพเน้นเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร
*************
ส.ส.แห่เล่นหุ้นหาเงินเลือกตั้งได้อินไซด์ "พายัพ ชินวัตร" -หัวหน้าก๊วน!
เผยกลยุทธ์แจกเงินเลือกตั้งยุคใหม่ บรรดาบิ๊กพรรคการเมืองและหัวหน้าก๊วนไม่ต้องใช้เงินสด ๆ ในกระเป๋าทุ่มให้กับส.ส.แบบ 100% แต่ใช้กลวิธีหารายได้จากตลาดหุ้นแทน โดยหัวหน้าก๊วนจะส่ง "โผ"ให้ซื้อตาม ที่สำคัญ ส.ส.มั่นใจเดินตาม "พายัพ ชินวัตร" อินไซด์ตัวจริง มีแต่ได้ คาดเลือกตั้งใหม่ตลาดหุ้นสะพัดแน่ ด้านว่าที่ ผู้สมัคร ส.ส.อิ่มเอมตาม ๆ กัน
ปรากฏการณ์ ทักษิณ ชินวัตร ที่ส่งผลต่อการเมืองไทยนั้น ใช่ว่าจะเห็นเด่นชัดแค่ในเรื่องรูปแบบการบริหารองค์กร ที่ได้นำระบบการบริหารแบบ CEO มาใช้กับพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเป็นผู้นำที่โดดเด่นในเรื่องการสร้างเนื้อสร้างตัว และเป็นนักธุรกิจ-การเมืองที่ให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นมาก จนเป็นตัวอย่างให้เหล่าสมาชิกพรรคสนใจเข้ามาเล่นหุ้นกันมากขึ้น
หากจะนับรายชื่อผู้ถือหุ้นในหุ้นเด่นๆที่ผ่านมาพบว่า มีนักการเมืองเข้าไปถือหุ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งคงจะไม่แปลกประหลาดอะไรในการครอบครองหุ้น เพราะถือว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่ที่แปลกก็คือ นักการเมืองเหล่านั้นมักจะใคร่นิยมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานน่าคลุมเคลือและวิ่งแรงเป็นพักๆจากข่าวลือต่างๆโดยไม่ทราบสาเหตุ และที่สำคัญคือ ตลาดหุ้นจะร้อนแรงเมื่อใกล้หน้าเลือกตั้งเสมอ
นี่จึงเป็นเหตุเป็นผลที่บรรดาเหล่านักวิเคราะห์ต่างออกมาเตือนนักลงทุนรายย่อยอยู่เสมอ ว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้งให้ระวังการซื้อขายแบบเก็งกำไรไว้ให้ดีเพราะพฤติกรรมหุ้นนั้นมีความร้อนแรงเป็นอย่างมาก แต่จะมีจากสาเหตุอะไรนั้นคงเป็นที่รับรู้กันแล้วว่า ตลาดหุ้นถือเป็นขุมทองสำหรับเหล่านักการเมืองที่จะต้องหาเงินเข้าพรรคเพื่อใช้ในการเลือกตั้งนั้นเอง
ดังนั้น เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วเป็นผลให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ นั้น นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กล่าว ว่า เหล่านักลงทุนรายย่อย เก็งกำไรรายวันที่เล่นหุ้นแบบหาค่ากับข้าว กำลังรอโอกาสทองที่จะกลับมาในตลาดหุ้นอีกครั้ง เพราะพวกเขาได้มองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา พบว่า หุ้นที่เหล่านักการเมืองที่เป็นกระเป๋าเงินสำคัญของพรรคไทยรักไทย เข้าไปซื้อ-ขาย หรือมีเอี่ยว มักจะร้อนแรงและได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจหากรู้จักเข้าออกอย่างถูกจังหวะ
"6หุ้นร้อน" การเมืองมีเอี่ยว
แหล่งข่าวจากวงการตลาดหุ้น ระบุว่า ชื่อของ สมศักดิ์ เทพสุทิน, เสมอกัน เที่ยงธรรม, พินิจ จารุสมบัติ และ พายัพ ชินวัตร ต่างเป็นที่รู้กันในวงการตลาดหุ้นว่าเป็น "ขาใหญ่" ของวงการการเมือง และหุ้นที่พวกเขามีอยู่ในมือจะมีพฤติกรรมร้อนแรงอยู่เสมอ นับตั้งแต่หุ้นร้อนแรงแห่งปีอย่าง PICNI ตามมาด้วย EWC, BNT, ASL, POWER และ ล่าสุดสำหรับ IEC จากสถิตที่ผ่านมาหุ้นทั้ง 6 ตัวนี้ต่างมีประวัติที่ถูกห้ามการซื้อขายแบบหักลบราคาในวันเดียว( เน็ทเซทเทิลเม้นท์) และการห้ามการใช้เงินกู้หรือ มาร์จินในการซื้อขายจากตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว ซึ่งแสดงถึงความร้อนแรงของหุ้นทั้ง 6 ตัวนี้ได้เป็นอย่างดี และเมื่อจับตาให้ดีๆจะพบว่า มีเหล่า "หัวหน้าก๊วน" ของแต่ละมุ้งของไทยรักไทยเข้ามาเอี่ยวด้วยทุกครั้ง
