กันตนาฯ ติดเครื่อง เข็นองค์กรบุกตลาดโลก ชูบิ๊ก บราเธอร์ - ก้านกล้วย ดึงลูกค้าอินเตอร์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กันตนาฯ ตั้งความหวัง 2 โครงการมาสเตอร์พีช ก้านกล้วย - บิ๊ก บราเธอร์ จะปูทางดึงลูกค้าอินเตอร์เข้าบ้าน มองแนวโน้มปรับโฟกัสองค์กรหันหาธุรกิจฟิล์มโปรดักชั่นเป็นหลัก แซงหน้าธุรกิจทีวี ตั้งเป้ารายได้ 2.4 พันล้าน พร้อมประกาศไม่ทิ้งไอทีวี เข็นละคร 3 เรื่อง สู้ศึกชิงเรตติ้ง

หากจะกล่าวว่า Talk of the town ของวงการทีวีไทย ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อสูงสุดในเวลานี้ อย่าง บิ๊ก บราเธอร์ มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นในวงการอนิเมชั่น และภาพยนตร์ไทยที่จะเป็น Talk of the town ในสัปดาห์หน้า "ก้านกล้วย" ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ กันตนากรุ๊ป กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี หาก 2 โครงการนี้จะประสบความสำเร็จเป็นที่กล่าวขวัญของผู้ชมทั้งชาวไทย และต่างประเทศ เหมือน ๆ กัน

แม้จะเป็นองค์กรที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านปัญหา อุปสรรคมายาวนานถึงกว่า 55 ปี แต่ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ดูจะเป็นช่วงเวลาที่กันตนากรุ๊ปต้องเผชิญความท้าทายในการทำงานมากกว่าช่วงไหน ๆ การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มชินคอร์ป ในการเข้าร่วมบริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี สร้างเรตติ้งให้กับไอทีวีถีบตัวขึ้นสูงควบคู่ไปกับหุ้นไอทีวีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่สุดท้ายเมื่อปลายปี 2548 กันตนาก็ได้ประกาศลดบทบาทจากการจะเข้าเป็นบริษัทผู้ร่วมถือหุ้นไอทีวี เหลือเพียงการเป็นพันธมิตรผู้ผลิตรายการป้อนสถานีเพียงอย่างเดียว

รวมถึงแผนการนำบริษัทเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของตัวบริษัทกันตนากรุ๊ปเอง ก็ถูกเลื่อนออกไปจากปลายปีที่แล้ว อย่างไม่มีกำหนด สร้างความสงสัยให้กับทิศทางของกันตนาฯ ในการก้าวเดินต่อไปในเวลานั้น

สร้างงานมาสเตอร์พีซ พาองค์กรลิ่ว

ศศิกร กล่าวว่า ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ได้เห็นว่ากันตนาฯ ขยายงานใด ๆ ออกเป็นมากนัก เนื่องจากมีโครงการใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูง และต้องใช้บุคคลากรจำนวนมาก คือ เรียลลิตี้โชว์ บิ๊ก บราเธอร์ และภาพยนตร์อนิเมชั่น ก้านกล้วย นอกจากนั้นรายการต่าง ๆ ที่ออกอากาศอยู่ทั้งละครโทรทัศน์ และรายการโทรทัศน์ ที่ยังออกอากาศอยู่ ก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูง จึงไม่มีการปรับรูปแบบรายการใด ๆ

"นโยบายของกันตนาฯ ที่จะมีการพูดคุยกันทุกปีคือ กันตนาฯ จะผลิตงานที่เป็นมาสเตอร์พีซ เป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่างานระดับมาสเตอร์พีซเท่านั้นที่จะเป็นแนวทางสร้างบริษัทให้เติบโตได้ ปีที่แล้ว กันตนาฯ เปิดโครงการบิ๊ก บราเธอร์ เป็นปีแรก ใช้งบประมาณลงทุนสูงถึง 80 ล้านบาท จึงให้ความสำคัญเป็นหลัก ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ส่วนปีนี้ได้มีการกำหนดแล้วว่า แผนหลักในการดำเนินงานจะมี 3 ส่วน ประกอบด้วย บิ๊ก บราเธอร์ ปี 2 ภาพยนตร์อนิเมชั่น ก้านกล้วย และมีละคร 3 เรื่องใหม่ที่จะออกอากาศช่วง 2 ทุ่ม ทางไอทีวี ซึ่งทั้ง 3 โครงการถือเป็นโครงการระดับมาสเตอร์พีซ หากประสบความสำเร็จทั้งหมดจะถือเป็นปีทองของกันตนา แต่หากทั้ง 3 โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ก็คงลำบากเหมือนกัน"

