"ล็อบบี้ยิสต์" คือ ฉายาที่ไพศาล พืชมงคล มือกฎหมายแห่งสำนักกฎหมายธรรมนิติ
ได้รับมาหมาด ๆ หลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทสไทย
(ทศท.)
แม้ว่าอาชีพหลักของไพศาล คือ นักกฎหมาย แต่คนในวงการโทรคมนาคมกลับพร้อมใจกันเรียกเขาว่า
"นักประสานผลประโยชน์" แห่งพรรคความหวังใหม่มากว่า
หากเอ่ยชื่อของไพศาล พืชมงคล ในธุรกิจโทรคมนาคมเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว คงแทบไม่มีใครรู้จัก
แต่สำหรับวงการค้าความด้วยกันแล้ว แทบไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของเขา
ไพศาล ปลุกปั้นธรรมนิติจากสำนักงานทนายความเก่าแก่ จนมีชื่อเสียงจัดอยู่ในอันดับต้นๆ
ของสำนักงานทนายความใหญ่ที่สุดของไทยจนหลายคนคิดว่า เขาเป็นผู้ก่อตั้งสำนักงานทนายความแห่งนี้
ไพศาลมีพื้นเพเป็นชาวอำเภอระโนดจังหวัดสงขลา มีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ครอบครัวค้าขายอยู่ในตลาดระโนด
ไพศาลเป็นลูกชายคนโตมีน้องอีก 5-6 คน ซึ่งตามธรรมเนียมจีนแล้วลูกชายคนโตหากไม่สืบทอดธุรกิจก็มักจะส่งเสียให้เรียนสูง
ๆ ซึ่งไพศาลเลือกอย่างหลัง
ไพศาลจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 12 สมัยเรียนเคยสอบผ่านวิชา
"วิแพ่ง" ด้วยคะแนน 84% มาแล้ว ซึ่งในยุคนั้นนักกฎหมายจะวัดความเก่งกาจกันด้วยวิชานี้
หากใครได้คะแนนเกิน 70% ต้องถือว่าเยี่ยมมาก
เริ่มทำงานครั้งแรกที่บริษัทสากลสถาปัตย์ของเกียรติ วัธนเวคิน แต่อยู่ได้ไม่นานถูกทาบทามจากประดิษฐ์
เปรมโยธิน ผู้ก่อตั้งสำนักงานทนายความธรรมนิติ
ต่อมาภายหลังเมื่อประดิษฐ์ เสียชีวิตลงในปี 2520 ไพศาลซึ่งในเวลานั้นเป็นทนายความอาวุโสอันดับ
1 ในธรรมนิติเป็นผู้รับช่วงผู้ดำเนินงานต่อ
หลังไพศาลเข้ามาบริหารธรรมนิติได้นำเอารูปแบบของบริษัทจำกัดมาใช้กับงานอาชีพทนายความ
ทำให้ทนายความของธรรมนิติมีเงินเดือนประจำ มีโบนัสปลายปี แทนที่จะได้รับส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์จากการว่าความตามธรรมเนียมที่เคยนิยมปฏิบัติกันมา
ผลงานในครั้งนี้ได้สร้างชื่อให้กับไพศาลและธรรมนิติไม่น้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ธรรมนิติในยุคไพศาล ยังได้ชื่อว่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายภาษีอากรและบัญชีเป็นอย่างมาก
ซึ่งเป็นจุดที่สร้างชื่อเสียงให้กับธรรมนิติค่อนข้างมาก
ไพศาล เคยว่าความคดีสำคัญ ๆ ทางธุรกิจมาหลายคดี เช่น คดียึดแบงก์แหลมทอง
ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และสุระจันทร์ จันทร์ศรีชวาลา
โดยไพศาลรับเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับสมบูรณ์ แต่ภายหลังสมบูรณ์ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สูญเสียแบงก์ให้กับสุระจันทร์ไปในที่สุด
แม้ไพศาลจะไม่ใช่หนึ่งในท็อปเทนของทนายความชื่อดังของไทย แต่ไพศาลได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความคิดแปลกใหม่
และกว้างไกลแตกต่างไปจากทนายทั่วไป
ธรรมนิติในยุคของไพศาล จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานบัญชีเท่านั้น
แต่ยังขยายไปทำธุรกิจรับจัดสัมมนาทางด้านภาษีอากรและบัญชีและยังมีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง
เพื่อพิมพ์ตำราทางด้านภาษี เรียกว่าทำแบบครบวงจร ซึ่งก็นับเป็นจุดที่แตกต่างจากสำนักทนายความอื่น
ๆ อย่างชัดเจน
"ไพศาลเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก เป็นนักคิดนักวางแผน
เป็นคนมีไอเดียมาก คิดเร็ว เขียนเร็ว" คนใกล้ชิดกับไพศาลสะท้อนถึงบุคลิกของไพศาล
ไพศาลจัดเป็นหนอนหนังสือตัวยง หนังสือที่ชื่นชอบและมักหยิบมาอ่านเป็นประจำ
คือ ตำราพิชัยสงคราม, สามก๊ก เขามักสอนลูก ๆ อยู่เสมอว่า ควรจะอ่านหนังสือไม่ต่ำกว่าปีละพันเล่ม
ไพศาลยังชอบเขียนหนังสือ แต่งกลอน เคยแต่งเนื้อเพลงธรรมนิติคู่ไทย ไว้เป็นเพลงประจำของธรรมนิติกรุ๊ป
ยังชอบศึกษาวงโคจรของดวงดาวในแง่ของโหราศาสตร์ เคยเขียนเรื่องโหราศาสตร์ดวงดาวลงในหนังสือพิมพ์มติชนมาแล้ว
"หมากรุก" เป็นกีฬาฝึกสมองที่ไพศาลโปรดปรานเป็นพิเศษ สมัยเรียนธรรมศาสตร์
ไพศาลเคยได้เป็นแชมป์ 5 มหาวิทยาลัยของรัฐ คือ จุฬาลงกรณ์, ธรรมศาสตร์, มหิดล,
รามคำแหง, และศิลปากร และถึงขนาดเขียนตำราหมากรุกออกวางขาย
ชีวิตครอบครัวของไพศาลค่อนข้างราบรื่น ภรรยามีอาชีพพยาบาล แต่ต่อมาลาออกมาดูแลลูกชายหญิงสองคนอยู่กับบ้าน
ไพศาลปลูกบ้านพักอยู่บริเวณใกล้เคียงสำนักงานของธรรมนิติในย่านบางโพ ช่วงเย็น
