|
บล.ฟิลลิปฯล้มแผนเข้าตลาดหุ้นไทยรุกเพิ่มสัดส่วนลูกค้าสถาบันเป็น20%
ผู้จัดการรายวัน(10 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
บล.ฟิลลิป ล้มแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ หวั่นผลตอบแทนไม่จูงใจนักลงทุน เหตุกำไรไม่หวือหวา หลังจากต้องใช้เงินลงทุนขยายกิจการ บวกกับตลาดหุ้นไม่เอื้อ ด้าน ผู้บริหาร เล็งรุกลูกค้าสถาบันมากขึ้นเป็น 20%จากขณะนี้มี 5-10% ดันมาร์เกตแชร์โบรกเกอร์ปีนี้ที่ 2.2% จากปัจจุบัน 1.7% แม้ต่ำกว่าปี48ที่ 2.7% ตั้งเป้าอนุพันธ์ลุกค้าเปิดบัญชีปีนี้ 500 บัญชี
นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้มีการถอนแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว เนื่องจากผลตอบแทนที่จะคืนให้กับผู้ถือหุ้นอาจจะลดลง จากการที่บริษัทต้องมีการลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบทำให้กำไรของบริษัทลดลงตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจหลักทรัพย์เองยังไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) รวมถึงภาวะตลาดหุ้นยังไม่มีความเหมาะในปีนี แต่ในปี 2550 บริษัทอาจจะมีการทบทวนแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนอีกครั้งหนึ่ง
นายสุชาย กล่าวว่า แม้บริษัทยกเลิกแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนขยายธุรกิจ เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดจำนวนกว่า 200-300 ล้านบาท รวมถึงกลุ่มบริษัทฟิลลิป แคปปิตอล มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ คือมีกระแสเงินสดจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2549 นั้น บริษัทตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ไว้ที่ 2.2% ของตลาดรวม จากปัจจุบันมาร์เกตแชร์อยู่ที่ประมาณ 1.7-1.8% ลดลงจากปีก่อนที่มีมาร์เกตแชร์ 2.6-2.7% เนื่องจากลูกค้าสถาบันได้เข้ามามีบทบาทในการลงทุนมากขึ้นเป็น 50% ขณะที่ฐานลูกค้าบริษัทส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย และมีฐานลูกค้าสถาบันเพียง 5-10% เท่านั้น
"บริษัทมีแผนจะบุกลูกค้าสถาบันมากขึ้น เพื่อให้มาร์เกตแชร์ปีนี้เป็นไปตามเป้าที่ 2.2% โดยมีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจไปนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และคาดว่าปีนี้จะมีมาร์เกตแชร์ลูกค้าสถาบันเพิ่มเป็น 20%"
ส่วนแผนการขยายฐานลูกค้ารายย่อยนั้น บริษัทมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 2 แห่งภายในปีนี้ คือ สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายในครึ่งปีแรก และสาขากรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้ารายย่อย จากปัจจุบันมีลูกค้าเปิดบัญชีจำนวน 20,000 บัญชี แบ่งเป็นบัญชีซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต 13,000 บัญชี
ขณะเดียวกัน บริษัทได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอนุพันธ์และลงทุนในพอร์ตมากขึ้น โดยบริษัทมีวงเงินที่ 100 ล้านบาทในการเก็งกำไร(Arbitrage) จากปีที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนน้อย แต่มีนี้มีธุรกิจอนุพันธ์ทำให้บริษัทมีช่องทางในการเก็งกำไรมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2549 บริษัทตั้งเป้ามาร์เกตแชร์อนุพันธ์ไว้ที่ 10% และคาดว่าจะมีลูกค้าเปิดบัญชีจำนวน 400-500 บัญชี จากขณะนี้ที่มีนักลงทุนบัญชีแล้ว 25 บัญชี โดยบริษัทได้มีการจัดโครงการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ ภายใต้โครงการ "Phillip Futures Challenge" เพื่อให้นักลงทุนทดลองซื้อขายอนุพันธ์ที่มีลักษณะเหมือนจริงทุกประการ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเข้ามาเปิดบัญชีกับบริษัทเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทจะเสนอตัวจะเป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (มาร์เกตเมกเกอร์)ในตลาดอนุพันธ์ ในการดูแลการซื้อขายและจะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในอนุพันธ์มากขึ้น ซึ่งขณะนี้รออนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต.
"ตั้งแต่เปิดการซื้อขายได้ 2 สัปดาห์ ระบบการซื้อขายของบริษัทไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งถือว่ามีปริมาณการซื้อขายที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่มูลค่าการซื้อขายเชื่อว่าจะยังไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนสถาบันยังไม่เข้ามาลงทุน เพราะ ต้องรอให้การซื้อขายมีจำนวนที่มากพอสมควร ดังนั้นจึงต้องให้ความรู้นักลงทุนรายย่อยให้เข้ามาลงทุนก่อน"
สำหรับปี 48 บริษัทมีรายได้จากซื้อขายหลักทรัพย์ 400-500 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท ซึ่งบริษัทพยายามหารายได้อื่นเข้ามามากขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 40-50 ล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากพอร์ตการลงทุน และมีกำไรจากอนุพันธ์
ส่วนงานด้านที่ปรึกษาทางการเงินนั้น ขณะนี้บริษัทรับเป็นที่ปรึกษาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ จำนวน 4-5 บริษัท ซึ่งมีขนาดทุนจดทะเบียน 100 -1,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกลุ่ม บริการ อสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในปีนี้ได้ 2 บริษัท ขณะเดียวกับบริษัทยังรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการควบรวมกิจการอีก 2-3 บริษัท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|