บิ๊ก บราเธอร์ ต้นแบบคอนเทนท์ เพื่อมัลติมีเดีย

บิ๊ก บราเธอร์ เรียลลิตี้โชว์ลูกผสม ที่กันตนาฯ ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ มาปรับแต่งรูปแบบให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ใช้เงินลงทุนในปีแรก 80 ล้านบาท แต่ปีที่ 2 ก็ยังต้องลงทุนเพิ่มอีก 45 ล้านบาท พร้อมกับการลงแรงของพนักงานกันตนาราวครึ่งบริษัท ไม่เพียงแต่ฝ่ายผลิต หรือฝ่ายสร้างสรรค์ หากรวมถึงฝ่ายขาย ฝ่ายบุคลากร งานด้านแบ็คออฟฟิศทั้งหมด ยังต้องเดินเข้าออกระหว่างสำนักงานที่รัชดาภิเษก กับกัตนา มูฟวี่ทาวน์ ศาลายา ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านบิ๊ก บราเธอร์ กันตลอด 100 วันที่รายการดำเนินอยู่

โดยผลตอบรับที่ศศิกรมองว่าคือความสำเร็จ นอกเหนือจากจำนวนสายโหวต และแสดงความคิดเห็นในแต่ละสัปดาห์ที่สูงราว 1 - 2 แสนสาย คือ ข่าวสาร รวมถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ปรากฎอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ตลอดจนความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินไปของเกม ที่ผู้ชมมีมากขึ้นกว่าปีที่ 1 สรุปออกมาได้ว่า บิ๊ก บราเธอร์ ปีที่ 2 ประสบความสำเร็จอยู่ในระดับ "พาร์" หรือเสมอตัว

"ต้องยอมรับว่าบิ๊ก บราเธอร์ ไม่ได้ทำกำไรเป็นตัวเงินให้กับบริษัทฯ ได้ดีนัก ถ้าเทียบกับรายการอื่น ๆ เช่น คดีเด็ด หรือ เรื่องจริงผ่านจอ หากแต่รูปแบบของบิ๊ก บราเธอร์ เป็นรายการที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ของคอนเทนท์ยุคใหม่ที่สมบูรณ์แบบ เพราะปัจจุบันในทวีปยุโรป รายการต่าง ๆ จะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อโทรทัศน์เพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นก่อน หากแต่เป็นการออกแบบขึ้นมาสำหรับมัลติมีเดีย ทั้งบรอดแบนด์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์แอคทีฟ วิดีโอคลิป วิดีโอออนดีมานด์"

ปัจจุบันสื่อมัลติมีเดียเหล่านี้ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น รายการที่จะตอบสนองต่อสื่อใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ ต้องสนองความยากรู้อยากเห็นของคน ความตื่นเต้น ความผูกพันของคน เป็นรายการที่คนดูได้ทั้งวันทั้งคืน โดยไม่ไปไหน กลายเป็นแฟนคลับไปโดยไม่รู้ตัว จะเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตลอด 2 ปีที่กันตนาฯ จัดบิ๊กบราเธอร์ ขึ้น บุคลากรก็ได้รับโนว์ฮาวน์ ในการคิดรูปแบบรายการในลักษณะนี้มาอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นผลตอบแทนชัดเจนในเวลานี้ หากแต่จะเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน

ก้านกล้วย สุดยอดอนิเมชั่นไทย

อีกหนึ่ง Talk of the town ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ภาพยนตร์อนิเมชั่นสมบูรณ์แบบ โดยฝีมือคนไทยเรื่องแรก ก้านกล้วย เรื่องราวของช้างศึกคู่พระบารมีแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งสงครามยุทธหัตถี กันตนาฯ ใช้เวลาสร้างผลงานชิ้นนี้ยาวนานกว่า 3 ปี เสร็จสิ้นพร้อมฉาย 18 พฤษภาคมนี้