ๆ มักจะชวนน้อง ๆ ที่มีบ้านอยู่ในแถบเดียวกันมานั่งจิบไวน์ราคาแพง
แต่ในระยะไม่กี่เดือนมานี้ เวลาส่วนหนึ่งของไพศาลต้องถูกแบ่งไปให้กับการหัดกอล์ฟ
กีฬายอดนิยมของนักธุรกิจยุคใหม่ที่ผู้บริหารหลายคนเคยตกลงธุรกิจกันอย่างง่ายดายบนสนามกอล์ฟ
นอกจากตัวไพศาลแล้วน้องชายหลายคนของเขาก็ทำงานอยู่ในธรรมนิติกรุ๊ป แต่ที่มีบทบาทมากที่สุด
คือ พิชัย พืชมงคล น้องชายคนรอง ที่จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคยเป็นนักกิจกรรมตัวยงในสมัย
6 ตุลาคม ซึ่งในสมัยหนึ่งของธรรมนิติจะรับว่าคดีความที่เกี่ยวเนื่องจาก 6
ตุลาคมมาแล้วหลายคดี
พิชัยนั้นนอกจากเป็นหนึ่งในกรรมการของธรรมนิติกรุ๊ปที่มีหน้าที่บริหารงานโดยรวมแล้ว
ปัจจุบันยังนั่งเป็นบอร์ดหนองงูเห่า ซึ่งเป็นโควต้าของพรรคความหวังใหม่
ด้วยวิชาชีพนักกฏหมาย ซึ่งต้องคลุกคลีอยู่กับลูกความมากหน้าหลายตา ทั้งนักธุรกิจ
นักการเมือง ประกอบกับเป็นผู้ใฝ่รู้แสวงหาความสำเร็จ ไพศาลจึงไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับเป็นนักกฎหมาย
แต่เขายังพาตัวเองไปใกล้ชิดกับวิถีทางการเมือง
"เป็นตามธรรมดาของนักกฎหมายที่ต้องพบปะทั้งนักธุรกิจ นักการเมืองที่มารับบริการปรึกษาทางกฎหมาย
ตัวคุณไพศาลก็รู้จักคนมีชื่อเสียงเยอะ ลูกความของธรรมนิตินั้นมีแทบทุกพรรคการเมือง
และโดยส่วนตัวคุณไพศาลเองก็สนใจการเมืองมาตลอด และเป็นคนมีไอเดียมากอยู่แล้ว
ก็ถูกเรียกใช้จากนักการเมือง" คนใกล้ชิดกับไพศาลย้อนอดีต
แม้เส้นทางการเมืองของไพศาลที่ผ่านมา มักปรากฏอยู่ในฐานะของผู้ที่อยู่เบื้องหลังมากกว่า
แต่เมื่อ "โอกาส" มาถึงเมื่อใด ไพศาลก็พร้อมที่จะคว้าทันที
ไพศาล เคยนั่งเป็นบอร์ดองค์การสื่อสารมวลชน (อ.ส.ม.ท.) ในช่วงปี 2531 สมัยที่เฉลิม
อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชนเป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานนี้อยู่
แม้ว่าในแวดวงนักการเมืองจะรู้จักชื่อเสียงของไพศาลอยู่ก่อนแล้ว แต่การนั่งเป็นบอร์ด
อ.ส.ม.ท. ในสมัยนั้น ถือได้ว่าเป็นการนั่งตำแหน่ง "ทางการเมือง"
ครั้งแรกของเขา ซึ่งไพศาลให้เหตุผลของการรับตำแหน่งในครั้งนั้นว่า รู้จักกับเฉลิมมานานแล้ว
ตั้งแต่สมัยยังอยู่กองปราบจนกระทั่งมาเป็นฝ่ายค้านก็ช่วยกันมาตลอด
"นอกจากทนายความแล้ว ผมยังเป็นนักเขียนด้วย สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับ
อ.ส.ม.ท." คือ เหตุผลที่ไพศาลให้ไว้ในครั้งนั้น
แต่ไม่ทันที่ไพศาลจะสร้างชื่อใน อ.ส.ม.ท. ก็มีการเปลี่ยนแปลง ชื่อของไพศาลจึงเงียบหายไปพักใหญ่
แต่ใช่ว่าไพศาลจะสลัดทิ้งเส้นทางการเมือง เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
แม้ว่าไพศาลจะอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับบิ๊กจิ๋ว แต่คนในพรรคความหวังใหม่มักจะไม่ยอมเอ่ยถึง
ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไพศาลมีบทบาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากุนซือคนอื่น ๆ หรือ
ส.ส.ในสังกัดแม้แต่น้อย
ไพศาลรู้จักกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งแต่ยังรับราชการทหารเป็นผู้บัญชาการทหารบก
จนกระทั่ง พล.อ.ชวลิต ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมือง ซึ่งไพศาลก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นิยม
พล.อ.ชวลิต ที่ร่วมกันสนับสนุนการก่อตั้งพรรคความหวังใหม่
ผู้หนึ่งที่ชักนำให้ไพศาลรู้จักกับ พล.อ.ชวลิต คือ พล.ต.ศรชัย มนตรีวัต
รมช.ว่าการกระทรวงมหาดไทยคนสนิทกับบิ๊กจิ๋ว
ด้วยวิชาชีพทางกฎหมายและสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไพศาลพยายามบ่มเพาะกับผู้มีชื่อเสียงในวงการ
เป็นจุดโยงใยให้ไพศาลเข้าไปรู้จักกับ พล.อ.ชวลิต จนกลายเป็นหนึ่งใน "กุนซือ"
ทางกฎหมายที่บิ๊กจิ๋วต้องหารือตลอดเวลา นอกเหนือจากมือกฎหมายคนอื่น ๆ
ว่ากันว่า ในการให้เปิดประมูลซื้อยางมะตอยของกระทรวงคมนาคม ก็เป็นไอเดียของไพศาล
ซึ่งทำเอาเจ้าเก่าต้องวิ่งเต้นกันเท้าแทบขวิด
"คุณไพศาล เป็นคนที่ละเอียดลึกซึ้งและมักจะวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน
ก่อนทำอะไรลงไปเสมอ เรียกว่าต้องมีจุดมุ่งหมายและเห็นประโยชน์ที่ชัดเจน"
อดีตผู้ร่วมงานของไพศาลสะท้อนบุคลิก
นอกจากที่ตั้งของพรรคความหวังใหม่ในช่วงแรก จะใช้สถานที่ของสำนักงานธรรมนิติ
แถบบางโพเป็นที่ทำการแล้ว ไพศาลยังเป็นผู้จัดทำหนังสือเฉพาะกิจร่วมกับกลุ่ม
