ถอนตัวจากตลาดหุ้น ทางออกของธุรกิจประกันประกันชีวิต


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากนักลงทุนดังกล่าวไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนก้อนใหม่แล้วก็ประกาศถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้างว่าไม่จำเป็นต้องระดมทุนจากตลาดทุน เพราะบริษัทแม่ใน ต่างประเทศมีความพร้อม ที่จะช่วยเหลือ

ช่วง ที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะฟองสบู่ บรรดาธุรกิจประกันชีวิตต่างเดินพาเหรดกัน เพื่อขอเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภาพ ที่ออกมาจึงเป็นภาพ ที่นักลงทุนกำลังมีความสุขเหลือล้น เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ แหล่งระดมทุน ที่มีต้นทุนต่ำที่สุดแห่งหนึ่ง แต่หลังจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยน ไป ความคิดของนักลงทุนเริ่มหมุนกลับเมื่อรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าหากทนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทางออกของธุรกิจประกันชีวิตบางแห่ง ก็คือ ขอถอนตัวออกจากตลาด หลักทรัพย์ฯ ด้วยความสมัครใจ ซึ่งดูเหมือนว่าทางออกลักษณะเช่นนี้ไม่ต่างจากภาพของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากนัก

"การตัดสินใจถอนตัวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะเป็นการสร้างฐานการเงิน ที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวโดยผ่านบริษัทแม่โดยตรงแล้ว ยังช่วยลดต้นทุน ทางด้านการปฏิบัติงาน และตัดทอนค่าใช้จ่ายในการคงสภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียน" ปีเตอร์ แฟรงกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ประกันชีวิตศรีอยุธยา ซีเอ็ม จีกล่าวหลังจากขอถอนตัวออกจากตลาด หลักทรัพย์ฯ เป็นรายล่าสุด

3 ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันชีวิต ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศถอนตัวออกแล้ว 2 บริษัท คือ พรูเด็นเชียล ทีเอสไลฟ์ ประกันชีวิต และ ประกันชีวิตศรีอยุธยา ซีเอ็มจี จากทั้งหมด 4 บริษัท โดยทั้งสองบริษัทให้เหตุผลว่าสภาวะการระดมทุนในตลาดทุนไทยไม่เอื้ออำนวย แต่จะไม่กระทบกับนักลงทุนรายย่อยเพราะมีสัดส่วนน้อยมาก

ที่สำคัญบริษัทแม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ อยู่แล้วไม่จำเป็นที่บริษัทลูกจะต้องเป็น บริษัทจดทะเบียน ซึ่งบริษัทแม่พร้อมจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน โดย ไม่ต้องพึ่งเม็ดเงินจากรายย่อยอีกต่อไป

วัฒนธรรมการบริหารของกลุ่มทุนตะวันตกจะผูกอนาคตของผู้บริหาร และพนักงานไว้กับเป้าหมายการขยายตัวของธุรกิจ ทำให้เกิดแรงกดดันอย่างสูง ที่ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปล่อยพลังความสามารถอย่างเต็มที่ และทุกวิถีทาง ที่จะทำให้เป้าหมายของผู้ถือหุ้นเป็นจริง รวมถึงประกันชีวิตสองแห่งนี้ ที่ประสบกับการขาดทุนในปีถัดมาหลังจากกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาร่วมถือหุ้น

จนต้องประกาศเพิ่มทุนโดยอาศัยความเป็นบริษัทจดทะเบียนระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อย เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ที่ขาดทุนจากการเดินตามแผนงานการขยายฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงความพอเพียงของเงินสด ที่มีอยู่ในมือ การขยายธุรกิจแบบอนุรักษนิยมจึงไม่หลงเหลืออยู่ในความคิดของผู้บริหารต่างชาติ ที่เข้ามายึดกุมอำนาจการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จ

การตัดสินใจออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ของพรูเด็นเชียลฯ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความเสียหายให้กับรายย่อยค่อนข้างน้อย เพราะวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 มีผู้ถือหุ้นรายย่อยแค่ 6.87% และมีการเพิ่มทุน 1 ครั้งในปี 2540 จำนวน 609 ล้านบาท และได้ขอถอนตัวในวันที่ 31 มีนาคม 2541 หลังจากกลุ่มพรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น แห่ง ประเทศอังกฤษ เข้าถือหุ้นเมื่อปี 2538

"การตัดสินใจออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผ่านการพิจารณา และไตร่ตรองเป็นอย่างดี ด้วยตระหนักถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในไทย ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่มิได้ขายหุ้นคืน ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จะได้รับการ ดูแลจากบริษัทอย่างดีเช่นเดิม ไม่ว่าบริษัทจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ก็ตาม เรายังคงเป็นบริษัทมหาชนต่อไป และผู้ถือหุ้นจะได้รับสิทธิการซื้อหุ้นใหม่ตามสัดส่วนของหุ้น ที่มีอยู่" คริสโตเฟอร์ เอฟเวินส์ ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัทพรูเด็นเชียลฯ ยืนยันการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น และการดูแลรายย่อย

ขณะที่ โธมัส เซคอล กรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันของพรูเด็นเชียลฯ ปฏิเสธ ที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าขณะนั้น ยังไม่ได้เข้าร่วมงานกับพรูเด็นเชียลฯ

แดน อาร์ บาร์ดิน กรรมการผู้จัดการตลาดธุรกิจใหม่ ซึ่งเข้ามาร่วมงาน กับพรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย ในช่วงปลายปี 2542 กล่าวว่า ในยุคนั้น ยังไม่ได้เข้าร่วมงานกับพรูเด็นเชียลฯ ตามความเห็นส่วนตัวแล้ว มองว่าในปี 2540 พรูเด็นเชียลฯ เข้ามาทำธุรกิจในไทยแค่ 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นบริษัท ที่ใหม่มาก และในช่วงนั้น เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมีบริษัท ที่ถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายบริษัท และหนึ่งในนั้น คือ พรูเด็นเชียลฯ

"สำหรับบริษัท ที่กำลังเติบโต และต้องการเงินทุนใหม่ๆ เข้ามา ขณะที่ การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงนั้น ถึงช่วงนี้ไม่สะดวกเท่าไร ถ้าไม่อยู่ในตลาดจะทำให้การเจรจาเรื่องการเพิ่มทุนกับผู้ถือหุ้นใหญ่ทำได้ง่าย และน่าจะยุติธรรมสำหรับนักลงทุนรายย่อย"

ขณะที่ประกันชีวิตศรีอยุธยา ซีเอ็มจี สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุน รายย่อยมากกว่า เพราะวันที่กลุ่มบริษัทประกันชีวิตซีเอ็มจี แห่งออสเตรเลียเข้าร่วมทุนในปี 2538 ขณะนั้น มีผู้ถือหุ้นรายย่อยในสัดส่วน 30% จากทุนจดทะเบียน 210 ล้านบาท

ปี 2539 บริษัทขาดทุน และเพิ่มทุนในปีถัดมา จำนวน 800 ล้านบาท เดือนมีนาคม 2543 เพิ่มทุนอีก 1,000 ล้านบาท และในเดือนตุลาคม 2543 เพิ่ม ทุนจดทะเบียนอีก 500 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยลดลงเหลือ 7% ณ วันที่บริษัทขอถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2543 ทำคำเสนอซื้อหุ้นจากนักลงทุนราย ย่อยหุ้นละ 10 บาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีกว่า 1 เท่า

วิชิต พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด ประกันชีวิตศรีอยุธยา ซีเอ็มจี บอกว่า การขอถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะต้อง การเตรียมความพร้อม ที่จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทอันดับ 1 ในธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องทำการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไม่สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของประกันชีวิตศรีอยุธยาทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Common Wealt Bank เป็นธนาคาร ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในออสเตรเลีย และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีความเห็นว่ามีความพร้อม ที่จะเพิ่มทุนให้โดยไม่จำเป็นต้องระดมทุนจากช่องทางอื่น

สิ่งที่เหมือนกันของพรูเด็นเชียลฯ และประกันชีวิตศรีอยุธยา ซึ่งมีผู้ร่วมทุนต่างชาติ คือ หลังจากเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น และกุมอำนาจการกำหนดนโยบาย และอำนาจการบริหารของบริษัทแบบเบ็ดเสร็จแม้ว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้น ที่ 25% ตาม ที่กฎหมายกำหนด แต่ในปีถัดมาหลังจากร่วมทุน บริษัททั้งสองก็ประสบกับการขาดทุนทันที

กลุ่มพรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น แห่งประเทศอังกฤษ เข้าร่วมทุนกับบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทพรูเด็นเชียล ทีเอสไลฟ์ ประกันชีวิต ในปี 2538 ในปี 2539 บริษัทขาดทุนสุทธิ 346.1 ล้านบาท ปี 2540 ขาดทุนสุทธิ 664.7 ล้านบาท ทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเข้าไปตรวจสอบ สถานะ เพื่อทบทวนสถานะการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เนื่องจากอัตราส่วนสินทรัพย์ ที่มีตัวตนสุทธิเทียบกับทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ได้ลดต่ำกว่า 50% ในช่วงไตรมาส ที่ 4 ของปี 2540 จากช่วงก่อนหน้าที่บริษัทมีกำไรมาโดยตลอด

