K-Pop ตีตลาดโลก อิทธิพลบันเทิงกลืนวัฒนธรรม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กระแสการรุกคืบของ K-Pop ผ่านละครซีรีส์ร้อนแรงไปทั่วโลก ไทย-ญี่ปุ่น-อเมริกา โดนกระแทกไปเต็มๆ วัยรุ่นบ้านเราโดนหนักสุด เหตุภูมิคุ้มกันต่ำ โดนวัฒนธรรมแดนโสมครอบงำไปเต็มๆ ทั้งสินค้า-ละคร ต้องปรับตัวรับกระแสหากต้องการครองใจกลุ่มเป้าหมาย จิตแพทย์ระบุผลกระทบไม่รุนแรง เดี๋ยวเบื่อก็เลิกไปเอง

“ยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ซะแล้ว” ใครบางคนเอ่ยขึ้นเมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรกับกระแสเกาหลีที่เกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้

“เราไม่สามารถจะหยุดกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นได้ แต่ในอนาคตถ้ามีการปลูกฝังค่านิยมของไทยขึ้นมา กระแสความนิยมดังกล่าวอาจจะลดน้อยลง” ไตรลุจน์ นวะมะรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์คอม (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นในงานสัมมนาวิชาการ “เกาหลี...ภาพยนตร์ หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์แฝง” ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้กระแสเกาหลีระบาดไปทั่ว ด้วยแรงสะเทือนที่ถูกจุดมาจากละครซีรีส์เกาหลี ตามด้วยภาพยนตร์ เพลง และแรงสะเทือนที่ว่านี้ส่งผลต่อผู้คนทั้งวัยรุ่น และวัยทำงานให้เกิดอาการคลั่งไคล้ และเกิดการเลียนแบบในเรื่องการแต่งกาย การทำทรงผม การบริโภค และอื่นๆ

“กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นเร็ว เพราะคนไทยมีภูมิคุ้มกันด้านสื่อต่ำ เพราะปกติสื่อจะมีอิทธิพลสูงต่อคนอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมในกลุ่มใหญ่ก็จะยิ่งดึงให้คนมารวมกลุ่มกันมากขึ้น ยิ่งสื่อในบ้านเราค่อนข้างมีอิสระสูงด้านการนำเสนอ เราเปิดรับสื่อนอกค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่เฉพาะของเกาหลี ก่อนหน้านี้ก็เห็นมีละครญี่ปุ่นฮิตในบ้านเราเหมือนกัน” พรรณพิมล หล่อตระกูล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อธิบายให้ฟัง

แรงสะเทือนที่ว่านี้ส่งผลมายังคนทำละครบ้านเราให้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยเช่นกัน ถ้าสังเกตให้ดีช่วงนี้มีละครไทยหลายเรื่องที่อิงพล็อตเรื่องคล้ายละครเกาหลี อย่างเช่น ละครเรื่อง หัวใจลัดฟ้า ที่นำแสดงโดย “ฟิล์ม” รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ที่แสดงเป็น คิม จี ซก ซูเปอร์สตาร์ชาวเกาหลีที่มารักกับสาวไทย หรือละครเรื่อง ครั้งหนึ่งเมื่อเรารักกัน ของค่ายอาร์เอส ที่ฉายทางช่อง 3 เวลานี้ก็มีกลิ่นอายโสม และกิมจิ โชยออกมาอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ละครเรื่อง หิมะใต้พระจันทร์ ถึงกับยกทีมงานพร้อมนักแสดงไปถ่ายทำกันถึงถิ่นอารีดังกันเลย แถมบางฉากยังถูกถอดแบบมาจากละครเกาหลีบางเรื่องด้วยซ้ำ

ถามว่าละครเกาหลีมีอะไรดี ถึงได้ “โดนใจ” ผู้ชมบ้านเราเสียเหลือเกิน เรื่องนี้ นพดล มงคลพันธุ์ ผู้กำกับละครอธิบายว่า กระแสละครเกาหลีที่มาแรงอาจเป็นเพราะคนไทยเริ่มเบื่อละครไทย ละครเกาหลีจึงเป็นเสมือนทางเลือกใหม่

“ละครเกาหลีมีเสน่ห์ตรงที่ตัวนักแสดง ซึ่งมีพื้นฐานการแสดงพอสมควร สามรรถทำให้คนดูรู้สึกอินไปกับเรื่องราวได้ แต่ถ้าถามว่าทำไมละครบ้านเราถึงไปอิงกับละครเกาหลี ผมขอใช้คำว่าอิงคนดูมากกว่า เพราะเป็นช่วงที่คนดูชอบดูละครสไตล์นี้”