ผู้ศรัทธาบิ๊กจิ๋ว มีชื่อว่า "ชายคนนี้ ชื่อชวลิต" ซึ่งทำขึ้นมาเพื่อเผยแพร่อัตชีวประวัติ
และแนวคิดทางการเมืองของบิ๊กจิ๋วในช่วงเข้าสู่เส้นทางการเมืองใหม่ ๆ
ภาพของไพศาลแห่งธรรมนิติ และบิ๊กจิ๋วจากพรรคความหวังใหม่ จึงแยกไม่ออกนัก
แม้ว่าเจ้าตัวจะพยายามปฏิเสธความสัมพันธ์นี้
"ผมสนิทกับทุกพรรค" คือ คำตอบของไพศาล เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์กับพรรคความหวังใหม่
แต่บทบาทของไพศาลในยามนี้คำปฏิเสธของเขาดูจะไม่มีพลังเท่าใดนัก
ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของบรรหาร ศิลปอาชา พรรคความหวังใหม่ได้โควต้ากระทรวงกลาโหม
และกระทรวงคมนาคมมาอยู่ในมือ
การที่ "บิ๊กจิ๋ว" ได้โควต้ากระทรวงคมนาคมมาอยู่ในมือของพรรคความหวังใหม่มีความหมายยิ่งนัก
ไม่เพียงแต่ "วิสัยทัศน์" ของบิ๊กจิ๋วที่มีต่อกระทรวงคมนาคม แหล่งผลประโยชน์มหาศาลมีโครงการมูลค่านับพันนับหมื่นล้านอยู่ในมือ
แต่ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงในธุรกิจนี้
จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา บรรดาเอกชนเจ้าของสัมปทานต้องกระโดดสู่สนามการเมืองเพื่อปกป้องสัมปทานในมือ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สวมเสื้อหัวหน้าพรรคพลังธรรม ลงรับสมัครเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ
หลังชิมลางเป็นรมต.กระทรวงต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน หลีกภัยมาแล้ว
เช่นเดียวกับบุญชัย เบญจรงคกุล บิ๊กบอสของยูคอม ที่เกือบลงสมัครรับเลือกตั้ง
แต่เลิกล้มความตั้งใจในวินาทีสุดท้าย ปล่อยให้สมชาย เบญจรงคกุล น้องชายสวมเสื้อพรรคกิจสังคมลงเลือกตั้ง
แต่ต้องพลาดหวัง
ในขณะที่ซีพีเลือกผูกสัมพันธ์กับทุกพรรคการเมือง ตามวิสัยของเจ้าสัวธนินทร์
เจียรวนนท์ ที่มักเลือกผูกมิตรกับทุก ๆ ฝ่ายว่ากันว่าในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว
ซีพีต้องหว่านเม็ดเงินหลายพันล้านเพื่อใช้สนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคความหวังใหม่ที่ซีพีอัดฉีดเป็นพิเศษ
เป้าหมายของซีพี คือ โทรศัพท์มือถือ และบริการเสริมจากโทรศัพท์พื้นฐาน เพื่อมาเป็นตัวเร่งในการขยายโครงสร้างของรายได้ให้กับทีเอ
สาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
แม้ว่าโทรศัพท์พื้นฐานจะถูกจัดเป็นระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้วปริมาณความต้องการกลับไม่มากอย่างที่ทีเอคาดการณ์ไว้
ยังมีเลขหมายเหลือที่ติดตั้งเสร็จแล้ว แต่ไม่มีลูกค้ามาจองเป็นจำนวนมาก
ดูได้จากตัวเลขรายได้ส่วนใหญ่ของทีเอมาจากการขายหุ้นของยูคอมที่ทีเอถืออยู่ในมือ
หาใช่มาจากผลประกอบการในธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน
ยิ่งไปกว่านั้น ราคาหุ้นบนกระดานของทีเอ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนไม่ได้หวือหวาเช่นเดียวกับหุ้นสื่อสารตัวอื่น
ๆ จึงเป็นแรงดดันที่ทำให้ทีเอต้องขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปให้เร็วที่สุด ก่อนการเปิดเสรีโทรคมนาคมจะมีขึ้นในอีกไม่กี่ปี
เพราะเมื่อนั้นข้อได้เปรียบของทีเอก็จะหมดลง
โชคเป็นของซีพี เมื่อหวยออกตามที่ซีพีแทงไว้
ซีพีสนับสนุน พล.อ.ชวลิต พล.อ.ชวลิตเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ พรรคความหวังใหม่ควบคุมกิจการสื่อสารโทรคมนาคมและ
พล.อ.ชวลิตก็มีไพศาลเป็นมือกฎหมายที่พร้อมจะมาลุยผู้ยึดกุมสัมปทานเก่า เพื่อเปิดทางให้ยักษ์ใหญ่รายใหม่เข้ามาอย่างสะดวกโยธิน
ปฏิบัติการตอบแทนก็เริ่มขึ้น
หลังจากส่งวันมูหะมัดนอร์มะทา อดีตรองประธานผู้แทนราษฎรมาเป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคม
พรรคความหวังใหม่ก็ส่งสมบัติ อุทัยสาง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงคมนาคม
และประธานกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย มาเป็นรัฐมนตรีช่วย เพื่อมาดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยโดยเฉพาะ
ว่ากันว่า เก้าอี้ รมช.ของสมบัตินั้น ซีพีเป็นผู้ควักกระเป๋าซื้อหามาให้โดยเฉพาะ
สมบัติ อุทัยสางนั้น นอกจากคลุกคลีกับงานในวงการโทรคมนาคมมาตลอดชีวิตการทำงาน
40 ปี เคยผ่านงานของกระทรวงคมนาคมมาหลายโครงการ อาทิ โครงการโทรศัพท์ 2 ล้าน
ที่สำคัญยังมีบุคลิกประนีประนอมรอมชอมไม่ชอบการขัดแย้ง ส่วนใหญ่เข้าได้เกือบทุกพรรคการเมืองและทุกเอกชน
รวมทั้งซีพีด้วย ซึ่งในสมัยที่เป็นประธานบอร์ด กสท. ก็ยังเคยอนุมัติให้ กสท.
