|
จี้ภาครัฐเร่งคลอดระเบียบป้ายโฆษณา ยกเครื่องสมาคมฯเล่นบทรุกกันสะดุด
ผู้จัดการรายวัน(11 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นายกสมาคมป้ายโฆษณาคนใหม่ยกเครื่องสมาคมฯครั้งใหญ่ หวังผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนาและมีมาตรฐานมากขึ้น ทั้งเลือกตั้งล่วงหน้า เพิ่มอุปนายก รวมทั้งเร่งเครื่องในการติดตามเรื่องปัญหาต่างๆที่เสนอภาครัฐ ที่จะออกมาตรการเข้มงวดกับธุรกิจนี้
นายกสมาคมป้ายโฆษณาคนใหม่ยกเครื่องสมาคมฯครั้งใหญ่ หวังผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนาและมีมาตรฐานมากขึ้น ทั้งเลือกตั้งล่วงหน้า เพิ่มอุปนายก รวมทั้งเร่งเครื่องในการติดตามเรื่องปัญหาต่างๆที่เสนอภาครัฐ ที่จะออกมาตรการเข้มงวดกับธุรกิจนี้
นายนพดล ตัณศลารักษ์ นายกสมาคมผู้ผลิตป้ายและโฆษณา เปิดเผยว่า แนวทางการบริหารสมาคมฯจากนี้ไปมีเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมของป้ายโฆษณาให้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆของสมาคมฯรวมทั้งรูปแบบการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งในการประชุมสมาคมฯครั้งแรกวันพุธหน้าคาดว่าจะมีการนำเสนอเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ
ทั้งนี้แนวทางหลักๆเช่น การจะเสนอให้มีตำแหน่งอุปนายกเพิ่มขึ้นอีก 5 ตำแหน่งจากเดิมที่มีแล้วเพียง 1 ตำแหน่ง เพื่อที่จะให้มีตัวแทนแต่ละฝ่ายและแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจนเช่น ฝ่ายปัจจัยการผลิต ฝ่ายอิ้งค์เจ็ท ฝ่ายผลิตชิ้นงานโฆษณา ฝ่ายโครงให้เช่า ฝ่ายต่างประเทศ และอีก 1 ฝ่ายที่ยังไม่เปิดเผย
ขณะเดียวกันจะเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบโดยจะให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมฯคนใหม่เตรียมไว้ก่อน หลังจากที่นายกสมาคมฯคนเดิมดำรงตำแหน่งได้แล้ว 1 ปี ซึ่งวาระ 2 ปีต่อ 1 สมัย การเสนอให้เชิญอดีตนายกสมาคมฯล่าสุดและจำนวน 2 คน เข้ามาเป็นกรรมการสมาคมฯโดยอัติโนมัติ ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่องตลอด เพราะว่า วาระของคณะกรรมการฯสมาคมจะมีเพียงสมัยละ 2 ปีเท่านั้น เมื่อหมดแล้วก็จะเปลี่ยนไป อาจจะทำให้การทำงานสะดุดลงบ้าง แต่เมื่อมีการเตรียมการแบบนี้แล้วจะรู้ล่วงหน้าและให้ผู้ที่จะเป็นนายกฯคนต่อไปมาทำงานร่วมกับนายกฯคนปัจจุบันทำให้การทำงานมีความต่อเนื่องมากขึ้น
สำหรับในส่วนของการทำงานนั้นเป้าหมายหลักจะต้องพยายามทำให้อุตสาหกรรมนี้มีความมั่นคงและได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นรวมทั้งจะต้องทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามตัวบทกฎหมายมากขึ้นด้วย ดังนั้นจึงจะมีการติดตามเรื่องต่างๆทั้งปัญหา หรือข้อเสนอแนะต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดผลทางปฎิบัติโดยเร็วที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องข้อบัญญัติกฎหมายต่างๆ ที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจและชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตัวบทกฎหมายมาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและสร้างมาตรฐานธุรกิจนี้ให้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเจรจาและประชุมกับภาครัฐหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการประกาศใช้ออกมา เช่น ข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร หรือของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นต้น
