"เราใช้เวลา 24 เดือนในการสร้างโรงงาน จะเห็นว่าโรงงานนี้แตกต่างกว่าที่อื่นตรงที่มีลักษณะคล้ายป่าเพราะเราต้องการทำโรงงานนี้ให้เป็นหน้าตาของจังหวัดลำปาง"
ทวี บุตรสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย หรือ SCC ในฐานะประธานกรรมการ
บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) กล่าวถึงโรงงานปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
แต่เดินเครื่องโรงงานไปตั้งแต่ต้นกรกฎาคมปีเดียวกัน
โรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานแห่งแรกของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) แต่ถือเป็นโรงงานแห่งที่
5 ของ SCC ด้วยเพราะบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) เป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้น
100% ของทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท โดยมีสมเกียรติ พันธุ์อนุกูลเป็นกรรมการผู้จัดการ
จุดมุ่งหมายของโรงงานปูนฯ ลำปางคือเพื่อสร้างฐานการผลิตปูนฯ ให้กับบริษัทแม่ในภาคเหนือ
ด้วยกำลังการผลิตทั้งสิ้น 2.1 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตโดยรวมของบริษัทแม่เพิ่มขึ้นเป็น
19-20 ล้านตันในปี 2540 แม้ว่าจะเป็นกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอกับปริมาณขายของบริษัทซึ่งตกประมาณ
22 ล้านตันในปีนี้ก็ตาม แต่ย่อมช่วยลดการนำปูนฯจากต่างประเทศและการซื้อจากผู้ผลิตอื่น
ว่าไปแล้วโรงงานแห่งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อ SCC หลายด้านทีเดียว ประการแรก
SCC เป็นผู้ผลิตปูนฯรายแรกที่เข้ามาปักธงสร้างโรงงานที่นี่ จึงทำให้ภาคเหนือเป็นสมรภูมิที่ได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ
ขึ้นมาในทันที ทั้งในด้านสามารถตอบสนองความต้องการปูนซีเมนต์ของภาคเหนือ
โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงอีกด้วย
แม้กำลังการผลิต 2.1 ล้านตัน ของโรงงานปูนซีเมนต์ลำปาง ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการปูนฯ
ในภาคเหนือที่คาดไว้ว่าจะมีประมาณ 5.6 ล้านตัน ในปีนี้ โดย SCC มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ
50% หรือประมาณ 2.8 ล้านตัน แต่ก็ทำให้บริษัทลำเลียงปูนฯจากโรงงานที่สระบุรีมายังภาคเหนือน้อยลง
เมื่อดูโดยรวมแล้ว ต้นทุนจะต่ำกว่าคู่แข่งอย่างแน่นอน ถ้าไม่มีการตัดราคาขายปูนฯกัน
กำไรที่ SCC จะได้เพิ่มเติมก็คือค่าขนส่งที่ประหยัดลงไปได้นั่นเอง
ส่วนในอนาคตหากมีคู่แข่งจะมาเปิดโรงปูนฯ ที่นี่ SCC ก็ไม่หวั่น ทวีกล่าวว่าการสร้างโรงงานปูนฯ ใช้เวลาร่วม
2 ปี ถึงตอนนั้นความต้องการปูนฯก็เพิ่มสูงขึ้นไปอีก กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้มาแย่งตลาดกัน
นอกจากนี้ SCC ยังสามารถใช้ฐานการผลิตจากลำปางเป็นฐานส่งออกไปยังพม่าหรือลาวได้
ซึ่งจะรวดเร็วและมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าในปัจจุบันที่ต้องขนส่งปูนฯจากสระบุรีไปยังประเทศเหล่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจอีกไม่น้อยในเครือของ SCC จะเกิดขึ้นตามมา ดังเช่นธุรกิจทำกระเบื้องหลังคา
ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัทกระเบื้องไทย อันเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งของ
SCC ทางคณะผู้บริหารก็อนุมัติแล้วว่าจะสร้างโรงงานกระเบื้องที่ลำปาง ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดซื้อเครื่องจักรคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง
2 ปี เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท
เมื่อขุมทรัพย์มหาศาลอยู่ที่ลำปาง ผู้บริหารของ SCC จึงต้องใช้ยุทธวิธีทำให้คนลำปางรู้สึกว่าโรงงานปูนซีเมนต์
ลำปาง เป็นของชาวลำปางทั้งหลาย เห็นได้จากการกำหนดหลักการทำงานของบริษัทไว้ว่า
"สร้างงาน สร้างความเจริญ รักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นพลเมืองดีของลำปาง"