ร่วมทุนกับทีเอ เพื่อประมูลงานโทรศัพท์ในอินเดีย
องค์การโทรศัพท์ฯ การสื่อสารฯ และกรมไปรษณีย์โทรเลขฯ คือ สามหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่แฝงไว้ด้วยผลประโยชน์มหาศาล
ตกอยู่ในความรับผิดชอบของสมบัติทั้งหมด
นับเป็นครั้งแรกกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยถูกกำกับดูแลโดยพรรคการเมืองเดียวแบบเบ็ดเสร็จ
เพราะก่อนหน้านี้ ทศท.และกสท.จะถูกแบ่งให้พรรคการเมืองต่างพรรคเป็นผู้ดูแล
เช่น ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย พรรคพลังธรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทศท. ในขณะที่พรรคเสรีธรรมจะรับผิดชอบ
กสท.
หลังได้รัฐมนตรีประจำกระทรวงเรียบร้อยแล้ว "บิ๊กจิ๋ว" ก็เริ่มวางตัวคณะกรรมการบริหารที่จะเข้าควบคุมรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งเริ่มประเดิมองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) แหล่งผลประโยชน์มหาศาลที่กุมโครงการสำคัญฯ
อันเป็นเป้าหมายหลักของทีเอ
บอร์ด ทศท. ชุดของรุ่งโรจน์ ศรีประเสริฐสุข ถูกผลัดเปลี่ยนรายชื่อบอร์ดใหม่ถูกส่งตรงมาจากพรรคความหวังใหม่
หนึ่งในนั้นก็คือ ไพศาล พืชมงคล กุนซือคนสำคัญของบิ๊กจิ๋ว
พร้อมกับแต่งตั้ง พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ จปร.4 รุ่นน้องของ พล.อ.ชวลิต 3
ปีเคยเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในปี 2532 ปัจจุบันเป็นรองประธานสภากรรมการบริษัทธรรมนิติกรุ๊ป
มานั่งเป็นประธานบอร์ด ทศท.
รวมทั้ง พหล จินดากุล อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และสนิทสนมกับ พล.อ.ชวลิต
เป็นอย่างดี นั่งเป็นกรรมการบอร์ด ทศท.
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะพิสมัยการเมืองเพียงใด แต่ไพศาลยังไม่ยอมสวมเสื้อพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง
แต่เขามักจะอยู่เบื้องหลัง หรือนั่งเป็นบอร์ดบริหารในรัฐวิสาหกิจมากกว่า
หนึ่ง - การเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีต้นสังกัด
ดีไม่ดีอาจมากกว่าด้วยซ้ำเพราะโครงการน้อยใหญ่จะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการบริหาร
หรือบอร์ดเป็นด่านแรกก่อนจะยื่นเสนอให้กระทรวงเพื่อรับทราบ หรืออนุมัติต่อไป
ผลการพิจารณาของบอร์ด จึงสามารถชี้เป็นชี้ตายให้โครงการเหล่านี้บรรลุผลหรือล้มเลิกไป
มีตัวอย่างให้เห็นแล้วหลายโครงการ
โดยเฉพาะ ทศท. ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดโครงการมูลค่ามหาศาล เฉพาะแค่โทรศัพท์พื้นฐานอย่างเดียวก็มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท
ยังไม่รวมบริการสื่อสารอื่น ๆ ที่ตามมา
สอง - อาจเป็นเพราะยังไม่ถึงเวลาที่ไพศาลจะต้องเดินเข้าสู่สนามการเมือง
ซึ่งต้องมีฐานเงินทุนเป็นจำนวนมาก และซื้อเสียงทางการเมืองของไพศาลยังไม่เป็นที่รู้จักดีพอ
สำหรับในด้านของพรรคความหวังใหม่ การนำไพศาลมาเป็นบอร์ด ทศท. มีความหมายสำคัญยิ่ง
กิจการโทรคมนาคมของไทยถูกผูกขาดโดยรัฐ และรัฐทำสัญญาคุ้มครองเอกชนรายเดิมไว้ไม่ให้มีเอกชนรายใหม่เข้ามา
โดยเฉพาะบริการสำคัญ ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือที่ถูกคุ้มครองไว้อย่างเหนียวแน่นแทบทุกรัฐบาล
ทุกพรรคการเมือง ต่างก็เคยพยายามเปิดให้มีเอกชนรายใหม่เข้ามาเป็นผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอีกราย
แต่จนแล้วจนรอดยังไม่มีใครสามารถปลด "ล็อก" นี้ได้ เว้นแต่จะรอแผนแม่บทโทรคมนาคม
ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะคลอดเมื่อใด
วิธีที่พรรคความหวังใหม่เลือกก็คือ การเปลี่ยน "ปัญหา" ให้กลายเป็น
"โอกาส" ด้วยการอาศัยการตีความและช่องว่างทางกฎหมายเป็นกุญแจไขไปสู่การเปิดให้เอกชนรายใหม่
ซึ่งมีซีพีเข้าคิวเป็นอันดับแรกเข้ามาในกิจการสื่อสาร
ความเป็นนักกฎหมายและคุณสมบัติเฉพาะตัวของไพศาล จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับงานในครั้งนี้
ตัวไพศาลเองก็มีสายสัมพันธ์อันดีงามกับซีพี โดยผ่านมนตรี นาวิกผล คนสนิทของธานินทร์
เจียรวนนท์ มีหน้าที่ดูแลธุรกิจของกลุ่มซีพีในฮ่องกง
ว่ากันว่า ในยามใดที่ไพศาลเดินทางไปฮ่องกง เดือนละ 2-3 ครั้ง จะมีรถลีมูซีนคันยาวพร้อมคนขับและบอดี้การ์ดที่มนตรีส่งมารับเพื่อนรักคนนี้ตลอดเวลา
บทบาทของไพศาลในชั่วโมงนี้ไม่อาจมองข้ามได้
หลังวางฟอร์มทีมงานในแต่ละจุดของหน่วยงานสื่อสารโทรคมนาคมเสร็จสิ้น บอร์ด
ทศท. ก็เริ่มเคลื่อนไหวด้วยการอนุมัติโครงการสื่อสารต่าง ๆ หลายโครงการ ซึ่งก็อาจเป็นเรื่องปกติของบอร์ด
หากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการอนุมัติในครั้งนี้จะตกเป็นทีเอ
เริ่มตั้งแต่การที่บอร์ด ทศท. มีมติอนุมัติให้ทีเอ และทีทีแอนด์ที สามารถให้บริการโทรศัพท์ระบบพีเอชเอส
หรือ PERSONAL HANDY PHONE SYSTEM
ผู้ที่ได้รับผลประทบไปเต็ม ๆ คือ ชินวัตร และยูคอม เจ้าถิ่นมือถือเจ้าเก่า
เพราะแม้ว่าบอร์ด ทศท. จะเพียรพยายามชี้แจงว่า พีเอชเอสเป็นแค่บริการเสริมบนโทรศัพท์พื้นฐาน
เนื่องจากสามารถใช้โครงข่ายเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐาน แต่ด้วยลักษณะของการใช้งานก็ไม่ต่างจากโทรศัพท์มือถือเลย
แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องเทคนิคของความเร็วก็ตาม
การที่บอร์ดพยายามฟันธงระบุให้พีเอชเอสเป็นโทรศัพท์เป็นบริการเสริมประเภทหนึ่งของโทรศัพท์พื้นฐานนั้นมีเหตุผล
ข้อแรก - เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสัญญาคุ้มครองในเรื่องโทรศัพท์มือถือว่า ทศท.ทำไว้กับเอไอเอส
ข้อสอง - ในสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ 2 และ 1 ล้านเลขหมายระบุว่า ทีเอสามารถเปิดให้บริการเสริมได้
เพียงแต่ต้องมีการเจรจาเรื่องส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น
ไพศาลถูกเลือกให้เป็นประธานคณะทำงานเจรจาเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน และอัตราค่าบริการ
ว่ากันว่างานนี้ไพศาลต้องใช้บทบาทล็อบบี้ยิสต์ เพื่อสร้างความพอใจของทั้งสองฝ่าย
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน เพราะตามสัญญาสัมปทานหากทีเอ หรือทีทีแอนด์ทีให้บริการเสริมจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้
ทศท. ไม่ต่ำกว่าที่เคยจ่ายให้กับ ทศท.
