ในบรรดานาฬิกาสวิสที่เข้ามาเปิดตลาดในไทย นับได้ว่า แทค ฮอยเออร์ (Tag Heuer)
ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เพราะจากระยะเวลาเพียง 6 ปีของการนำเข้ามาจำหน่าย
ได้พลิกสถานการณ์จากนาฬิกาที่ยังมียอดขายไม่ติดอันดับสู่การก้าวขึ้นเป็นอันดับ
3 ในตลาดนาฬิกานำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์
"ความสำเร็จของแทค ฮอยเออร์ อยู่บนพื้นฐานของสินค้าที่มีคุณภาพ และที่สำคัญการเข้าสู่ตลาดเมืองไทย
เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา นับเป็นจังหวะที่เหมาะสม เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังบูม
ทำให้เราใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีไต่สู่นาฬิกาที่มีอันดับ" สมชัย ตัณมานะศิริ
ประธานบริหารบริษัท เอ.ซี.ไอ. (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้แทนจำหน่ายนาฬิกา แทค
ฮอยเออร์ในประเทศไทย กล่าว
ปัจจุบัน แทค ฮอยเออร์ มีเครือข่ายประมาณ 100 ประเทศและมีจุดขายกว่า 7,000
แห่งทั่วโลก ปีที่ผ่านมา มียอดขายทั่วโลกประมาณ 400 ล้านฟรังก์สวิสหรือประมาณ
8,000 กว่าล้านบาท โดยปัจจุบันมียอดส่งออกเป็นอันดับ 5 ของสวิสรองจากโรเล็กซ์
คาเทียร์ โอเมก้า และสวอช.
จุดที่ทำให้แทค ฮอยเออร์ ประสบความสำเร็จนั้นมาจากการชูจุดขายความเป็นนาฬิกา
สปอร์ต และตัวของสินค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่เน้นคุณภาพ และการออกแบบซึ่งครอบคลุมมาตรฐานนาฬิกาในด้านความเที่ยงตรง
ทนทาน และสวยงามเป็นหลัก
ที่ผ่านมา พบว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายทั่วโลกมาจากภูมิภาคเอเชีย โดยมีญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่สุด
สำหรับย่านเอเชียตอนใต้ ซึ่งมียอดขายคิดเป็น 10% นั้น ไทยจัดเป็นตลาดใหญ่อันดับ
3 รองจากประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์
"เอเชียยังเป็นตลาดใหญ่ และตรงนี้ผมเชื่อมั่นว่า เราทำได้ในอนาคต 3-5
ปีข้างหน้า ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ยอดขายของแทค ฮอยเออร์ ในตลาดเมืองไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ
1 แซงหน้าเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ดี และจำนวนประชากรที่มีมากกว่า"
ฟิลิปป์ แชมป์เปียน EXECUTIVE VICE-PRESIDENT แทค ฮอยเออร์ สวิตเซอร์แลนด์
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในช่วงการเดินทางมาร่วมงานเปิดตัวนาฬิกา
แทค ฮอยเออร์รุ่น 2000 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ฟิลิปป์ กล่าวถึงการเปิดตัวนาฬิกาแทค ฮอยเออร์ รุ่น 2000 ว่าเป็นภาคที่ต่อเนื่องของต้นแบบที่ได้รับการออกแบบในปี
1982 ซึ่งในช่วงนั้นนาฬิการุ่นนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี จนกลายเป็นแนทางในการออกแบบแทค
ฮอยเออร์ตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นเพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยนาฬิการุ่น 2000 จึงถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ในปี
1996 แต่ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของแทค ฮอยเออร์ที่พยายามจะเก็บรักษานาฬิกาทุกรุ่นไว้ให้นานที่สุด
ซึ่งเมื่อถึงเวลาจะเป็นการปรับโฉมไม่ใช่เปลี่ยนโฉม
"ผมเชื่อมั่นว่า เราน่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตอนใต้ได้
เพราะจากศักยภาพการเติบโตของตลาดนาฬิกาเมืองไทยบวกกับความพร้อมของบริษัท
น่าจะมีส่วนผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ" สมชัย กล่าว
