|

แหล่งอาทิตย์เลื่อนส่งก๊าซฯฉุดปริมาณขายPTTEPปี50หด-หวั่นJDAซ้ำรอย
ผู้จัดการรายวัน(4 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ( PTTEP) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มว่าโครงการอาทิตย์จะเลื่อนการส่งก๊าซธรรมชาติจำนวน 300 ล้านลบ.ฟุต/วันจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนเม.ย. 2550 เนื่องจากปัญหาการตึงตัวของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทำให้เกิดการแย่งเครื่องมือ อุปกรณ์ อาทิ วาล์ว ท่อ และตัวบุคลากร ซึ่งบริษัทฯจะพยายามที่จะให้เกิดความเสียหายจากการเลื่อนโครงการดังกล่าวให้น้อยที่สุด ในเบื้องต้นคาดว่าแหล่งอาทิตย์จะเริ่มผลิตได้ปลายปี 2550 หรืออย่างช้าต้นปี 2551
ความล่าช้าของโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับประมาณการยอดขายปิโตรเลียมในปี 2550 ที่เดิมเคยกำหนดไว้ที่ 2.24แสนบาร์เรล/วัน ปรับลดลง 3.7 หมื่นบาร์เรล/วัน ลดลงเหลือเพียง 1.87 แสนบาร์เรล/วัน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯจะพยายามที่จะจัดหาก๊าซฯ และน้ำมันจากแหล่งอื่นๆเพิ่มเติม อาทิ โครงการเวียดนาม 9-2 โครงการโอมาน 44 เป็นต้น เพื่อชดเชยปริมาณก๊าซฯแหล่งอาทิตย์ที่หายไป
ส่วนผลกระทบโรงไฟฟ้าจากการส่งก๊าซฯล่าช้าออกไปนั้น ตนเชื่อว่าคงไม่ส่งผลกระทบโรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าก็คงก่อสร้างต่อไป เนื่องจากจะหาพลังงานอื่นจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาป้อนแทน และการเติบโตด้านพลังงานยังเป็นอย่างไร
“ ทางบริษัทได้แจ้งกับกระทรวงพลังงาน และปตท. ในฐานะผู้รับซื้อก๊าซฯจากโครงการอาทิตย์แล้วว่าจะมีการเลื่อนการส่งมอบก๊าซออกไป คาดว่าจะกำหนดเวลาส่งก๊าซฯของโครงการอาทิตย์ที่แน่นอนได้ในไตรมาส 3 หรือ 4 ได้ ส่วนเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซฯว่าจะถูกปรับหากมีการเลื่อนส่งก๊าซฯหรือไม่อย่างไร ก็คงต้องมาดูกันอีกครั้ง แต่ในเบื้องต้น บริษัทก็พยายามหาแนวทางแก้ไขอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในแหล่งอื่น หรืออาจนำก๊าซแหล่งอาทิตย์บางส่วนขึ้นมาใช้ก่อนให้เร็วที่สุด แม้จะไม่เต็มที่ 330 ล้านลบ.ฟุต/วันก็ตาม โดยบริษัทฯพร้อมที่จะเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นก็ตาม เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศมากกว่า "
อย่างไรก็ตาม จากความตึงตัวของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในช่วงนี้ ทำให้บริษัทฯกังวลว่าโครงการพื้นที่ร่วมพัฒนาไทย-มาเลเซีย (JDA) ที่เดิมกำหนดไว้ว่าจะแล้วเสร็จส่งก๊าซฯได้ในกลางปี 2551 อาจจะต้องเลื่อนออกไปเช่นเดียวกับแหล่งอาทิตย์ แต่ทั้งนี้ บริษัทฯจะยังคงเป้าหมายเดิมไว้ก่อน จนกว่าจะมั่นใจจึงจะประกาศเลื่อนอีกครั้ง
นายมารุต กล่าวว่า ในปี 2549 บริษัทได้มีการปรับประมาณการขายปิโตรเลียมจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.9 แสนบาร์เรล/วัน ลดลงเหลือ 1.79 แสนบาร์เรล/วัน เนื่องจากได้มีการรีวิวตัวเลขการผลิตใหม่ที่แหล่งB8/32 นอกจากนี้ แหล่งนางนวลได้มีการลดปริมาณการผลิตเหลือเพียง 800-1,000 บาร์เรล/วัน เนื่องจากมีน้ำเข้าไปในหลุมเจาะทำให้ต้องหยุดหรือลดปริมาณการผลิตลง
ปัจจุบันปตท.สผ.มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมอยูที่ 950 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านบาร์เรล รวมทั้งบริษัทมีเงินสดในมือถึง 3.57 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะลงทุนในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม M7 & M9ที่พม่า ประสบความสำเร็จ ทางปตท.สผ.มีแผนจะออกหุ้นกู้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาทในต้นปี 2550 เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการที่พม่า
ปตท.สผ. พร้อมส่งก๊าซฯให้โอมานก.ค.นี้
นอกจากนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อส่งก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทจากแหล่งชามส์ (Shams) ในโครงการโอมาน 44 ให้กับกระทรวงน้ำมันและก๊าซของโอมานตามกำหนดก.ค. 2549 ในอัตราประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทในอัตราประมาณ 4,000 บาร์เรลต่อวัน การส่งก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทในครั้งนี้ จะเป็นการส่งก๊าซฯ ครั้งแรกของ ปตท.สผ. ให้กับประเทศในตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ บริษัทจะลงนามในข้อตกลงกับกระทรวงน้ำมันและก๊าซประเทศโอมานหลังชนะการประมูลและได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลง 58 ในเดือนมิ.ย.นี้ โดยแปลงสำรวจดังกล่าวคาดว่าจะมีศักยภาพเป็นน้ำมันดิบ
รวมทั้ง บริษัทฯ ค้นพบน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปริมาณมากในโครงการเวียดนาม 16-1 ซึ่งบริษัทฯ จะเร่งพัฒนาแปลง 16-1 และแปลง 9-2 ซึ่งอยู่ติดกันให้สามารถผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้เร็วกว่าแผนเดิมในปี 2552 โดยแปลง 9-2 ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามให้สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์แล้วคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ในอัตราประมาณ 20,000 บาร์เรล/วันในปี 2550
ส่วนปัญหาความตึงเครียดในอิหร่านและเหตุการณ์ที่รัฐบาลประกาศยึดแหล่งก๊าซในโบลิเวียนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับธุรกิจพลังงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการประเมินความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยจะศึกษาทั้งด้านกฎหมาย ภาษี และทรัพยากรต้องคุ้มค่าที่จะลงทุน ซึ่งขณะนี้บริษัทฯได้เข้าไปลงทุนแปลงสำรวจบนบกซาเว่ห์ ในอิหร่านนั้น บริษัทยังไม่มีความกังวล เนื่องจากเพิ่งเข้าไปลงทุนสำรวจ
กำไรQ1/49 แตะ7,800 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2549 ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 22,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 68% และมีกำไรสุทธิ 7,839 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้จากการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 34.28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิต ภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 25.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
รวมทั้งปริมาณการขายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 171,508 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 142,685 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เป็นผลจากการขายน้ำมันดิบของโครงการ B8/32 & 9A และโครงการ S1 และการขายก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทของโครงการไพลินและโครงการบงกช
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|