ข้อสรุป คือ ทีเอจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ ทศท. ในโครงการ 2.6 ล้านเลขหมาย
16% ในขณะที่ทีทีแอนด์ทีจ่าย 43.1% สำหรับโครงการ 1.5 ล้านเลขหมาย แต่จ่ายให้กับบริการ
18% เท่ากับทีเอ
การอนุมัติบริการพีเอชเอสให้กับทีเอ และทีทีแอนด์ที เป็นยกแรกของการเลียบเคียงเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
ในอีกด้านหนึ่งพรรคความหวังใหม่ ภายใต้การนำของบิ๊กจิ๋วก็ได้สั่งการให้นำสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือที่
ทศท. ทำไว้กับเอไอเอส และ กสท. ทำไว้กับแทค ส่งไปให้กฤษฎีกาตีความว่าจะเปิดให้เอกชนรายใหม่เข้ามาได้หรือไม่
แม้ว่าก่อนหน้านี้อัยการสูงสุด ได้เคยส่งข้อหารือมาให้ ทศท.ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว
โดยระบุว่า ทศท.ให้การคุ้มครองเอไอเอส ดังนั้นไม่สามารถเปิดให้เอกชนรายใหม่เข้ามาแล้วก็ตาม
แต่บิ๊กจิ๋วก็ยังไม่ละความพยายาม
การส่งให้กฤษฎีกาตีความ เท่ากับเป็นอาศัยกฎหมายมาชี้ขาดอีกครั้ง เพราะการตัดสินของกฤษฎีกาถือว่าเป็นการตัดสินโดยรัฐบาล
สามารถหักล้างคำตัดสินของอัยการสูงสุดได้ที่ทำหน้าที่ให้รัฐวิสาหกิจหารือ
ผลการตีความสัญญาของ ทศท. และกสท. ปรากฏว่าไม่สามารถเปิดให้รายใหม่ได้ เพราะคุ้มครองสิทธิในการให้บริการไว้แล้วทั้งหมด
ในขณะที่เอไอเอสนั้น ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย เพราะเวลานี้ ผลการตีความของกฤษฎีกายังไม่ออกมา
แต่มีท่าทีว่าโอกาสจะเปิดให้รายใหม่เป็นไปได้ยาก
ในอีกทางหนึ่ง "บิ๊กจิ๋ว" ก็หันไปหาวิธีผลักดันให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้ทำโทรศัพท์เคลื่อนที่
เพื่อหวังเปิดทางให้เอกชนรายใหม่เข้ามาให้บริการ
ว่ากันว่า บรรดานักกฎหมายที่เกี่ยวข้องรอบตัวบิ๊กจิ๋ว ต้องอ่านพลิกตำรา
ดูสัญญาของเอไอเอส เพื่อหาช่องทางกันอย่างคึกคัก ถึงกับมีนักกฎหมายรายหนึ่งเสนอให้ออกกฎหมายทบทวนสัญญาสัมปทานใหม่
หลังจากอนุมัติพีเอชเอสไม่นาน บอร์ด ทศท.ก็ให้ไฟเขียวอนุมัติให้ทีเอ และทีทีแอนด์ทีให้บริการโทรศัพท์สาธารณะได้ตามที่ยื่นเสนอขอมา
ซึ่งก่อนหน้านี้ ทีเอเคยยื่นเสนอเรื่องไปที่บอร์ดทศท.ชุดที่แล้วมาเกือบ 2
ปีมาแล้ว แต่ก็ยังหาข้อสรุปในเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนไม่ได้
ผลของการอนุมัติในครั้งนี้ส่งผลให้ทีเอ และทีทีแอนด์ทีสามารถให้บริการโทรศัพท์สาธารณะได้แบบไม่มีขีดจำกัด
คือ ให้บริการที่ได้ทั้งหยอดเหรียญ การ์ดโฟน และบัตรเครดิต และติดตั้งเครื่องได้ตามที่เห็นสมควร
จากที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานไว้เพียงแค่ 1% ของ 2 ล้านเลขหมาย ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องโทรศัพท์ถูกจัดเป็นทรัพย์สินของบริษัทไม่ต้องส่งมอบให้
ทศท. ทั้งนี้ ทีเอและทีทีแอนด์ทีจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท. ในอัตรา
23.5% ของรายได้
ประเด็นสำคัญของการอนุมัติในครั้งนี้อยู่ที่โทรศัพท์แบบการ์ดโฟน ซึ่งเคยมีเอกชนหลายรายยื่นขอให้บริการมาแล้ว
อาทิ เลนโซ่โฟนการ์ด แต่ยังติดสัญญาคุ้มครองที่ ทศท. ทำไว้กับบริษัทแอดวานซ์
อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ หรือเอไอเอส ในเครือเดลินิวส์