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการการเมือง กล่าวว่า การที่สส. เข้ามาเล่นหุ้นมากขึ้น เกิดจากกการเล่นหุ้นเหมือนกับการจับเสือมือเปล่า นั้นคือมีทุนน้อยแต่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพียงแค่รู้อินไซด์ก็สามารถรวยได้อย่างทันตาเห็น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เหล่าหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม Rehab หรือกลุ่มฟื้นฟูกิจการมาก่อนได้รับความนิยมจากเหล่า สส.เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเหล่าสส.ที่อยู่ตามต่างจังหวัดที่ไม่เคยรู้จักตลาดหุ้นมาก่อนเลย
ส.ส.เน้นเล่นหุ้นตาม "พายัพ"
แหล่งข่าวจากวงการเมือง ได้อธิบายต่อว่า การเล่นหุ้นของกลุ่มการเมืองนั้น จะมีทั้ง ส.ส.และส.ว.ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปกลุ่มเหล่า สว.จะมีความเชี่ยวชาญในการเล่นหุ้นมากกว่า เพราะ สว. บางคนก็มาจากนักธุรกิจเก่า หรือมาจากกลุ่มที่มีการศึกษาสูงและมีความรู้เรื่องตลาดทุนมาอย่างดี ขณะที่กลุ่ม ส.ส. นั้นมาจาก ฐานการเมืองต่างจังหวัดอย่าง อดีต สจ.หรือเหล่า อบต.ต่างๆ จะมีความรู้เรื่องตลาดหุ้นเพียงเล็กน้อย และมีกำลังทรัพย์ที่ไม่ถึงขั้น "ขาใหญ่" เมื่อเทียบกับกลุ่ม สว.เก่าทั้งหลาย จึงทำให้การซื้อขายภายในวันเดียวเป็นที่ ฮิตในบรรดากลุ่ม ส.ส. ทั้งหลาย ที่ต้องการหาเงินได้ในเวลาอันรวดเร็ว
นอกจากการฮิตซื้อขายหุ้นในวันเดียวแล้ว การ "แจกหุ้น" ของเหล่าบรรดาหุ้นที่จะเตรียมเข้าตลาดของเหล่าหัวหน้าก๊วนแต่ละมุ้งก็เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมเช่นกัน แต่ต้องมีข้อแม้ว่า หัวหน้าก๊วนต้องรู้อินไซด์อย่างแท้จริง อาจจะรวมไปถึงการรู้จักเจ้าของกิจการ และได้หุ้นมาอย่างราคามิตรภาพ ที่เห็นเด่นชัดที่ผ่านมาก็คือ POWER ที่มีข่าวร้อน ปั่นหุ้นกันนอกตลาดก่อนที่จะเข้าเทรด
อย่างไรก็ตามยังมีสูตรสำเร็จในการเล่นหุ้นของเหล่า ส.ส. พวกนี้อีกก็คือ การวิ่งเข้าหา พายัพ ชินวัตร น้องชายของทักษิณ ชินวัตร ด้วยเหตุที่เชื่อว่าได้ข้อมูลอินไซด์รู้จริงเรื่องตลาดหุ้น อีกทั้งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไรในสภา ทำให้พายัพดูเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดหุ้นอย่างมาก พายัพ จึงเป็นดวงอาทิตย์ดวงใหญ่ที่มีดาวพระเคราะห์อย่างเหล่า ส.ส. ตัวเล็กๆวิ่งซื้อตามพายัพ อยู่เสมอ บางคนแม้ไม่ได้อยู่ในวงโคจรแต่ก็พยายามสืบหาให้ได้ว่า พายัพนั้น กำลังเล่นหุ้นตัวใดอยู่ ก็จะพยายามเข้าไปซื้อตามให้ได้ จึงไม่แปลกที่หุ้นที่พายัพมีอยู่ในพอร์ทจะมีความร้อนแรงอยู่ตลอดเวลา
อินไซด์ไม่จริงก็ตาย