และเป็นที่น่าสนใจว่าละคร และดาราเกาหลี ไม่ได้รับความสนใจ และความนิยมเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ความฮอตนี้แพร่ขยายไปยังญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาด้วย ดังจะเห็นได้จาก การสำรวจโดยเว็บของสำนักข่าวเอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ได้กำหนดหัวข้อให้คนเข้ามาโหวดว่า สุดยอดพระเอก-นางเอก-ผู้กำกับ-หนังในดวงใจ ปรากฏว่า “บยอนซามะ” (Byonsama) สามารถเบียดดาราเจ้าถิ่นแดนปลาดิบ และฮอลลีวู้ด คว้าแชมป์ไปครองสำเร็จ

ส่วนภาพยนตร์ Bungee Jumping of Their Own ได้รับความนิยมจนขึ้นบ็อกซ์ออฟฟิศฝั่งญี่ปุ่น และ A Bitters Life ก็ถูกส่งไปญี่ปุ่นด้วยเม็ดเงินมากถึง 3.2 ล้านเหรียญ หรือราว 3.2 พันล้านวอน

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกานั้น สื่อบางฉบับลงข่าวว่า มีหญิงชาวอเมริกันจำนวนมากนั่งหน้าจอทีวีเพื่อชมละครชุดจากเกาหลี ด้วยเหตุผลที่ว่า ละครเกาหลีสุภาพไม่หยาบโลนเท่าละครอเมริกัน

ทอม ลาร์เซน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วายเอ เอนเตอร์เทนเมนต์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์และละครเกาหลีในอเมริกาเหนือ กล่าวว่า ชาวอเมริกันบางคนถึงกับเปลี่ยนคำทักทายจาก “Hello” เป็น “Hallyu” ซึ่งแปลว่า คลื่นเกาหลี กระแสนิยมซึ่งมีละครเกาหลีเป็นแรงผลักดันเริ่มบุกสหรัฐฯผ่านทางเกาะฮาวาย ก่อนคืบถึงแคลิฟอร์เนีย และกระจายทั่วสหรัฐฯ

ที่ผ่านมาละครเกาหลีมักมีวางขายตามร้านวิดีโอของชาวเอเชีย แต่ปัจจุบันห้างค้าปลีกใหญ่ๆ ในฮาวาย ทั้งวอลมาร์ต, คอสต์โก, บอร์เดอร์ส, บล็อกบัสเตอร์ และทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ต่างทำเงินจากกระแสคลั่งเกาหลีที่มาพร้อมคำแปลเป็นภาษาอังกฤษในราคา 60-120 ดอลลาร์

ไม่เพียงเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีจะได้รับผลดีจากการกระแสจนสามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีก็สามารถสร้างรายได้จากจำนวนผู้คนที่ไปเยือนแดนโสมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวด้วยเช่นกัน

หากคิดแต่นักท่องเที่ยวคนไทยพบว่า จากกระแสเกาหลีที่เข้ามาตีตลาดเมืองไทยตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวไปเกาหลีทะลุขึ้นหลักแสนได้เป็นครั้งแรก และในปีที่ผ่านมาซีรีส์เรื่องฟูลเฮาส์ที่มาแรงมาก ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวไทยไปเกาหลีจำนวนกว่า 1.12 แสนคน มีอัตราการเติบโตสูงถึง 9.9% ส่วนปีนี้คาดว่าจากกระแสแดจังกึมที่เพิ่งจบไปไม่นาน และละครซีรีส์ที่กำลังจะออกอากาศอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวคนไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10-15% เลยทีเดียว

รังสิมันต์ สุทธิบุตร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซันมูนทัวร์ จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่กระแสซีรีส์เรื่องวินเธอร์ เลิฟ ซอง, ออทัม อิน มาย ฮาร์ท, ฟูลเฮาส์ มาจนถึงแดจังกึม ที่กลับมาฉายใหม่ในขณะนี้ ทำให้แพกเกจที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้คือแพกเกจไปดูสถานที่ถ่ายทำแดจังกึม ฟูลเฮาส์ โดยทัวร์ 4 วันราคาเริ่มต้นที่ 2.5 หมื่นบาท ส่วน 5 วันอยู่ที่ 3 หมื่นบาท

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเกาหลีใช้ภาพยนตร์เป็นตัวจุดกระแสการท่องเที่ยวเกาหลีให้โดดเด่นขึ้นมา

เกาหลีมีความพยายามใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่รัฐบาลจะปล่อยให้ภาคเอกชนเดินหน้าเอง เอกชนผนึกกันแน่น สไตล์หนังที่นำเสนอจะมุ่งเน้นสอดแทรกเรื่องราววัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวของเกาหลีไว้ พร้อมมุ่งส่งออกละครเป็นหัวใจในการโปรโมตอุตสาหกรรม โดยการท่องเที่ยวเปรียบเสมือนผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเท่านั้น ตรงข้ามกับไทยที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. ต้องมานั่งเป็นแม่งานจัดงานบางกอกฟิล์มเอง ทั้งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า อีกทั้งภาพยนตร์ไทยยังขาดการพัฒนาให้โดดเด่นพอก่อนที่จะขายในตลาดโลก และที่สำคัญวงการภาพยนตร์ไทยยังแตกแยกกันอย่างเห็นได้ชัด

