กรณีพิพาก "ทรู-ทีโอที" "ศุภชัย" โต้ไม่เป็นธรรม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บอร์ดทีโอที ไฟเขียวยื่นสำนวนศาลปกครองสั่งโฆฆะมติอนุญาโตฯ ที่ตัดสินให้ทีโอทีต้องจ่ายค่าเสียหายมูลกว่ากว่า 9 พันล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2545 ให้ทรู โดยเฉพาะประเด็นประธานอนุญาโตตุลาการ "ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล " สัมพันธ์ใกล้ชิดกลุ่มทรู ศุภชัย เจียรวนนท์ บิ๊กบอส "ทรู" ออกโรงโต้ "ทีโอที" ข้อกล่าวหาไม่เป็นธรรม ไร้สัมพันธ์เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ "อลิอัลซ์" ไม่ใช่นอร์มินีกลุ่มซีพี

นับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้มีมติตัดสินด้วยเสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอทีชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูเป็นมูลค่ากว่า 9,175 ล้านบาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้นับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2545 ทางทีโอทีจะต้องดำเนินการชำระภายใน 60 วันนับจากที่ผลชี้ขาด และทีโอทีจะต้องแบ่งผลประโยชน์จากการเก็บค่าบริการดังกล่าว ในอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ที่รับจริงนับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2545

ค่าเสียหายที่ทีโอทีจะต้องชำระให้ทรูในครั้งนี้ อยู่ภายใต้การคำนวณจากเลขหมายทรูคูณด้วยผลตอบแทนทีโอทีที่ได้รับ แล้วนำไปหารจากจำนวนเลขหมายทั้งหมดของทีโอที ทรู ทีทีแอนด์ทีเมื่อได้ตัวเลขแล้วดังกล่าวก็จะหารด้วย 2 อีกทั้งทีโอทีจะต้องจ่ายไปจนกว่าจะหมดอายุสัมปทานอีกด้วย

ผลการตัดสินดังกล่าวเหนือความคาดหมายของทีโอที ทำให้ทีโอทีมองว่า น่าจะมีความไม่ชอบมาพากลในมติของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะตัวประธานที่ชื่อ "ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล" ว่าถูกซื้อตัวไปโดยกลุ่มทรูจึงทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้การตัดสินดังกล่าวออกมาในทางลบต่อกลุ่มทรู ไม่ว่าจะเป็นการขู่จะยกเลิกสัญญาสัมปทานของทรู แม้กระทั่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วางพวงหรีดประท้วงถึงหน้าตึกทรูของพนักงานทีโอที เรื่องราวดังกล่าวก็เงียบหายไป

จนเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ โดยออกมาแถลงโดยปริญญา วิเศษศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักงานกฎหมาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่า ทางทีโอทีได้ส่งตัวแทนยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาเพื่อขอให้เพิกถอนคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีวินิจฉัยคดีที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่มีการเรียกเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญาของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนโดยไม่มีการแบ่งรายได้ให้กับทรู

สำนวนที่ยื่นฟ้องศาลปกครองในครั้งนี้ของทีโอที ทางสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ ประธานบอร์ดทีโอทีได้มอบหมายให้เข็มชัย ชุติวงศ์ และกฤษณรักษ์ ธีรรัฐ กรรมการบอร์ดเป็นผู้ลงนามเอกสาร แทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ไม่มีใครดำรงตำแหน่งอยู่ในเวลานี้ ศาลปกครองสูงสุดได้รับเรื่องเป็นคดีดำ หมายเลข 709/2549 และศาลจะพิจารณา ว่าจะรับฟ้องหรือไม่ภายใน 30 วัน

ประเด็นที่ยื่นเรื่องเพื่อเพิกถอนคำตัดสินครั้งนี้ ทางสำนักกฎหมายทีโอทีได้ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดศึกษาพร้อมแยกประเด็นเนื้อหาตามหลักกฎหมายให้มีน้ำหนักมากที่สุด เพื่อศาลปกครองสูงสุดจะรับพิจารณา และหากศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินรับฟ้อง คดีความดังกล่าวก็จะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าจะสิ้นสุดภายใน 1 ปี

"ยังมีบางเรื่องที่ทาง ทรู นั้นรู้อยู่แก่ใจลืมนึกถึงบางประเด็นไป ไม่เช่นนั้นก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มทรู จะเข้ามาเจรจาหาทางออกให้เกิดข้อยุติ"

ประเด็นหลักที่ทางทีโอทีเสนอให้ศาลปกครองพิจารณา 5 ประเด็น ประกอบไปด้วย หนึ่ง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีความชอบธรรม ไร้ความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาคดีความ เนื่องจากพบว่า ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล ประธานคณะอนุญาโตตุลาการมีส่วนได้เสียและมีความเกี่ยวพันกับทางทรูซึ่งเป็นคู่พิพาทของทีโอที โดยปัจจุบัน ประสิทธิ์ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัดซึ่งเป็นหนึ่งบริษัทในเครือซีพี และดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือซีพีเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีความย่อมต้องพิจารณาถึงประโยชน์ส่วนตนด้วย

