|
ITV ร่วงต่อ 17% คปส.เสนอ 3 ทางยึดสัมปทานคืน
ผู้จัดการรายวัน(11 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
วงการหุ้น แนะทิ้งหุ้น "ไอทีวี" กดดันให้ราคาหุ้นร่วงกราวรูดเป็นวันที่สอง ปิดที่ 5.45 บาท ลดลงจากวันก่อนเกือบ 17% ซึ่งเป็นราคาย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีก่อน โบรกเกอร์ แห่ปรับลดราคาที่เหมาะสมเหลือแค่ 4-5 บาท และติดลบแน่นอนในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดยืนคำพิพากษาตามศาลปกครองกลาง ด้าน ปชป. แฉผลประโยชน์ทับซ้อน และความไม่จริงใจรักษาผลประโยชน์ชาติของรัฐบาล ขณะที่ คปส. เสนอ 3 ทางเลือกยกเลิกสัมปทานก่อนจัดสรรใหม่
วานนี้ (10 พ.ค.) ราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ itv ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวันก่อน เนื่องจากยังมีแรงเทขายออกของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะอนุญาโตตุลาการ และทำให้ไอทีวี ต้องกลับไปปฏิบัติตามเดิม
โดยราคาหุ้น ITV ได้ปรับตัวลดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 5.05 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายหุ้นละ 5.45 บาท ลดลงจากวันก่อน 1.10 บาท หรือคิดเป็น 16.79% มูลค่าซื้อขาย 1,034.35 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการซื้อขายสูงสุดประจำวัน ทั้งนี้ราคาปิดวานนี้ที่ 5.45 บาท ถือเป็นราคาที่ต่ำที่สุดเมื่อย้อนกลับไปถึง 3 ปีที่ผ่านมา คือ ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ที่ราคาหุ้นไอทีวีปิดอยู่ที่หุ้นละ 5.40 บาท
ในวันเดียวกันนี้ ไอทีวี ได้แจ้งผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2549 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีรายได้รวม 496.68 ล้านบาท กำไรสุทธิ 103.25 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.09 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 567.68 ล้านบาท กำไรสุทธิ 161.61 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.19 บาท หรือมีรายได้และกำไรสุทธิลดลง 12.51% และ 36.11% ตามลำดับ
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า หุ้นไอทีวี ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลังศาลปกครองกลางมีการเพิกถอนคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ และคาดว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำตัดสินยืนตามศาลปกครองกลาง ดังนั้นจึงได้ปรับลดราคาหุ้นเหมาะสมปีนี้ เหลือหุ้นละ 0.76 บาท และมีโอกาสที่จะมีการปรับตัวลดลงไปติดลบ
ทั้งนี้ หากศาลปกครองสูงสุดตัดสินยืนตามศาลปกครองกลางจริง ไอทีวีจะต้องมีการควบคุมรายได้ เพื่อที่จะไม่ให้มีการจ่ายค่าสัมปทานเกิน 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทแนะนำให้มีการหลีกเลี่ยงการลงทุนเนื่องจากมีความเสี่ยงในคำตัดสินของศาลอยู่
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ราคาหุ้นคงจะไม่ลงแรงมาก คงจะอยู่ในระดับหุ้นละ 4-5 บาท เพราะไอทีวีขอความคุ้มครองจ่ายค่าสัมปทานที่ 230 ล้านบาท จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำตัดสิน ทำให้ไอทีวียังมีผลประกอบการที่มีกำไร
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า ใน 1-2 สัปดาห์นี้ ราคาหุ้นไอทีวีคงจะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 5 บาท เพื่อสร้างฐานใหม่ ซึ่งเป็นระดับราคาซื้อขายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ได้มีแรงซื้อเข้ามาเก็งกำไรจากกรณีที่ยังมีคำสั่งศาลเป็นที่สิ้นสุด
ขณะเดียวกัน ได้มีการปรับลดประมาณการราคาหุ้นไอทีวีปีนี้เหลือหุ้นละ 5 บาท จากเดิมอยู่ที่ 13-14 บาท และหลีกเลี่ยงการลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด แต่นักลงทุนที่จะเข้าเก็งกำไรจะต้องรอให้ราคาหุ้นไอทีวี มีการสร้างฐานไปอีก 1-2 เดือน ซึ่งต้องรอดูการประกาศผลประกอบการไตรมาส1/49 และรายละเอียดการอุทธรณ์ อย่างไรก็ตามคาดว่าผลประกอบการปี49 ของไอทีวี จะยังไม่ได้รับผลกระทบ
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชาสายงานวิจัย บล. พัฒนสิน กล่าวว่า จากที่ไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานเดิมปีละ 1 พันล้านบาท หรือ 44% ของรายได้ ในจำนวนเงินที่สูงกว่านั้น ในปี 2549 อาจทำให้ไอทีวีขาดทุนได้สูงถึง 1.9 พันล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรกว่า 807 ล้านบาท เนื่องจากไอทีวีต้องจ่ายสัมปทานย้อนหลัง 3 ปี หรือประมาณ 1.5 พันล้านบาท และต้องปรับผังรายการเพิ่มสัดส่วนข่าวเป็น 70% จะทำให้ไอทีวีขาดทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก
ส่วนกรณีที่ผู้บริหารจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งอาจมีนักลงทุนที่มองว่าผลอาจจะออกมาเป็นกลายเป็นชนะคดีก็มี แต่ในช่วงนี้แนะนำ "หลีกเลี่ยง" หุ้นไอทีวี และมองปรับราคาพื้นฐานอยู่ที่ 2.50 บาท