ดังนั้น เมื่อพฤติกรรมการเล่นหุ้นของเหล่า ส.ส. ทั้งหลายเป็นไปในรูปแบบการเก็งกำไรรายวัน แถมเล่นตามข่าว จึงทำให้ ส.ส. บางส่วนที่ไม่ได้ข้อมูลอินไซด์ของจริงต่างเจ็บตัวไปตามๆกัน จตุพร เจริญเชื่อ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย กล่าว ถึง ภาวะการเล่นหุ้นของเหล่าส.ส. พรรคไทยรักไทยในยุคแรกๆว่า ส.ส.ได้เข้ามาเริ่มเข้ามาเล่นหุ้นตั้งแต่ดัชนีอยู่ที่ 300 จุดซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของเหล่า ส.ส. ทั้งหลาย เพราะจะซื้อหุ้นตัวไหนหุ้นก็พุ่งขึ้นไม่หยุด การเลือกเล่นแต่ละตัวก็เล่นตามๆกันไป บางทีก็เล่นตามข่าวลือ ซึ่งเมื่อตลาดดัชนีสูงขึ้น มาถึง 600 จุดการเล่นหุ้นก็ยากขึ้น จนทำให้เหล่า ส.ส. พากันขาย Cut lost ไปหลายราย
"เข้าผิดตัว ตอนแรกภาวะตลาดดีตัวไหนก็ดี พอซักพักตลาดชะลอลง เราก็เล่นตามข่าวลือ ก็เสียเยอะ แต่ว่าตอนได้กำไรก็ได้ประมาณ 10,000 บาท พอเป็นค่าขนม"
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากวงการการเมืองที่กล่าวว่า 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เหล่า ส.ส. ต่างพากันพูดคุยกันเรื่อง หุ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ เช่น อิทธิพล คุณปลื้ม และเสมอกัน เที่ยงธรรม หรือที่บ้านมีกิจการของตนเองมาก่อนก็จะมีประเด็นพูดคุยกันเรื่องหุ้นกันในสภากาแฟ แทนที่จะเป็น เรื่องพระ เรื่องไก่ชนอย่างแต่ก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีคนที่เจ็บตัวไปไม้น้อยเช่นกัน ส.ส แม้จะอยู่ในวงในที่ถือว่าได้ข้อมูลอินไซด์ก็ยังขาดทุนเป็นล้านบาทมาแล้วก็มี
"คนที่เคยเป็น เลขานุการ รมว.คลัง (สุชาติ เชาวิศิษฎ์ ) ก็เคยมาบ่นให้เพื่อน ส.ส .ฟังว่าเจ๊งไปหลายล้านอย่าง สุธา ชันแสง ก็บ่นว่าขาดทุนไปหลายล้าน ขนาดคนอยู่ใกล้ชิดข้อมูลก็ยังเจ๊ง วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ( อดีต ส.ส. เชียงราย) ก็มีข่าวว่าเคยเจ๊งไปกับหุ้น PICNI หลายล้าน ทำให้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าที่ได้มานั้นได้อินไซด์จริงไหม" แหล่งข่าวกล่าว
เลือกตั้งใหม่ ตลาดหุ้นทะยานแน่
อย่างไรก็ตามแม้จะมีข่าวเรื่องการเจ๊งหุ้นของเหล่า ส.ส. ด้วยกันให้ได้ยินกันบ่อยๆ ตลาดหุ้น ก็ยังเป็นตลาดที่หอมหวลสำหรับเหล่า ส.ส. อยู่ดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เป็นที่คาดการณ์กันว่าการเลือกตั้งรอบนี้คาดว่า สส. ไทยรักไทย ซึ่งมี อินไซด์อยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ทั้งหลาย จะมีความได้เปรียบมากกว่ากลุ่มเล็กๆที่ไม่ได้อยู่ในวงจรหัวหน้าก๊วน ซึ่งจะได้ข้อมูลเชิงลึกว่าจะต้องรับที่ราคาเท่าอะไร และปล่อยที่ราคากี่บาทถึงจะปลอดภัย หรือที่เรียกว่า เข้าออกได้ถูกจังหวะ และยิ่ง ส.ส. ได้อยู่ในวงจรใกล้ชิดเท่าใด ความแม่นยำในการซื้อขายก็จะมีความแม่นยำมากขึ้น ไล่ระดับตามกันมา จะเป็นตัวผลักให้ตลาดหุ้นก่อนเลือกตั้งระอุขึ้นมาอย่างแน่นอน
"เมื่อก่อนหัวหน้าก๊วน ต้องรับผิดชอบลูกทีมของตัวเอง แต่ละรายมีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตั้งแต่ 5-30 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่า ตัวเต็งหรือไม่ แต่วันนี้หัวหน้าก๊วนไม่ต้องจ่ายทั้งหมด แต่บอกให้ส.ส.ไปซื้อหุ้นตัวเด่น ๆ ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแทน ส่วนหัวหน้าก๊วน ก็จ่ายให้บางส่วนที่จำเป็น" แหล่งข่าวการเมืองระบุ