สอง การเรียกเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญาของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนนั้นมีมาก่อนที่ทีโอทีจะทำสัญญาร่วมการงานกับทรู และทางทรูก็รู้อยู่ก่อนแล้วจึงไม่มีความจำเป็นที่ทีโอทีต้องจ่ายส่วนแบ่งดังกล่าวให้เอกชนคู่สัญญา

สาม การคำนวณค่าเสียหายไม่ได้เป็นสูตรที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างทีโอทีกับทรูจึงถือว่าไม่มีบรรทัดฐานในการคิดค่าเสียหาย

สี่ คำวินิจฉัยเกินคำขอ คือ ตามหลักการจ่ายเงินค่าเสียหายทีโอทีสามารถหักจากส่วนแบ่งรายได้ของ ทรูได้ แต่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท ภายใน 60 วันนับแต่มีคำตัดสิน และห้า คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาร่วมการงาน ที่ให้คู่กรณีรับทราบถึงการคิดค่าเสียหาย อีกทั้งไม่มีการนำสืบให้เห็นว่า ทรูเกิดความเสียหายถึง 9 พันล้านบาทได้อย่างไร

"นี่เป็นเพียงยกแรก ที่เราจะสวนหมัดกลับ เพราะจะให้ทรู นั้นเข้าใจถึงความเป็นคู่สัญญาที่ดี ซึ่งบางเรื่องนั้นรู้อยู่แก่ใจ และสัญญานั้นเขียนไว้อย่างชัดเจน อย่างเรื่องค่าแอ็คแซสชาร์จนั้น ทำไมถึงต้องออกมาเรียกร้องให้เป็นบริการพิเศษ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทรู นั้นทราบดี ดังนั้นหากเขาอยากได้ขาเข้า ก็ไม่เป็นไร แต่ขาออกนั้นทำไมไม่นึกถึง ดังนั้นหากอยากได้ เราก็อยากได้บ้าง ซึ่งมูลค่าที่เราจะได้ก็สูงกว่านี้อีกหลายเท่า ทรู ไม่ควรที่จะเล่นบทพ่อค้ามากเกินไป"

จากสำนวนที่ทางทีโอทีได้ยื่นต่อศาลปกครองดังกล่าว ทางกลุ่มทรู ได้ออกมาแถลงรายละเอียดต่อเรื่องดังกล่าวประมาณ 3-4 วัน โดยทางศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัดได้ออกมาชี้แจงพร้อมเอกสาร ร่วมกับอถึก อัศวานันนท์ รองปธะธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารทางด้านกฎหมาย

"เรื่องของคุณประสิทธิ์ โฆวิไลกุล ผมไม่ทราบมาก่อนว่า เป็นกรรมการในซีพี อาลิอันซ์ เมื่อผมสอบถามว่า ต่างก็บอกว่า ไม่ใช่กรรมการของซีพี แต่เป็นกรรมการในซีกของอาลิอันซ์" ศุภชัย เจียรวนนท์เริ่มต้นการชี้แจงกรณีที่ทางทีโอทีร้องเรียนต่อศาลปกครองถึงว่า ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล ประธานคณะอนุญาโตตุลาการมีความใกล้ชิดกับกลุ่มทรู

ศุภชัยจึงได้สั่งให้ทางทีมงานทางด้านกฎหมายของทรูทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ภายในช่วง 2 วันและได้ทำการออกมาชี้แจงต่อเรื่องดังกล่าว

"ประเด็นที่ทีโอทีออกมากล่าวอ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อทรู และบิดเบือนข้อเท็จจริง"

โดยศุภชัยบอกว่า กระบวนการคัดเลือกคณะอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นไปตามขั้นตอนตามระเบียบของสำนักงานอนุญาโตตุลาการ และมีความโปร่งใส ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ให้การรับรองซึ่งได้มีการลงนามเห็นชอบร่วมกัน ในการประชุมครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 ที่เลือกนายประสิทธิ์เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทางนายประสิทธิ์ได้ทำการชี้แจงถึงการเข้ามามีส่วนได้เสีย นายประสิทธิ์ก็ได้ยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อ 20 พฤษภาคม 2547 เพื่อให้มีการคัดค้านได้หากเห็นไม่เหมาะสม ในการเข้ามาเป็นกรรมการอิสระในบริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัด หากมีใครคัดค้านได้ก็ให้ดำเนินการคัดค้านได้ก่อนวันที่ 3 มิถุนายน 2547 นายปริญญาเองได้มีการลงนามรับทราบในเรื่องดังกล่าว แต่ทำไมไม่มีการโต้แย้งหรือคัดค้านในการประชุมครั้งนั้น ซึ่งในจุดนั้นก็ได้ผ่านมา เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นและสงสัยต่อการให้ข้อมูลของทีโอทีที่บอกว่าไม่รู้กับเรื่องราว