อย่างที่รู้กันว่า ธุรกิจการ์ดโฟนสร้างความร่ำรวยให้กับเอไอเอสอย่างมหาศาลชนิดที่ใครก็คาดไม่ถึงมาแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นความนิยมของผู้ใช้และจากการขายบัตรธุรกิจนี้ จึงมีเอกชนหลายรายอยากขอเข้าไปมีส่วนนานแล้ว
แหล่งข่าวใน ทศท. เล่าว่า หลังจากทีเอยื่นเรื่องมาบอร์ด ทศท. พล.อ.ศิรินทร์
ประธานบอร์ด ทศท. สั่งเดินเรื่องทันทีโดยมอบหมายให้ไพศาลนำสัญญาที่ ทศท.
ทำไว้กับเอสไอเอสไปศึกษา
ปมปัญหาอยู่ที่สัญญาที่ ทศท. ทำไว้กับเอไอเอส ซึ่งได้นำเงื่อนไข (ทีโออาร์)
ของการประมูลครั้งแรกที่ล้มไป ซึ่งระบุถึงเงื่อนไขคุ้มครอง 10 ปีมารวมอยู่ในภาคผนวกแนบท้ายมากับสัญญาที่เซ็นนั้น
ถือว่าเป็นการประมูลหรือไม่
ข้อสรุปของไพศาลที่ได้มา คือ สัญญาที่ ทศท. ทำไว้กับเอไอเอสนั้นไม่ได้คุ้มครอง
โดยให้เหตุผลว่า เงื่อนไข (ทีโออาร์) ของการประมูลครั้งแรกมารวมอยู่ในภาคผนวกนั้น
ได้ถูกยกเลิกไปแล้วและร่างทีโออาร์ใหม่ก็ไม่ได้กำหนดอายุคุ้มครอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ บอร์ด ทศท. ประกาศเปิดเสรีโทรศัพท์สาธารณะทันที และก็มีเอกชนดาหน้ายื่นข้อเสนอรวดเดียว
5 ราย คือ บริษัทตะวันฟาร์อีสต์เทเลคอม, บริษัทฟิวเจอร์ไฮเทค, บริษัท 109
เทเลคอม ว่ากันว่าเป็นของชูชีพ หาญสวัสดิ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ บริษัทพับบลิค
เทเลโฟน ของสหวิริยา และบริษัทเลนโซ่
ขั้นตอนต่อจากนี้ คงพอเดากันได้ว่า เอกชนแต่ละรายคงจะวิ่งเต้นกันแบบสุด
ๆ และผู้ที่จะได้รับทรัพย์จากการวิ่งเต้นครั้งนี้ คงพอเดาได้ว่าจะเป็นใครบ้าง
ถัดจากนั้นไม่นาน บอร์ด ทศท. มีมติอนุมัติให้ ทศท. เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ
1500 เมกะเฮิรตซ์ ใช้เทคโนโลยีพีดีซี (PERSONAL DIGITAL CELLULAR) ใช้งบประมาณ
7,000 ล้านบาท แบ่งระยะเวลาดำเนินการเป็น 5 ปี 2 ปีแรกใช้งบลงทุน 3,000 ล้านบาท
รูปแบบบอร์ด ทศท. เสนอ คือ ให้ ทศท. เป็นผู้ลงทุนและให้บริการเอง แต่จะให้เอกชนมาช่วยทำตลาดให้ในลักษณะของผู้ร่วมให้บริการ
หรือที่เรียกว่า เซอร์วิสโพรไวเดอร์ซึ่งไม่กำหนดว่ามีกี่ราย
การอนุมัติของบอร์ด ทศท. ในครั้งนี้ ได้รับการยืนยันจาก พล.อ.ศิรินทร์ ประธานบอร์ด
ทศท. และสมบัติ อุทัยสางว่า เป็นสิทธิ์ที่ ทศท. สามารถทำได้ไม่ขัดกับสัญญาคุ้มครองที่ทำไว้กับเอไอเอส
เพราะ ทศท.ลงทุนเองไม่ได้ให้สัมปทานเอกชน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังระบุว่า เป็นเจตนารมณ์ของ พล.อ.ชวลิต ที่ต้องการให้เปิดบริการโทรศัพท์มือถือ
1500 เมกะเฮิรตซ์
จุมพล เหราปัตย์ ผู้อำนวยการ ทศท. กล่าวว่า เมื่อบอร์ด ทศท. อนุมัติพีเอชเอสให้กับทีเอแล้ว
ก็ควรจะอนุมัติมือถือ 1500 ให้กับ ทศท. ด้วย เพื่อจะได้มีการแข่งขันในธุรกิจนี้มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ พ.อ.วินัย สมพงษ์ เป็นรมต.คมนาคม เคยผลักดันให้ ทศท.ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายที่
3 แต่ก็ไม่สามารถทำได้ แม้ว่าจะให้สำนกังานกฎหมายคนึง แอนด์ พาร์ทเนอร์ ที่ปรึกษาทางกฎหมายของ
ทศท. ตีความมาว่า สัญญาของเอไอเอสนั้นคุ้มครองเฉพาะความถี่ไม่ได้คุ้มครองบริการ
แต่เมื่อส่งให้อัยการสูงสุดตีความ ปรากฏว่า คุ้มครองบริการไม่คุ้มครองความถี่
จนแล้วจนรอดเรื่องก็เงียบหายไป