ด้วยกรณีความขัดแย้งระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับประชาชนในพื้นที่จากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่ให้เห็นอยู่เนืองๆ
แต่ละครั้งที่เกิดขึ้น เจ้าของโรงงานจะรู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายเสียหาย ทั้งเสียชื่อ
เสียเวลา และเสียทรัพย์
แม้ว่าการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ลำปางจะผ่านพ้นไปแล้วด้วยดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาระหว่างบริษัทกับชาวบ้านแต่อย่างใด
คนในพื้นที่เล่าว่าในระยะแรกของการก่อสร้างโรงงานก็เคยมีม็อบย่อยๆ ของชาวบ้านมาประท้วงบ้างเหมือนกัน
แต่ก็สามารถทำความเข้าใจกันได้ จึงไม่เห็นเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชน
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่จึงเป็นนโยบายหนึ่งที่ผู้บริหารของ
SCC และปูนฯลำปางจะละเลยเสียไม่ได้
กระนั้นการโน้มน้าวให้ชาวลำปางเชื่อในบริษัทก็มิใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก
บางครั้งยังปรากฎข่าวของสื่อมวลชนท้องถิ่นในทำนองว่าผู้บริหารบริษัทปูนซีเมนต์ไทย
(ลำปาง) ไม่ทำตามคำพูดที่กล่าวไว้ เช่น การรับพนักงานท้องถิ่น ไม่ได้รับคนลำปางเข้ามาจำนวนมากอย่างที่ตกปากรับคำกับผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงราชการและการเมืองของลำปาง
ปัญหานี้ ทวีและสมเกียรติ สองหัวหอกของเครือ SCC ต้องแจกแจงให้สื่อมวลชนทุกแขนงฟังอย่างละเอียดยิบว่าปัจจุบันบริษัทปูนฯลำปางมีคนท้องถิ่นเข้ามาทำงานถึง
63% หรือ 218 คน จากพนักงานทั้งหมด 350 คน แต่ที่ไม่สามารถรับเฉพาะคนลำปางได้หมด
ก็เพราะว่าโรงงานใหม่ทุกแห่งก็ต้องมีคนมีประสบการณ์มาเป็นหลักในการดำเนินงานก่อน
ดังนั้นจึงต้องมีคนเก่าคนแก่จากโรงงานเดิมของ SCC มาช่วย
"จริงๆ แล้วถ้าเรารับตามเกณฑ์ของเครือปูนซีเมนต์ไทย จะรับได้ไม่เกิน
30 คน เพราะกำหนดเกรดเฉลี่ยไว้ 2.5 ดังนั้นเราจึงกำหนดไว้ว่าเฉพาะที่โรงปูนลำปางแห่งเดียวเท่านั้นเราจะลดคะแนนลงมาเหลือแค่
2.00 เราจึงรับพนักงานได้ถึง 200 กว่าคน" ทวีชี้แจง
นอกจากนี้ เขายังย้ำนักย้ำหนาว่าการสร้างโรงงานที่นี่ไม่ด้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชาวลำปางเพราะมีระบบควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ดี
โดย SCC ใช้เงินกว่า 400 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนในโรงงานทั้งหมด 6,000
ล้านบาท กับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการฝุ่นซึ่งถือเป็นมลภาวะหลักจากการผลิตปูนซีเมนต์
เขากล่าวว่าบริษัทออกแบบเครื่องจักรให้ฝุ่นเล็ดลอดออกมาได้เพียง 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
แม้กฎหมายจะอนุญาตให้ปล่อยได้ถึง 200 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ตาม
อีกทั้งยังรักษาทัศนียภาพของเมืองลำปางด้วยวิธีการทำเหมืองหินปูนแบบ SEMI
OPEN CUT MINING นั่นคือขุดเจาะเข้าไปส่วนกลางของภูเขา แล้วเอาหินปูนจากส่วนกลางมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนฯ
ซึ่งระบบนี้จะทำให้ยังเห็นภูเขาเป็นเขาเต็มลูก ไม่ใช่ถูกตัดหายไปเสียครึ่งหนึ่งอย่างการผลิตปูนฯ
ด้วยวิธีแบบเก่า พร้อมกันนี้บริษัทก็นำกล้าไม้มาปลูกรอบบริเวณโรงงานเพื่อให้เป็นป่าที่เขียวชะอุ่ม
ยิ่งกว่านั้น ทวียังอ้างถึงผลประโยชน์ที่ชาวลำปางจะได้รับอีกด้วย ที่สำคัญก็คือการสร้างงาน
สร้างรายได้ทั้งในรูปรายได้ส่วนบุคคล และภาษีต่างๆ ทั้งที่เสียกับท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง
ซึ่งจะคืนกลับมาในรูปเงินพัฒนาท้องถิ่น
แม้แต่งานเปิดตัวโรงงานอย่างเป็นทางการ ก็ยังเอาใจคนลำปางด้วยการทำพิธีแบบล้านนาแท้ๆ
โดยมีขบวนแห่บายสี ตีกลองสะบัดชัย และทำพิธีสืบชะตาหลวง
ทุ่มเทอย่างนี้..ไม่รู้จะชนะใจชาวลำปางได้แค่ไหน