|
ธปท.ยอมรับเงินเฟ้อหลุดเป้ารอตัวเลขพ.ค.ก่อนปรับแผน
ผู้จัดการรายวัน(3 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หม่อมอุ๋ยยอมรับเงินเฟ้อกระทรวงพาณิชย์เดือน เม.ย. 6% สูงกว่าคาดการณ์ของแบงก์ชาติ ระบุต้องติดตามเดือนต่อๆ ไปอีกครั้งก่อนปรับนโยบายที่เหมาะสม ยันยังไม่น่าห่วง เพราะเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่วนประมาณการแบงก์ชาติครั้งล่าสุดภายใต้เงื่อนไขราคาน้ำมันดิบดูไบ 61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 4-5%
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนของกระทรวงพาณิชย์ที่สูงขึ้นว่า สูงกว่าการคาดการณ์ของ ธปท.ที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนมาจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า ต้องติดตามอัตราเงินเฟ้อในเดือนต่อๆ ไปก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากเกินเป้าหมายของ ธปท. ยังเป็นการเกิดขึ้นเดือนเดียว คงต้องรอดูเดือนพฤษภาคมหรือเดือนต่อๆ ไปก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะแม้ว่าราคาน้ำมันดิบโลกยังสูงอยู่แต่คงจะบอกอะไรก่อนไม่ได้ คงต้องรอให้เกิดความชัดเจนอีกระยะ จึงจะสามารถตัดสินใจในเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไป
"ผมมองว่า เป็นตัวเลขเงินเฟ้อแค่เดือนเดียว ไม่ถึงกับตื่นเต้น ตกใจ และไม่ต้องคิดมาก" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อประจำเดือน เม.ย. อยู่ที่ 114.3 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.0% และเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือน มี.ค.49 เนื่องจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อนหน้า และสินค้าในหมวดอื่นที่ไม่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับเพิ่มขึ้น 0.7%
ก่อนหน้านี้ ธปท.คาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2 น่าจะมีแนวโน้มต่ำลงช้าๆ สำหรับประมาณการแนวโน้มเงินเฟ้อของ ธปท. ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ขึ้นจาก 3.5-5% เป็น 4-5% โดยมองว่าไตรมาสแรกของปีนี้ เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 5.5-6% ไตรมาสที่ 2 จะลดลงมาอยู่ที่ 4.5-5.5% ไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 3-5% และไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 2.5-4% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบไตรมาสแรกที่ 57.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ไตรมาสที่ 2 ที่ 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และคงที่ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ที่ 63 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีกรณีฐานเท่ากับ 61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบในเดือนเมษายนและอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ต่างสูงกว่าประมาณการของ ธปท.
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้คาดไว้ล่วงหน้าว่าราคาน้ำมันดิบโลกอาจจะสูงขึ้นกว่ากรณีฐาน จึงได้ประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อด้วยราคาน้ำมันกรณีสูงหรือกรณีเลวร้าย ซึ่งประเมินว่าไตรมาสที่ 2 ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และคงที่ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ที่ราคา 74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบดูไปทั้งปีกรณีเลวร้ายเท่ากับ 69.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ อาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและระยะเวลาของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ 1% จากประมาณการ หรือ 61 เซนต์สหรัฐต่อบาร์เรล ในกรณีฐาน และหรือ 69.3 เซนต์สหรัฐต่อบาร์เรล ในกรณีสูง จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.05% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.01% และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลดลง 0.03% และทำให้ ธปท.จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องไปอีกเพื่อสกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2549 ว่า ภาวะการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน น่าจะยังคงถูกกระทบจากภาวะราคาน้ำมันในประเทศ ที่ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติครั้งใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 6% ประกอบกับผลของการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจยังเป็นผลลบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะที่ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อาจกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งอาจชะลอตัวลงในเดือนดังกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|