"การออกมาชี้แจงครั้งนี้ ผมยืนยันได้ว่า ทรูทำตามขั้นตอนทุกอย่าง เรื่องนี้ก็ดำเนินการมาเป็นเวลาถึง 3ปีและได้ข้อยุติแล้ว แต่ทีโอทีกลับไม่ยอมรับพร้อมกับกล่าวหาตัวบุคคล ทำไมวันนั้น ทีโอทีถึงไม่คัดค้านพอมาวันนี้ก็ออกมายกมูลเหตุที่ไม่ใช่ "

อธึก อัศวานนท์ได้อธิบายถึงกระบวนการคัดเลือกคณะอนุญาโตตุลาการจำนวน 3 คนว่า มาจากการคัดเลือกทั้งจากทางฝั่งทรู และทีโอที โดยทรูและทีโอทีทำการคัดเลือกมาฝ่ายละ 1 คนรวมเป็น 2 คน ต่อจากนั้นในการเลือกคนทำหน้าที่ประธานหรือคนกลาง ทรูและทีโอทีจะต้องเสนอรายชื่อของคนที่ตัวเองต้องการมาฝ่ายละ 3 คนรวมเป็น 6 คน และส่งรายชื่อมาให้ที่สำนักงานอนุญาโตตุลาการ โดยรายชื่อเหล่านี้เป็นความลับทั้งหมด จากนั้นสำนักงานอนุญาโตตุลาการก็เสนอชื่อเข้าไปในโผรายชื่อนี้อีก 3 คน จึงรวมเป็น 9 คน

"ดังนั้นรายชื่อที่มีสำหรับเลือกประธานจึงมี 9 คน ไม่มีใครรู้ว่าอีกฝั่งหนึ่งเสนอชื่อใคร เพราะจะมีการสลับรายชื่อโดยไม่มีการระบุไว้ในบัญชีรายชื่อ จากนั้นทั้งทีโอทีและทรูต้องให้คะแนนผู้ที่ต้องการเลือกมากที่สุดในบัญชีรายชื่อที่ส่งมาให้ แล้วส่งมาให้สำนักงานอนุญาโตตุลาการรวบรวมคะแนน ผลการพิจารณาคัดเลือกในครั้งนั้น ปรากฏว่า นายประสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อและได้การยอมรับ"

อถึกยังบอกอีกว่า อาจารย์ประสิทธิ์ โฆวิไลกูลได้รับการแต่งตั้งด้วยความโปร่งใส การที่เป็นกรรมการในบริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัด นั้นเป็นตัวแทนในฝ่ายของอลิอันซ์ไม่ใช่ฝ่ายซีพี

"อยุธยา อลิอันซ์ ซีพีเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือซีพีที่ถือหุ้น 50% ที่เหลือเป็นบริษัทอื่นและบริษัท อาลิอันซ์จากประเทศเยอรมนี เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจประกันวินาศภัย หากดูจากที่มาแล้วจะเห็นว่า อาจารย์ประสิทธิ์เป็นตัวแทนที่เข้ามาดูแลผลประโยชน์ที่ทางฝั่งอลิอันซ์เลือกมามากกว่า ไม่ได้เป็นนอร์มินีของกลุ่มซีพีแต่ประการใด"

อถึกยังบอกอีกว่า การจัดตั้งอนุฯโตตุลาการชุดนี้ ทางทีโอทีรับทราบมาโดยตลอด และเชื่อว่า มติของอนุญาโตตุลาการในครั้งนี้ถูกต้อง หากไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบให้บริษัทเอกชนรายอื่นๆ กลัวเรื่องการตั้งอนุญาโตตุลาการกับภาครัฐ เพราะถ้าดำเนินการต่างๆ ถูกต้องแล้วยังแพ้คดีต่อไปคงไม่มีเอกชนรายใดกล้ามาทำสัญญากับภาครัฐ

ศุภชัย เจียรวนนท์กล่าวเสริมว่า การยื่นเพิกถอนคำตัดสินของทีโอทีทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท แต่ทีโอทีควรที่จะเคารพกติกา เพราะกระบวนการต่างๆ ทำไปตามสัญญาสัมปทานทั้งสิ้น และหวังว่าศาลปกครองจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน ไม่ยืดติดว่าเป็นรัฐหรือเอกชน

"ที่ผ่านมา ทรู ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากกว่า และยินดีจะเจรจากับ ทีโอที หากต้องการยุติเรื่องดังกล่าว และอยากจะบอกว่า ให้ทีโอทีมองทรูเป็นพันธมิตรมากกว่าคู่แข่ง เพราะคู่แข่งที่แท้จริง คือ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาให้บริการโทรศัพท์มือถือแล้วมากกว่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.