กระนั้นก็ตาม ยังไม่แน่ว่า เรื่องนี้จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีหรือไม่
เพราะใช้เงินลงทุนมาก และ ทศท. มีภาระในการขยายโทรศัพท์พื้นฐาน และลงทุนในบริการอื่น
ๆ อยู่แล้ว
ที่แน่ ๆ รองนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร คงไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ง่าย
ๆ
ยิ่งในช่วงหลังสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มไม่แน่นอน ทีเอยิ่งรุกคืบหนักขึ้น
และบอร์ด ทศท. ก็ต้องทำงานหนักขึ้น
ล่าสุด บริษัทมัลติมีเดียเป็นอีกโครงการหนึ่งที่บอร์ด ทศท.อาศัยใช้ช่องว่างทางกฎหมายอนุมัติให้กับทีเออย่างชัดเจนที่สุด
เมื่อจู่ ๆ บอร์ด ทศท. ก็มีมติเห็นชอบให้ ทศท. เข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทมัลติมีเดีย
เน็ทเวิร์ค เพื่อวางเครือข่ายเคเบิลไปยังบ้านพักอาศัย ในสัดส่วน 20% ซึ่งมีเทเลคอมโฮลดิ้ง
หรือทีเอชในเครือทีเอ ถือหุ้น 55% ที่เหลืออีก 25% ให้เอกชนรายอื่น ๆ เข้ามาถือ
โดยทุนจดทะเบียนเบื้องต้นของโครงการนี้ คือ 8,000 ล้านบาท
ไฟเขียวของบอร์ด ทศท. ครั้งนี้สร้างความฮือฮาไม่แพ้การอนุมัติบริการพีเอชเอส
เพราะเท่ากับว่าให้ทีเอเป็นเจ้าของโครงการเคเบิลใยแก้วแต่เพียงผู้เดียว
ที่สำคัญ การอนุมัติของบอร์ดชุดนี้เป็นคนละเรื่องกับมติบอร์ด ทศท. ชุดที่แล้ว
ซึ่งมีรุ่งโรจน์ ศรีประเสริฐสุข เป็นประธานที่มีบทสรุปให้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีแต่ละรายลงทุนร่วมกัน
เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยให้ไอบีซี, ไทยสกายทีวี และยูทีวี ถือหุ้นร่วมกันในสัดส่วน
51% ส่วน ทศท. จะถือหุ้น 49% และข่ายสายที่สร้างขึ้นนี้จะต้องเปิดให้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายอื่นเข้ามาเช่าใช้ด้วย
สาเหตุที่บอร์ด ทศท. ชุดที่แล้วมีมติเช่นนี้ เพื่อต้องการ "เครือข่ายเคเบิลใยแก้ว"
ที่วางนี้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางให้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีทุกรายมีสิทธิใช้เครือข่ายร่วมกัน
สวนทางกับมติบอร์ด ทศท. ที่มี พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ ที่เห็นดีเห็นงามให้ทีเอครอบครองเป็นถือหุ้นใหญ่อย่างสิ้นเชิง
ยิ่งไปกว่านั้น สมบัติ อุทัยสาง รมช.คมนาคม ออกมารับลูกทันควัน กล่าวกับบรรดาสื่อมวลชนว่า
"ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่จะให้ทีเอเช เป็นเอกชนถือหุ้นใหญ่สุด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงแปดพันล้านบาท
และไม่เห็นว่า ทศท.ต้องการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมการงานกับเอกชน 2535 เพราะเป็นนโยบายที่รัฐต้องการให้เอกชนมาร่วมลงทุน
เพื่อรองรับการเปิดเสรีอยู่แล้ว"
ถ้อยแถลงของ รมช.สมบัติ สอดคล้องกับ บทสรุปของ ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ กรรมการผู้จัดการของทีเอช
ที่กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการริเริ่มของเอกชน จึงไม่มีเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมการงาน
ตอลดจนสิทธิในการวางเครือข่ายเพื่อให้บริการเคเบิลทีวี ยังไม่มีกฎหมายห้ามให้เอกชนดำเนินการ
และที่ผ่านมายูทีวี ก็ได้รับใบอนุญาตให้บริการเคเบิลทีวีผ่านทางสายเคเบิลที่ถูกต้องจาก
อ.ส.ม.ท.
