คลังไม่ลดภาษีติดตั้งเอ็นจีวีเหลือ20%สรรพสามิตเตรียมเก็บลิตรละ2บาท


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สรรพสามิต กระทรวงพลังงานและผู้ประกอบการผลิตรถยนต์พร้อมร่วมกำหนดสเปคผู้ติดตั้งเอ็นจีวีนอกโรงงานผลิตรถเพื่อเสนอครม.ในวันพรุ่งนี้ ด้าน “วราเทพ” ยืนยันจะไม่ลดภาษีจาก 30% เหลือ 20% แน่นอน ระบุอาจมีการร้องเรียนเรื่องความเป็นธรรมได้ ขณะที่กรมสรรพสามิตเผย “ทนง พิทยะ” เห็นชอบถึงเวลาที่ต้องเก็บภาษีเอ็นจีวีแล้วโดยอัตราที่เหมาะสมอยู่ที่ลิตรละ 2 บาท

นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อกำหนดแนวทางการลดภาษีรถยนต์ ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ต่างโรงงานนั้น จะไม่ลดภาษี จาก 30% เหลือ 20% เป็นอัตราเดียวกับโรงงานที่ผลิตรถยนต์เอ็นจีวีที่ติดตั้งเครื่องยนต์เบ็ดเสร็จจากโรงงาน เพราะอาจเกิดปัญหา การร้องเรียนเรื่องความเป็นธรรมได้

แต่ทั้งนี้รัฐบาลยังต้องการสนับสนุนการใช้รถประหยัดพลังงาน จึงจะมีมาตรการสนับสนุนเพื่อลดภาระต้นทุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ต่างโรงงาน แต่อาจไม่ได้ลดภาษีถึง 10% เท่ากับกับผู้ผลิตรถยนต์ติดตั้งเอ็นจีวีจากโรงงานเบ็ดเสร็จ แต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายเทียบเท่ากับต้นทุนจากการติดตั้งเครื่องยนต์ต่างโรงงาน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน กรมสรรพสามิต และผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ จะได้หารือร่วมกันในวันจันทร์ที่ 8 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมกำหนดคุณสมบัติของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่จะต้องติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวี นอกโรงงาน รวมถึงบริษัทผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน ให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 9 พ.ค.

ด้านนายสมชัย อภิวัฒนพร รองอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตเตรียมจัดเก็บภาษีก๊าซธรรมชาติ ประเภท ก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งปัจจุบันกำหนดในพิกัดภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว แต่ยังได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีอยู่ในขณะนี้ แต่ที่ผ่านมา นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่า ควรถึงเวลาเหมาะสมที่จะจัดเก็บภาษี เฉลี่ย 2 บาทต่อลิตร ส่วนจะเริ่มเก็บภาษีเมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในระดับนโยบายต่อไป

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ประเมินว่า แม้ กรมจะเริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตก๊าซเอ็นจีวี แต่เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มฐานการจัดเก็บภาษีของกรมไม่มากนัก เพราะปัจจุบัน รถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ยังมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากสถานีบริการ ยังมีจำนวนน้อย ทำให้ประชาชนยังไม่สนใจใช้มาก

โดยประกาศกรมสรรพสามิต ปัจจุบันลดอัตราภาษีให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีเบ็ดเสร็จภายในโรงงานเหลือ 20% จากอัตราจริง 30% แต่ถ้ารถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานนั้นแล้วไปติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวี ในโรงงานอื่นจะคิดภาษีในอัตรา 30% โดยคำนวณภาษีจากราคารถยนต์หน้าโรงงานรวมกับราคาเครื่องยนต์เอ็นจีวีแล้วคูณด้วย 30% ทำให้ราคารถยนต์แพงกว่ารถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีแล้วเสร็จภายในโรงงานผลิตรถยนต์

ก่อนหน้านี้ นายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการหารือกับค่ายรถยนต์ ต่างให้ความสนใจที่จะผลิตรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี เพื่อสนับสนุนนโยบายการลดภาระของประเทศจากราคาน้ำมันแพง โดยมีทั้งค่ายรถยนต์ที่ลงทุนทำไลน์ผลิตเครื่องยนต์เอ็นจีวีจากโรงงาน เช่น เบนซ์ และค่ายรถยนต์ที่มีติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวี หลังประกอบรถยนต์เสร็จสิ้น หรือ “DETROFIT” เช่น โตโยต้า โดยค่ายรถยนต์ให้ความเห็นว่า เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ประเภทนี้ก็ควรจะมีการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เอ็นจีวี แต่ยังให้ความเห็นที่แตกต่างกัน โดยบางส่วนเห็นว่า ภาษีของรถยนต์ 2 ประเภท ดังกล่าว ควรจะอยู่ในอัตราเดียวกันคือ 20% แต่บางส่วนให้ความเห็นว่ารถ DETROFIT ควรมีอัตราภาษีประมาณ 25%

“ในขณะนี้คงขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าจะลดภาษีรถยนต์เอ็นจีวีในส่วน DETROFIT เป็นเท่าใดจากอัตราภาษีรถยนต์ทั่วไปที่ 30% ซึ่งหากพิจารณาเรื่องนี้ได้เร็ว ก็คาดว่าโครงการผลิตรถยนต์เอ็นจีวีจะแพร่หลายได้เร็วขึ้น เพราะค่ายรถยนต์ไม่ต้องลงทุนไลน์ผลิต ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี โดยส่วนตัวเห็นว่าการลดอัตราภาษีลงเพียง 5% หรือเหลือเพียง 25% ก็น่าจะเพียงพอ จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ภาษี” นายวิเศษ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการโครงการส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ทดแทนน้ำมัน โดย ครม.ได้อนุมัติยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องยนต์เอ็นจีวีไปแล้ว ในขณะที่หากเป็นโครงการผลิตรถยนต์เอ็นจีวีจากไลน์ผลิต ก็ได้รับการลดภาษีจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 ซึ่งในขณะนี้มีเพียงค่ายเบนซ์เท่านั้นที่ลงทุน และจะเริ่มผลิตในปลายปีนี้ทั้งรุ่น “E-CLASS” และรถเมล์เอ็นจีวี ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆ รอความชัดเจนจากนโยบายภาษีของรัฐบาลเรื่อง “DETROFIT” โดยโตโยต้าพร้อมที่จะทำรถยนต์เอ็นจีวีรูปแบบนี้ มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะจำหน่ายให้แก่กลุ่มแท็กซี่ ในขณะที่ค่ายจีเอ็มให้ความสนใจเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.