แนวโน้มที่สำคัญของนวัตกรรม

โดย พสุ เดชะรินทร์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เริ่มไว้ในเรื่องของความสำคัญของนวัตกรรม โดยในตอนท้าย ได้นำเสนอรายชื่อบริษัทที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น most innovative companies จำนวน 25 บริษัท ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจของนิตยสาร Business Week ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอเนื้อหาในประเด็นอื่นที่น่าสนใจจากผลการสำรวจของ Business Week กับ BCG นะครับ

สิ่งที่เขาค้นพบจากบริษัทต่างๆ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น most innovative นั้นก็คือไม่มีรูปแบบหรือวิธีการที่เป็นมาตรฐานที่จะทำให้องค์กรมีความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม หรืออีกนัยหนึ่งคือเราไม่สามารถจัดทำคู่มือมาตรฐานสำหรับการทำให้องค์กรมีความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมได้ครับ สำหรับองค์กรแต่ละแห่ง และจากแต่ละอุตสาหกรรมต่างมีแนวทางในการสร้างความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดีผลจากการสำรวจในครั้งนี้ทำให้ได้พบแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับการทำให้เกิดความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมทั้งหมด 5 ประการดังนี้ครับ Open Innovation, Leadership, Innovation Metrics, Collaboration, Customer Insight เรามาดูแนวโน้มทั้งห้าประการนี้โดยคร่าวๆ นะครับ

เรื่องแรก คือ Open Innovation ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่สำคัญของนวัตกรรมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรจำนวนมากที่มุ่งเน้นเรื่องของนวัตกรรมได้เลิกปิดกั้นตนเองแต่เฉพาะในองค์กรต่อไป โดยได้หันมาใช้บริการจากบรรดาลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร ต่างๆ มากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่แทนที่จะเก็บและปิดเงียบอยู่ภายในบริษัทเหมือนในอดีต บริษัทจำนวนมากกลับพยายามใช้ประโยชน์จากบรรดาชุมชนต่างๆ บนเน็ต ให้ได้มีส่วนร่วมในการคิดและพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น เรื่องของ Open Innovation เองเหมือนจะเป็นสัญญาณที่จะบ่งบอกว่าหมดยุคของนวัตกรรมที่เกิดจากภายในองค์กรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่องค์กรต้องพร้อมที่จะเปิดและรับฟังความคิดจากภายนอกองค์กรมากขึ้น และต้องรู้จักที่จะนำไอเดียเหล่านั้นกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในองค์กร

เรื่องที่สอง คือบทบาทของผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากมีผลการสำรวจที่พบว่ากว่าร้อยละ 50 ขององค์กรต่างๆ ผู้บริหารสูงสุดจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมขึ้นภายในองค์กร ซึ่งเรื่องนี้ก็พบว่าเป็นจริงเหมือนกันที่เมืองไทยครับ จะสังเกตได้ว่าความจำเป็นและเร่งด่วนในเรื่องของนวัตกรรมนั้นจะมาจากผู้บริหารระดับสูงเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาเองจะให้ความสำคัญกับนวัตกรรมน้อยกว่าผู้บริหารระดับสูง

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผู้บริหารระดับสูงได้มองเห็นภาพรวมของทั้งองค์กรและเห็นถึงความจำเป็นของนวัตกรรม อีกทั้งผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาจะต้องคอยทำงานประจำต่างๆ ให้แล้วเสร็จ ดังนั้นทำให้ไม่มีโอกาสมานั่งคิดเรื่องนวัตกรรมเท่าผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ให้ความสำคัญและผลักดันอย่างต่อเนื่องต่อนวัตกรรมนั้น สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือพอลงมาถึงผู้บริหารระดับรองๆ ลงมา เรื่องนวัตกรรมก็จะค่อยๆ เลือนหายไป ดังนั้นเพื่อให้องค์กรของตนเองมุ่งเน้นในเรื่องนวัตกรรม ผู้บริหารระดับสูงอาจจะต้องลงมาเล่นและผลักดันแนวคิดนี้ด้วยตนเอง

