การเมืองไม่กระทบตลาดเช่าสำนักงานจับตากองทุนอสังหาฯลุยซื้ออาคารเพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(10 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โจนส์ แลง ลาซาลล์ ระบุปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่มีผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ค่าเช่าและพื้นที่การเช่ายังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเช่าสำนักงานในเอเชียในไตรมาส 1 ปรับเพิ่มขึ้น จับตากองทุนอสังหาฯ ลุยซื้ออาคารสำนักงาน

น.ส.แคโรไลน์ เมอร์ฟีย์ หัวหน้าฝ่ายบริการธุรกิจอาคารสำนักงาน โจนส์ แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น แต่ไม่มีผลต่อตลาดอาคารสำนักงานในเขตกรุงเทพฯ สังเกตจากตลาดอาคารสำนักงานเกรดเอในเขตศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) มีค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ในไตรมาสแรกปีนี้ หรือร้อยละ 21.3 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มในเขตซีบีดีของกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างคึกคัก มียอดการเช่าพื้นที่เพิ่มเกือบ 16,000 ตารางเมตร และเชื่อว่าอัตราค่าเช่าจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปอีกในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้

ดร. เจน เมอร์เรย์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของโจนส์ แลง ลาซาลล์ เปิดเผยถึงภาวะตลาดอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าของเอเชียแปซิฟิกในไตรมาส 1 ของปีนี้ว่า ยังคงมีอัตราค่าเช่าโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณพื้นที่อาคารสำนักงานใหม่ๆ ในเมืองส่วนใหญ่ยังคงมีปริมาณจำกัด ในขณะเดียวกัน ความต้องการของผู้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานยังคงมีการขยายตัวตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้

"ขณะนี้ ตลาดอาคารสำนักงานของเอเชียยังคงมีสภาพแข็งแกร่ง และยังไม่มีแนวโน้มว่าอัตราค่าเช่าจะอ่อนตัวลง ตลาดอาคารสำนักงานมีความต้องการใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นจากหลายๆ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจการเงินและการธนาคาร" ดร.เมอร์เรย์กล่าว

ทั้งนี้จากปีที่แล้วต่อเนื่องจนถึงตลอดไตรมาส 1 ของปีนี้ ตลาดอาคารสำนักงานในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์และญี่ปุ่น มีอัตราค่าเช่าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเขตเซ็นทรัลของฮ่องกงปรับขึ้น 3.1% ในไตรมาสที่แล้ว หรือ 44.3% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่สิงคโปร์ปรับเพิ่ม 6.1% ในไตรมาสที่แล้ว หรือ 35.6% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เมืองใหญ่ของประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงอย่างจีนและอินเดีย มีอัตราค่าปรับตัวขึ้น

อย่างไรก็ดี การเช่าในเมืองหลัก ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ โตเกียวและซิดนีย์ มีปริมาณไม่คึกคักมากเท่าที่ควร เนื่องจากปริมาณพื้นที่เหลือเช่ามีน้อยไม่พอกับความต้องการของผู้เช่า โดยเฉพาะในโตเกียว ซึ่งพบว่า อาคารที่สร้างเสร็จใหม่ส่วนใหญ่ถูกจับจองพื้นที่เช่าล่วงหน้าไว้เกือบเต็มหมด ส่วนตลาดปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้มีผู้เช่าแสดงความสนใจจับจองพื้นที่ล่วงหน้าในอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จ อันเป็นผลพวงมาจากการผ่อนคลายกฎหมายควบคุมภาคธุรกิจการธนาคารในจีน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ขยายตัวและมีความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานเพิ่มมากขึ้น

สำหรับปริมาณพื้นที่สำนักงานเหลือเช่าในตลาดส่วนใหญ่ของเอเชีย ยังคงมีการปรับตัวลดลงเรื่อยๆ ทำให้บริษัทผู้เช่าบางส่วนเลือกพิจารณาการเช่าพื้นที่สำนักงานในอาคารในทำเลชั้นรอง ซึ่งมีพื้นที่มากพอที่จะรองรับความต้องการและมีค่าเช่าที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ดี คาดว่า แนวโน้มนี้จะไม่ส่งผลกระทบให้การขยายตัวของค่าเช่าในเขตซีบีดีชะลอตัวลง

ดร.เมอร์เรย์ กล่าวต่อว่า ในภาวะที่อัตราค่าเช่าในตลาดอาคารสำนักงานกำลังปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ พบว่า มีกองทุนจำนวนมากขึ้นที่ให้ความสนใจลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยรวมแล้ว ตลาดอาคารสำนักงานของเอเชียไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคนี้ ประกอบกับการที่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญจำนวนมากที่มองการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการซื้ออาคารสำนักงานจะมีปริมาณมากในปีนี้

นอกจากนี้การคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะหยุดการใช้นโยบายที่เข้มงวดทางด้านอัตราดอกเบี้ย เชื่อว่าจะทำให้การซื้อขายอาคารสำนักงานในเอเชียปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยเสริมสำคัญๆ คือ อัตราการจ้างงานในเอเชียมีการขยายตัว ซึ่งหมายถึงความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานที่เพิ่มขึ้น บวกกับการที่ปริมาณพื้นที่เหลือเช่าในตลาดมีจำกัด และที่สำคัญที่สุดคือ บรรยากาศที่ดีทางธุรกิจในภูมิภาค

ทั้งนี้เศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวของประเทศเอเชีย จะช่วยให้ความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานเกรดเอในตลาดอาคารสำนักงานส่วนใหญ่ของเอเชียขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป ประกอบกับการที่ปริมาณพื้นที่ใหม่มีจำกัด ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการว่างของพื้นที่เช่ายังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้บริษัทผู้เช่าพื้นที่หันไปมองทำเลที่อยู่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.