แรกเริ่มเดิมทีสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกาศให้การสนับสนุนแก่กันตนาฯ ในการสร้างอนิเมชั่นก้านกล้วย เป็นเงิน 30 ล้านบาท แต่ในปี 2548 ขณะที่งานก้านกล้วยเริ่มเสร็จเป็นรูปเป็นร่าง พร้อมนำออกแสดงโชว์ ปรากฎว่า เกิดกรณีกันตนาฯ นำก้านกล้วยไปเปิดตัวในงาน World Animation & Cartoon 2006 ที่เมืองทองธานี ซึ่งกันตนาฯ จัดขึ้นเอง ในเวลาเดียวกันกับที่ซิป้า จัดงาน Thailand Animation หรือ TAM ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทำให้เกิดข่าวความไม่พอใจของฟากกระทรวงไอซีที และต่อมาก็มีกรณีการแจ้งยกเลิกเงินสนับสนุน 30 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า ติดข้อกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีฝ่ายใดยอมรับว่า 2 กรณีนี้เกี่ยวข้องกัน

กันตนาฯ จึงลงทุนสร้างก้านกล้วยแต่เพียงผู้เดียว ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 150 ล้านบาท ซึ่งมาสเตอร์พีซประจำปี 2549 ของกันตนาฯ ชิ้นนี้ ศศิกร กล่าวว่า เป็นงานที่คนไทยต้องภูมิใจ ตั้งแต่โครงเรื่องที่เป็นประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจของคนไทย การวาด การผลิต เป็นงานที่ละเอียด จนไม่เสียดายเวลา 3 ปีที่เสียไป แต่เป้าหมายด้านรายได้จากการฉาย วางไว้เพียงกลับเข้ามาเท่ากับเงินที่ลงทุนออกไป ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนของบิ๊ก บราเธอร์

เล็งตลาดต่างประเทศเป็นเป้าหลัก

เป้าหมายหลักของกันตนาฯ ที่จะได้รับจากความสำเร็จของทั้งบิ๊ก บราเธอร์ และก้านกล้วย จะเป็นผลทางอ้อมจากการที่ผู้ผลิตต่างประเทศได้เห็นผลงาน และเชื่อมั่นในฝีมือที่จะมอบหมายงานโปรดักชั่นต่าง ๆ ให้กับกันตนาฯ รับผิดชอบ โดยผลการดำเนินงานของกันตนา กรุ๊ป มีสัดส่วนรายได้ที่ในอดีตเคยมาจากการทำธุรกิจรายการโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ และมีรายได้จากงานโปรดักชั่นด้านฟิล์ม และเสียง จากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นส่วนน้อย เริ่มมีการปรับสัดส่วนจากผลงานที่ออกไปในงานระดับโลก อาทิ Star War : Espisode 1 จนในปี 2548 จากรายได้รวม 2,000 ล้านบาท แบ่งส่วนระหว่างงานโทรทัศน์ กับงานฟิล์ม อย่างละครึ่ง ๆ

ศศิกร กล่าวว่า บิ๊ก บราเธอร์ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินงานทั้งหมดอยู่ในกันตนา มูฟวี่ทาวน์ ศาลายา สร้างความรู้จักให้กับต่างประเทศได้รู้จักมูฟวี่ทาวน์ ของกันตนาฯ มากขึ้น เช่นเดียวกับ ก้านกล้วย การนำผลงานออกแสดงในงานฟิล์ม เฟสติวัล ทำให้ผู้ผลิต และนักลงทุนจากต่างประเทศติดต่อให้กันตนาฯ ทำอนิเมชั่นให้ รายได้เหล่านี้จะเริ่มรับรู้ในปีนี้ งานด้านฟิล์มจะเติบโตมีสัดส่วนที่สูงกว่ารายการโทรทัศน์ แต่ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่า ทั้ง 2 ส่วนจะเติบโตไปด้วยกัน โดยงานด้านรายการโทรทัศน์จะมีการเติบโตราว 10% ส่วนงานด้านฟิล์ม จะเติบโตถึง 30% ทั้งนี้ รายได้โดยรวมของบริษัทฯ ในปี 2549 ตั้งไว้ว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%