เรื่องที่สาม คือตัวชี้วัดทางด้านนวัตกรรม ซึ่งก็ชัดเจนและตรงไปตรงมาครับ เนื่องจากถ้าเราวัดไม่ได้เราก็ไม่สามารถที่จะบริหารหรือพัฒนาได้ ดังนั้นถ้าไม่มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเรามีความสามารถทางด้านนวัตกรรมเพียงใด

ผลการสำรวจพบว่ามีบริษัทร้อยละ 63 ที่มีตัวชี้วัดทางด้านนวัตกรรม 0 - 5 ตัว ร้อยละ 19% ที่มีตัวชี้วัดด้านนวัตกรรม 6-10 ตัว และร้อยละ 5 ที่มี 11-15 ตัว ส่วนตัวชี้วัดที่ใช้ส่วนใหญ่นั้น เรียงจากการใช้มากที่สุดไปหาน้อยที่สุดได้แก่ การเติบโตของรายได้ (56%) สัดส่วนของรายได้จากสินค้าหรือบริการใหม่ (50%) ระดับความพึงพอใจของลูกค้า (47%) ผลตอบแทนจากการลงทุนในนวัตกรรม (30%) จำนวนสินค้าหรือบริการใหม่ (30%) สัดส่วของสินค้าหรือบริการที่ประสบความสำเร็จ (20%) ราคาที่สูงขึ้น (11%)

นอกจากนี้ เรื่องที่สำคัญและน่าสนใจอีกประการเกี่ยวกับตัวชี้วัดก็คือ พอลงมาตัวชี้วัดในระดับบุคคลแล้วบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรม จะมีตัวชี้วัดที่อาจจะดูคลุมเครือหน่อยสำหรับวัดผู้บริหารในระดับต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับนวัตกรรม เช่น บริษัทหนึ่งจะวัดในการยอมหรือพร้อมที่จะเสี่ยงของผู้บริหาร หรือ ที่ยักษ์ใหญ่อย่าง GE จะวัด Imagination and Courage ซึ่งเราอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่จับต้องลำบาก แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผู้บริหารได้พยายามที่จะคิดสร้างสรรค์และมุ่งเน้นนวัตกรรมมากขึ้น

เรื่องที่สี่ คือการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร เนื่องจากการที่จะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมได้นั้น จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของการทำงานแบบไร้พรมแดน (กั้นระหว่างแต่ละหน่วยงาน) รวมทั้งอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมด้วย

เรื่องสุดท้าย คือการเข้าถึงจิตใจของลูกค้า (Customer Insight) ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การทำ Focus Group เท่านั้นนะครับ แต่เป็นความพยายามที่จะเข้าถึงจิตใจและสิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริงด้วยวิธีการต่างๆ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อทุกองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรม ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเวลาองค์กรจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นั้นไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริหารหรือคนในองค์กรเป็นหลัก แต่ยังคงยึดถือความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพียงแต่องค์กรจะมีแนวทางหรือวิธีการใดในการที่จะเข้าถึงจิตใจหรือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ดีกว่ากัน

สัปดาห์นี้ก็ขอนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับแนวโน้มที่สำคัญทางด้านนวัตกรรมมาให้พิจารณานะครับ แต่จริงๆ แล้วยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับนวัตกรรมอีกมากในวารสาร Business Week ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองหาอ่านกันได้ครับ

ก่อนจบผมขอประชาสัมพันธ์เว็บของผมเองอีกครั้งครับ หลังจากที่เปิดมาได้ประมาสองเดือนก็มีคนเข้ามาแวะเวียนกันพอสมควร ตอนนี้ก็มีพวกเนื้อหา บทความต่างๆ ทางด้านการจัดการพอสมควร และใหม่สุดตอนนี้คือทำเป็น netcast นั้นคือเป็นไฟล์เสียงของผม (ตอนนี้กำลังพูดเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์อยู่ครับ) พร้อมทั้ง powerpoint ให้ดูตามได้ด้วย ลองเข้าไปดูนะครับ ที่ www.pasuonline.net พร้อมทั้งยินดีรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมครับการเข้าถึงจิตใจของลูกค้าซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การทำ Focus Group แต่เป็นความพยายามที่จะเข้าถึงจิตใจและสิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริงด้วยวิธีการต่างๆ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อทุกองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.