"ยอมรับว่า อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย แล้วผิดกฎหมายหรือเปล่า ในเมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ"
คำอธิบายแบบท้าทายที่ ดร.วัลลภ ให้ไว้
"เชื่อว่า บอร์ด ทศท. คงให้นักกฎหมายพิจารณาแล้วว่า ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุน
เหมือนกับโครงการอีรีเดียมที่ ทศท.ถือหุ้น 200 ล้าน แต่ก็ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.
เพราะเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยเอกชน" คำชี้แจงของ วิฑู รักษวณิชพงษ์
รองผู้อำนวยการ ทศท.
นั่นหมายความว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ก็เพียงเสนอเข้า ครม. โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุน
2535 ที่กำหนดให้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาโครงการผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากสภาพัฒน์
และกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะเสนอครม.ซึ่งต้องใช้เวลานาน ดีไม่ดีหากไม่ผ่านขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็ต้องล้มเลิกไป
บทสรุปความสำเร็จของทีเอช ที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายเป็นทางผ่านในครั้งนี้
จะส่งผลให้ ข้อแรก - ทีเอชสามารถอาศัยความเป็นรัฐวิสาหกิจของ ทศท. พาดสายผ่านเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
ข้อสอง - ทีเอชจะกลายเป็นเจ้าของเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง หรือทางด่วนข้อมูลสายสำคัญ
และประโยชน์ที่ได้จากโครงข่ายนี้ ไม่เพียงแค่การให้แพร่ภาพสัญญาณโทรทัศน์
เพื่อสร้างความเป็นต่อในธุรกิจเคเบิลทีวีให้กับยูทีวีเท่านั้น แต่ทางด่วนข้อมูลสายนี้
ยังเป็นจุดกำเนิดบริการใหม่ในรูปแบบของมัลติมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเทเลชอปปิ้ง
วิดีโอออนดีมานด์ บริการออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งบริการเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตอย่างแน่นอน
จะเห็นได้ว่า การขยายอาณาจักรของทีเอที่ผ่านมา อาจไม่ประสบผลสำเร็จ หากไม่มีพรรคความหวังใหม่
และการอนุมัติของบอร์ด ทศท. จะไม่สะดวกโยธินเท่านี้ หากขาด "กลไก"
ที่วางไว้ในแต่ละจุด
ว่ากันว่า บทบาทของไพศาล พืชมงคล นอกจากเป็นมือกฎหมายแล้ว ยังทำหน้าที่เป็น
"ตัวกลาง" หากเอกชนรายใดต้องการเสนอโครงการอะไรจะต้องติดต่อผ่านไพศาล
แต่โครงการจะผ่านหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โดยมี พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ และสมบัติ อุทัยสาง รวมทั้งทีมงานเป็นส่วนสนับสนุนและตัดสินใจที่สำคัญ
งานนี้ผู้ที่ตกที่นั่งลำบากคงหนีไม่พ้นชินวัตร ลำพังตัว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ
ชินวัตร ที่ต้องอยู่ในภาวะไม่มั่งคงทางการเมือง ถูกโดดเดี่ยวจากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว
ธุรกิจสื่อสารชินวัตรก็พลอยเจออุปสรรคไปด้วย
การกระโดดสู่สนามการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ ดร.ทักษิณ กลับกลายเป็นว่า
ต้องเจอกับภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกเสียเอง นอกจากไม่สามารถออกมาพิทักษ์ผลประโยชน์ได้
และแถมยังไม่มีสิทธิอ้าปากโต้แย้งใด ๆ ต้องยอมปล่อยให้ทีเอ กวาดสัมปทานไปอย่างหน้าตาเฉย
เช่น โครงการดาวเทียมทหาร ซึ่ง ดร.ทักษิณ ออกมาบอกไม่ให้เห็นด้วยเท่านั้น
ถูกโจมตีทันที และทำท่าว่าสัมปทานดาวเทียมอาจถูกรื้อใหม่ ทำเอา ดร.ทักษิณ
ต้องเงียบเสียงไป
สายสัมพันธ์ที่มีต่อ ทศท. ก็เริ่มคลายมนต์ขลัง นับตั้งแต่รัฐวิสาหกิจนี้ตกอยู่ภายใต้การดูแลของพรรคความหวังใหม่
ผลประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่ในมือทีเอ โดยชินวัตรต้องนั่งมองตาปริบ ๆ ไม่สามารถทำอะไรได้
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชินวัตรกำลังถูกคุกคาม
สภาพของชินวัตรไม่ต่างอะไรกับแขวนชีวิตไว้บนเส้นด้าย และโอกาสก็จะตกอยู่กับทีเอ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงธุรกิจโทรคมนาคมในเวลานี้ ชนิดหน้ามือหลังมือ
และเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่ดอกทานตะวันยังเบ่งบานในกระทรวงหูกวางและแผนแม่บทสื่อสารยังไม่ไปถึงไหน
และที่สำคัญ ไพศาล พืชมงคล ยังหา "ช่องโหว่" ของกฎหมายได้อย่างไม่สิ้นสุด