ยังไม่ทิ้งไอทีวีไปไหน

สำหรับกรณีร้อนของวงการทีวีไทย ช่วงปลายปี 2548 ที่กันตนาฯ และไตรภพ ลิมปพัทธ์ ล้มดีลการซื้อหุ้นไอทีวี 3,000 ล้านบาท ถึงวันนี้ ศศิกร กล่าวว่า กันตนาฯ ก็ยังไม่ทิ้งไอทีวีไปไหน นอกเหนือจากรายการทางช่อง 7 ที่เคยทำอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทั้งนี้ แม้ไอทีวีจะไม่ได้ห้ามกันตนาฯ ในการเข้าไปทำรายการให้กับช่องอื่น แต่ตนถือว่า สิ่งที่ไอทีวีได้ให้กับกันตนาฯ นั้นเป็นการให้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับที่กันตนาฯ ได้รับจากช่อง 7 ช่วงเวลาไพร์มไทม์ 20.40 น. ทุกวัน ทำให้ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่กันตนาฯ จะวิ่งไปหาสถานีอื่น

โดยหลังจากบิ๊ก บราเธอร์ ปี 2 จบลง กันตนาฯ เตรียมนำละคร คนทะเล ออกฉาย พร้อมเตรียมละครอีก 2-3 เรื่องรอฉายทางไอทีวี ปัจจุบัน ละครช่วงเย็นของไอทีวี ที่กันตนาฯ เป็นผู้ผลิต มีเรตติ้งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากช่อง 7 ส่วนช่วงไพร์มไทม์ ก็สามารถแข่งขันกับช่องอื่น ๆ ได้ แม้จะมีเสียงวิจารณ์จากความรู้สึกส่วนตัวบ้าง แต่ก็วัดผลอะไรไม่ได้ ที่วัดได้คือตัวเลขที่เป็นเรตติ้ง เป็นสิ่งเดียวที่ศศิกร ใช้ยืนยันเหตุผลที่บอกว่า ไอทีวี เติบโตขึ้น

ศศิกร กล่าวว่า ปัจจุบันรายการโทรทัศน์ของกันตนาฯ อาจไม่ได้เป็นข่าวฮือฮา เนื่องเพราะส่วนใหญ่เป็นรายการเก่า ที่ยังมีเรตติ้งสูงอยู่ โดยเฉพาะทางช่อง 7 ประกอบด้วย คดีเด็ด เรื่องจริงผ่านจอ จ้อจี้ และซูเปอร์แก๊ก ทั้ง 4 รายการ ถือว่าทำเรตติ้งได้สูงสุดแล้ว และเป็นการสูงแบบมั่นคง มีโฆษณาเข้าเต็ม ในแง่ธุรกิจถือเป็นตัวเลี้ยงบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี

"รายการของเราโฆษณาไม่เคยขาด บางรายการโฆษณารอเข้า เพียงแต่รายการเหล่านี้เป็นของเก่า จึงไม่เป็นข่าว แต่ก็เป็นสิ่งที่เราพอใจ เพราะการสร้างของใหม่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องประสบความสำเร็จทุกครั้งไป เราอาจเปิดรายการใหม่ให้เป็นข่าวอีก 10 รายการก็ทำได้ แต่ปีนี้เป็นที่คาดเดาธุรกิจไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจจะไปทางใด จึงไม่ใช่เวลาที่ดี ถ้าไม่ใช่งานที่กันตนาฯ มั่นใจ จะไม่เสี่ยงโดยเด็ดขาด ปีนี้ จบจากบิ๊ก บราเธอร์ ก็จะเป็นก้านกล้วย จบแล้วมีละครทีวีต่อ และอาจมีการ์ตูนทางโทรทัศน์ในช่วงครึ่งหลังของปี ก็คงปิดปี 2549 ด้วยความสำเร็จได้"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.