บริษัท เอ.ซี.ไอ. (ไทยแลนด์) จำกัด นับเป็นน้องใหม่ในวงการนาฬิกาที่คร่ำหวอดในวงการมานานนับครึ่งศตวรรษ
โดยเฉพาะสมชัยตัณมานะศิริ นับเป็นมืออาชีพที่ถูกหล่อหลอมประสบการณ์ในสายธุรกิจนาฬิกามาตั้งแต่แรกเกิด
กล่าวคือ หลังจากสมชัยลืมตาดูโลกได้เพียงเดือนเศษ บิดาของเขาก็เข้าสู่ธุรกิจนาฬิกาด้วยการตั้งบริษัท
ธงไทย เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในย่านเยาวราช เพื่อดำเนินธุรกิจด้านจำหน่ายนาฬิกาและอะไหล่
ตระกูลตัณมานะศิริ สานต่อกิจการจนเติบใหญ่อย่างต่อเนื่องจนสมชัยจบการึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์
และการบัญชีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นพ่อจึงตั้งบริษัทให้สมชัยดำเนินกิจการการเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาสวิสอยู่หลายยี่ห้อ
ทำให้ในยุคนั้น สมชัยเริ่มมีโอกาสเดินทางไปดูงานที่สวิตเซอร์แลนด์บ่อยครั้ง
เขาเริ่มติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงนาฬิกาสวิส จากประสบการณ์ที่ซึมเข้าไปในสายเลือดทำให้สมชัยเริ่มเห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจของนาฬิกายี่ห้อแทค
ฮอยเออร์หลังจากบริษัทแห่งนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น
สมชัย เริ่มทำการติดต่อเพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายแทค ฮอยเออร์ ในประเทศไทย
จนในที่สุด เอ.ซี.ไอ. จึงได้แทค ฮอยเออร์มาจำหน่าย โดยในช่วงปีแรก ๆ ของการเปิดตัวในไทยนั้น
เขา กล่าวว่า ตัวเลขการเติบโตเป็นไปอย่างไม่คาดคิด คือ 100% ติดต่อกันหลายปี
ซึ่งปีที่ผ่านมา แม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะไม่สู้ดีนัก แต่ยอดขายแทค ฮอยเออร์
ก็ยังมีอัตราตัวเลขการเติบโตถึง 20% ปัจจุบันแทค ฮอยเออร์มีสินค้าระดับราคาตั้งแต่
7,800-300,000 บาทขึ้นไป
"รุ่นที่ขายดีที่สุดจะเป็นรุ่นระดับราคาประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป วิธีการที่เราเลือกสินค้าแต่ละรุ่น
เราจะยึดพื้นฐานความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ซี่งตรงนี้ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ในการศึกษาตลาดพอสมควร"
ส่องสกุล สมิตะเกษตริน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด หนึ่งในผู้บริหารมืออาชีพจากเซ็นทรัล
เทรดดิ้ง ที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานกับ เอ.ซี.ไอ. เมื่อต้นปีที่ผ่านมากล่าว
กระแสการประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของรัฐ ซึ่งนาฬิกาก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่จะปรับภาษีจากเดิม
20% ลดลงเหลือเพียง 5% นั้นได้เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า จะทำให้นาฬิกาสวิสอีกหลายยี่ห้อเข้ามาเปิดตลาดในไทยและจะมีส่วนผลักดันให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นนั้น
สมชัย กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐในเรื่องดังกล่าวที่ยังไม่แน่นอน ทำให้ทุกฝ่ายต่างชะลอดูท่าที
แต่สำหรับเขาแล้วแม้โอกาสจะเปิดกว้างเพื่อเสาะหานาฬิกายี่ห้อใหม่เข้ามาเพิ่ม
แต่เอ.ซี.ไอ.ยังมีนโยบายที่จะผลักดันแทค ฮอยเออร์ แต่เพียงยี่ห้อเดียวต่อไป
เพื่อบรรลุเป้าหมายอดขายอันดับ 1 ในย่านเอเชียตอนใต้
"เป็นมารยาททางธุรกิจ เพราะแทค ฮอยเออร์ เปรียบไปแล้วก็เหมือนพ่อตาที่ให้ลูกสาวมาเป็นภรรยา
บริษัทแม่ เขาคงไม่อยากเห็นผมมีภรรยาหลายคน เพราะดูแลไม่ทั่วถึง ตอนนี้ผมเลยไม่คิดที่จะนำนาฬิกายี่ห้ออื่นมาเสริม
ขอทำตรงนี้ให้ดีที่สุดก่อน" สมชัย กล่าวในที่สุด