มาตรการหลักๆที่พิจารณาไปแล้วนั้นคือ เรื่องของความมั่นคงแข็งแรงที่จะให้โครงป้ายโฆษณาสามารถรับน้ำหนักแรงลมได้ถึง 180 กิโลกรัมต่อตารางเมตร การเสนอให้กำหนดโซนนิ่งและให้มีป้ายมาตรฐานขนาดเดียวกันเช่น ความสูงจากพื้นดินไม่เกิน 30 เมตร และมีความยาวของป้ายไม่เกิน 32 เมตร ซึ่งการกำหนดโซนนิ่งจะต้องเป็นจุดๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ เช่น โซนที่หนึ่ง ความยาวของป้ายไม่เกิน 20 เมตร โซนที่สอง ไม่เกิน 25 เมตร โซนที่สาม ไม่ให้เกิน 30 เมตร และโซน 0 คือโซนที่ห้ามก่อสร้างโครงป้ายโฆษณาเด็ดขาด เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน หรือพื้นที่โบราณสถาน เป็นต้น
รวมถึงการกำหนดให้มีการสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบป้ายโฆษณาทุกปี โดยวิศวกรที่ต้องมาขึ้นทะเบียนกับทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการดูแลเรื่องข้อบัญญัติการก่อสร้างทั่วประเทศ
นอกจากนั้นยังจะต้องกำหนดให้ผู้ที่จะอนุญาตก่อสร้างโครงป้ายโฆษณานั้นต้องเป็นนิติบุคคล ห้ามเป็นบุคคลธรรมดา และต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างต่ำ 5 ล้านบาทและต้องชำระเต็มด้วย
สำหรับอัตราภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีป้ายก็จะเสนอให้มีการแก้ไขใหม่ด้วย จากเดิมที่กำหนดเก็บรายปี 3 พิกัดคือ 1.ป้ายที่มีภาษาไทยอย่างเดียว อัตรา 200 บาทต่อตารางเมตรต่อปี 2. ภาษาไทยและภาษาต่างด้าว แต่ภาษาไทยอยู่ด้านบน อัตรา 400 บาทต่อตารางเมตรต่อปี 3.ภาษาไทยและภาษาต่างด้าว แต่ภาษาต่างด้าวอยู่สูงกว่าภาษาไทย อัตรา 800 บาทต่อตารางเมตรต่อปี ซึ่งสมาคมฯจะเสนอให้เก็บภาษีตามระยะเวลาการใช้งานจริงของลูกค้าที่ลงโฆษณา และรวมทั้งป้ายที่ก่อสร้างเสร็จแล้วแม้จะยังไม่มีลูกค้าลงโฆษณาก็ตามต้องชำระภาษีภายใน 15 วันหลังจากที่ก่อสร้างป้ายเสร็จด้วยเหมือนกัน เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการจำกัดไม่ให้ป้ายโฆษณาขึ้นมากเกินความจำเป็น
ปัจจุบันนี้จากตัวเลขของกรุงเทพมหานครพบว่า มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ประมาณ 1,300 ป้าย โดยในส่วนของสมาชิกสมาคมฯมีป้ายรวมกันกว่า 70-80% จากจำนวนดังกล่าว และสมาคมฯออกป้ายรับรองมาตรฐานประมาณ 600 ป้าย อย่างไรก็ตามจำนวนป้ายทั้งหมดนี้พบว่ามีประมาณ 615 ป้ายที่ผิดแบบก่อสร้างจากที่ได้รับอนุญาตซึ่งจะต้องหาทางเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด
นอกจากการขึ้นป้ายโลโกของสมาคมฯเพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานนั้น ทางสมาคมฯยังเตรียมที่จะทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วยการต้องให้ทุกป้ายมีการทำกรมธรรม์ประกันภัยด้วย เพื่อให้ติดโลโก้ของสมาคมประกันวินาศภัยควบคู่กับโลโก้ของสมาคมฯ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|