นอกจากนั้นเมื่อมองย้อนกลับไปสมัยที่กระจายหุ้น ปตท. การกระจายหุ้นดังกล่าวได้กระจายไปยังเหล่า สว.สายรัฐบาล ว่ากันว่า สุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา รวมทั้งเหล่ากรรมาธิการต่างๆก็ได้รับการจัดสรรกันท่าวหน้า จนมีข่าวว่าเหล่า สว.ได้กำไรจากการได้รับการกระจายหุ้น ปตท.ไปกว่าคนละ 5-10 ล้าน
อีกทั้งได้มีการสังเกตและตั้งข้อสงสัยว่า นอกจากการเล่นหุ้นของแกนนำพรรคสำคัญๆอย่าง พายัพ ชินวัตร และ เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อนุทิน ชาญวีระกุล และ ไชยยศ สะสมทรัพย์ นั้นไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่กำไรส่วนต่างที่ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการได้เข้าไป "เล่นแร่แปรธาตุ" เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้อง อีกทางหนึ่งของเหล่าแกนนำเหล่านั้นอีกด้วย ซึ่งก็คงจะต้องหาข้อพิสูจน์ต่อไปในอนาคต
ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์กันว่าก่อนการเลือกตั้งรอบใหม่จะมีขึ้นตามคำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2549 ที่ผ่านมา บรรยากาศความคึกคักในการเล่นหุ้นของบรรดาส.ส.จะกลับมาอีกรอบ เนื่องจากทุกพรรคการเมืองต่างต้องหอบเงินเข้าไปใช้ในการหาเสียงครั้งนี้กันอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะหัวหน้ากลุ่มก๊วนต่างๆที่มีหน้าที่รับผิดชอบความเป็นอยู่ของลูกทีม ต่างต้องเร่งระดมทุนก้อนใหญ่ ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด ซึ่งยุทธวิธีหาเงินในอากาศ ด้วยการ "เล่นหุ้น"นี่เอง เป็นหนทางหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้...
*************
มรดกตระกูลภายใต้"พายัพ"
"ทักษิณ ชินวัตร" เคยตอบโต้สนธิ ลิ้มทองกุล เอาไว้ค่อนข้างเจ็บแสบว่า "ให้ไปใช้หนี้ก่อนกู้ชาติ" หลังสนธิไปขอลดหนี้กับสถาบันการเงิน แต่แล้วประโยคที่คนในตระกูลชินวัตร ค่อนแขวะ จนเกือบจะเหมือนเป็นการท้าทายฝ่ายตรงกันข้าม ก็พุ่งย้อนกลับมาที่ พายัพ ชินวัตร น้องชายร่วมสายโลหิต ในสภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก
เพราะเมื่อเร็วๆนี้ พายัพ น้องชายที่คลานตามกันมา ได้ถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งไม่อนุมัติแผนฟื้นฟู "บริษัท ชินวัตรไหมไทย จำกัด" โดยก่อนหน้านี้ พายัพ ได้เคยทำหนังสือต่อ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.)เพื่อขอชดใช้หนี้เพียงร้อยละ 5 จากมูลหนี้ทั้งหมดที่เคยก่อไว้หลายพันล้านบาท
ชินวัตรไหมไทย ธุรกิจซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2454 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเชียง ชินวัตร บุตรชาย เส็ง ชินวัตร อดีตนายอากรบ่อนเบี้ยต้นตระกูลชินวัตร ซึ่งขยับขยายจากการค้าขายผ้าฝ้าย ไปสู่การนำไหมจากยูนานมาทอด้วยตนเอง จากการดำเนินงานในลักษณะกงสีก็ได้ขยายถ่ายทอดไปสู่ทายาทในลักษณะกิจการที่คล้ายคลึงกัน และธุรกิจนี้ก็นับได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนในตระกูลเสมอมา นับถึงปัจจุบันก็มีอายุถึง 4 ชั่วคนแล้ว
ล่าสุดบริษัทซึ่งเป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษนี้ ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540-2544 สูงถึง 600 ล้านบาท และมีหนี้สินท่วมสูงกว่า 4 พันล้านบาท ภายใต้การกุมบังเหียนในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีของ "พายัพ" บุตรชายนายเลิศ ซึ่งก็คือน้องชายร่วมอุทรกับ ทักษิณ ชินวัตร