"เป็นการขาดทุนจากการดำเนินงาน และเป็นปัญหาทางสภาพเศรษฐกิจ" เอฟเวินส์ อดีตกรรมการผู้จัดการพรูเด็น เชียลฯ กล่าว

หลังจากถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ พรูเด็นเชียลฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นมาโดยตลอด และในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเป็นบวก

เช่นเดียวกับ ประกันชีวิตศรี อยุธยา หลังจากกลุ่มซีเอ็มจีเข้าร่วมทุนแล้วผลการดำเนินงานขาดทุนตั้งแต่ปี 2539-2542 โดยขาดทุน 633.85 ล้านบาท, 981.33 ล้านบาท, 224.98 ล้านบาท และ 490.24 ล้านบาท ตามลำดับ จากก่อนหน้านี้ ที่สร้างกำไรให้บริษัทมาโดยตลอด

แฟรงกี้เปิดเผยถึงสาเหตุของการขาดทุนว่า ที่ผ่านมาบริษัททำการรุกตลาดอย่างหนัก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของผู้ถือหุ้น คือ ต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากทำให้เกิดผลขาด ทุน รวมทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นประสบการขาดทุน เพราะ ที่ผ่านมาได้ลงทุนในตลาดหุ้นสัดส่วนสูงถึง 25% แต่ผู้ถือหุ้นถือว่าเป็นการลงทุนในระยะยาว จึงไม่ได้มองเรื่องการขาดทุนเป็นปัจจัยสำคัญ

รศ.ดร.อุปถัมภ์ สายแสงจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงเทพประกันชีวิต ให้ภาพถึงธรรมชาติของธุรกิจประกันชีวิตว่า "ปกติธุรกิจประกัน ชีวิต โอกาส ที่จะทำกำไรได้ในปีแรกๆ ลำบาก มีบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งเท่านั้น ที่สามารถทำกำไรได้ในปีแรก ซึ่งจุดคุ้มทุนของธุรกิจประกันชีวิต ทุกๆ กรม ธรรม์จะทำกำไรได้ในปีที่ 6-7 ส่วนปีที่ 1-6 บริษัทจะต้องแบกผลขาดทุน"

จากธรรมชาติของธุรกิจประกัน ชีวิตดังกล่าว หมายความว่าเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ปี กำไรจะไหลเข้าสู่บริษัทประกันชีวิต อย่างพรูเด็นเชียลฯ นับจาก ที่ผู้ถือหุ้นต่างประเทศเข้ามาร่วมทุน ยกเว้นประกันชีวิตศรีอยุธยา ที่มีแนวนโยบายขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจากการคาดการณ์ของบริษัท โดยกำหนดให้อัตราผลตอบแทน จากการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนโดยเฉลี่ยประมาณ 5.8-8% ต่อปี ประกอบกับเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ ที่คาดว่าจะเพิ่ม ขึ้นในสิ้นปีนี้ประมาณ 47% และเพิ่มในอัตรา 9-17% ต่อปีในปี 2544-2548 จะส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนอีกต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะปกติธุรกิจ ประกันชีวิตในช่วงปีแรกๆ ของกรมธรรม์ ประกันชีวิตแต่ละฉบับ ที่รับประกันไว้จะมีค่าใช้จ่ายในการรับประกันชีวิต และค่าใช้จ่ายอื่นๆ สูงกว่าค่าเบี้ยประกันชีวิต ที่ได้รับค่อนข้างมาก และจะเริ่มมีกำไรภายหลังจาก ที่ลูกค้าได้ต่อกรมธรรม์อย่าง ต่อเนื่อง

อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ในปัจจุบันต่ำกว่าอัตราผลตอบแทน ที่ได้กำหนดไว้ในการคำนวณกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่บริษัทได้รับประกันไว้ เนื่องจากกรมการประกันภัยได้กำหนดอัตราดังกล่าวไว้คง ที่ในอัตรา 6%

ดังนั้น คาดว่าในปี 2549 ประกันชีวิตศรีอยุธยาจึงจะสามารถสร้างรายได้ และคืนทุนให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากต่างประเทศเป็นปีแรก

ณ วันนี้เหลือบริษัทประกันชีวิตในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 2 บริษัท คือ อินเตอร์ไลฟ์ จอห์นแฮนคอค และไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ไทยพาณิชย์นิวยอร์กไลฟ์ประกัน ชีวิต หลังจากกลุ่มนิวยอร์กไลฟ์อินเตอร์ เนชั่นแนลเข้าถือหุ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าบริษัท ที่เหลือจะดำเนินรอยตามพรูเด็นเชียลฯ และประกันชีวิตศรีอยุธยา ด้วยการขอถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.