|
เรื่องที่ควรตรวจสอบ!! ก่อนเลือกซื้อโครงการ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การเลือกซื้อบ้านสักหลังแม้จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะบ้านเป็นทรัพย์สินที่ต้องใช้เงินเก็บเกือบครั้งหนึ่งของชีวิตในการทำงานมาซื้อ
ดังนั้น ก่อนซื้อบ้านควรจะต้องตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ
การอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน โดยทั่วไปผู้ประกอบการที่มีการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยเพื่อจัดจำหน่ายตั้งแต่ 10แปลงขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการรายนั้นๆจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ต่อคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน ตามท้องที่ที่ดินจัดสรรนั้นตั้งอยู่ อันเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ เช่น ถนน ทางเท้า ท่อระบายน้ำ ประปา ไฟฟ้า ฯลฯ ตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการคุ้มครองผู้ซื้อในส่วนหนึ่ง
โดยผู้ซื้อมีสิทธิ์ขอตรวจสอบใบอนุญาตจัดสรรที่ดินได้จากผู้ประกอบการหรือขอตรวจสอบได้ที่กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดที่โครงการนั้นตั้งอยู่ ผู้ซื้อควรตรวจสอบว่าโครงการได้รับการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร ตามแบบแปลนเดียวกับที่ได้กระทำสัญญาและโดยเฉพาะในรายที่ผู้ประกอบการมีการแยกทำสัญญาขายที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารไว้เป็นคนละฉบับ ผู้ซื้อควรให้ผู้ประกอบการได้แนบแบบแปลนที่ขออนุญาตไว้ท้ายสัญญาที่กระทำระหว่างกันความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ
การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการการนั้น ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการได้หลายวิธีการ เช่น สอบถามจากผู้อยู่อาศัยในโครงการเก่าที่ดำเนินการมาแล้วในอดีตหรือตรวจสอบจากรายชื่อผู้ประกอบการที่ถูกขึ้นบัญชีดำไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขนาดและผังโครงการว่ามีความเหมาะสมกับสภาพการอยู่อาศัย
ปัจจุบันคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ต้องจัดให้มีในที่ดินจัดสรรไว้ระดับหนึ่งว่าแต่ละขนาดโครงการควรมีพื้นที่เว้นว่าง และสาธารณูปโภค-สาธารณูปการอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
ส่วนวิธีการจัดวางผังก็ต้องพิจารณาไปตามที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตเข้ามา ฉะนั้นผู้ซื้อควรตรวจสอบการวางผังที่เหมาะสมกับสภาพการอยู่อาศัย และดูไม่แออัดมากจนเกินไป พื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง หรือปรับระดับให้สูงกว่าถนนสาธารณะนอกโครงการการตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยมีน้ำท่วมขังหรือไม่
ผู้ซื้ออาจสังเกตได้จากเสาไฟฟ้า หรือรั้วบ้านดั้งเดิมในบริเวณนั้น หากพื้นที่ดังกล่าวเคยมีน้ำท่วมขังก็มักปรากฏ รอยคราบน้ำหรือคราบตะไคร่น้ำ บริเวณเสาไฟฟ้าหรือรั้วบ้านให้สามารถสังเกตเห็นได้ ความจำเป็นในการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลาง เช่น สโมสร สระว่ายน้ำ ฯลฯ ว่ามีความจำเป็นต้องใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้จะบวกเป็นต้นทุนบ้านที่เพิ่มขึ้นสโมสรหรือสระว่ายน้ำนั้นส่วนใหญ่จะถูกจัดไว้นอกเหนือจากสาธารณูปการตามที่กฎหมายกำหนดแต่ผู้ประกอบการจะนับรวมอยู่ในต้นทุนการดำเนินโครงการ
เมื่อภายหลังผู้ประกอบการได้มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนิติบุคคลโครงการบ้านจัดสรร(ถ้ามี) ก็จะกลายเป็นภาระที่ผู้ซื้อบ้านต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งก่อนและหลังการเข้าอยู่อาศัย
วิธีการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับระดับรายได้และความสามารถในการผ่อนชำระ ปัจจุบันการผ่อนชำระสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงิน มีทั้งดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) และดอกเบี้ยลอยตัว (Float Rate)ผู้ซื้อควรตรวจสอบกับสถาบันการเงิน ว่าอัตราดอกเบี้ยแบบใดที่เหมาะสมกับอาชีพความสามารถในการผ่อนชำระรวมถึงเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นในภายหลังต่อการเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยแบบนั้น ภาระผูกพันของที่ดิน หรือโครงการที่มีต่อสถาบันการเงิน
ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะขอสินเชื่อในการดำเนินโครงการโดยนำที่ดินที่นำมาทำการจัดสรรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ฉะนั้นผู้ซื้อควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่า เมื่อถึงระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินภาระผูกพันนี้ยังคงอยู่ หรือสามารถปลอดจำนองได้ทันที
(อ่านตอนจบฉบับหน้า)
ที่มา : คู่มือ เลือกซื้อบ้าน
เขียนโดย : บัณฑิต จุลาสัย และยุวดี ศิริ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|