ตัวพายัพเองก็เคยยอมรับว่า "ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อก่อนผมไม่เข้าใจธุรกิจ ไม่เข้าใจเรื่องการเงิน หาเงินแบบอ้อมโลก เช่นอยากจะขายสินค้าก็ไปตั้งโรงงาน ซื้อที่ดิน สร้างโรงงาน ซื้อวัตถุดิบ ฝึกคน จ่ายตังค์ ก็ผลิตได้ ไม่แน่ใจว่าจะขายได้ ถึงขายได้ก็ไม่มั่นใจว่าจะกำไร แต่ถึงกำไรก็ไม่รู้ว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่"
การบริหารงานจนทำให้ธุรกิจกงสีประสบปัญหาขาดทุนจนบอบช้ำ อาจถือเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับนักธุรกิจ พายัพ ชินวัตรก็ไม่ต่างไปจากนักธุรกิจคนอื่นๆ ทั้ง ๆ ที่ ในอีกด้านหนึ่งของสายเลือดชินวัตรผู้นี้ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะ "เซียนหุ้น" ซึ่งโกยกำไรจากการซื้อขายหุ้นเป็นเงินมหาศาล โดยเฉพาะในยุคที่พี่ชายเรืองอำนาจตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นี่จึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาในสายตาผู้คนทั่วไป
แต่เรื่องความพยายามหลบเลี่ยงไม่ชดใช้หนี้ของพายัพ ก็มาแดงเอาเมื่อพายัพ พยายามวิ่งเต้นล็อบบี้เจ้าหน้าที่ บสท.และเจ้าพนักงานศาล แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะบังเอิญมีเจ้าหน้าที่บางคนเกรงว่าจะเกิดความผิด และสาวมาถึงตัวเองจึงได้ทำหนังสือคัดค้าน จนกระทั่งเรื่องนี้ได้ผ่านมาถึงศาลฏีกา ในที่สุดก็มีคำสั่งไม่อนุมัติตามคำร้องขอ ส่งผลให้ชินวัตรไหมไทย ภายใต้การบริหารงานของพายัพ อาจจะต้องล้มละลายและถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องร้องได้ ประพันธ์ คูณมี หนึ่งในแกนนำการชุมนุมม็อบกู้ชาติให้ข้อมูล
นอกจากนี้ พิเชษฐ์ พันธ์วิชาติกุล สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นในมุมที่ไม่ชอบมาพากลว่า "กรณี ปรส.เกิดมา 5 ปีแล้ว ถ้ามีข้าราชการในกระทรวงการคลัง หรือมีรัฐมนตรีคนใดไปเกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากล ทำไมที่ผ่านมาของรัฐบาลถึงไม่ดำเนินการ ทำให้เห็นว่า ว่าที่ร.ต.ไพโรจน์ พูดมี 2 ทางคือ เป็นเท็จหมดหรือเป็นจริงแต่รัฐบาลปล่อยให้ละเลย เพราะกินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง มีบางคนกินกันเอง หรือเคลียเรื่องนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อปิด ปรส.แล้วก็เปิด บสท.ขึ้นมาใหม่ มีหน้าที่ไปประนอมหนี้โดย บ.ชินวัตรไหมไทยที่มีหนี้สินกว่า 4 พันล้านบาท และบสท.ประนอมหนี้เหลือเพียง 160 ล้านบาท ซึ่งหลักทรัพย์ 160 ล้านบาท บสท.ก็ยังยกคืนให้ ชินวัตรไหมไทยอีก นี่คือตัวอย่าง"
กรณีที่เกิดกับ ชินวัตรไหมไทย จึงน่าจะบอกถึง ความพยายามทุกวิถีทางของพายัพ ชินวัตรที่จะปกป้องผลประโยชน์ตัวเองไม่ให้สูญหาย ภายใต้ข้อสงสัยของสาธารณชน
ประโยคที่พี่ชาย พายัพ ค่อนแคะเอากับ ฝ่ายตรงข้ามจึงย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าว ก็ยิ่งตอกย้ำ และฉายภาพการปกปิด ซ่อนเร้น ไร้จริยธรรมของคนในตระกูลชินวัตร ในขณะที่สังคมก็ยังไม่ได้คำตอบเกี่ยวกับความโปร่งใส ของพี่ชายคนโตของพายัพ ชินวัตร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|