ผลจากการนี้ส่งให้ฝ่ายการตลาดของการท่องเที่ยวประเทศเกาหลีแทบไม่ต้องทำอะไร เพราะหนัง ละครเหล่านี้ สร้างภาพลักษณ์ดีๆ ให้กับเกาหลี ทำให้คนอยากมาสัมผัส อยากรู้จัก อยากชิมอาหารเกาหลี และถึงขั้นฝึกภาษาเกาหลีเลยทีเดียว

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากละครซีรีส์เพียงอย่างเดียว ไม่นับรวมถึงเพลง และอื่นๆ ที่หลั่งไหลตามมา

เพราะทันทีละครเกาหลีฮิตติดลมบนหลายสินค้าก็ล้วนฉวยจังหวะเวลานี้ไว้ ด้วยความเชื่อว่าจะมีผลต่อความนิยมบริโภคสินค้าที่มีพระเอก-นางเอกชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ หรือมีความชื่นชอบสินค้าที่ผลิตจากเกาหลีเพิ่มมากขึ้น ดูอย่าง การนำลียองเอ นางเอกเรื่องแดจังกึมมาเป็นพรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์แอลจี หรือเครื่องสำอางโอเรียลทอล พรินซ์เซส ที่นำเสนอจุดขายความงามแบบตะวันออก ส่วนสำนักพิมพ์แจ่มใส ที่ถือว่าเป็นผู้นำตลาดหนังสือแปลเกาหลี ก็ออกนิตยสารบันเทิงเกาหลีล้วนๆ เล่มแรก ชื่อ “Seoul Street”

แต่สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจถูกโฟกัสไปยังจุดที่ว่า ความร้อนแรงของคลื่นคลั่งเกาหลีที่เข้ามาในเมืองไทย ส่งผลให้มีการจับตาว่าจะส่งผลต่อการกลืนวัฒนธรรม หรือไม่ อย่างไร

เรื่องนี้มีการถกเถียง และพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ในโครงการสัมมนาวิชาการ “นิเทสศาสตร์นำความรู้สู่สังคม” ได้เชิญวิทยากรทั้งจากบริษัท บีอีซี-เทโร บริษัทเอเยนซี่ และโครงการมูลนิธิหนังไทย มาพูดถึงปรากฏการณ์นี้ว่า กระแสที่เข้ามาครอบงำนี้ คงเข้าไปหยุดเทรนด์ไม่ได้ แต่ในอนาคตถ้าอาศัยการปลูกฝัง คงหยุดค่านิยมได้ แต่สิ่งที่อยากให้ศึกษาและเรียนรู้จากปรากฏการณ์นี้คือ การศึกษาตลาด และไม่ควรเป็นผู้รับอย่างเดียว แต่ควรมีความคิดสร้างสรรค์ และต้องเป็นผู้ริเริ่มประยุกต์ประโยชน์ที่ได้มาใช้ด้วย

ขณะที่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อธิบายว่า มันอาจไม่ได้มีผลประทบอย่างรุนแรง แต่ถ้าเราไปรับวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเขามามากเกินไป จนส่งผลให้ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่รักษาจนรูปแบบและเอกลักษณ์ของเราหายไป มันจะทำให้เราไม่รู้จักตัวตนของเราจะส่งผลต่อสังคมในอนาคต แต่คิดว่ามันคงไม่ไปถึงขั้นนั้น เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่หวือหวา ไม่ทุ่มเท มักจะรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาแทนที่เสมอ เหมือนตามกระแสมากกว่า แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับรูปแบบการผลิต ผลงานจากประเทศของเขาด้วย ถ้าดีก็อาจยังอยู่ต่อไป แต่ถ้าบางทีคนเคยชินกับรูปแบบแล้วก็จะเริ่มหาสิ่งใหม่ๆเข้ามาแทนที่อีก

อย่างไรก็ตาม ทางเกาหลีเองก็ไม่ได้ยินดีนักกับการที่วัฒนธรรมของเขาไหลไปที่อื่นมากๆ แช จี ยุง นักวิจัยจากสถาบันวัฒนธรรมและท่องเที่ยวเกาหลี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระวังคือเวลาวัฒนธรรมไหลไปที่อื่นแบบทางเดียว ไม่มีการแลกเปลี่ยนจะก่อให้เกิดการต่อต้านได้ สิ่งที่ชาวเกาหลีต้องการคือเพียงแค่ให้คนอื่นรับรู้ว่าเขามีวัฒนธรรมอันสวยงามเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.