**ปชป.แฉผลประโยชน์ทับซ้อน
ด้านนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยของรัฐบาลชุดนี้ เพราะจากการตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แพ้ไอทีวี เมื่อปี 2547 รัฐบาลไม่ได้เร่งรีบในการเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์กลับคืนมาสู่รัฐ แม้จะมีการกดดันจาดมวลชน ซึ่งทำให้เห็นถึงพฤติกรรม 2 ลักษณะ คือ
1. การเลือกปฏิบัติ เห็นได้จาก กรณีค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท ที่นายกฯ แสดงท่าทีขึงขังในการปกป้องผลประโยชน์ให้กับรัฐ โดยการตั้งทีมกฎหมายยื่นอุทรณ์ เพื่อจะไม่จ่ายค่าโง่ดังกล่าว ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน แตกต่างจากที่ สปน. ใช้เวลา 2 เดือนกว่า ในการยื่นคำร้องศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และยังมีคำถามตามมาว่า การที่ สปน.ฟ้องไอทีวีนั้น เพื่อลดกระแสความไม่พอใจทางสังคมหรือไม่
2. การเจรจาต่อรองที่ส่อแววว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมีความพยายาม ในการเปิดช่องให้ไอทีวี ละเมิดสัญญาขยายช่วงเวลา ไพรม์ไทม์ จากเดิม 19.00 - 21.30 น. เป็น 18.00-23.00 น. รวมทั้งปรับผังรายการให้มีรายการบันเทิง รวมอยู่ช่วงเวลาข่าว โดยอ้างมติครม. เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2546 ที่กำหนดให้ออกอากาศ รายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในช่วงไพรม์ไทม์ 18.00-23.00 น. มาสร้างความชอบธรรมให้กับการปรับผังของไอทีวี
"พฤติกรรมในขณะนั้นมีความน่าเคลือบแคลงสงสัย เป็นเสมือนละครฉากใหญ่ ที่หลอกลวงประชาชน การสมรู้ ร่วมคิด แบบแยบยล บ่งชี้ถึงความน่าสงสัย ว่าอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะกิจการไอทีวีในขณะนั้น คือ 1 ในเครือชินคอร์ป ซึ่งยังเป็นของตระกูลของชินวัตรอยู่ วันนี้คำตัดสินศาลปกครองที่ให้ สปน. เป็นผู้มีชัย อาจไม่ใช่การสิ้นสุดกรณีพิพาท แต่เป็นการแสดงให้เห็นทาสแท้รัฐบาล ที่ยอมให้ประชาชนได้รับประโยชน์เมื่อตนเอง ไม่มีผลประโยชน์ในกิจการนั้นแล้ว" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
**เสนอยึดคืนสัมปทานไอทีวี
ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า หลังจากนี้เฉพาะหน้าทาง คปส.จะผลักดันให้ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับไอทีวีให้ยกเลิกสัญญาและยึดคืนสัมปทานมาจัดสรรใหม่ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนกลับคืนมาสู่เจตนารมณ์ของการก่อตั้งไอทีวีเริ่มแรก ในระหว่างนี้ทาง คปส.จะรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการผลักดันการปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะการสร้างเสรีให้กับสื่อไอทีวี หลังจากนั้นจะผลักดันกับรัฐบาลชุดใหม่ในประเด็นดังกล่าวร่วมกับประชาชน
"วันนี้ไอทีวีมีโครงสร้างที่ยึดโยงอยู่กับเจ้าของที่เป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่อย่างชินคอร์ป และเทมาเส็ก แม้ว่าจะมีคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวแล้วทำให้มีการปรับผังรายการข่าวเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากธุรกิจการเมืองและธุรกิจต่างชาติ การเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้จึงจำเป็นที่จะต้องให้ไอทีวีมีความเป็นเสรีอย่างแท้จริง"
พร้อมกันนี้ ได้เสนอทางออกไว้ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก ให้รัฐซื้อหุ้นคืนจากเอกชนที่ถือหุ้นอยู่ และอาจจะให้ อสมทเข้ามาบริหาร แต่ในกรณีนี้อาจจะเจอกรณีหนีเสือปะจระเข้ และยังมีข้อถกเถียงว่าทำไมรัฐต้องลงทุนมากมายขนาดนั้น
แนวทางที่สอง คือให้คนไทยทั้งประเทศร่วมกันซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือครอง ซึ่งกรณีนี้จะเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมเฉพาะคนที่เล่นหุ้นเท่านั้นและยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าประโยชน์สาธารณะ
ส่วนแนวทางที่สามคือการยกเลิกสัญญาและกติกาในการเป็นเจ้าของและการบริหารใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นเหมือนเริ่มแรกที่ระบุให้บริษัทเอกชน 10 แห่ง เป็นเจ้าของร่วมกัน มีอำนาจในการบริหารเท่าๆ กัน และจำกัดว่าไม่ควรมีบริษัทใดถือหุ้นเกิน 10% หรืออาจเปลี่ยนไอทีวีเป็นองค์กรมหาชน เช่นเดียวกับบีบีซีของอังกฤษที่มีลักษณะคล้ายองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้รัฐและเอกชนรายใด คนที่จะมาบริหารก็เป็นอิสระ ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากประชาชนผ่านภาษี เหมือนในกรณีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรืออาจต้องคิดโมเดลใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|