|
ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2-3 มีสิทธิ์ร่วงส่งออก-ใช้จ่ายภาคเอกชนตัวแปรสำคัญ
ผู้จัดการรายวัน(3 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มี การประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำเดือนมีนาคม 2549 ออกมา ก็เริ่มมีการพูดถึงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส แรกของปี...โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยนำร่องประเมินตัวเลข GDP ในไตรมาสแรก ปี 2549 ที่จะประกาศในต้นเดือนมิถุนายนว่า อาจจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2548
ทั้งนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าที่จะมีอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกของปี 2549 นี้ สูงกว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 ที่ผ่านมา เนื่องจากตัวเลขในด้านการผลิต ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ-ท่องเที่ยว ล้วนมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าในไตรมาสก่อนหน้าทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ซึ่งถูกกระทบจากผลกระทบเหตุการณ์ธรณีพิบัติในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ และภาวภัยแล้ง ในขณะที่ภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะ การลงทุนกลับมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปัจจัยลบต่างๆที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ
นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส แรกดังกล่าวยังได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการส่งออกและฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยในช่วงไตรมาสแรก ปี 2549 การส่งออกขยายตัวสูงร้อยละ 17.9 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 5.4 ประกอบกับการเกินดุลในภาคบริการ รายได้และเงินโอน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมูลค่า 1.66 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าเกินดุลรายไตรมาสที่สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส และเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้า ที่มีการขาดดุลมูลค่าถึง 1.41 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2549 จะขยายตัวในอัตราที่สูง แต่คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อาจจะชะลอลงในไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ปัจจัยกดดันต่อการ บริโภคภายในประเทศ คือราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารพาณิชย์ อาจจะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุด ในขณะที่การส่งออกเองก็อาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากต้อง เทียบกับฐานที่สูงในไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า
ส่งออก-การบริโภคภาคเอกชนยังเป็นตัวแปรสำคัญ
ทั้งนี้ ตัวแปรเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของเดือนมีนาคม 2549 โดยสรุปจะเป็นด้านการส่งออกในเดือนมีนาคม 2549 ที่มีมูลค่าสูงสุด เป็นประวัติการณ์ ขณะที่การนำเข้าในเดือนมีนาคม 2549 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากร้อยละ 15.3 ในเดือนกุมภาพันธ์
ด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขยายตัวดีขึ้นในเดือนมีนาคม 2549 แม้ว่าภาวะการบริโภคยังเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผล ของการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำของปีก่อน โดยรายการหลักๆ ของดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน, ยอดขายรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่อภาวะการบริโภคยังมีสูงอันเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ซึ่งทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี นับจากเดือนมิถุนายน 2545
และการลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงมากในเดือนมีนาคม ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index) ขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับร้อยละ 5.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเป็นผลจากการหดตัวลงของยอดขายปูนซีเมนต์ และยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ กิจกรรมการลงทุนในด้านก่อสร้างและยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ มีทิศทางชะลอตัวจากฐานที่ขยายตัวสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
คาดเดือนเม.ย.การบริโภค-ลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้น
สำหรับแนวโน้มในเดือนเมษายน ปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาวะการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน น่าจะยังคงถูกกระทบจากภาวะราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติครั้งใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หรือ Headline Inflation ที่เพิ่มขึ้นไปถึงระดับร้อยละ 6 จากร้อยละ 5.7 ในเดือนมีนาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 2.6 ในเดือนมีนาคม รวมทั้งผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจัยดังกล่าวรวมไปถึงปัญหา ความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจยังเป็นผลลบต่อความ เชื่อมั่นของภาคเอกชน ในขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายนนั้น ก็อาจจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกของไทย ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้อาจจะส่งผลให้อัตราการ ขยายตัวของการบริโภค การส่งออก และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ชะลอตัวลงในเดือนดังกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|